ความเดิมตอนที่แล้ว นารทดาบสหลังจากได้สดับคำสั่งสอนของ สรภังคดาบส ผู้เป็นอาจารย์และ กาฬเทวิลดาบสผู้พี่ชาย ที่ได้อบรมสั่งสอน จนได้สติระลึกรู้ถึงความผิดของตน จึงแสดงความเศร้าโศกเสียใจ
 
กาฬเทวิลดาบส จึงได้กล่าวปลอบประโลมนารทะดาบส น้องชายว่า ดูก่อนนารท ประโยชน์อันใดที่เธอจะมานั่งเศร้าโศก เสียใจ ฌานของเธอที่เสื่อมไปแล้ว หากเธอตั้งมั่นบำเพ็ญเพียร ไม่ปล่อยตัว ปล่อยใจ ให้หลงใหลไปตามกระแส แห่งกามคุณ แม้ฌานที่เสื่อมไปแล้ว ก็จักกลับคืนมาได้ตามปกติ เช่นเดิม
เวลานั้น สรภังคดาบสผู้เป็นอาจารย์ เมื่อได้เห็นเมตตาจิตของกาฬเทวิลดาบสผู้เป็นพี่ชาย ที่มีต่อน้องเช่นนี้นั้น จึงได้กล่าวคาถาที่ ๖ ขึ้นว่า
ดูก่อนนารทะ ผู้ที่ไม่ทำสิ่งตนควรทำ บุคคลผู้นั้นย่อมอับจน เศร้าโศก ดุจดังบุคคลผู้ที่หลงอยู่ในป่าที่รกทึบฉะนั้น
แล้วสรภังคดาบส ผู้เป็นอาจารย์ จึงได้เล่าเรื่องที่มาแล้วแต่หนหลังให้แก่บรรดาฤาษีของตนเองฟัง ความว่า
ในกาสีนิคมตำบลหนึ่ง มีพราหมณ์มาณพรูปงามคนหนึ่ง สมบูรณ์ด้วยกำลังกายที่แข็งแรงเท่าช้างสาร
มาณพนั้นคิดว่า ประโยชน์อะไรที่เราจะทำกสิกรรมเลี้ยงควายไถนาเพาะปลูกเพื่อเลี้ยงตนและเลี้ยงมารดา ประโยชน์อะไรต้องมีภาระเลี้ยงดูบุตรภรรยา ประโยชน์อะไรที่ต้องสร้างบุญกุศล ต่อไปนี้เราจักไม่เลี้ยงดูใครๆ จักไม่ทำบุญอะไรๆ เราจักทำเพียงแค่ออกเที่ยวไปเพื่อล่าสัตว์ในป่า ฆ่าสัตว์ต่างๆ เพื่อเลี้ยงตัวของเราเองคิดดังนี้ เขาจึงผูกสอดอาวุธ ๕ ชนิด เที่ยวไปสู่ป่าหิมพานต์ เพื่อล่าสัตว์ต่างๆ กิน
วันหนึ่งพรานหนุ่มนั้นเดินทาง ไปถึงเวิ้งภูเขาใหญ่ มีภูเขาห้อมล้อมรอบใกล้ฝั่งวิธินีนที ภายในหิมวันตประเทศเขาล่าสัตว์แล้วกินเนื้อที่ย่างในถ่านเพลิงอยู่ ณ ที่นั้น ต่อมา มาณพนั้นจึงคิดว่า เราจักมีเรี่ยวแรงอยู่เสมอไปไม่ได้ ต่อไปเราต้องแก่ชราลง เวลาทุพพลภาพ เราจักไม่อาจเที่ยวไล่ล่าสัตว์น้อยใหญ่ในป่าได้เช่นนั้น เราจักต้อนเนื้อนานาชนิดเข้าเวิ้งหุบภูเขานี้แล้ว ทำประตูปิดไว้ เราจักได้เลือกฆ่าเนื้อกินตามชอบใจ คิดดังนี้แล้ว เขาก็ทำตามนั้น
ครั้นกาลล่วงไป กรรมของเขาถึงที่สุด ให้ผลเป็นทิฏฐธรรมเวทนียกรรมอันหนัก ทันตาเห็น มือเท้าของเขาพิการใช้ไม่ได้ เขาไม่อาจเดินได้ กินของขบเคี้ยวอะไรๆ ไม่ได้ น้ำก็ดื่มไม่ได้ ร่างกายเหี่ยวแห้ง เป็นมนุษย์กึ่งเปรต ร่างกายแตกปริเป็นร่องริ้ว เหมือนแผ่นดินแตกระแหง ในฤดูร้อน ฉะนั้น
ทำให้เขามีรูปร่างทรวดทรง น่าเกลียดน่ากลัว เสวยทุกข์เวทนาอย่างแสนสาหัสแต่ที่เขามีชีวิตอยู่ได้ด้วยเพราะผลกุศลกรรมหล่อเลี้ยง
เวลาล่วงผ่านไป พระเจ้าสีวิราชในสีวิรัฐทรงพระดำริว่า เราจักเสวยเนื้อย่างในป่า จึงมอบราชสมบัติให้อำมาตย์ทั้งหลายดูแลแทน แล้วพระองค์เหน็บอาวุธห้าอย่างเสด็จเข้าป่าพร้อมบริวารไม่กี่นายเพื่อล่าสัตว์เอาเนื้อมาเสวย เรื่อยมาจนพระองค์และบริวารเดินทางมาถึงหุบเขาที่มนุษย์เปรตนั้นกักขังบรรดาสิงห์สาราสัตว์เอาไว้ สร้างความประหลาดพระทัยแก่พระองค์เป็นอันมาก ว่าผู้ใดกันหนอต้อนหมู่สัตว์มากักขังเอาไว้ อย่างมากมายถึงปานนี้เมื่อพระองค์และบริวารออกเดินค้นหาจึงได้ ทอดพระเนตรเห็นบุรุษเปรตนั้นจึงตกพระทัย
ครั้นดำรงพระสติได้ ได้ตรัสถามว่า พ่อมหาจำเริญ ท่านเป็นใคร?
มนุษย์เปรตนั้นจึงตอบว่า นาย ข้าพเจ้าเป็นมนุษย์เปรต เสวยผลกรรมที่ตนทำไว้ ก็ท่านเล่าเป็นใคร?
องค์ราชา เราคือพระเจ้าสีวิราช
มนุษย์เปรต ถามพระองค์เสด็จมาที่นี้ เพื่ออะไร?
พระราชาตอบ เพื่อเสวยเนื้อสัตว์
ลำดับนั้น มนุษย์เปรตนั้นจึงกราบทูลว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า แม้ข้าพระองค์ก็มาด้วยเหตุนี้เช่นกัน จึงกลายเป็นมนุษย์เปรตด้วยผลแห่งอกุศลกรรมปาณาติบาต แล้วทูลเรื่องทั้งหมดโดยพิสดาร
เมื่อมนุษย์เปรตนั้นจะกราบทูลความที่ตนเสวยทุกข์แด่พระราชาให้ทรงทราบแล้ว ได้กล่าวคาถา ความว่า :-
ข้าแต่พระเจ้าสีวิราช พระองค์ เกือบจะถึงความพินาศ อยู่ในเงื้อมมือของมารทั้งหลาย เหมือนกับข้าพระองค์ไม่กระทำกรรม ที่ควรกระทำ ไม่ศึกษาศิลปวิทยาที่ควรศึกษา ไม่ทำความขวนขวาย เพื่อให้เกิดโภคทรัพย์โดยสุจริต ไม่เลี้ยงพ่อแม่ ลูกเมีย ไม่รักษาศีล ไม่กล่าวปิยวาจา ทำเหตุให้คุณธรรมเสื่อมไป มุ่งหมายแต่จะกระทำกรรมชั่ว ทั้งกาย วาจา และใจ จึงได้กลายมาเป็นมนุษย์กึ่งเปรตอย่างที่พวกท่านเห็นอยู่นี้แหละ
พระองค์ยังฝืนล้างผลาญชีวิตสัตว์ทั้งหลาย ผู้ใคร่ต่อความสุข ให้ได้รับความทุกข์ พระองค์และบริวารก็จักได้รับอัตภาพอย่างที่ข้าพระองค์ได้รับทั้งยังต้องได้รับทุกข์เวทนาอันแสนสาหัสไปอีกหลายภพหลายชาติ
ข้าแต่มหาราชเจ้า หากพระองค์ไม่กระทำกรรมชั่วทางกาย ไม่กระทำชั่วทางวาจา ไม่กระทำชั่วทางใจ อิสริยยศพระเกียรติคุณของพระองค์ก็จะไม่เสื่อมถดถอย หากพระองค์ได้ ศึกษาศิลปวิทยาให้ช่ำชอง เชี่ยวชาญ ชำนาญ ความเจริญรุ่งเรื่องในพระราชกิจการงานก็จะเจริญ
หากพระองค์รักษาศีลให้ตั้งมั่น สุคติโภคทรัพย์และกัลยาณมิตรก็จักบังเกิดมีแก่พระองค์ อย่างมากมาย ขอพระองค์จงทำในสิ่งที่ควรทำ จงละเว้นในส่วนที่ควรละเว้นเถิด
มนุษย์เปรตนั้น ครั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว กราบทูลต่อไปว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า ข้าพระองค์ประสงค์ความสุข แต่กลับทำผู้อื่นให้ได้รับความทุกข์ จึงเป็นมนุษย์เปรตในปัจจุบันทันตาเห็น เพราะฉะนั้น ขอพระองค์อย่าทรงทำกรรมชั่วเลย จงเสด็จคืนสู่พระนครของพระองค์ทรงบำเพ็ญบุญมีให้ทานรักษาศีลเป็นต้นเถิด
พระเจ้าสีวิราชได้ทรงสดับสุภาษิตนั้นแล้วก็มีสติระลึกสำนึกได้แล้วมีปฏิญาณว่าจักทรงกระทำตามนั้น เพื่อบำเพ็ญทางไปสู่สวรรค์
สรภังคดาบสผู้เป็นอาจารย์นำเรื่องนี้มาแสดงให้ดาบสทั้งหลายเข้าใจแจ่มแจ้งเป็นอันดี. นารทะดาบสนั้นได้ความสลดใจ เพราะถ้อยคำของสรภังคอาจารย์ จึงไหว้ ขอขมาโทษแล้วทำกสิณบริกรรม ทำฌานที่เสื่อมแล้วให้กลับคืนเป็นปกติ
สรภังคดาบสจึงสั่งให้นารทะดาบส ออกจากที่อยู่อาศัย อันไกลต่อสิ่งเร้าเครื่องล่อนั้น แล้วให้ไปอยู่ใกล้ที่อาศัยของตน
พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแสดงแล้ว ทรงประกาศสัจจะ เวลาจบสัจจะ ภิกษุผู้กระสันดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล
พระทศพลทรงประชุมชาดกว่า
นารทดาบสในครั้งนั้น ได้เป็น ภิกษุผู้กระสัน
สาลิสสรดาบสได้เป็น พระสารีบุตร
เมณฑิสสรดาบสได้เป็น พระกัสสปะ
ปัพพตดาบสได้เป็น พระอนุรุทธะ
กาฬเทวิลดาบสได้เป็น พระกัจจายนะ
อนุสิสสะดาบสได้เป็น พระอานนท์
กิสวัจฉดาบสได้เป็น พระโมคคัลลานะ
ส่วนสรภังคดาบส คือ เราตถาคต ฉะนี้แล.
 
จบประวัติของท่านพระมหากัจจายนะ ภาคที่ ๒
โปรดติดตาม ภาคที่ ๓ กันต่อไปนะจ๊ะ