ธรรมใดเกิดแต่เหตุ พระศาสดาทรงแสดงเหตุแห่งธรรมนั้น
การที่พระมหากัจจายนะเกิดมารูปงาม มีสติปัญญาพร้อมทั้งปฏิสัมภิทา๔ จึงทำให้สามารถอธิบายธรรม ขยายธรรมย่นย่อธรรมได้อย่างเฉียบคม แจ้มชัดเห็นปานนี้
ล้วนมาจากเหตุที่ท่านสั่งสมอบรม บ่มเพาะมาแต่ครั้งอดีต
สมัยเมื่อองค์พระบรมศาสดาสมณโคดม ทรงอุบัติเสด็จเสวยเป็นพระเจ้ากุรุราชมหาโพธิสัตว์ ปกครองกุรุนคร ทรงตั้งมั่นอยู่ในศีลห้า
ท่านพระมหากัจจายนะ ได้บังเกิดเป็นอำมาตย์ผู้ทำหน้าที่ควบคุมการชั่งตวงวัด
เมื่อมหาชนได้เห็นปฏิปทา วัตรปฏิบัติขององค์ราชาที่ตั้งมั่นอยู่ในศีลห้า จนทำให้พระวรกายและชีวิตสุขสงบ
ชนเหล่านั้นอันมีพวก ๑๑ คน ประกอบด้วย พระมารดาขององค์ราชา พระมเหสี พระอุปราช พราหมณ์ปุโรหิต อำมาตย์ผู้ทำหน้าที่ชั่งตวงวัด เจ้าพนักงานที่ขับราชรถขององค์ราชา นายทวารประตู นางหญิงโสเภณี และเศรษฐี ต่างพากันปฏิบัติในศีลห้าอย่างเคร่งครัด
ด้วยมุ่งหวังให้เกิดความสุข สงบ กาย ใจ ดังที่พระราชาได้รับ
ต่อมาองค์ราชากุรุราชมหาโพธิสัตว์ ทรงสละพระราชทรัพย์วันละ หกแสนกหาปณะ เพื่อบริจาคทานแก่มหาชนทั้งนอกเมือง ในเมือง ที่ผ่านไปมา ณ ประตูเมืองในทิศทั้ง ๔ และกลางพระนครกุรุราชโพธิสัตว์
กระทำมหาทานเช่นนี้จนทำให้มหาชนทั้งกุรุนคร มีความเป็นอยู่อย่างสุขสบาย แม้แต่ต้นไม้ ใบหญ้า ตอซังข้าวที่ผ่านการเก็บเกี่ยวไปแล้วก็พากันผลิดอก ออกผล แตกรวง เกิดความอุดมสมบูรณ์ มั่งคั่ง ทั่วทั้งแผ่นดินกุรุนคร
ทั้งนี้ล้วนเกิดจากเหตุแห่งทานและการรักษาศีลของชาวพระนครกุรุ โดยมีองค์พระมหาโพธิสัตว์กุรุราชเป็นผู้นำ
เวลาเดียวกับในนครทันตปุระ แห่งแว่นแคว้นกาลิงคะ โดยมีพระเจ้าแคว้นกาลิงคะราชปกครองได้ประสบกับวิบัติ ๓
ฉาตกภัย ภัยคือความอดอยาก
โรคาภัย ภัยคือโรคระบาด
ทุพภิกขภัย ภัยคือความแห้งแล้ง ข้าวจะหายาก หมากจะแสนแพง
ขณะนั้นชนชาวพระนครทันตปุระ ได้รับความทุกข์ยาก อดอยากอย่างแสนสาหัส พอได้รู้ข่าวว่าที่นครกุรุราชมีความอุดมสมบูรณ์ด้วยพืชพันธุ์ธัญญาหาร อีกทั้งองค์ราชากุรุราช ยังได้ตั้งอยู่ในศีลห้า และทรงตั้งโรงมหาทานในทิศทั้ง ๕ แจกอาหารตลอดเวลา
มหาชนชาวกุรุราช ก็ตั้งอยู่ในศีลในสัตว์ คนทั้งเมืองมีชีวิตอยู่อย่างสุขสบายดังเทพนคร
ขณะที่ชาวนครทันตปุระได้พากันยกขบวนขนย้ายสัตว์เลี้ยงและผู้คนอพยพโยกย้ายหนีภัยพิบัติทั้ง ๓ ออกไปจากเมือง
ชาวนครส่วนหนึ่งก็อุ้มลูกจูงหลานไปเข้าเฝ้าราชากาลิงคราชแล้วทูลว่า
ข้าแต่องค์สมมุติเทพ ขอพระองค์ทรงกระทำให้ฝนตกลงมาเสียทีเถิด บัดนี้ประชาชนในนครทันตปุระ ได้รับทุกขเวทนาอย่างแสนสาหัสจากภัยทั้ง ๓ หากเวลานี้มีฝนตกลงมาบ้าง ความทุกข์ยาก เดือดร้อนก็อาจจะบรรเทาลงบ้าง
องค์ราชากาลิงคะ จึงหันมาถามบรรดาอำมาตย์ ราชบริพารว่า มีวิธีการใดที่จักสามารถทำให้ฝนตกลงมาได้
บรรดาอำมาตย์จึงทูลว่า
ข้าแด่องค์มหาราช ในอดีตราชาแต่ก่อน เมื่อต้องการให้ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล ได้ทรงบริจาคมหาทานแก่ผู้ตกทุกข์ได้ยาก ทั้งยังอธิษฐานสมาทานเบญจศีล ทรงถือเพศพรหมจรรย์ นุ่งห่มผ้าทำด้วยเปลือกไม้ นั่งนอนด้วยเครื่องปูลาดอันหยาบกระด้าง บำเพ็ญภาวนาอยู่ตลอด ๗ วัน ฝนฟ้าก็จักตกลงมาตามฤดูกาล พระเจ้าข้า
ราชากาลิงคะ จึงทรงตรัสว่า ดีหละ เช่นนั้น เราจักทำยันต์พิธีดังกล่าว ขอพวกท่านจงให้จัดสร้างโรงมหาทาน ตั้งไว้ในประตูเมืองทั้ง ๔ มุมเมือง แล้วจัดชาวพนักงานประกอบอาหารเลี้ยงมหาชนทั้ง ๔ มุมเมือง
โดยเบิกทรัพย์สินไปจากพระคลังข้างที่ เพื่อใช้จ่ายในการครั้งนี้ให้ครบตลอด ๗ วัน
ส่วนเราจักสมาทาน เบญจศีล นุ่งห่มผ้าเปลือกไม้ ปฏิบัติรักษาพรหมจรรย์ตลอด ๗ วัน เพื่ออธิฐานขอให้ฝนตก
กาลเวลาล่วงเลยไปจนครบ ๗ วัน แต่ฝนฟ้าก็หาได้ตกลงมาไม่ ยิ่งกระทำให้หมู่ชนทั้งหลาย เกรงกลัวภัยพิบัติทั้ง ๓ ที่เกิดขึ้น ซึ่งแม้แต่องค์ราชาผู้เป็นสมมุติเทพ ของพวกเขาก็ไม่อาจแก้ไขใดๆ ได้
ชนทั้งหลายเหล่านั้น จึงพากันอพยพโยกย้ายออกจากเมืองทันตปุระ ดังสายน้ำไหล
ราชากาลิงคะ ได้ทอดพระเนตรเห็นดังนั้น จึงได้กล่าวกับสภาขุนนางว่า เราก็ได้ทำในสิ่งที่ควรทำครบทุกอย่างแล้ว เหตุใดฝนถึงยังไม่ตกลงมาอีกเล่า
พวกอำมาตย์จึงกราบทูลว่า
ข้าแต่องค์มหาราช ในนครกุรุ ของพระเจ้ากุรุราช มีช้างมงคลนามว่า อัญชนสันนิภะ หากพระองค์ส่งพระราชสาส์นขอช้างมงคลนั้นมาสู่นครกาลิงคราชแห่งนี้ ฝนก็จักตกลงมา พระเจ้าข้า
พระราชากาลิงคะ จึงกล่าวว่า ราชาแห่งนครกุรุ สมบูรณ์ด้วยเดชและศักดา มีกำลังกองทัพอันยิ่งใหญ่ ไหนเลยเขาจะยกช้างมงคลขอแผ่นดินเขาให้แก่เราได้ง่ายๆ
บรรดาอำมาตย์เหล่านั้น จึงกราบทูลว่า
พวกเราไม่ต้องยกทัพจับศึกออกไปรบดอกพระพุทธเจ้าข้า
พระราชาแห่งแว่นแคว้นกุรุนั้น มีอัธยาศัยตั้งอยู่ในศีลในธรรม ชอบใจในการบริจาคทาน แม้พระเศียร พระเนตร และดวงพระฤทัย ก็จัดส่งบริจาคให้ได้ หากผู้ใดทูลขอ แม้แต่พระราชสมบัติก็ยังทรงสละบริจาคให้ได้ อย่าว่าแต่ช้างมงคลเชือกนั้นเลย
เช่นนี้หากพระองค์แต่งพระราชสาส์นมอบให้ พราหมณ์ทั้ง ๘ ส่งให้เจรจาทูลขอช้างอัญชนสันนิภะ ย่อมได้ช้างนั้นมาอย่างแน่นอน
ข่าวการส่งพราหมณ์ทั้ง ๘ เดินทางมายังแว่นแคว้นกุรุ เพื่อทูลขอช้างมงคลของแผ่นดิน ล่วงรู้ไปถึงหูชาวเมืองแห่งนครกุรุราช จึงพากันตื่นตัวช่วยกันออกตรวจตรา สกัดกันมิให้พราหมณ์ทั้ง ๘ แห่งนครทันตปุระ ได้เข้าไปเฝ้าราชากุรุราช
ขณะเดียวกันพราหมณ์ทั้ง ๘ ผู้มีปัญญารู้ถึงการสกัดกัน ของชาวเมืองที่จะไม่ให้พวกตนทั้ง ๘ ได้เข้าเฝ้าองค์ราชากุรุราช
พราหมณ์ทั้ง ๘ จึงปลอมตัวเป็นคนพเนจรออกเดินเร่รอนขออาหารไปตามโรงทาน ของนครกุรุ เพื่อคอยท่าจะเข้าเฝ้าองค์ราชากุรุราช ที่จักเสด็จออกมาตรวจเยี่ยมโรงทานในทิศทั้ง ๕
จบก่อนหละกันนะจ๊ะ นั่งเขียนนานแล้วปวดหลัง
พุทธะอิสระ