คราวที่แล้วได้หยิบยกเอากรรม ๑๒ มาวิสัชนาแก่ผู้สงสัยไปในระดับหนึ่งไปแล้ว
แต่ดู ดู เหมือนผู้รับรู้รับฟัง ยังจะไม่แจ่มชัดถึงรากเหง้าของกรรมทั้งปวง
วันนี้จึงขอนำกรรมทั้ง ๑๒ อาการ มาอธิบายขยายความให้ท่านทั้งหลายได้เข้าใจ ให้แจ่มชัดมากยิ่งขึ้น หรือไม่ บางคนมีสติปัญญากล้าแข็ง อาจรู้สึกสว่าง กระจ่างแจ้งขึ้นมาบ้างก็เป็นได้
ครุกรรม กรรมที่มีผลอันหนัก ได้แก่
กรรมที่กระทำกับผู้มีศีล
กรรมที่กระทำกับผู้มีคุณธรรม
กรรมที่กระทำกับผู้มีสติปัญญา
กรรมที่กระทำแก่ผู้มีตบะ มีอานุภาพ
ทั้งฝ่ายกุศลและฝ่ายอกุศล ล้วนต้องรับผลอันหนักทั้งนั้น
รวมทั้งกรรมที่กระทำให้เกิดผลแก่มนุษย์และสัตว์จำนวนมาก ในเวลาเดียวกันก็เป็นครุกรรม เช่นกัน
นอกจากนี้ครุกรรม ยังเป็นผลสืบต่อมาจากอาจิณณกรรมที่ทำอยู่บ่อยๆ จนกลายเป็นความคุ้นเคย ติดเป็นนิสัย เช่น โลภะ โกธร หลง พยาบาท อิจฉา เห็นแก่ตัว มักมาก มักง่าย ใจแคบ และยึดถือตัวกูเป็นใหญ่
เหล่านี้ หากทำบ่อยๆ ทำประจำ ทำจนติดเป็นสันดาน เป็นอาจิน
สุดท้ายก็กลายเป็นครุกรรม คือ กรรมที่ให้ผลหนักในที่สุด
แม้ครุกรรมในฝ่ายกุศล ล้วนเกิดมาจากการสั่งสมคุณงามความดีทั้งทางกาย ทางวาจา ทางจิตใจ สั่งสมบ่อยๆ วันละเล็กๆ น้อยๆ แต่ทำทุกวัน ทุกเวลา เช่นนี้ก็ส่งผลให้เป็นครุกรรมดีที่ส่งให้ท่านได้ในสิ่งที่มุ่งหวังในที่สุด
ส่วนพหุลกรรม หรือ อาจิณณกรรม ก็มีคำอธิบายเช่นเดียวกับครุกรรม
การทำอะไรบ่อยๆ เป็นอาจิน ทั้งดีและเลว ล้วนมีผลอันหนักทั้งนั้น
ดังเช่นกรณีคนชอบกินหวาน สุดท้ายก็ต้องรับผลกรรมคือ เป็นเบาหวาน เป็นโรคลิ้มเลือดอุดตันหลอดเลือด เป็นโรคเส้นเลือดแข็งตัว เป็นโรคไต เป็นความดันและอีกสารพัดโรค
ล้วนเกิดมาจากอาจิณณกรรมทั้งสิ้น
คนมีปัญญา ต้องไม่ทำกรรมใดๆ ที่มาทำร้ายตนเองและผู้อื่น
 
พุทธะอิสระ