มีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยเพิ่มเติมกรณีของท่านพระอัญญาโกณฑัญญะ และปัญจวัคคีย์อีก ๔ ท่านที่เหลือไม่ยอมรับในพระพุทธองค์ เมื่อพบเห็นกันครั้งแรก
พระบรมศาสดาจึงทรงตรัสเตือนว่า
“เราได้บรรลุอมฤตธรรมแล้ว”
แต่ปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ก็ยังไม่ยอมเชื่อ
จนพระบรมศาสดาอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ต้องทรงตรัสเตือนว่า ในอดีตท่านทั้งหลายเคยได้ยินเรากล่าววาจาเช่นนี้บ้างหรือไม่
มูลเหตุแห่งการที่ต้องทรงกล่าวพระวาจาเช่นนี้ ก็ด้วยเพราะทรงบำเพ็ญสัจจะบารีมาถึง ๔ อสงไขย แสนมหากัป
การที่ทรงตรัสสิ่งใดด้วยเจตนาให้ฟัง แล้วมิมีผู้หนึ่งผู้ใดรับฟัง จึงต้องทรงชี้ให้เห็นถึงเหตุและผลอันเป็นหลักการเบื้องต้น เพื่อกระตุ้นเตือนให้เกิดสติยั้งคิด พร้อมที่จะสดับพระธรรมเทศนา
เมื่อปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ได้สติยั้งคิดว่า สิ่งที่พระสมณโคดมตรัส เรามิเคยได้ยินได้ฟังที่ไหนมาก่อน จึงสงบกาย สงบใจ พร้อมที่จะสดับรับฟังสิ่งที่พวกตนยังมิเคยได้ฟังมาก่อน
คนโบราณเขาจะเชื่อใคร ฟังใคร ยอมรับใคร ก็ต้องพิจารณาด้วยหลักการและเหตุผล หาได้เชื่อเพราะแค่น่าเชื่อไม่
อีกประเด็นที่ต้องวินิจฉัยให้กระจ่าง คือ การแสดงปฐมเทศนา ทำไมต้องเป็นอริยสัจ ๔ ทำไมไม่เป็นอนัตตลักขณสูตร ทำไมไม่เป็นอาทิตตปริยายสูตร
อธิบายว่า ด้วยเหตุผล ๒ ประการ คือ
๑. เป็นธรรมเนียมของพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ที่มีมาแล้วในอดีตและจะมีต่อไปในอนาคต ที่จะต้องแสดงอริยสัจทั้งสี่เป็นเบื้องต้น
๒. อริยสัจ ๔ เป็นธรรมขั้นปฐมภูมิในการปูพื้นฐานเพื่อการบรรลุธรรมขั้นต่อๆ ไปจนถึงสูงสุด
ส่วนประเด็นที่ว่าทำไมถึงเรียก ปฐมเทศนา ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร
ก็เพราะเป็นธรรมที่เปรียบดังวงล้อเกวียนที่หมุนไป เพื่อส่งต่อพระสัจจธรรมนั้นๆ ยังประโยชน์ให้บังเกิดขึ้นแก่หมู่สัตว์
อันประกอบด้วยส่วนที่สุด ๒ อย่างที่ผู้มุ่งหวังความบรรลุมรรคผลไม่ควรข้องเกี่ยวได้แก่
การทรมานตนให้ลำบากเรียกว่า อัตตกิลมาถานุโยค
การหมกมุ่น มัวเมาในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ในกามสุข เรียกว่า กามสุขัลลิกานุโยค
สองสิ่งที่ควรละเว้นห่างแล้วปฏิบัติทางสายกลางเรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา
ด้วยการมีสติระลึกรู้อยู่ในความจริงอันประเสริฐ ๔ ประการ คือ
ทุกข์ ความทนได้ยากที่มีอยู่ในภพแดนเกิด ชาติ ชราการเกิด พยาธิ มรณะ
มูลเหตุแห่งความทุกข์ทั้งปวง ล้วนเกิดมาจากความไม่รู้ ก่อให้เกิดขบวนการอันเป็นเหตุ และเป็นปัจจัยแก่กันและกัน ดุจดังปฏิกิริยาลูกโซ่ขบวนการนั้นเรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท
เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย สังขารทั้งหลายจึงมี
เพราะสังขารเป็นปัจจัย วิญญาณจึงมี
เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย นามรูปจึงมี
เพราะนามรูปเป็นปัจจัย สฬายตนะจึงมี
เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย ผัสสะจึงมี
เพราะผัสสะเป็นปัจจัย เวทนาจึงมี
เพราะเวทนาเป็นปัจจัย ตัณหาจึงมี
เพราะตัณหาเป็นปัจจัย อุปาทานจึงมี
เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย ภพจึงมี
เพราะภพเป็นปัจจัย ชาติจึงมี
เพราะชาติเป็นปัจจัย ชรามรณะจึงมี
ความโศก ความคร่ำครวญ ทุกข์ โทมนัส และความคับแค้นใจ ก็ตามมาพร้อม ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งปวงนี้ จึงมี
ซึ่งขบวนการดังกล่าวนี้จะเข้าทำหน้าที่ย้อนไปย้อนมา ซ้ำซากไม่จบสิ้นตราบใดที่ยังมีเหตุปัจจัยสนับสนุนนั่นคือ ความไม่รู้ ความอยาก และความยึดถือ ยังไม่ถูกลด ละ วาง ว่างลง
ขบวนการดังกล่าวมานี้รวมเรียกว่า สมุทัย
การทำความเข้าใจอย่างแจ่มชัดใน ภพทุกข์ ชาติทุกข์ ชรา พยาธิ มรณะทุกข์ และแจ่มชัดในมูลเหตุแห่งทุกข์ทั้งปวง นี่แหละเรียกว่า นิโรธ
เมื่อต้องการให้ทุกข์นั้นดับก็ต้องดับที่เหตุด้วยข้อปฏิบัติทั้ง ๘ ประการ คือ
๑. สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ เห็นว่าสัตว์โลกเป็นไปตามกรรมที่ตนกระทำ เห็นว่าอริยสัจสี่ต้องเรียนรู้ศึกษาให้แจ่มชัด เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
๒. สัมมาสังกัปปะ มีความดำริชอบ คือดำริออกจากกาม ดำริไม่ผูกพยาบาท ดำริไม่เบียดเบียน ไม่ทำให้ใครเดือดร้อน ดำริให้กุศลเกิด ดำริให้กุศลที่เกิดขึ้นแล้วเจริญมากขึ้น ดำริละอกุศล ดำริระวังไม่ให้อกุศลเกิด
๓. สัมมากัมมันตะ ทำการงานชอบ คือไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ และไม่ทำการงานใดๆ ที่เบียดเบียนผู้อื่น สัตว์อื่น และต้องไม่เบียดเบียนตน
๔. สัมมาวาจายะ เจรจาชอบ คือไม่พูดปด ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดเพ้อเจ้อ
๕. สัมมาอาชีวะ การเลี้ยงชีพชอบ การประกอบอาชีพ ที่ต้องไม่เบียดเบียนตนและสัตว์อื่น ให้เดือดร้อนเสียหาย
๖. สัมมาวายามะ มีความเพียรชอบ คือเพียรป้องกันบาปอกุศลที่ยังไม่เกิดไม่ให้เกิดขึ้น เพียรละบาปอกุศลที่เกิดขึ้นแล้วให้หมดไป เพียรสร้างกุศลคุณความดีที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น และเพียรทำกุศลคุณความดีที่เกิดขึ้นแล้วให้เจริญงอกงามยิ่งขึ้น
๗. สัมมาสติ ความระลึกชอบ คือไม่ปล่อยใจให้ฟุ้งซ่าน มีสติรู้ตัวระลึกได้ในกาย ในเวทนา ในจิต และในธรรมทั้งปวงอยู่เสมอ
๘. สัมมาสมาธิ ความตั้งใจมั่น มีใจตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์เดียว จนสามารถเป็นอิสระจากอารมณ์ทั้งปวง เรียกว่า เอกัคคตาและอุเบกขารมณ์ จนบรรลุฌานชั้นต่างๆ ไปตามลำดับ
ด้วยการทำความแจ่มชัดในอริยสัจทั้ง ๔ ดังกล่าวมาจนเต็มตื้นในหัวจิตหัวใจ จึงทำให้ท่านอัญญาโกณฑัญญะมีดวงตาเห็นธรรมว่า สิ่งใดเกิดขึ้น สิ่งนั้นทั้งปวงมีความดับไปเป็นธรรมดา
วันนี้ขอขยายความเรื่องที่เกี่ยวกับท่านพระอัญญาโกณฑัญญะแค่นี้ก่อน วันหน้าจะวินิจฉัยในประเด็นที่เหลืออยู่ต่อไป
 
พุทธะอิสระ