ท่านทั้งหลายคงได้อ่านประวัติท่านพระโมฆราชผู้เป็นศิษย์พราหมณ์พาวรีคนที่ ๑๖ ไปแล้ว เราท่านทั้งหลายจักได้รู้เห็นถึงพฤติกรรมของพราหมณ์โมฆราชที่จะพยายามรบเร้าถามปัญหาต่อพระบรมศาสดาอยู่ตลอด ขณะที่พระพุทธองค์ยังทรงสนทนาตอบปัญหาแก่ศิษย์พราหมณ์พาวรีคนอื่นๆ
แต่องค์พระผู้มีพระภาคเจ้าก็มิทรงให้โอกาสถาม ทั้งยังทรงทัดทานโมฆราชว่า รอก่อนยังไม่ถึงเวลาของท่าน
เรื่องดำเนินอยู่เช่นนี้
สิ่งที่ต้องวินิจฉัยก็คือ ทำไมพระบรมศาสดาจึงยังทรงไม่ตอบปัญหาแก่พระโมฆราชเสียที
อธิบายว่า ก็ด้วยเพราะโมฆราชถือตัวว่า เป็นผู้มีปัญญามาก มีความถือตัวถือตนว่า ฉลาด รอบรู้กว่าศิษย์ทั้งปวง
ทำไมพระสมณโคดมถึงไม่ยอมสนทนาธรรมปัญหาแก่ตนก่อนผู้อื่น หากจะว่ากันในภาษาปัจจุบัน ก็ต้องบอกว่า ตัวกูใหญ่ อีโก้สูง
องค์พระบรมศาสดาทรงเห็นอุปนิสัยของโมฆราชพราหมณ์แล้วจึงทรงทรมานด้วยการไม่สนใจ ไม่ให้โอกาส จนพราหมณ์หนุ่มโมฆราช ทอดอาลัยดุจดังช้างลดงวง ปูลดก้าม
เช่นนี้องค์สมเด็จพระชินศรีจึงทรงให้โอกาสแก่พราหมณ์โมฆราชถามปัญหา
เหตุการณ์นี้สอนให้รู้ว่า ความยโส ทระนง จองหอง อวดดี ไม่เป็นประโยชน์แก่ผู้ใดเลย
มีอีกเรื่องที่ต้องวินิจฉัยในประเด็นคำถามของพราหมณ์โมฆราชที่ถามว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ โลกนี้ก็ดี โลกอื่นก็ดี พรหมโลกกับทั้งเทวโลกก็ดี ย่อมไม่ ทราบความเห็นของพระองค์
เหตุดังนั้น จึงมีปัญหามาถึงพระองค์ ผู้มีปรีชาญาณเห็นล่วงสามัญชนทั้งปวง”
อธิบายความว่า คำปรารภดังกล่าวนี้ หาใช่คำถามไม่ แต่เป็นคำที่ค่อนข้างแสดงโวหาร โชว์ฉลาด และแฝงไปด้วยการค่อนขอด
ประมาณว่า ที่ข้าพเจ้าพยายามรบเร้าถามก็ด้วยเพราะอยากรู้ว่า พระองค์จะเห็นอย่างไรต่อปัญหาเหล่านี้ที่ข้าพเจ้าจักถาม หาใช่มีเจตนาลองดี ลองภูมิ ลองของไม่
ตรงนี้มีประเด็นต้องวินิจฉัยอยู่ว่า พระบรมศาสดาจักไม่ทรงทราบทีเดียวหรือว่า โมฆราชพราหมณ์อยากรู้ความเห็นของพระองค์
อธิบายความได้ว่า
ทรงทราบ แต่เพราะความทะยานอยากของพราหมณ์โมฆราชมีอย่างรุนแรงมากไป จนอาจไม่สามารถรองรับเอากระแสแห่งพระพุทธธรรมคำสอนได้ครบ ดุจดังน้ำชาล้นถ้วย
พระพุทธองค์จึงทรงทรมานโมฆราชพราหมณ์หนุ่มให้เป็นดุจดังน้ำชาพร่องถ้วยหรือไม่เต็มถ้วยเสียก่อน
แล้วจึงทรงแนะนำสั่งสอนตอบปัญหาให้
ส่วนเนื้อหาคำถามของพราหมณ์โมฆราชแท้จริงแล้วมีเพียงว่า
“ข้าพระพุทธเจ้า จะพิจารณาเห็นโลกอย่างไร มัจจุราชคือความตายจึงจะไม่แลเห็น คือ จักไม่ตามทัน พระเจ้าข้า”
พระบรมศาสดาทรงเล็งเห็นว่า คำสอนที่เหมาะสมสำหรับผู้มากไปด้วยอัสมิมานะ ความถือตัวถือตนเช่นโมฆราชคงจะต้องแนะนำให้โมฆราชพราหมณ์ผู้อหังการลด ละ วาง ความเป็นตัวกูลงเสียให้หมดสิ้น
จึงทรงตอบปัญหาแก่พราหมณ์โมฆราชว่า
“ดูก่อนโมฆราช เธอจงมีสติพิจารณาดูโลกโดยความเป็นของว่างเปล่า ถอนความเห็นว่านี่คือตัวของเราเสียทุกขณะเถิด เธอจักล่วงพ้นอำนาจของมัจจุราชเสียได้ด้วยอุบายนี้ พิจารณาอยู่เช่นนี้ มัจจุราชคือความตายจักมองไม่เห็นเธอ”
คำตอบขององค์สมเด็จพระจอมไตร ได้ชำแรกเข้าไปในดวงใจของโมฆราช ดุจดังแผ่นดินที่เหือดแห้ง ที่ได้รับหยดน้ำฝนจนชุ่มฉ่ำ ซาบซึ้ง ตรึงใจ ของท่านโมฆราชอย่างแจ่มแจ้ง ชัดเจน จนจิตคลายจากอุปทานในขันธ์ทั้งปวง บรรลุพระอรหันต์แล้วขออุปสมบทในพระพุทธศาสนา
ประเด็นของท่านพระโมฆราชที่ต้องให้ขยายก็มีเพียงเท่านี้
วันข้างหน้าจะนำเอาประวัติของท่านปิงคิยะศิษย์ของพราหมณ์พาวรีมาวินิจฉัยขยายความ เป็นอีกท่านหนึ่งที่มาถามปัญหาแก่พระบรมศาสดาเช่นกัน
แต่ก็ยังไม่สามารถบรรลุเป็นอรหันต์ได้ เพราะเหตุใดเราท่านทั้งหลายมาตามดูกันต่อ
 
พุทธะอิสระ