เรื่องที่ต้องทำความรู้จัก เข้าใจชัด คือ คุณธรรมที่ท่านพระกุณฑธานเถระได้บรรลุ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘ อภิญญา ๖ ว่าวิชาเหล่านี้คืออะไร อธิบายความว่า
ปฏิสัมภิทา ๔ ได้แก่
1. อัตถปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในอรรถ, ปรีชาเห็นแจ้งในความหมายในหัวข้อธรรมทั้งที่กว้างขวางและย่นย่อ ทั้งยังสามารถแยกแยะอธิบายขยายออกไปโดยพิสดาร เพื่อให้ผู้ฟังได้เข้าใจถึงเหตุและผลอย่างกระจ่างชัด
 
2. ธัมมปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในธรรม, ปรีชาแจ่มแจ้งใจหลักของข้อธรรมต่างๆ อย่างลุ่มลึกพิสดาร สามารถนำมาปฏิบัติในชีวิตประจำวันได้อย่างสอดคล้อง กลมกลืนกับวิถีโลกและวิถีธรรมโดยไม่ขัดแย้งกัน ทั้งยังแสดงหลักธรรมอันลุ่มลึกนั้นให้เข้าใจง่าย ปฏิบัติตามได้ผลจริง สำหรับผู้สนใจปฏิบัติ
 
3. นิรุตติปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในภาษาต่างๆ ที่ใช้สื่อความ ทั้งของคนและสัตว์, ปรีชาแจ้งชัดในรากศัพท์หรือถ้อยคำที่บัญญัติขึ้น รวมทั้งเข้าใจใช้คำพูดและถ้อยคำที่รวบรัด ชัดเจนให้ผู้อื่นเข้าใจและเห็นตามได้
 
4. ปฏิภาณปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในความเห็นปัญหา แก้ปัญหา, ปรีชาแจ้งชัดในการชี้แจง ตอบโต้ให้เท่าทันต่อสถานการณ์ โดยฉับพลันด้วยไหวพริบ สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าโดยแม่นยำ และมองเหตุการณ์ต่างๆ ได้อย่างเข้าใจแจ่มชัด ทะลุปรุโปร่ง
 
วิโมกข์ ๘ ได้แก่
1. ได้แก่ รูปฌาน 4 ของผู้ได้ฌานโดยเจริญกสิณที่กำหนดมหาภูตรูปทั้ง ๔ ได้แก่ ดิน น้ำ ลม ไฟ ที่มีทั้งในกายตน และกายผู้อื่น สัตว์อื่น
2. ความเห็น ความจำได้หมายรู้ ได้แก่ ผู้เจริญกสิณกำหนดอารมณ์ภายนอกเป็นนิมิต จนล่วงนิมิตนั้นไปแล้วพิจารณาความว่าง เห็นว่ารูปทั้งหลายเป็นของว่าง เป็นอารมณ์ จนบังเกิดเป็นองค์ฌาน
3. เจริญกสิณสีต่างๆ เป็นอารมณ์ จนบังเกิดองค์ฌาน หรือเจริญพรหมวิหาร ๔ ให้แผ่ขยายกว้างไกลไปโดยไม่มีประมาณ
4. เพราะล่วงเสียซึ่งรูปสัญญา (ความจำได้หมายรู้ในรูป) โดยประการทั้งปวง เพราะปฏิฆสัญญาดับไป เพราะไม่ใส่ใจนานัตตสัญญา จึงเข้าถึงอากาสานัญจายตนะ โดยมนสิการว่า อากาศหาที่สุดมิได้
5. เพราะล่วงเสียซึ่งอากาสานัญจายตนะโดยประการทั้งปวง จึงเข้าถึงวิญญาณัญจายตนะ โดยมนสิการว่า วิญญาณหาที่สุดมิได้
6. เพราะล่วงเสียซึ่งวิญญาณัญจายตนะโดยประการทั้งปวง จึงเข้าถึงอากิญจัญญายตนะ โดยมนสิการว่า ไม่มีอะไรเลย
7. เพราะล่วงเสียซึ่งอากิญจัญญายตนะโดยประการทั้งปวง จึงเข้าถึงเนวสัญญานาสัญญายตนะอยู่
8. เพราะล่วงเสียซึ่งเนวสัญญานาสัญญายตนะโดยประการทั้งปวง จึงเข้าถึงสัญญาเวทยิตนิโรธอยู่
 
อภิญญา ๖
1. อิทธิวิธา หรือ อิทธิวิธิ ความรู้ที่ทำให้แสดงฤทธิ์ต่างๆ ได้
2. ทิพพโสต ญาณที่ทำให้มีหูทิพย์
3. เจโตปริยญาณ ญาณที่ให้กำหนดใจคนอื่นได้
4. ปุพเพนิวาสานุสสติ ญาณที่ทำให้ระลึกถึงชาติได้
5. ทิพพจักขุ ญาณที่ทำให้มีตาทิพย์
6. อาสวักขยญาณ ญาณที่ทำให้อาสวะสิ้นไป
 
เหล่านี้คือคุณธรรมที่พระกุณฑธานได้บรรลุ จนทำให้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ขีณาสพ
 
พุทธะอิสระ