หลังจากได้อัญเชิญอัตชีวประวัติของพระอสีติมหาสาวกมาให้ท่านทั้งหลายได้เห็นลีลาจริยาความประพฤติ วิธีปฏิบัติในอุดมการณ์ เพื่อความหลุดพ้นจากพันธนาการของมายาแห่งมาร และพญามารอันจะนำมาซึ่งแรงบันดานใจ เพิ่มพูนศรัทธาปสาทะ ในการปฎิบัติเพื่อความหลุดพ้นสืบไป
วันนี้เรามาทำความรู้จักอัตชีวประวัติของท่านพระมหากัจจายนะ ผู้ได้รับยกย่องจากองค์พระผู้มีพระภาคเจ้าว่า เป็นภิกษุผู้เลิศในด้านอธิบาย ขยายธรรม
ท่านเป็นบุตรของพราหมณ์ ชื่อว่า กัญจนะ กัจจานโคตร เป็นปุโรหิตของพระเจ้าจัณฑปัชโชต ในกรุงอุชเชนี เจริญวัยขึ้นแล้วเรียนจบไตรเพท ครั้นบิดาเสียชีวิตแล้ว ท่านได้เข้ารับตำแหน่งปุโรหิตแทนบิดา
ครั้นกาลต่อมา พระเจ้าจัณฑปัชโชตได้ทรงทราบว่า สมเด็จพระบรมศาสดาได้ตรัสรู้แล้ว เสด็จเที่ยวสั่งสอนประชาชนอยู่ ธรรมที่พระองค์ทรงสั่งสอนนั้นเป็นธรรมที่แท้จริง ยังประโยชน์ให้สำเร็จแก่ผู้ประพฤติปฏิบัติตาม มีพระประสงค์จะทูลเชิญสมเด็จพระบรมศาสดาทรงประกาศพระศาสนา ยังกรุงอุชเชนี
จึงตรัสสั่งแก่กัจจายนปุโรหิตซึ่งเป็นผู้มีความรู้ จบไตรเพทไปทูลเชิญเสด็จ ก่อนที่กัจจายนปุโรหิตจะทูลลาไป จึงทูลขอพระราชาอนุญาตว่า หากหม่อมฉันได้ศรัทธาปสาทะ หลังจากได้เห็น ได้ฟัง พระธรรมขององค์พระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วจักขอบวชด้วย
ครั้นได้รับพระบรมราชานุญาตแล้ว จึงออกจากกรุงอุชเชนีพร้อมด้วยบริวารทั้ง ๗ คน ครั้นมาถึงที่ประทับพระบรมศาสดาจึงพากันเข้าไปเฝ้า พระพุทธองค์ตรัสเทศนาสั่งสอน ในเวลาจบเทศนาทั้งหมดได้บรรลุพระอรหัตตผลพร้อมกัน แล้วจึงทูลขออุปสมบท พระบรมศาสดาทรงอนุญาตให้เป็นภิกษุด้วยวิธี เอหิภิกขุอุปสัมปทา
ครั้นได้อุปสมบทแล้วจึงทูลเชิญอาราธนาพระบรมศาสดาเสด็จไปยังกรุงอุชเชนี ตามพระราชประสงค์ของพระเจ้าจัณฑปัชโชต พระบรมศาสดาทรงรับสั่งว่าเธอไปเองเถิด เมื่อเธอไปแล้วพระเจ้าจัณฑปัชโชตจักทรงเลื่อมใส ท่านพระมหากัจจายนะพร้อมด้วยบริวารทั้งเจ็ดองค์กราบถวายบังคมลา สมเด็จพระบรมศาสดากลับไปสู่กรุงอุชเชนี ประกาศพระพุทธศาสนาให้พระเจ้าจัณฑปัชโชตและชาวพระนครเลื่อมใส แล้วจึงกลับมาสู่สำนักของพระบรมศาสดา
ท่านพระมหากัจจายนะ เป็นผู้ฉลาดในการอธิบายความแห่งคำย่อให้พิสดาร เช่น ในครั้งหนึ่งสมเด็จพระบรมศาสดาทรงแสดงภัทเทกรัตตสูตรโดยย่อมีใจความว่า
"ผู้มีปัญญาไม่ควรตามคิดถึงสิ่งที่ล่วงไปแล้ว
ไม่ควรจะมุ่งหมายสิ่งที่ยังไม่มาถึง
เพราะว่าสิ่งใดที่ล่วงไปแล้ว สิ่งนั้นก็ละเสียแล้ว
สิ่งใดยังมาไม่ถึง สิ่งนั้นก็ยังไม่ได้ไม่ถึง
ผู้ใดเห็นแจ้งธรรมที่เกิดขึ้นจำเพาะหน้าในที่นั้น ๆ ในกาลนั้น ๆ ไม่ง่อนแง่น ไม่คลอนแคลน
ครั้นรู้ธรรมนั้นแล้ว พึงให้ธรรมนั้นเจริญเนือง ๆ
ความเพียรควรทำเสียในวันนี้แล
ใครเล่าจะพึงรู้ว่าความตายจักยังมาไม่ถึงในวันพรุ่งนี้ เพราะว่าความผัดผ่อนต่อมัจจุราชที่มีเสนาใหญ่นั้นไม่มีเลย
ผู้รู้ที่กิเลสอันสงบระงับแล้ว ย่อมกล่าวสรรเสริญผู้มีความเพียรไม่เกียจคร้านทั้งกลางวันกลางคืน อยู่ด้วยความไม่ประมาท อย่างนี้ชื่อว่าผู้มีราตรีเดียวเจริญ"
ครั้นตรัสธรรมนี้แล้วเสด็จลุกเข้าสู่วิหารที่ประทับ ภิกษุทั้งหลายไม่ได้โอกาสที่จะทูลถามเนื้อความที่พระองค์ตรัสโดยย่อให้เข้าใจกว้างขวาง จึงพากันไต่ถามท่านพระมหากัจจายนะโดยได้อาราธนาขอให้ท่านอธิบายขยายธรรมนั้นให้ฟัง
ท่านก็อธิบายให้ฟังโดยพิสดารว่า
"ท่านผู้มีอายุ เราเข้าใจเนื้อความแห่งธรรมที่ทรงแสดงแล้วโดยย่อ ตามความพิสดารอย่างนี้ว่า เมื่อบุคคลคิดว่าในกาลล่วงแล้ว ตากับรูป หูกับเสียง จมูกกับกลิ่น ลิ้นกับรส กายกับสิ่งที่จะพึงถูกต้องด้วยกาย ใจกับอารมณ์ที่เกิดกับใจของเรามีแล้วอย่างนั้น ความกำหนัดพอใจในสิ่งเหล่านั้นก็มีด้วยความผูกพันวิญญาณ เพราะวิญญาณอันความกำหนัดพอใจผูกพันแล้ว ผู้นั้นก็เพลิดเพลินในสิ่งนั้น ๆ อย่างนี้ชื่อว่าไปตามคิดถึงเรื่องที่ล่วงไปแล้ว
บุคคลตั้งจิตไว้เพื่อหมายจะได้สิ่งที่ตนยังไม่ได้แล้วว่า ในกาลไกลข้างหน้า นัยน์ตากับรูป เป็นต้น ของเราจักเป็นอย่างนี้ เพราะความตั้งจิตอย่างนั้นเป็นปัจจัยผู้นั้นก็เพลิดเพลินสิ่งนั้น ๆ ผู้ที่เพลิดเพลินในสิ่งนั้น ๆ อย่างนี้ชื่อว่ามุ่งหมายสิ่งที่ยังมาไม่ถึง
บุคคลไม่ตั้งจิตเพื่อจะหมายได้สิ่งที่ตนยังไม่ได้แล้วอย่างนั้น ก็ไม่เพลิดเพลินสิ่งนั้น ๆ ผู้ไม่เพลิดเพลินสิ่งนั้น ๆ อย่างนี้ชื่อว่าไม่มุ่งหมายสิ่งที่ยังมาไม่ถึงแล้ว
นัยน์ตากับรูปอย่างละ ๒ อันใดเกิดขึ้นเฉพาะหน้า ถ้าว่าความกำหนัดพอใจในสิ่งนั้น ๆ ผูกพันวิญญาณได้แล้ว บุคคลก็เพลิดเพลินกับสิ่งนั้น ๆ ผู้เพลิดเพลินกับสิ่งนั้น ๆ อย่างนี้ชื่อว่าง่อนแง่นคลอนแคลนในธรรมที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า
ถ้าความกำหนัดพอใจในสิ่งนั้น ๆ ไม่ผูกพันวิญญาณได้ บุคคลก็ไม่เพลิดเพลินสิ่งนั้น ๆ
อย่างนี้ชื่อว่าไม่ง่อนแง่นคลอนแคลนในธรรมที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า
ท่านผู้มีอายุเราเข้าใจเนื้อความแห่งธรรมที่ทรงแสดงแล้วโดยย่อตามความพิสดารอย่างนี้ ถ้าท่านทั้งหลายประสงค์ก็จงเข้าไปเฝ้าพระบรมศาสดากราบทูลถามเนื้อความนั้นเถิด พระองค์ทรงเล่าอย่างไร ก็จงจำไว้อย่างนั้นเถิด"
ภิกษุเหล่านั้นลาท่านพระมหากัจจายนะกลับมา แล้วเข้าไปเฝ้าพระบรมศาสดา กราบทูลเนื้อความนั้นให้ทรงทราบ พระพุทธองค์ตรัสสรรเสริญพระมหากัจจายนะว่า " ภิกษุทั้งหลาย กัจจายนะเป็นคนมีปัญญา ถ้าพวกเธอถามเนื้อความนั้นกับเรา แม้เราก็จักอธิบายเหมือนอย่างที่กัจจายนะอธิลายแล้วอย่างนั้น เนื้อความแห่งธรรมที่เราแสดงแล้วโดยย่อนั้นเป็นอย่างนั้นแหละ เธอทั้งหลายจงจำไว้เถิด ด้วยเหตุนี้ ท่านจึงได้รับยกย่องจากพระบรมศาสดาว่า "เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้อธิบายเนื้อความโดยย่อให้พิสดาร"
วันนี้ขอจบแค่นี้ก่อนนะจ๊ะ วันหน้าจะนำมาเล่าสู่กันฟังใหม่
พุทธะอิสระ