ธุดงค์ คือ พฤติกรรมที่ประกอบไปด้วยความพากเพียรอย่างยิ่งยวด เพื่อจะเผากิเลสให้เร่าร้อน และห่างไกลจากการปรุงแต่งในสังขารทั้งหลาย ตามหลักพระธรรมวินัยนี้มีอยู่ ๑๓ วิธี
๑. นุ่งห่มเฉพาะผ้าบังสุกุล (ปังสุกูลิกังคะ) คือ ผ้าที่เก็บมาจากกองขยะหรือผ้าที่เขาทิ้งแล้วเท่านั้น
๒. ใช้ผ้าแค่ ๓ ผืนเท่านั้น (เตจีวริตังคะ) คือ ผ้านุ่งเรียกว่า สบง ผ้าห่มเรียกว่า จีวร ผ้าห่มซ้อนนอกเรียกว่า สังฆาฏิ
๓. ถือการบิณฑบาตเป็นวัตร (ปิณฑปาติกังคะ) ถ้าผู้ถือธุดงค์อย่างเคร่งครัดก็จะไม่รับกิจนิมนต์ใด ๆ นอกจากนิมนต์ไปรับบาตรเท่านั้น และเป็นการรับบาตรครั้งเดียวขอวันนั้นเท่านั้น
๔. ถือการบิณฑบาตไปเป็นแถว (สปทานจาริปังคะ) ไปตามลำดับอายุพรรษา หรือตามลำดับมาก่อนมาหลัง จะไม่มีการแก่งแย่งแซงกัน
๕. ถือการฉันมื้อเดียว (เอกาสนิกังคะ) และต้องไม่เลยเวลาที่พระวินัยกำหนดไว้
๖. ถือการฉันในบาตรเท่านั้น (ปัตตปิณฑิกังคะ) ไม่มีภาชนะใส่อาหารคาวหวานอื่นใด นอกจากทุกอย่างรวมกันอยู่ในบาตร
๗. ถือการปฏิเสธอาหารที่ไม่ได้มาจากการบิณฑบาต (ขลุปัจฉาภัตติกังคะ)แม้อาหารนั้นจะปราณีอย่างดีมีราคาแพงก็ตาม หรืออาหารที่มาจากผู้มีอำนาจราชศักดิ์ก็ตามก็ห้ามรับ
๘. ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร (อารัญญิกังคะ) โดยมีระเบียบอยู่ว่า ต้องอยู่ห่างจากบ้านคน ๕๐๐ ชั่วธนู
๙. ถือการอยู่โคนไม้เป็นวัตร (รุกขมูลิกังคะ) ไม่เข้าไปอาศัยอยู่ใต้ชายคา อาคารโรงเรือนใดๆ
๑๐. ถือการอยู่ในที่โล่งแจ้งเป็นวัตร (อัพโภกาสิกังคะ) โดยมีระเบียบปฏิบัติว่า ที่โล่งเจ้งนั้นจะต้องไม่มีร่มเงาพาดผ่าน ไม่เว้นแม้แต่ร่มเงาของต้นไม้
๑๑. ถือการอยู่ป่าช้าเป็นวัตร (โสสานิกังคะ) ท่านให้พิจารณาอยู่ในที่เหนือลม อย่าอยู่ใต้ลมเพราะอาจทำให้ให้เกิดโรคที่มาจากซากศพ
๑๒. ถือการอยู่ในเสนาสนะที่เขาจัดเอาไว้ให้ (ยถาสันถติกังคะ) เพื่อไม่ให้ตามใจกิเลส
๑๓. ถือการยืน เดิน นั่ง เป็นวัตร แต่ห้ามนอน (เนสัชชิกังคะ) ข้อนี้ดูจะทำได้ยาก แต่ในอดีตก็มีผู้เคยทำจนบรรลุอรหันต์มาแล้ว เช่น พระจักขุบาล
สรุปการออกธุดงค์ การเดินธุดงค์ การถือธุดงค์ ตามหลักพระธรรมวินัยมีข้อปฏิบัติอันเคร่งครัด เข้มงวด เพียรเท่านั้นไม่มีวิธีอื่นที่นอกจากนี้
 
พุทธะอิสระ