“เย ธัมมา เหตุปัปพวา เตสัง เหตุง ตถาคโต (อาหะ) เตสัญจ โย นิโรโธ จ เอวัง วาทีมหาสมโณ”
"ธรรมเหล่าใด เกิดแต่เหตุ พระตถาคตกล่าวถึงเหตุแห่งธรรมนั้น และความดับแห่งธรรมนั้น พระมหาสมณะมีปกติกล่าวอย่างนี้"
คาถาพระอัสสชิแสดงแก่พระสารีบุตร
เหตุที่เจ้าคณะปกครองทั้งธรรมยุตและมหานิกาย ต่างทยอยกันถูกปลดเป็นทิวแถว ก็ควรมองย้อนกลับไปดูสิ่งที่เขาเหล่านั้นกระทำ พูด คิด ว่ามันมีเหตุอันใด ที่ทำให้ต้องถูกปลด ถูกลงโทษ
ซึ่งตรงกับหลักคำสอนที่พระบรมศาสดาทรงให้ไว้ว่า
ธรรมทุกอย่างล้วนเกิดมาแต่เหตุ หากจะดับธรรมนั้น ก็ต้องดับที่เหตุ ไม่ใช้เอะอ่ะ อะไรก็เอาแต่โทษนั้น โทษนี่ โดยที่ไม่มองย้อนกลับมาสำรวจตรวจสอบดูตนเอง ว่าศีลของตนยังครบถ้วนสมบูรณ์อยู่หรือไม่
ดังบทพิจารณาอภิณหปัจจเวกขณปาฐะ ที่ทรงตรัสสอนว่า
กัจจิ นุ โข เม อัตตา สีละโต นะ อุปะวะทะตีติ ปัพพะชิเตนะ อะภิณหัง ปัจจะเวกขิตัพพัง
บรรพชิตพึงพิจารณาโดยแจ่มชัดอยู่เนืองนิจว่า, เมื่อกล่าวโดยศีล, เราย่อมตำหนิติเตียนตนเองไม่ได้มิใช่หรือ
กัจจิ นุ โข มัง อะนุวิจจะ วิญญู สะพรัหมะจารี อะภิณหัง ปัจจะเวกขิตัพพัง
บรรพชิตพึงพิจารณาโดยแจ่มชัดอยู่เนืองนิจว่า, เมื่อกล่าวโดยศีล, เพื่อนสพรหมจารีที่เป็นวิญญูชน, ใคร่ครวญแล้ว, ย่อมตำหนิติเตียนเราไม่ได้มิใช่หรือ
นี่แค่บทพิจารณา ๒ ในสิบข้อที่ผู้ที่เป็นภิกษุต้องพิจารณาอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน
ทั้งยังมีจรณที่ภิกษุต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัดอีก ๑๕ ข้อ
(๑) สีลสัมปทา ถึงพร้อมด้วยศีล
(๒) อินทรียสังวร สำรวมอินทรีย์
(๓) โภชเนมัตตัญญุตา รู้ความพอดีในการบริโภคอาหาร
(๔) ชาคริยานุโยค ประกอบความเพียรของบุคคลผู้ตื่นอยู่
(๕) ศรัทธา ความเชื่อ
(๖) หิริ ความละอายแก่ใจ
(๗) โอตตัปปะ ความเกรงกลัวผลของความผิด
(๘) พาหุสัจจะ ความเป็นผู้ได้ยินได้ฟังมาก คือศึกษามามากจำได้มาก
(๙) วิริยะ มีความเพียร
(๑๐) สติ ระลึกได้
(๑๑) ปัญญา ความรอบรู้
(๑๒) ปฐมฌาน ฌานที่ ๑
(๑๓) ทุติยฌาน ฌานที่ ๒
(๑๔) ตติยฌาน ฌานที่ ๓
(๑๕) จตุตถฌาน ฌานที่ ๔
หากพระคุณเจ้าทั้งหลายยังมีพฤติกรรมตามใจกิเลสตกอยู่ในอำนาจการครอบงำของตัณหา อย่างไม่ลืมหูลืมตาอยู่กันหละก็
เราคงจะได้เห็นข่าวเสนอปลดเจ้าคณะปกครองกันอีกเป็นเข่งแน่
แก้ได้ก็ควรแก้
เปลี่ยนได้ก็ควรเปลี่ยน
ปรับปรุงได้ก็รีบๆ ปรับปรุงพฤติกรรมกันเสียนะ ไม่เช่นนั้น ข่าวการสั่งปลดเจ้าคณะปกครอง คงจะมีอีก
เจ้าอาวาสวัดไชโยฯ ไม่ใช้เป็นคนสุดท้ายดอกนะจ๊ะ
นี่ไม่ได้ขู่แต่เรื่องจริง เตือนเพราะอยากเห็นความงดงามของคณะสงฆ์ตามหลักพระธรรมวินัย
พุทธะอิสระ
--------------------------------------------