หลังจากที่พระบรมศาสดาทรงแสดงธรรมแก่ทีฆนขอัคคิเวสนโคตรลุงของพระสารีบุตรจนเลื่อมใส แสดงตนเป็นผู้ขอถือพระรัตนไตรเป็นสรณะ ที่พึ่งตลอดชีวิต
และด้วยพระพุทธธรรมนั้น พระสารีบุตรที่กำลังถวายงานพัดอยู่เบื้องหลัง เมื่อปล่อยจิตให้พิจารณาโวหารภาษิต อภิปรัชญา อภิปัญญา จนจิตเข้าถึงสภาพธรรมที่ปรากฏว่า สรรพสิ่ง สรรพชีวิต สรรพวัตถุ ล้วนเกิดมาจากเหตุ หากจะดับสรรพสิ่งเหล่านั้นก็ต้องดับที่เหตุ
จนบังเกิดนิพพิทาญาณ ความเบื่อหน่าย เมื่อจิตเบื่อหน่ายก็คลายจากความยินดียินร้ายทั้งปวง หลุดพ้นจากอำนาจแห่งกามคุณและวัฏฏะ บรรลุพระอรหันต์ในที่สุด
ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยว่า ทำไมทีฆนขอัคคิเวสนโคตรถึงไม่บรรลุธรรมใดๆ ได้แค่มีจิตศรัทธาเลื่อมใสแสดงตนเป็นอุบาสกตลอดชีวิต
(พระสารีบุตรได้บรรลุพระอรหันต์ แทงตลอดที่สุดแห่งสาวกบารมีญาณและปัญญา ๑๖ ส่วนทีฆนขะได้บรรลุโสดาปัตติผลแล้วดํารงอยู่ในสรณะทั้งหลาย)
อธิบายว่า ก็ด้วยความมีมานะ ถือตัวถือตนว่าเป็นผู้คงแก่เรียน เป็นผู้มีอายุ เป็นคนมีฐานะ ทั้งยังได้รับยกย่องว่าเป็นบัณฑิต ดูจากคำถามที่อัคคิเวสสนะทูลถามพระบรมศาสดาด้วยลีลาเล่นลิ้นแสดงโวหาร แบบชนิดที่จะถามตรงๆ ก็ไม่ถาม แต่จะใช้วิธีถามแบบอ้อมๆ วกวนต่อกวนอารมณ์เพื่อให้ผู้ตอบงุนงง
แต่พระบรมศาสดาก็ไม่ทรงหลงกล ทรงแสดงโวหารในด้ายอภิปรัชญาตอบโต้ เพื่อให้อัคคิเวสสนะตกอยู่ในภวังค์แห่งความคิดตามโวหารที่ทรงตรัส
ทั้งยังทรงชี้ให้อัคคิเวสสนะได้เห็นว่า ที่ท่านว่าสิ่งทั้งปวงไม่ควรแก่ท่าน
เราตถาคตก็กล่าวว่า แม้ความเห็นเช่นนั้นก็ไม่ควรแก่เราและไม่ควรแก่ท่านเช่นกัน
ถามว่า ทำไมพระบรมศาสดาทรงใช้สำนวนโวหารตอบไปเช่นนั้น
อธิบายว่า พระบรมศาสดาต้องการชี้ให้เห็นว่า อย่าเอาแต่ความคิดเห็น ความรู้สึกของตนเป็นใหญ่ แม้คนอื่น ผู้อื่นเขาก็มีความคิดเห็น ความรู้สึกเช่นกัน
แต่ก็มีหลักการพิจารณาว่า ความคิดเห็นนั้นหากถูกใจ ก็จักกลายเป็นความเห็นที่ก่อให้เกิดกิเลส ก่อให้เกิดความกำหนัด ก่อให้เกิดความเพลิดเพลิน ก่อให้เกิดความยึดมั่นถือมั่น
แต่ถ้าหากความเห็นเหล่านั้น ไม่ถูกใจ ไม่ตรงใจ ไม่พึงพอใจ ก็จะไม่ก่อให้เกิดกิเลส ไม่ก่อให้เกิดความกำหนัด ไม่ก่อให้เกิดความเพลิดเพลิน ไม่ก่อให้เกิดความยึดมั่นถือมั่น
เมื่อสมณพราหมณ์เหล่าใดมีความเห็นอยู่สองประการนี้ ก็จักเป็นเหตุให้ถกเถียงกัน แก่งแย่ง ช่วงชิงกัน ขัดแย้งกัน เบียดเบียนกัน
ผู้มีปัญญาพิจารณาเห็นโทษ เห็นภัยของความเห็นทั้งสองจึงจะละทิ้งความเห็นดังกล่าวนั้นเสีย
ประโยชน์อันใดเล่าที่จะมาเสียเวลานั่งเถียงกัน ทั้งที่ร่างกายนี้มีแต่ความเสื่อมไปตลอดเวลา มีโรคเป็นดังหัวฝี ที่กลัดหนอง มีความเจ็บปวดทุกข์ทรมานอยู่ มีแต่ความเสื่อม ความทรุดโทรม ท้ายที่สุดก็ต้องตาย เหลือไว้แต่ความว่างเปล่ามิใช่ตัวตน
แล้วจะมามัวนั่งถกเถียงกันเพื่อประโยชน์อันใด
พระบรมศาสดายังทรงชี้ให้อัคคิเวสนโคตรได้เห็นว่า
เวลาใดที่ได้เสพอารมณ์สุข ทุกข์ก็ยังไม่เกิด
เวลาใดที่ได้เสพอารมณ์ทุกข์ สุขก็ยังไม่เกิด
เวลาใดที่ได้เสพอารมณ์เฉยๆ สุขและทุกข์ก็ยังไม่เกิด
ดูก่อนอัคคิเวสสนะสุข ทุกข์ และเฉยๆ ล้วนไม่คงที เกิดขึ้นได้เพราะต้องอาศัยเหตุปัจจัย
เมื่อเหตุปัจจัยดับ สุข ทุกข์ และเฉยๆ ก็ดับไปด้วย
ดูก่อนอัคคิเวสสนะ อริยสาวกผู้ใดเห็นด้วยปัญญาอยู่เช่นนี้ย่อมเกิดความเบื่อหน่ายทั้งในสุขและทุกข์ แม้เฉยๆ
เมื่อเบื่อหน่ายจิตก็คลายความยินดี คลายความกำหนัด จิตย่อมหลุดพ้นจากเครื่องร้อยรัดทั้งปวง
เมื่อหลุดพ้นแล้ว ย่อมมีญาณหยั่งรู้ว่าได้หลุดพ้นแล้ว ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำได้ทำเสร็จสิ้นแล้ว กิจอื่นเพื่อความหลุดพ้นไม่มีแล้ว
ดูก่อนอัคคิเวสสนะ จิตที่หลุดพ้นแล้ว ย่อมไม่มีวิวาทะ หรือหากจะถกเถียงกันด้วยโวหารใดๆ กับชาวโลกก็พูดไปตามความจริง โดยไม่ยึดมั่นด้วยทิฏฐิใดๆ
พุทธะอิสระ