ตอนที่แล้วจบลงตรงที่พราหมณ์ทั้ง ๘ แห่งนครกาลิงคะ ได้ออกตระเวนเดินทางไปขอเรียนกุรุธรรมจากพระญาติพระวงศ์ขององค์มหาราชกุรุโพธิสัตว์ แต่ก็ไม่ได้เรียน
จวบจนกระทั้งมาขอเรียนกับปุโรหิตษาจารย์ ก็ยังไม่ได้เรียน เลยต้องมาขอเรียนกับมหาอำมาตย์ผู้ทำหน้าที่ควบคุมการชั่ง ตวง วัด (พระมหากัจจายนะ)
ฝ่ายมหาอำมาตย์ เมื่อได้ทราบวัตถุประสงค์ของพราหมณ์ทั้ง ๘ แล้วจึงกล่าวว่า ท่านผู้เจริญ ก่อนที่ท่าจะมาขอเรียนกุรุธรรมจากข้าพเจ้า พวกท่านลองฟังเรื่องต่อไปนี้ก่อน
วันหนึ่งข้าพเจ้าได้ไปทำหน้าที่รางวัดที่นาให้แก่ชาวบ้านรายหนึ่ง โดยให้เจ้าหน้าที่ของนาจับเชือกวัดที่ดินไปยืนอยู่มุมที่ในทิศด้านหนึ่ง ส่วนข้าพเจ้าจับปลายเชือกอีกข้างหนึ่ง ที่มีปลายผูกไว้กับไม้ประตักที่มีเหล็กปลายแหลมอยู่ที่ปลายไม้
ขณะที่ข้าพเจ้าลากเชือกดึงไปมุมที่ดินอีกทิศด้านหนึ่ง เชือกมาหยุดลงตรงรูปูพอดี ข้าพเจ้าจึงพิจารณาดูรูปูนั้น แล้วคิดว่า ดูท่ารูปูนี้คงจักมีปูอาศัยอยู่ หากเราไม่ปักไม่เหล็กแหลมลงไป ปูนั้นคงจักต้องตายลงเป็นแน่
แต่ถ้าเราไม่ปักไม้ประตักลงไป เราก็จักเป็นผู้ประพฤติชั่วในหน้าที่
เป็นท่านทั้งหลายจักทำเช่นไรต่อสถานการณ์เช่นนี้
พราหมณ์ทั้ง ๘ จึงหันมองหน้ากัน แล้วพากันกล่าวว่า หากเป็นข้าพเจ้าคงต้องรักษาหน้าที่รางวัดให้สำเร็จอย่างซื่อตรง
อำมาตย์นั้นจึงเล่าต่อว่า ข้าพเจ้าก็คิดดังที่พวกท่านคิดเช่นกัน จึงปักไม้ลงไปตรงจุดที่มีรูปูอยู่พอดี ประตักนั้นจึงลงไปกระแทกบนกระดองปูจนส่งเสียดังออกมากริ๊กๆ
ข้าพเจ้าจึงรู้ว่า บัดนี้เราได้ทำลายกุรุธรรมให้พินาศเสียจากเราแล้ว
เช่นนี้แล้วเราจักมีหน้าสอนกุรุธรรมแก่พวกท่านได้กระนั้นหรือ อย่างกระนั้นเลย ท่านอย่าได้มาเรียนกุรุธรรมที่ไม่บริสุทธิ์จากเราเลย
อีกเรื่องหนึ่ง ขณะที่ข้าพเจ้าคุมพนักงานตวง ชั่งข้าวเปลือกของคหบดีท่านหนึ่ง เพื่อหักจ่ายเป็นค่าภาษี เวลานั้นเกิดฝนตก ทำให้การตวง ชั่งข้าวเปลือกต้องยุติลง
ข้าพเจ้าจึงให้พนักงานชั่งตวงข้าวนำเอาข้าวเปลือกในส่วนที่หักเป็นคะแนนไว้ ใส่ลงไปในกองข้าวเปลือก ทั้งสองกอง คือ กองที่เป็นของคหบดี และกองที่เป็นค่าภาษี
ต่อมาข้าพเจ้าก็มาคิดได้ว่า ข้าวเปลือกคะแนนที่ส่งให้พนักงานตวงชั่ง นำไปเติมให้กับกองข้าวทั้งสองไม่น่าจะถูกต้อง
ด้วยเพราะหากใส่ข้าวเปลือกลงไปในกองข้าวเปลือกที่จะต้องจ่ายเป็นค่าภาษีมากไป ข้าวในส่วนของคหบดี ก็จะขาดไป แต่ถ้าใส่ข้าวเปลือกนั้นไปในกองของคหบดี ข้าวเปลือกในกองจ่ายภาษีของหลวงก็จะขาดหายไป
การกระทำอันมีจิตไม่แน่วแน่ ไม่ประกอบด้วยสติ ที่ตั้งมั่นเช่นนี้แหละ จึงทำให้ข้าพเจ้าคิดว่า ไม่ควรที่จะสั่งสอนกุรุธรรมแก่ท่าน
หากท่านต้องการเรียนกุรุธรรมจริงๆ ท่านทั้งหลายจงไปขอเรียนจากนายสารถี ผู้ขับราชรถขององค์มหาราชกุรุนั้นเถิด
พราหมณ์ทั้ง ๘ จึงได้เข้าไปขอเรียนกุรุธรรมกับนายสารถี
ข้างนายสารถีเมื่อได้รู้ถึงวัตถุประสงค์ของพราหมณ์ทั้ง ๘ จึงกล่าวขึ้นว่า
ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ทุกวันนี้ข้าพเจ้ายังร้อนใจต่อการควบคุมบังคับม้า เทียมราชรถของพระราชาอยู่เลย ที่ไม่สามารถทำให้ม้าเชื่อฟัง กระทำตามได้ดังใจ ไม่รู้ว่าวันใดที่ม้าเหล่านี้จักพยศ โลดแล่นขึ้นมาในเวลาใด ยิ่งหากเป็นเวลาที่กำลังทรงราชรถอยู่แล้วม้าเทียมรถพวกนี้เกิดพยศขึ้นมา ข้าพเจ้าก็ต้องลงแส้เฆี่ยนตีม้าต่อหน้าพระพักตร์ ชีวิตของข้าพเจ้าคงจะถึงคราวิบัติเป็นแน่
เช่นนี้แล้ว ข้าพเจ้าจักมีกะใจมานั่งสอนกุรุธรรมอันบริสุทธิ์บริบูรณ์แก่ท่านได้กะไรเล่า
หากท่านทั้งหลายต้องการเรียนรู้กุรุธรรมอันบริสุทธิ์บริบูรณ์จริงแล้ว บองไปขอเรียนจากเศรษฐีในนครนี้ดูซิ
พราหมณ์ทูตแห่งนครกาลิงคะ แม้จักรู้สึกเหนื่อยกับการตระเวนขอเรียนกุรุธรรมจากชาวนครนี้อยู่หลายวัน แต่ก็มิได้ย่อท้อด้วยเพราะเป็นภารกิจที่องค์ราชากาลิงคะทรงตรัสสั่งพราหมณ์นั้นมา จึงต้องออกเดินทางไปยังคฤหาสน์ของเศรษฐี
เศรษฐีแห่งแว่นแคว้นกุรุ เมื่อได้ฟังความต้องการของพราหมณ์ทั้ง ๘ จึงได้กล่าวว่า ข้าพเจ้าคงไม่บังอาจสอนกุรุธรรมอันบริสุทธิ์นั้นแก่ท่านทั้งหลายได้ดอก เพราะเมื่อไม่นานมานี้ข้าพเจ้ามีจิตคิดละโมบ เบียดบังเอารวงข้าวสาลี ที่ยังไม่ได้ประเมินค่าภาคหลวงมาเข้าบ้านมา ๑ กำมือ
ด้วยพฤติกรรมที่น่ารังเกียจเช่นนี้ ทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกละอายที่จะพูดถึงกุรุธรรมอันสูงส่งยิ่งใหญ่นั้นแก่พวกท่านดอก
ถ้าท่านทั้งหลายต้องการเรียนกุรุธรรมจริงๆ แล้วลองไปขอเรียนจากนายทวารบาล ที่ทำหน้าที่เปิดปิดประตูพระนครทั้ง ๔ ทิศดูซิ
พราหมณ์ทั้ง ๘ จึงเดินทางมาหานายทวารบาล ผู้ทำหน้าที่เปิดปิดประตูตามกฎมณเฑียรบาล
เมื่อนายทวารบาลได้ทราบว่าพราหมณ์ทั้ง ๘ จะมาขอเรียนกุรุธรรมจากตน จึงกล่าวว่า อย่าเลยพ่อมหาจำเริญ พวกท่านจะมาเล่าเรียนกุรุธรรมใดๆ จากเราได้เล่า
เมื่อวานนี้เรายังกล่าวบริพารแก่ชายหญิงคู่หนึ่งที่ออกไปนอกพระนคร แล้วกลับเข้ามาช้าจวนเจียรเวลาที่ข้าพเจ้าจักปิดประตูพระนคร
พฤติกรรมอันหยาบกระด้างของข้าพเจ้าเช่นนี้จักสอนกุรุธรรมให้แก่พวกท่านได้เช่นไรเล่า
พราหมณ์ทั้ง ๘ จึงสอบถามนายทวารบาลนั้นว่า เช่นนี้แล้วในพระนครนี้จักยังมีผู้ใดสามารถสอนกุรุธรรมให้แก่พวกข้าพเจ้าได้
นายทวารบาล จึงกล่าวว่า เราเห็นว่าจะมีแต่นางวรรณทาสี หญิงรับใช้ของเรา นางปฏิบัติตนตั้งมั่นอยู่ในกุรุธรรมมาตลอดชีวิต นางน่าจะสามารถสั่งสอนกุรุธรรมนั้นแก่พวกท่านได้
พราหมณ์ทั้ง ๘ จึงเข้าไปหานางหญิงรับใช้ของนายทวารบาล เพื่อขอเรียนกุรุธรรม
ฝ่ายนางวรรณทาสี พอได้ฟังว่า พราหมณ์ทั้ง ๘ จักมาขอเรียนกุรุธรรมจากตน นางจึงกล่าวว่า พ่อเอย หากท่านได้ฟังเรื่องดังต่อไปนี้ที่ข้าพเจ้าจะเล่าให้ฟังจบลง พวกท่านก็อาจจะไม่ต้องการเรียนกุรุธรรมจากข้าพเจ้าอีกก็ได้
และแล้วนางก็เล่าเรื่องที่ผ่านมาให้แก่พราหมณ์ทั้ง ๘ ฟังว่า ขณะที่นางได้ทำหน้าที่รับใช้นายทวารบาลอยู่นั้น อยู่ๆ วันหนึ่งก็มีชายหนุ่มแปลกหน้าเข้ามาสู่ขอซื้อตัวข้าพเจ้าแก่นายทวารบาลด้วยเงิน ๑,๐๐๐ กหาปนะ
นายทวารบาลก็ยินยอมแล้วคืนเงินนั้นกลับคืนมาให้แก่นางโดยสั่งว่า เอาไว้เป็นเงินขวัญถุง ในเวลาที่นายใหม่ผู้นั้นมารับตัว นับแต่วันนั้นข้าพเจ้าก็เฝ้ารอชายหนุ่มผู้นั้น จวบจนเวลาล่วงเลยไป ๓ ปี โดยที่ข้าพเจ้าก็ไม่มีรายได้ใดๆ เลย โชคดีที่นายทวารบาล ยังให้ที่อยู่ อาหารการกิน แก่ข้าพเจ้า
แต่ก็ยากลำบากด้วยเพราะไม่มีเงินใช้จ่าย
ข้าพเจ้าจึงนำเงิน ๑,๐๐๐ กหาปนะที่เก็บเอาไว้นั้นไปมอบให้แก่ท่านมหาอำมาตย์ ผู้เป็นช่างตวงวัด และตุลาการ ฟ้องร้องว่า ให้ประกาศหาชายหนุ่มแปลกหน้าผู้นั้น กลับมารับเงิน ๑,๐๐๐ กหาปนะของตนคืนไป ด้วยเพราะเขาผิดสัจจะไม่มารับตัวข้าพเจ้าสักที ทั้งที่เวลาล่วงเลยมาแล้วตั้ง ๓ ปี
แล้วนางวรรณทาสี ก็มอบเงิน ๑,๐๐๐ กหาปนะนั้นให้แก่พนักงานของมหาอำมาตย์เก็บไว้คืนให้แก่ชายหนุ่มแปลกหน้า
ข้างมหาอำมาตย์ เมื่อพิจารณาความแล้วจึงมีคำสั่งว่า ชายหนุ่มแปลกหน้าผู้นั้น เป็นผู้ผิดสัจจะเอง เงิน ๑,๐๐๐ กหาปนะกองนี้ จึงสมควรตกเป็นของนางวรรณทาสี แล้วสั่งให้เจ้าพนักงานรักษาเงิน คืนเงิน ๑,๐๐๐ กหาปนะแก่นางวรรณทาสีไป
ขณะที่นางกำลังรับเงินอยู่นั้น ชายหนุ่มแปลกหน้าซึ่งเป็นองค์ท้าวโกสีย์ เนรมิตจำแลงมาก็ปรากฏบนอากาศ ต่อหน้าชนทั้งหลายและนางวรรณทาสี พร้อมแสดงเดชเปล่งรัศมีโชติช่วงสว่างไสวไปทั่วพระนคร
เหตุที่องค์ท้าวโกสีย์กระทำเช่นนี้ ก็เพื่อจะประกาศให้แก่ชาวพระนครกุรุได้รับรู้กันทั่วว่า แม้แต่นางทาสวรรณทาสีหากปฏิบัติในกุรุธรรมอย่างเคร่งครัดดีแล้ว ยังมีผลอานิสงส์ส่งให้บังเกิดความสวัสดี มีมงคล รุ่งเรืองเจริญ
เมื่อท้าวโกสีย์ประทานโอวาทแก่มหาชนที่มาชุมนุมอยู่เรียบร้อยแล้ว จึงกล่าวว่า
เราได้จำแลงมาเป็นชายหนุ่มแปลกหน้าจ่ายทรัพย์ ๑,๐๐๐ กหาปนะ เพื่อขอซื้อตัวนางวรรณทาสี แล้วลองใจนางดูว่า นางจะกล้าใช้จ่ายทรัพย์นั้นหรือไม่ แต่ไม่ว่านางจะอดอยาก ทุกข์ยากลำบากเพียงใด นางก็ไม่คิดจะแตะต้องทรัพย์นั้นเลย ทั้งยังนำทรัพย์นั้นมาร้องให้มหาอำมาตย์ประกาศหาตัวเราเพื่อคืนทรัพย์นั้นแก่เรา
บุคคลเช่นนี้แหละ คือ ผู้ปฏิบัติกุรุธรรมอันบริสุทธิ์ บริบูรณ์ ตั้งมั่นดีแล้ว
ท่านทั้งหลาย ก็จงตั้งมั่นอยู่ในกุรุธรรมนั้นเถิด ความผาสุก สวัสดี มีมงคลก็จะพึงบังเกิดแก่ท่านทั้งหลาย
แล้วท้าวโกสีย์ก็เนรมิตนิเวศอันร่วมรื่น พร้อมเรือนชาญอันโอภาสอลังการใหญ่โต ทรัพย์สินเงินทอง กองเต็มภายในเรือน พรั่งพร้อมด้วยข้าทาสหญิงชาย ผู้สมบูรณ์เพียบพร้อมไปด้วยกุรุธรรม
พราหมณ์ทั้ง ๘ นั้นพอได้ฟังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแก่นางวรรณทาสีจากปากของนางเช่นนั้น ก็ยิ่งมั่นใจว่านางวรรณทาสีผู้นี้แหละจักเป็นผู้สมควรสั่งสอนกุรุธรรมแก่พวกตน
พราหมณ์ทั้ง ๘ จึงแสดงคารวะประทักษิณ นอบน้อมแก่นางวรรณทาสี แล้วฝากตัวเป็นศิษย์ขอเรียนกุรุธรรมนั้น
ข้างนางวรรณทาสี พอได้เห็นกิริยาอาการอันอ่อนน้อมถ่อมตนของพราหมณ์ทั้ง ๘ ก็บังเกิดความพึงพอใจ
(ด้วยพระชาดกเรื่องนี้นี่แหละ จึงเป็นที่มารของบทโศลกที่ว่า ลูกรัก ความอ่อนน้อม ถ่อมตน เป็นหัวใจของศิลธรรม คุณธรรม จริยธรรม และพระบริสุทธิธรรม)
นางจึงยินยอมสั่งสอนกุรุธรรมด้วยการกำชับแก่พราหมณ์ทั้ง ๘ ว่า ท่านทั้ง ๘ ต้องจกจำเหตุการณ์ที่ตระเวนไปขอเรียนกุรุธรรมจากพระองค์ท่าน และท่านทั้งหลายให้ละเอียดด้วย เพราะเหตุการณ์ทั้งหลายเหล่านั้นนั้นแหละ คือ องค์ประกอบของกุรุธรรมเบื้องต้นแล้วหละ
ต่อไปนี้ท่านก็ต้องจดต้องจำว่า หลักปฏิบัติในกุรุธรรมทั้ง ๕ ประการอันมี
- ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ว่าจะฆ่าด้วยเจตนา หรือไม่มีเจตนาก็ตาม
- ไม่ลักทรัพย์ ไม่ยินดีเอาของที่ผู้อื่นไม่ให้
- ไม่มัวเมาหมกมุ่นอยู่ในกามคุณ ไม่ล่วงละเมิดในลูกในเมียของผู้อื่น ทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ
- ไม่พูดเท็จ ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดเพ้อเจ้อ ไม่พูดคำหยาบ รักษา วาจาให้สุจริต
- ไม่มัวเมาประมาท ไม่เสพเครื่องมึน ดอง ของมึนเมาที่จักเป็นเหตุให้ตนมัวเมาประมาท
หากท่านทั้งหลายมุ่งมั่นปฏิบัติตนอยู่ในกุรุธรรมนี้ทั้งเบื้องต้น ท่ามกลาง และในที่สุด ด้วยความสมบูรณ์บริสุทธิ์
ความผาสุก สวัสดี มีมงคล ก็จะบังเกิดมีแก่ท่าน
พราหมณ์ทั้ง ๘ เมื่อได้รับการสั่งสอนอบรมจากนางวรรณทาสี แล้วจดบันทึกลงในแผ่นทองคำเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงแสดงคารวะ ขอลากลับไปยังนครกาลิงคะ เพื่อทูลถวายบันทึกวิชากุรุธรรมทองคำนี้แก่องค์มหาราชกาลิงคะสืบไป
ฝ่ายมหาราชกาลิงคะ เมื่อได้รับฟังคำบอกเล่า และเล่าเรียนวิชากุรุธรรม ที่จดบันทึกในแผ่นทองคำอย่างบริบูรณ์ บริสุทธิ์แล้ว ได้ทรงมีพระบัญชาให้เผยแผ่กุรุธรรมนั้นให้แก่ชาวเมืองกาลิงคะทุกคนได้ร่วมกันปฏิบัติ
นับตั้งแต่นั้นมา ชางนครกาลิงคะ ก็มีความผาสุก สมบูรณ์ ฝนฟ้าตกต้องลงมาตามฤดูกาล พืชพรรณธัญญาหารก็งอกงาม ชาวประชาก็พ้นจากทุกโศก โรคภัย องค์ราชาทรงมีพระเมตตาตั้งอยู่ในกุรุธรรมอย่างมั่นคง
นครกาลิงคะกลายเป็นนครที่อุดมสมบูรณ์ ดังเทพนคร
ข้างนครกุรุ ที่ปกครองโดยองค์พระโพธิสัตว์กุรุราช ก็รุ่งเรืองเจริญดุจดังเทพยดาอันสง่างาม สมบูรณ์เกษม
พระบรมศาสดาทรงแสดงอดีตชาติของพระมหากัจจายนะเถระจบลงแล้ว จึงทรงตรัสชี้ให้ภิกษุทั้งหลายได้รู้ว่า
นางวรรณทาสีหญิงคณิกา ได้เป็น นางอุบลวรรณา
นายประตูในครั้งนั้น ได้เป็น พระปุณณะ
โทณมาปกะอำมาตย์ผู้ตวงข้าว ได้เป็น พระโมคคัลลานะ
เศรษฐีในครั้งนั้น ได้เป็น พระสารีบุตร
นายสารถีได้เป็น พระอนุรุทธะ
รัชชุคาหกะอำมาตย์ผู้รังวัด ได้เป็น พระกัจจายนะ
ปุโรหิต ได้เป็น พระกัสสปเถระ
พระมหาอุปราช ได้เป็น พระนันทะผู้บัณฑิต
พระมเหสีในครั้งนั้น ได้เป็น ราหุลมารดา
พระชนนีในครั้งนั้น ได้เป็น พระมายาเทวี
พระเจ้ากุรุราชโพธิสัตว์ ได้เป็น เราตถาคต
 
จบประวัติ ท่านพระมหากัจจายนะถาคหนึ่งเพียงเท่านี้นะจ๊ะ
 
พุทธะอิสระ