ทุกศาสนาในโลกนี้ไม่ว่าจะในอดีต และปัจจุบันล้วนแต่อาศัยปาฏิหาริย์เป็นเครื่องจูงใจ ชวนเชื่อ ทำให้เกิดศรัทธา
ไม่เว้นแม้แต่พระพุทธศาสนาก็มีปาฏิหาริย์
ซึ่งองค์พระบรมศาสดาทรงจักลำดับเอาไว้ ๓ ประการ คือ
๑. อิทธิปาฏิหาริย์ คือ การแสดงฤทธิ์ต่างๆ เช่น เหาะเหินเดินอากาศ หายตัว เป็นต้น
๒. อาเทสนาปาฏิหาริย์ คือ การดักใจ ทายใจ ทำนายทายทัก และการทายอดีต ปัจจุบัน และอนาคตของผู้อื่น
๓. อนุสาสนีปาฏิหาริย์ ได้แก่ การแสดงธรรมได้ตรงใจ ถูกใจผู้สดับฟัง จนยังให้ผู้ฟังเกิดปัญญา มีดวงตาเห็นธรรม
ในปาฏิหาริย์ทั้ง ๓ นี้ องค์พระบรมศาสดาทรงสรรเสริญเฉพาะอนุสาสนีปาฏิหาริย์ ว่าเป็นเครื่องยังให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการบรรลุธรรม
เราท่านทั้งหลายจะเห็นว่า แม้ในพระพุทธศาสนา จะมีปาฏิหาริย์และพระสงฆ์สาวกหลายรูป จะเป็นผู้ได้รับการยอมรับยกย่อง ว่าเป็นผู้เลิศในทางอิทธิปาฏิหาริย์ เช่น
พระมหาโมคคัลลานะ เมื่อบวชและสำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้วปรากฏว่าท่านมีความสามารถโดดเด่นในทางอิทธิปาฏิหาริย์ เป็นเลิศ กว่าภิกษุทั้งหลาย
ท่านสามารถแสดงฤทธิ์ ไปยังภูมิของสัตว์นรก และไปโลกสวรรค์ชั้นต่าง ๆ ได้ ท่านได้พบเห็นสัตว์นรกในขุมต่าง ๆ และของเทพบุตรเทพธิดาที่ได้เสวยความสุขจากการทำบุญไว้ในเมืองมนุษย์เช่นกัน
ท่านได้นำข่าวสารของสัตว์นรกและของเทพบุตรเทพธิดาเหล่านั้น มาแจ้งแก่บรรดาญาติและชนทั้งหลายให้ทราบ ทำให้บรรดาญาติและชนเหล่านั้นพากันละเว้นกรรมชั่วลามกอันจะพาตนไปเสวยผลกรรมในนรก พากันสร้างบุญกุศล อันจะนำตนไปสู่สุคติโลกสวรรค์ และพร้อมกันนั้นก็พากันทำบุญอุทิศไปให้แก่ญาติของตน เหล่าชนบางพวกที่ไม่มีศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ก็พากันละทิ้งลัทธิศาสนาเดิมมาศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนามากยิ่งขึ้น ทำให้พวกเดียรถีย์ทั้งหลายต้องเสื่อมจากลาภสักการะ เป็นอยู่ลำบากอดอยากขึ้นเรื่อย ๆ
 
แต่องค์พระบรมศาสดา ก็ทรงไม่สรรเสริญทั้งยังทรงตรัสเตือนภิกษุผู้แสดงปาฏิหาริย์ไว้ในหลายที่ เช่น
 
ในสมัยพุทธกาล
เศรษฐีชาวเมืองราชคฤห์คนหนึ่งได้บาตรไม้จันทน์มา อยากทดลองว่ามีพระอรหันต์ผู้มีฤทธิ์จริงหรือไม่ จึงตั้งเสาลำไม้ไผ่สูงเท่าต้นตาล โดยเอาบาตรแขวนไว้บนยอดเสา ประกาศว่า ถ้าพระอรหันต์ทรงอภิญญามีจริงขอให้เหาะมาเอาบาตร ถ้าใครสามารถเหาะมาเอาบาตรได้ ข้าพเจ้าจะมอบตนเป็นศิษย์ ถ้าภายใน 7 วันไม่มีใครมาเอาบาตรได้ ข้าพเจ้าจะได้รู้เสียทีว่า ในโลกนี้ไม่มีพระอรหันต์ผู้ทรงอภิญญา
เหตุการณ์ผ่านไปถึงเช้าวันที่ 7 ก็ไม่มีใครเหาะไปเอาบาตร พระเถระสองรูปคือ พระโมคคัลลานะกับพระปิณโฑละภารัทวาชะ กำลังออกบิณฑบาตในเมืองราชคฤห์ ได้ยินเสียงชาวบ้านพูดในทำนองว่า ไม่มีพระอรหันต์ทรงอิทธิฤทธิ์จริง เศรษฐีประกาศให้พระอรหันต์เหาะไปเอาบาตรภายใน 7 วัน นี่ก็มาถึงวันที่ 7 แล้ว ไม่มีพระอรหันต์ทรงอิทธิฤทธิ์แม้แต่องค์เดียว
พระโมคคัลลานะ ได้ยินหันมามอง พระปิณโฑละภารัทวาชะ แล้วกล่าวว่า ท่านผู้มีอายุ ประชาชนกำลังดูหมิ่นว่าไม่มีพระอรหันต์ผู้มีฤทธิ์ ท่านจงแสดงให้เขาเห็นเถิด พระปิณโฑละจึงขออนุญาตพระโมคคัลลานะ เข้าฌานแล้วก็เหาะไปเอาบาตรลงมาจากเสาไม้ไผ่นั้น
เศรษฐีเลื่อมใสในพระเถระ มอบตนเป็นศิษย์ท่าน ถ่ายอาหารบิณฑบาตท่านแล้ว อุ้มบาตรเดินตามหลังท่านกลับไปยังพระวิหาร ชาวบ้านทั้งหลายก็พากันห้อมล้อมพระเถระ เดินตามท่านไปวัด ส่งเสียงอื้ออึง
พระพุทธเจ้าทรงสดับเสียงอื้ออึง จึงตรัสถามพระอานนท์ พระอานนท์กราบทูลเรื่องราวให้ทรงทราบ
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมภิกษุสงฆ์ในเพราะเหตุ
เป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วทรงสอบถามท่านพระปิณโฑลภารทวาชะว่า เธอปลดบาตรของราชคหเศรษฐีลง จริงหรือ
ท่านพระปิณโฑลภารทวาชะทูลรับว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า ภารทวาชะ การกระทำของเธอนั่นไม่เหมาะ ไม่สม ไม่ควร ไม่ใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำ ไฉนเธอจึงได้แสดงอิทธิปาฏิหาริย์ซึ่งเป็นธรรมอันยวดยิ่งของมนุษย์ แก่พวกคฤหัสถ์
เพราะเหตุแห่งบาตรไม้ ซึ่งเป็นดุจซากศพเล่า มาตุคามแสดงของลับ เพราะเหตุแห่งทรัพย์ซึ่งเป็นดุจซากศพแม้ฉันใด เธอก็ฉันนั้นเหมือนกัน ได้แสดงอิทธิปาฏิหาริย์ซึ่งเป็นธรรมอันยวดยิ่งของมนุษย์ แก่พวกคฤหัสถ์
เพราะเหตุแห่งบาตรไม้ซึ่งเป็นดุจซากศพ การกระทำของเธอนั่นไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส ...
ครั้นแล้วทรงทำธรรมีกถารับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุ
ทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงแสดงอิทธิปาฎิหาริย์ ซึ่งเป็นธรรมอันยวดยิ่งของมนุษย์ แก่พวกคฤหัสถ์ รูปใดแสดง ต้องอาบัติทุกกฎ
 
เช่นนี้การมีการแสดงปาฏิหาริย์นอกจากศาสนาพุทธแล้วก็ยังมีลัทธิ ศาสนาต่างๆ พากันชูปาฏิหาริย์เป็นเครื่องจูงใจสร้างศรัทธา
ซึ่งจะแตกต่างจากศาสนาพุทธที่มุ่งเน้นการตรัสรู้ บรรลุธรรม พ้นทุกข์ เป็นเครื่องจูงใจให้คนศรัทธา
 
พุทธะอิสระ