๑. ความเอื้อเฟื้อในพระพุทธเจ้า คือ ความเคารพเอื้อเฟื้อ ในภาระ ธุระ ที่องค์พระบรมศาสดาทรงวางรากฐาน และหลักการของธรรมปฏิบัติ ในพระธรรมวินัย พร้อมทั้งนำไปเผยแพร่ สั่งสอนแก่ชุมชนนิกรให้ตั้งมั่นอยู่ในพระธรรมวินัยนั้นๆ ด้วยอามิสบูชา และด้วยการปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ทั้งทางกายวาจาใจ อันประกอบด้วยความเชื่อความเลื่อมใสในคุณของพระพุทธเจ้า ด้วยการทำให้ตนได้เข้าถึงซึ่งคุณอันวิเศษของพระธรรมคำสอนนั้นๆ
๒. ความเอื้อเฟื้อในพระธรรม มีคุณ ๖ ประการ ดังนี้ คือ
๑. สวากขาโต ภควตา ธัมโม หมายถึง ธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้วในเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุด ซึ่งเป็นไปตามลำดับอันได้แก่ ทาน ศีล สมาธิ และปัญญา พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะ ทั้งยังทรงประกาศพรหมจรรย์ และหลักการครองชีวิตอันประเสริฐ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิงในที่สุด
๒. สันทิฏฐิโก หมายถึง ผู้ปฏิบัติจะพึงเห็นชัดได้ด้วยตนเองว่า ผู้ใดปฏิบัติ ผู้ใดบรรลุ ผู้นั้นย่อมเห็นประจักษ์ด้วยตนเอง ไม่ควรเชื่อตามคำบอกเล่าของผู้อื่น
๓. อกาลิโก หมายถึง ไม่ประกอบด้วยกาล คือ ผู้ปฏิบัติไม่ขึ้นอยู่กับกาลเวลา เมื่อเหตุปัจจัยพร้อมเมื่อใดย่อมบรรลุและเห็นผลได้ทันที
๔. เอหิปัสสิโก หมายถึง ควรเรียกให้มาดู พระธรรมเป็นคุณอัศจรรย์ดุจของประหลาดที่ควรเชิญชวนให้มาชมและพิสูจน์หรือท้าทายต่อการตรวจสอบ เพราะเป็นของจริงอันพร้อมต่อการพิสูจน์
๕. โอปนยิโก หมายถึง เป็นธรรมอันควรน้อมเข้ามาใส่ตน อันเป็นมงคลแก่การดำรงชีวิตได้ทุกเมื่อ
๖. ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ หมายถึง วิญญูชนพึงรู้ได้เฉพาะตน ผลอันเกิดจากการปฏิบัติธรรมนั้น บุคคลที่น้อมนำมาปฏิบัติ จะรู้ซึ้งถึงผลแห่งพระธรรมนั้นด้วยตนเอง ทำให้กันไม่ได้ เอามาจากกันไม่ได้ จักรู้ได้ประจักษ์เฉพาะในใจของตนเองเท่านั้น
๓. ความเอื้อเฟื้อในพระสงฆ์ คือเคารพเอื้อเฟื้อ อนุเคราะห์ สงเคราะห์ ปฏิบัติตามต้นแบบอันงดงามที่มีอยู่ในพระคุณของพระสงฆ์ ด้วยความเลื่อมใสในหมู่พระสงฆ์ ปฏิบัติตามคำสอนของพระสงฆ์ ซึ่งเป็นผู้สั่งสอนธรรมแก่ผู้ศรัทธานั้น ซึ่งพระสงฆ์เหล่านั้น มีคุณ ๙ ประการ ดังนี้
๑. โย โส สุปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ : พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นหมู่ใด เป็นผู้ปฏิบัติดี คือ ปฏิบัติตามเส้นทางสายกลาง ไม่หย่อนนัก ไม่ตึงไป
๒. อุชุปฏิปนฺโน : เป็นผู้ปฏิบัติตรง คือ ไม่ปฏิบัติเพื่อโอ้อวด ไม่มีมายา ไม่ลวงโลก ไม่มีเล่ห์เหลี่ยม มีเป้าประสงค์ มุ่งตรงต่อการปลดเปลื้องพันธนาการทั้งทางกายใจ
๓. ญฺายปฏิปนฺโน : เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อรู้ธรรมเป็นเครื่องออกจากทุกข์ คือ ปฏิบัติมุ่งธรรมเป็นใหญ่ ให้สอดคล้องกับกฎไตรลักษณ์ ๓ ประการ คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่มีอยู่จริง เอาความถูกต้องเป็นหลัก และมุ่งปฏิบัติเพื่อนำไปสู่การบรรลุธรรมอันวิเศษ
๔. สามีจิปฏิปนฺโน : เป็นผู้ปฏิบัติสมควรแก่สภาวธรรม และฐานานุรูปแห่งตนอย่างเหมาะสมพอดี
๕. อาหุเนยฺโย : เป็นผู้ควรแก่สักการะที่เขานำมาบูชา คือ ควรได้รับสิ่งของที่เขานำมาถวาย เพราะท่านมีคุณสมบัติ ๔ ประการ ดังกล่าวข้างต้น
๖. ปาหุเนยฺโย : เป็นผู้ควรแก่สักการะที่เขาจัดไว้ต้อนรับ คือ เมื่อปฏิบัติดีปฏิบัติชอบแล้ว ไปที่ไหนก็ถือว่าเป็นมงคลแก่ผู้พบเห็น สมควรให้การต้อนรับ
๗. ทกฺขิเณยฺโย : เป็นผู้ควรรับทักษิณาทาน คือ เป็นทักขิไณยบุคคลผู้ควรรับทาน ด้วยเหตุเพราะเป็นผู้เลี้ยงง่าย และยังเป็นสะพานบุญแก่สรรพสัตว์ทั้งหลาย
๘. อญฺชลีกรณีโย : เป็นผู้ควรแก่การทำอัญชลี กราบไหว้ บูชา เพราะทำให้ผู้ไหว้เจริญด้วยศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา
๙. อนุตฺตรํ ปุญฺญฺกฺเขตฺตํ โลกสฺส : เป็นเนื้อนาบุญของโลก ไม่มีเนื้อนาบุญอื่นยิ่งกว่า คือ พระสงฆ์เป็นผู้บริสุทธิ์ ทักษิณาที่ถวายแด่พระสงฆ์ย่อมมีอานิสงส์มาก เปรียบเหมือนนาดินดีและน้ำดี พืชที่หว่านไปย่อมให้ผลไพบูลย์ พระสงฆ์จึงเป็นที่บำเพ็ญบุญของพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย.
๔. ความเอื้อเฟื้อในความศึกษา คือเคารพเอื้อเฟื้อในความศึกษาตั้งใจศึกษาหาความรู้ความเข้าใจในศาสตร์และศิลป์ทั้งหลายจนชำนาญ ในสิ่งที่ควรรู้ ทั้งในทางโลก และทางธรรมอย่างถูกต้อง ชัดเจน เพื่อดำรงอยู่ในโลกนี้และโลกหน้า อย่างพอเหมาะพอดี ไม่ทุกข์มากไป ไม่มัวเมาประมาทมากไป อีกทั้งยังเป็นคุณประโยชน์แก่ชุมชนนิกร ด้วยหลักการเริ่มต้น คือ ทาน ศีล สมาธิ และปัญญา และทำความแจ่มแจ้ง ชัดเจนในความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่มีอยู่จริง ซึ่งเป็นสิ่งที่ช่วยสนับสนุนให้ดำรงชีวิตอยู่โดยความสงบร่มเย็น ไม่มีความเดือดร้อนทั้งโลกนี้และโลกหน้า
๕. ความเอื้อเฟื้อในความไม่ประมาท คือเคารพเอื้อเฟื้อในความไม่ประมาทในที่ ๔ สถาน โดยใจความก็คือ มีสติควบคุมกาย มีสติควบคุมวาจา มีสติควบคุมจิต ในกาลทำพูดคิดอย่าให้ผิดพลาดเสมอ ไม่พลั้งเผลอ ในที่ทุกสถาน ในกาลทุกเมื่อ
และหากจักตั้งอยู่ในความไม่ประมาทอันสูงสุด คือ มีสติอยู่ในกาย มีสติอยู่ในเวทนา มีสติอยู่ในจิต และมีสติอยู่ในธรรม เช่นนี้จึงชื่อว่า ตั้งตนไม่ประมาททั้งโลกนี้และโลกหน้า
๖. ความเอื้อเฟื้อในปฏิสันถาร คือต้อนรับปราศรัย โดยกิริยาที่เคารพเอื้อเฟื้อ อันมีหลักในปฏิสันถารอยู่ ๒ อย่าง คือ
ก. อามิสปฏิสันถาร ต้อนรับแขกด้วยวัตถุสิ่งของ เช่น ที่นั่งที่พัก ข้าว น้ำ เป็นต้น
ข. ธรรมปฏิสันถาร ต้อนรับแขก ด้วยการกล่าวเชื้อเชิญสนทนาปราศรัยด้วยไมตรีจิต และจัดแจงอามิสให้พอสมควรแก่ฐานะของแขก ตามสมควรแก่ความสามารถของตน
อีกทั้งทำตนให้เป็นผู้ตั้งอยู่ในความอ่อนน้อมถ่อมตนอยู่เสมอ
บุคคลผู้ตั้งอยู่ในคารวะทั้ง ๖ นี้ ย่อมเป็นที่รักของหมู่มนุษย์ พรหม มาร และเทพเทวา อสูรกาย ผีสางนางไม้ และสรรพสัตว์ทั้งหลาย ทั่วหมื่นโลกธาตุ
พุทธะอิสระ