วันนี้เรายังอยู่กับประวัติของท่านอัญญาโกณฑัญญะ ในประเด็นที่ท่านบรรลุธรรมหลังจากได้สดับปฐมเทศนาธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ที่องค์พระบรมศาสดาทรงแสดง เป็นเหตุให้รู้แจ้งในอริยธรรมว่า สิ่งใดเกิดขึ้น สิ่งนั้นทั้งปวงล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา
อธิบายความว่า คำว่า สิ่งใดเกิดขึ้น หมายเอาตั้งแต่อารมณ์ที่เกิดขึ้นแก่จิตทั้งฝ่ายกุศล ฝ่ายอกุศล และอัพยากตธรรม รวมทั้งสิ่งที่มีวิญญาณและไม่มีวิญญาณ แม้ที่สุดคือธาตุทั้ง ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ ที่มีอยู่ในสัตว์ บุคคล เรา เขา และสิ่งของ เหล่านี้จึงชื่อว่าสิ่งใดเกิดขึ้น
อธิบายคำว่า สิ่งนั้นทั้งปวง ล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา
หมายถึง การดับจากเหตุปัจจัยเกื้อหนุนที่ทำให้เกิดสิ่งนั้น เมื่อเหตุปัจจัยเกื้อหนุนต่อสิ่งนั้นดับ สิ่งนั้นก็ต้องดับไปด้วย และไม่มีสิ่งใดที่เกิดโดยไม่ต้องอาศัยเหตุปัจจัยเลย เรียกว่า หลายสิ่งรวมเป็นหนึ่งสิ่ง เรียกสิ่งนั้นว่าชื่อนี้
เช่นนี้จึงสอดคล้องกับธรรมที่ว่า ธรรมใดเกิดแต่เหตุถ้าจะดับธรรมนั้นก็ต้องดับที่เหตุ
ประเด็นที่ต้องอธิบายในบทพระธรรมคำสอนที่พระพุทธองค์ทรงยกขึ้นมาแสดงหลังจากท่านพระอัญญาโกณฑัญญะได้มีดวงตาเห็นธรรมแล้วขอบวชเป็นภิกษุในพระพุทธศาสนา
ครั้งแรกความว่า
“ดูกรภิกษุทั้งหลาย รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ ล้วนเป็นอนัตตาไม่ใช่อัตตา”
อธิบายขายความคำว่า
รูป หมายถึง รูปร่างที่มองเห็นด้วยตา คือร่างกายหรือตัวตนของคน สัตว์สิ่งของ อันเกิดขึ้นจากการรวมตัวของธาตุ 4 คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม
เวทนา หมายถึง อารมณ์ความรู้สึกที่เกิดกับกายและใจ เรียกได้อีกอย่างว่า จิตเวทนา กายเวทนา
สัญญา หมายถึง ความจำได้ ความระลึกได้หมายรู้
สังขาร หมายถึง ร่างกาย ตัวตน อันมีเหตุปัจจัย คือ ธาตุทั้ง ๔ รวมกับหลายสิ่งประกอบกันและปรุงแต่งขึ้น
วิญญาณ หมายถึง การรับรู้อารมณ์จากการสัมผัสของอายตนะทั้ง ๖ คือ ตาเห็นรูปเกิดความรู้สึก หูฟังเสียงแล้วเกิดความรู้สึก ลิ้นรับรสแล้วเกิดความรู้สึก จมูกได้กลิ่นแล้วเกิดความรู้สึก กายสัมผัสแล้วเกิดความรู้สึก ใจรับอารมณ์เกิดความรู้สึก เหล่านี้เรียกว่า วิญญาณ
อธิบายคำว่า เป็นอนัตตา หมายถึง ไม่มีอยู่จริง ด้วยเพราะ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ล้วนแล้วแต่เกิดขึ้นจากเหตุปัจจัยทั้งนั้น สิ่งทั้งปวงนั้นจึงไม่มีตัวตนแท้จริง
เมื่อใช้สติปัญญาพิจารณาสืบสาวหาต้นตอ มองให้เห็นเหตุของการเกิด เหตุที่สิ่งนั้นตั้งอยู่ ด้วยความพากเพียร รอบคอบ ถี่ถ้วน ท่านพระปัญจวัคคีย์ทั้งห้าจึงเกิดนิพพิทาญาณความเบื่อหน่ายจิตก็หลุดพ้นจากการครอบงำของตัณหาทั้งปวง
พระพุทธธรรมที่ทรงแสดงนี้ เรียกว่า อนัตตลักขณสูตร
 
พุทธะอิสระ