เมื่อเราท่านทั้งหลายทำความเข้าใจในจริตทั้ง ๖ อย่างถ่องแท้แล้ว วันนี้เรามาทำความรู้จัก เข้าใจในข้อธรรมที่มนุษย์จำเป็นต้องรู้โดยที่มิอาจปฏิเสธได้
 
เราท่านทั้งหลายได้รับรูปข้อธรรมที่มนุษย์จำเป็นจะต้องเรียนรู้ ฝึกหัด ปฏิบัติมาแล้วเช่น กรรม ๒ กรรม ๓ สติความระลึกได้ สัมปชัญญะความรู้ตัวทั่วพร้อม หิริความละอายชั่ว โอตัปปะความเกรงกลัวต่อผลแห่งบาป อโนตัปปะความประพฤติที่เกิดจากความไม่ละอายชั่ว ไม่เกรงกลัวต่อผลแห่งบาป
ธรรมดังกล่าวเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับความเป็นมนุษย์ และสังคมของมนุษย์เพื่อช่วยให้รู้จักคิด รู้จักเลือกสรร กระทำ และพูดในสิ่งที่เป็นคุณ ปฏิเสธโทษ ทั้งยังช่วยให้บรรเทาความทุกข์ยาก เดือดร้อนในตนทั้งยังสามารถหยุดยั้งผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับผู้คนในสังคมได้
เมื่อรู้จักคิดอย่างถูกต้องตามทำนองคลองธรรมแล้ว
รู้จักพูดให้เป็นคุณปราศจากโทษ
รู้จักทำในสิ่งที่เป็นคุณประโยชน์สูงประหยัดสุด
ต่อมาก็ต้องขวนขวายศึกษาธรรมขั้นสูงที่มีอยู่คู่กับโลกให้ยิ่งขึ้น อันได้แก่ หลักสามัญอันธรรมดาที่มีอยู่ในทุกสรรพสิ่งนั้นก็คือ
 
อนิจจัง ความไม่เที่ยง ไม่คงที่ ตั้งอยู่ได้ไม่ตลอดกาล ทุกสรรพสิ่ง สรรพสัตว์ต้องตกอยู่ในอำนาจความเปลี่ยนแปลง ความคร่ำคร่า ความเสื่อม และความแตกสลาย
 
ทุกขัง ความทนได้ยาก ความยุ่งยากลำบาก ความอึดอัด ความบีบคั้นทรมาน ความเร่าร้อนทุรนทุราย ความเจ็บไข้ไม่สบาย
แม้ที่สุดความไม่ได้ในสิ่งที่มุ่งหวัง หรือความได้ในสิ่งที่มุ่งหวังมากเกินไป
ทุกขังนี้มันจะทำหน้าที่บีบคั้น กัดกร่อนที่เปรียบได้ดังไฟไหม้ฟาง ดังไฟไหม้ป่าใหญ่ ดังไฟสุมขอน ดังกองขยะเน่าที่ส่งกลิ่นเหม็น ก่อความเดือดร้อนรำคาญอยู่ตลอดเวลา
ทั้งยังเปรียบได้ดังสนิมขุมที่เกาะกัดกินกายใจ จนผุกร่อนแตกสลาย
สรุปทุกขังนี้เป็นดังเครื่องทรมาน เครื่องประหารได้ทั้งกายและจิตใจ
 
อนัตตา ความไม่มีอยู่จริง ด้วยเพราะสรรพสิ่ง สรรพสัตว์ล้วนก่อเกิดและสร้างขึ้นจากหลายสิ่งรวมเป็นหนึ่งสิ่ง แล้วเรียกหนึ่งสิ่งนั้นว่า ชื่อนั้น ชื่อนี้ ทำหน้าที่ตามที่เรียนขาน
อนิจจังก็ดี ทุกขังก็ดี ล้วนตกอยู่ในอำนาจการครอบงำของอนัตตา ความไม่มีอยู่จริงทั้งสิ้น
อนัตตาจึงเปรียบได้ดังหลุมดำที่ดูดกลืนสรรพสิ่ง สรรพชีวิต สรรพวัตถุ
 
ด้วยหลักสามัญธรรมดาดังกล่าว หากใครผู้ใด ไอ้ และอีหน้าไหนยังพยายามผูกพัน ยึดถือเข้าครอบครองยึดมั่น สิ่งที่จะได้นั้นคือการไปเพิ่มพูนพลังงาน ให้กับความไม่เที่ยงและความทุกข์ให้มีพลังเข้าครอบงำได้มากยิ่งขึ้น
เช่นนั้นหากศึกษา ฝึกฝน อบรม บ่มเพาะ สติความระลึก สัมปชัญญะความรู้ตัวได้อย่างช่ำชอง เชี่ยวชาญ ชำนาญ สม่ำเสมอ ตั้งมั่น
ก็จะสามารถแยกแยะประโยชน์ มิใช่ประโยชน์ และโทษได้อย่างถูกต้องชัดเจน
ซึ่งก็จักทำให้เข้าใจความเป็นไปของโลกสมมุติ ได้อย่างถ่องแท้ แน่ชัดไม่ต้องตกอยู่ในอำนาจของมายาสมมุติ มายาคติ
 
พุทธะอิสระ