ทำให้รู้สึกสงสารแทน ไม่รู้ว่าคนเหล่านั้นเขาจะรู้หรือไม่ว่า สิ่งที่เขาทำๆ กันอยู่มันคือ หนทางแห่งความประมาท
ดังพระพุทธภาษิตของพระบรมศาสดา ทรงตรัสสอนเอาไว้ว่า
“หนฺททานิ ภิกฺขเว อามนฺตยามิ โว, วยธมฺมา สงฺขารา, อปฺปมาเทน สมฺปาเทถ”
: “ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ เราขอพูดกับเธอทั้งหลายว่า สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา เธอทั้งหลายจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด”
เย ปมตฺตา ยถา มตา
: ผู้ประมาท เหมือนคนตายแล้ว
เต ทีฆรตฺตํ โสจนฺติ เย ปมชฺชนฺติ มาณวา
: คนประมาท ย่อมเศร้าโศกไปสิ้นกาลนาน
โย จ ปุพฺเพ ปมชฺชิตฺวา ปจฺฉา โส นปฺปมชฺชติ โสมํ โลกํ ปภาเสติ อพฺภา มุตฺโต ว จนฺทิมา
: เมื่อก่อนประมาท ภายหลังไม่ประมาท เขาชื่อว่ายังโลกนี้ให้สว่าง เหมือนพระจันทร์พ้นจากเมฆหมอกฉะนั้น

แล้วอะไรเล่าที่เป็นเหตุแห่งความประมาท
อธิบายว่า ก็อวิชา (ความโง่ ความไม่รู้)
ตัณหา (ความทะยานอยาก)
อุปาทาน (ความยึดมั่น ถือมั่น)
นอกจากอวิชา ตัณหา อุปาทาน เป็นมูลเหตุ ความมัวเมาประมาทแล้ว ยังมีแรงจูงใจหรือสิ่งเร้า เครื่องล่อให้มัวเมาประมาท ๔ จำพวกได้แก่
๑. รูปปะประมาณะ ประมาทในรูปปล่อยตัว ปล่อยใจ ให้หลงระเริง ลื่นไหล ไปกับรูปที่ตาเห็น กายที่ได้สัมผัส
๒. โมฆะประมาณะ ประมาทในเสียง ที่หูได้ยิน ทั้งเสียงดีและเสียงไม่ดี
๓. ลูขะประมาณะ ประมาทในความคร่ำเคร่ง จริงจังไปกับความเสื่อมโทรม เศร้าหมอง จนมองอะไร เห็นอะไรก็กลายเป็นความเศร้าหมองไปทั้งหมด (นี่แหละคือต้นเหตุของโรคซึมเศร้า)
๔. ธรรมะประมาณะ ประมาทในธรรมอันเป็นอุปการะคุณแก่การดำรงชีวิต เช่น
วิริยะ ความเพียร
ขันติ ความอดทน
สติ ความระลึกได้
สัมปชัญญะ ความรู้ตัว
กตัญญูรู้คุณ
กตเวทิตา ตอบแทนคุณ
หิริ ความละอายชั่ว
โอตัปปะ ความเกรงกลัวบาป
ทาน การให้การเสียสละ
ศีล การประพฤติตนอย่างระมัดระวังดำเนินไปโดยปกติ
ภาวนา การทำให้กายใจเจริญ เจริญดียิ่งๆ ขึ้นไป
๓ ข้อแรกมีปัจจัยภายนอกมาจูงใจ โลมเล้าให้เราประมาท ข้อสุดท้าย คือ ธรรมะประมาณะ เป็นปัจจัยภายใน ที่ไร้จิตสำนึกความรับผิดชอบในตนเอง จึงปล่อยตัวปล่อยใจ ให้หลงทางไปด้วยอำนาจการชักจูง ครอบงำ ของอวิชา ตัณหา อุปาทาน
อธิบายมาด้วยความปรารถนาดี
 
พุทธะอิสระ