ตอนที่แล้วจบลงตรงที่พระมหาบาลบำเพ็ญเพียรทางจิตในอิริยาบถทั้ง ๓ คือ นั่ง ยืน เดิน แต่ไม่ยอมที่จะนอนด้วยเพราะกลัวว่า ตนจักตกอยู่ในความประมาท อันเป็นหนทางแห่งความฉิบหาย เสียหายในมรรคผล
ท่านจึงไม่ยอมเอนตัวลงนอนเลย แม้แต่เวลาเดียวตลอดเวลา ๓ เดือน
เมื่อถึงวันออกพรรษา ดวงตาของท่านจึงบอดสนิท พร้อมกับการบรรลุพระอรหันต์ ประเภทเจริญสติปัญญา สุกขวิปัสสก
รุ่งเช้าพระมหาบาลเถระ ได้ออกบิณฑบาตพร้อมกับภิกษุทั้ง ๖๐ รูป
ชนทั้งหลายมองเห็นพระองค์สุดท้ายที่เดินมาตามแถวภิกษุทั้ง ๖๐ รูป มีดวงตาทั้ง ๒ ข้าง บอดสนิท ชนทั้งหลายจึงได้ขนานนามท่านว่า พระจักขุบาล
เมื่อท่านได้ทำกิจของท่านเสร็จแล้ว หน้าที่ที่เหลืออยู่ก็คือ การให้โอวาทสั่งสอนภิกษุทั้งหลายให้สำเร็จมรรคผล ท่านได้ทำหน้าที่นั้น จนภิกษุทั้ง ๖๐ รูป ได้ สำเร็จอรหัตตผล พร้อมด้วยปฏิสัมภิทาทั้ง ๔ ในพรรษานั้นเอง
ครั้นออกพรรษาปวารณาแล้ว พระเถระทั้ง ๖๐ รูป ได้กล่าวกะพระจักขุบาลเถระว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ พวกกระผมจะไปพระนครสาวัตถี เพื่อถวายบังคมพระศาสดา.
พระจักขุบาลเถระจึงได้กลาวกะพระเถระทั้ง ๖๐ รูป ไปว่า เราเป็นคนทุพพลภาพ จักษุก็มืดบอดมองไม่เห็น ไม่สามารถมองเห็นหนทาง
อีกทั้งระหว่างทางก็เต็มไปด้วยอันตราย เมื่อท่านทั้งหลายไปพร้อมกับเราจักมีอันตรายไปด้วย
ทั้งยังจะทำให้การเดินทางล่าช้า
(นี่คือธรรมชาติของอุปนิสัยแห่งพระอริยะเจ้า ที่ต้องมองเห็นประโยชน์ส่วนใหญ่เป็นที่ตั้ง)
ท่านทั้งหลายจงล่วงหน้าไปก่อนเถิด ครั้นถึงแล้วเราก็ฝากถวายบังคมพระศาสดา และไหว้พระมหาเถระทั้งหลายแทนเราด้วย จงบอกเรื่องราวของเราแก่น้องชายของเรานามว่า จูลปาลกุฏุมพี ขอให้เขาส่งคนมารับเราก็แล้วกัน
ภิกษุทั้ง ๖๐ รูป เหล่านั้นล้วนเป็นพระอรหันต์ปฏิสัมภิทา จึงได้กล่าวว่า
พระคุณเจ้าอาจารย์ โปรดอย่าได้กังวลเรื่องเดินทาง และอันตรายที่จะเกิดขึ้นระหว่างทางเลย พวกเราจักพาท่านเหาะไปด้วยกำลังอภิญญาของพวกเราเอง
พระทั้ง ๖๐ รูป เหล่านั้นวิงวอนซ้ำอีก พระจักขุบาลเถระจึงกล่าวขึ้นด้วยความเกรงใจว่า
อย่าเลยพระบรมศาสดาไม่นิยมให้พระสาวกแสดงอิทธิฤทธิ์
เมื่อพระอรหันต์ทั้ง ๖๐ รูป ไม่สามารถที่จะอ้อนวอนให้พระจักขุบาลมหาเถระร่วมเดินทางไปกับพวกตนได้ จึงพากันไปเก็บเสนาสนะแล้วจึงไปบอกลาอุบาสก อุบาสิกา ผู้อุปัฏฐาก ที่ให้ข้าว น้ำ ปัจจัย ๔ แก่พวกท่านตลอดมา ขณะที่จำพรรษา ปฏิบัติธรรมอยู่ ณ หมู่บ้านนี้
(นี่ก็คือคุณธรรม ความกตัญญู กตเวทิตา ที่มีอยู่ในวิสัยของสมณะศากยวงศ์)
แล้วออกเดินทางไปสู่เชตวันมหาวิหารโดยลำดับ ถวายบังคมพระศาสดา และไหว้พระมหาเถระทั้งหลาย แทนพระจักขุบาลเถระ (ตามคำสั่ง).
ในวันที่สองพระเถระทั้ง ๖๐ รูป จึงเที่ยวบิณฑบาตไปในพระนครสาวัตถี ถามหาบ้านของจูฬปาลกุฏุมพี ผู้เป็นน้องชายของพระจักขุบาล แล้วแจ้งข่าวที่พระเถระฝากมาให้แก่จูฬปาลกุฏุมพีให้รับทราบ
เมื่อจูฬปาลกุฏุมพีได้ทราบแล้ว เขาจึงพูดว่า ท่านขอรับ หลานชายของผมคนนี้ชื่อว่าปาลิตะ ผมจักส่งหลานชายไปรับพระลุงของเขากลับมานครสาวัตถีเอง
พระเถระทั้ง ๖๐ รูป จึงได้กล่าวว่า
หนทางมีอันตราย สำหรับคฤหัสถ์ผู้มีสมบัติ ที่เดินทางเพียงลำพังคนเดียว เพราะฉะนั้น ควรให้เขาบรรพชาเสียก่อน แล้วจึงออกเดินทาง
เวลาต่อมาพระเถระทั้งหลายจึงให้นายปาลิตได้บรรพชาส่งไปแล้ว
ปาลิตสามเณรเดินทางไปยังสำนักของพระเถระโดยลำดับ ตามคำชี้นำของพระเถระทั้ง ๖๐ รูป
กาลต่อมาปาลิตสามเณรได้เดินทางถึงที่พักของพระจักขุบาลเถระ ผู้เป็นลุง จึงตรงเข้าไปบอกกล่าวธุระ ภาระที่ตนได้รับมอบจากบิดา และพระเถระทั้ง ๖๐ รูปให้มาพาพระเถระเดินทางกลับนครสาวัตถี
ในระหว่างทางสามเณรนั้นได้ฟังเสียงเพลงที่หญิงเก็บฟืนคนหนึ่งขับร้องอยู่ ที่ราวป่าใกล้บ้านหลังหนึ่ง
ดังโบราณที่กล่าวว่า เสียงใดจะผูกใจบุรุษเท่าเสียงร้องของสตรีเป็นไม่มี ปาลิตสามเณรก็เช่นกัน
เป็นผู้มีจิตปฏิพัทธ์ (ในนางผู้มีเสียงอันจับใจ) จึงปล่อยปลายไม้เท้าที่จูงลุง กล่าวว่า
ท่านขอรับ ขอท่านจงยืนรอสักครู่จนกว่าผมจะมา กล่าวดังนี้แล้วปาลิตสามเณรจึงตรงไปยังที่อยู่ของหญิงผู้ร้องเพลง แล้วได้กล่าวเกี้ยวพาราสีจนนางหญิงนั้นยินยอมเป็นภรรยาของสามเณรปาลิต ศีลของสามเณรก็ได้ถึงกาลวิบัติ ณ ที่นั้น
พระเถระก็คิดว่า เหตุใดหนอ สามเณรปาลิตหลานเรา จึงได้ทิ้งเราไว้ในระหว่างทางดังนี้ หรือเป็นเพราะเสียงขับร้องของหญิงนั้น ชะรอยสามเณรคงจักถึงศีลวิบัติเป็นแน่แล้ว
กาลต่อมาสามเณรปาลิต นึกขึ้นได้ว่า เราได้ทิ้งหลวงลุงเอาไว้กลางทาง จึงได้บอกลาภรรยา แล้วรีบเดินทางมาหาพระจักขุบาลเถระ ผู้เป็นลุง
มาแล้วกล่าวว่า ท่านขอรับเราไปกันเถิด โดยมิได้พูดถึงเหตุที่ตนหายไป
พระเถระถามว่า ศีลของเธอได้ถึงกาลวิบัติเสียแล้วหรือ?
สามเณรก็นิ่งเสีย แม้พระเถระจะถามบ่อยๆ ก็ไม่ตอบ
ลำดับนั้น พระเถระกล่าวกะเธอว่า "ประโยชน์อันใดที่คนเลวทรามเช่นเธอจะมานำทางเรา"
สามเณรพอได้ฟังคำตำหนิของหลวงลุงดังนั้น จึงเกิดความรู้สึกตัว สำนึกผิด แล้วเปลื้องผ้ากาสายะออก วิ่งกลับไปยังบ้านของภรรยา นุ่งห่มผ้าอย่างคฤหัสถ์ แล้ววิ่งกลับมาหาพระเถระพร้อมกล่าวว่า
"ท่านผู้เจริญ เมื่อก่อนกระผมเป็นสามเณร แต่เดี๋ยวนี้กระผมกลับเป็นคฤหัสถ์แล้ว
อนึ่ง กระผมเมื่อบวชก็ไม่ได้บวชด้วยศรัทธา บวชเพราะกลัวแต่อันตรายที่จะเกิดระหว่างทางที่จะมารับลุงผู้บวชเป็นพระ นามว่า จักขุบาลเถระ บัดนี้กระผมได้เป็นคฤหัสถ์สามัญชนแล้ว จึงขอทำหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจากบิดาให้มารับลุง กลับไปยังนครสาวัตถี "
พระเถระจึงพูดว่า
" ดูกรผู้มีอายุ คฤหัสถ์ชั่วก็ดี สมณะชั่วก็ดี ก็ชั่วทั้งนั้น เธอแม้ตั้งอยู่ในความเป็นสมณะแล้ว ยังมิอาจทำคุณธรรม แม้เพียงแต่ศีลให้บริบูรณ์ได้เลย หากเป็นคฤหัสถ์ จักทำความดีงามในคุณธรรมอื่นๆ อะไรได้ ธุระด้วยการที่คนชั่วเช่นเธอจะมาจับปลายไม้เท้าของเรา จูงไปคงไม่มีแล้ว"
นายปาลิตะตอบว่า "ข้าแต่พระคุณเจ้า หนทางต่อจากนี้มีสัตว์ร้ายและมีอมนุษย์ชุกชุม อีกทั้งท่านก็ตามืดบอด จักเดินทางไปนครสาวัตถีได้อย่างไร"
ลำดับนั้น พระจักขุบาลเถระจึงได้กล่าวกะเขาว่า "ผู้มีอายุ เธอไม่ต้องมาห่วงเราดอก เราได้หลุดรอดพ้นจากภัยแห่งวัฎฎะมาแล้ว ห่วงก็แต่ตัวเธอนั่นแหละ ที่ยังไม่พ้นเภทภัยทั้งปวง
พระเถระจึงได้กล่าวคาถาเหล่านี้ว่า
"เอาเถิด, เราเป็นผู้มีจักษุที่มืดบอดเสียแล้ว มาสู่ทางไกลอันกันดาร ถึงเราจักต้องมานอนตายอยู่ในระหว่างทางก็ช่าง เราหาได้หวาดกลัวต่อความตายไม่
(นี่คือปกติของอุปนิสัยแห่งพระอริยะ ศากยวงศ์ ที่มีความอาจหาญ แกล้วกล้าที่จะเผชิญต่ออันตรายทั้งปวงได้อย่างไม่สะดุ้ง หวาดหวั่น)
เราจะไม่ไปคบสมาคมเป็นสหายกับชนพาล คบคนพาลย่อมไม่เกิดประโยชน์อันใด
พุทธะอิสระ