โทสจริต หมายถึง ผู้มีปกตินิสัย ขุ่นเคืองจิตใจ จมปลักอยู่ในอารมณ์อึดอัดขัดเคือง ได้ยิน ได้ฟัง ได้ดูอะไรที่ไม่ถูกใจ ไม่ถูกอารมณ์ มักจะทำให้ขุ่นเคืองจิตใจจนกลายเป็นร้อนรุ่ม ฉุนเฉียว
จากที่จิตใจจมดิ่งอยู่ในสภาพมัวหมองไม่แจ่มแจ้ง ก็กลายเป็นความพลุ่งพล่านดุจดังน้ำเดือดที่อยู่ในกาต้ม
จนพัฒนาไปถึงขั้นระเบิด ระบายเพื่อใส่สิ่งที่ไม่ถูกใจให้ต้องบี้แบน มีอันเป็นไปตามแรงอัด แรงบีบของโทสะ
แม้แต่ตัวผู้มีโทสะ ก็ไม่รอดจากแรงบีบ แรงอัดของโทสะจนเป็นเหตุให้เกิดสารพัดโรคตามมา
สภาวะเช่นนี้หาได้เพิ่งจะเกิด พึงจะมี
แต่มันมีมาก่อน มันก่อร่างสร้างนิสัยจนพัฒนาถึงขั้นโทสะติดแน่นอยู่ในกมลสันดานมาเป็นเวลาอันยาวนาน หลายภพหลายชาติ
และหากไม่ระงับ ยับยั้งหรือกำจัดมันออกไป สุดท้ายมันจะกลายเป็นความพยาบาท อาฆาตแค้น
หากหยุดยั้งมันไม่ได้ มันจะกลายเป็นสนิมขุมใหญ่ที่เกาะกินจิตวิญญาณอันบริสุทธิ์ให้กลายเป็นผุยผง (เป็นทาสอย่างยาวนาน)
วิธีระงับยับยั้งกำจัดโทสะจริต ที่ฝังยึดติดอยู่ในกมลสันดานให้สูญสิ้นไป
องค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดา ทรงแสดงเอาไว้ว่า เจริญพรหมวิหารภาวนา อันได้แก่ ฝึกฝนอบรมบ่มเพาะจิตใจให้ฝักใฝ่อยู่ในอารมณ์เมตตา
ปรารถนาให้สัตว์ทั้งปวงจงพ้นทุกข์
ปรารถนาและกระทำทุกวิถีทางที่จะอุปถัมภ์ช่วยเหลือให้สรรพสัตว์ทั้งปวงจงเป็นสุขชื่อว่า กรุณา
เมื่อเห็นสรรพสัตว์ทั้งหลายอยู่ดีมีสุข ก็ต้องพลอยยินดีปรีดาไปกับสัตว์เหล่านั้นชื่อว่า มุทิตา
และเมื่อเห็นว่า พยายามจนเต็มทีแล้วก็ยังไม่สามารถเยียวยา ช่วยเหลือต่อสรรพสัตว์เหล่านั้นได้ เพื่อไม่ให้จิตใจตนต้องมัวหมอง หงอยเหงา เศร้าซึมจนทุกข์ระทมใจ องค์พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแนะนำให้พิจารณาเห็นโทษ เป็นภัยของกรรมที่สัตว์เหล่านั้นได้กระทำจนส่งผลกรรมนั้นตามมาให้ผลในปัจจุบัน
เรียกว่า เมื่อก่อหนี้ มีหนี้ ก็ต้องชดใช้หนี้ที่สร้างเอาไว้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ องค์พระบรมศาสนาจึงทรงแนะนำให้พิจารณาว่า สัตว์โลกเป็นไปตามผลแห่งกรรม ที่สัตว์นั้นได้กระทำไว้
การวางเฉยหลังจากพิจารณาด้วยดีเช่นนี้ ชื่อว่า อุเบกขา
นอกจากนี้สำหรับผู้ที่ไม่ขะมักเขม้นเลยต่อการใช้สติปัญญาในการพิจารณา พระพุทธองค์ก็ทรงแนะนำวิธีระงับ ยับยั้งหรือกำจัด ขัดเกลาจิตให้หลุดพ้นจากโทสะจริตด้วยการผูกจิตเอาไว้กับเครื่องหมายสี หรือ วัตถุใดวัตถุหนึ่งด้วยความแนวแน่ ตั้งมั่นอย่างชัดเจน เช่นนี้เรียกว่า ตาดู ใจรู้ ปากภาวนา
ให้สามสิ่งดังกล่าวรวมกันเป็นสิ่งเดียวกันจนภาพนิมิตนั้นติดตา เมื่อกายกับใจตั้งมั่นอยู่กับนิมิตนั้นแล้วก็อย่าหยุดเพ่งพิจารณาต่อไปจนหลับตา ลืมตา เห็นนิมิตปรากฏได้ทุกขณะ เช่นนี้เรียกว่า นิมิตตรึงใจ
เมื่อถึงขั้นนิมิตติดตา ตรึงในใจแล้ว ก็ขยับมาถึงขั้นบริหารพัฒนานิมิตที่ตรึงจิตใจนั้น ให้ใหญ่ให้เล็ก ให้เคลื่อนไหวตามใจปรารถนา จนสามารถเปลี่ยนสภาพนิมิตนั้นให้เป็นดังใจปรารถนาได้
ทำอยู่เช่นนี้จนติดเป็นนิสัย ฝังแน่น นองเนื่องอยู่ในสัญญาจิตจนจิตมีอำนาจ มีพลานุภาพสามารถระงับ ยับยั้งอารมณ์ความขุ่นเคืองหมองใจ ขุ่นเคืองจิตใจ พลุ่งพล่าน ฉุนเฉียว ให้สงบราบคาบลงได้
กสินหรือภาพนิมิตที่องค์พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแนะนำให้กระทำภาวนา เพื่อแก้ปัญหาอารมณ์โทสจริตนั้นมีทั้งหมด ๔ อย่างอันได้แก่
๑. นีลกสิณ แปลว่า เพ่งสีเขียว ท่านให้ทำสะดึงขึงด้วยผ้าหรือหนัง กระดาษก็ได้แล้วเอาสีเขียวทา หรือจะเพ่งพิจารณาสีเขียวจากใบไม้ ใบตองก็ได้ พร้อมทั้งภาวนาว่า นีลกสิณๆ จนติดปาก ติดตา ติดใจ
๒. ปีตกสิณ แปลว่า เพ่งสีเหลือง การปฏิบัติทุกอย่างเหมือนนีลกสิณ บทภาวนาภาวนาว่า ปีตกสิณังๆ
๓. โลหิตกสิณ แปลว่า เพ่งสีแดง บทภาวนาว่า โลหิตกสิณัง ๆนิมิตที่จัดหามาเพ่ง จะเพ่งดอกไม้สีแดงหรือเอาสีแดงมาทาทับกับสะดึงก็ได้
๔. โอทาตกสิณ แปลว่า เพ่งสีขาว บทภาวนาว่า โอทาตกสิณัง ๆสีขาวที่จะเอามาเพ่งนั้น จะหาจากดอกไม้หรือเมฆอย่างอื่นก็ได้ตามแต่จะสะดวก หรือจะนำผ้าขาวมาทำเป็นสะดึงก็ได้
การเจริญเมตตาพรหมวิหารก็ดี กสิณสีทั้ง ๔ ก็ดี แม้จะมีวิธีต่างกัน แต่มีผลเป็นอันเดียวกันคือ สามารถกำราบอารมณ์โทสจริตให้สงบ ระงับได้อย่างราบคาบในขณะที่เจริญภาวนา
และถ้าหากต้องการชำระชะล้างโทสจริตให้หมดไป ต้องมีศรัทธาเพียรหมั่นภาวนาในองค์กรรมฐานทั้งสองหมวด ให้ต่อเนื่อง ตั้งมั่นยาวนานจนตลอดชีวิต จึงจะประสพความสำเร็จในการเอาชนะโทสจริตได้อย่างแท้จริง
โอกาสหน้าจะนำอัตชีวประวัติของบุคคลที่ถูกโทสะจริตเข้าครอบงำ มาเล่าสู่กันฟัง ว่าท่านมีวิธีใดที่เอาชนะอารมณ์โทสะได้อย่างไร
พุทธะอิสระ