พระบรมศาสดาทรงสอนมงคลในข้อที่ ๒๘ ความว่า ความเป็นผู้ว่าง่าย
ความเป็นผู้ว่าง่าย หมายถึง เป็นผู้มีสัมมาคารวะ รู้จักให้เกียรติ ให้การยอมรับ พร้อมที่จะยอมรับฟังเหตุผลคำสั่งสอน ที่ถูกทำนองคลองธรรม ที่ผู้อื่นแนะนำ
และพร้อมปฏิบัติตามคำแนะนำสั่งสอนนั้น
อีกทั้งต้องรู้จักละวางความเย่อหยิ่ง ทระนง ยโส อวดดี เลิกพฤติกรรมที่มีลักษณะคล้ายกับปูชูกล้ามเข้ารู หรือพฤติกรรมดุจดังช้างชูงวง เข้าไปในป่ารกชัฏ
พฤติกรรมดังกล่าว มันไม่เป็นผลดีแก่ตนเลย
ความยโส โอหัง อวดดี เย่อหยิ่ง ทระนงตน ก็ไม่ต่างอะไรกับปูชูก้ามเข้ารู ช้างชูงวงเข้าไปในป่ารกชัฏ นอกจากจะเป็นอันตรายแก่ตนแล้ว ยังทำลายประโยชน์อันพึงได้ จากคำแนะนำอบรมสั่งสอน ของผู้มีปัญญาอีกด้วย
บัณฑิตทั้งหลายจักไม่นิยม ไม่ยอมรับ ต่อผู้มีพฤติกรรมดุจดังปูชูก้าม ช้างชูงวง ถือเป็นพฤติกรรมที่ทำลายประโยชน์ตนทั้งในโลกนี้และโลกหน้า
แต่จะยอมรับและช่วยอบรม สั่งสอนแต่เฉพาะผู้อ่อนน้อม ถ่อมตน ว่าง่าย สอนง่าย
บุคคลใดที่เป็นผู้อ่อนน้อมถ่อมตน เป็นคนว่าง่าย สอนง่าย ย่อมมีความเจริญทั้งในโลกนี้ และโลกหน้า
 
ดังบทโศลกที่ว่า
  • ลูกรัก...ความอ่อนน้อมถ่อมตน เป็นรากเหง้าของสัจธรรม อริยธรรม วิมุตติธรรม พระบริสุทธิธรรม
 
 
  • ลูกรัก...เจ้าจักสำคัญ ข้อความโบราณนี้เป็นไฉน รวงข้าวยิ่งสุก ยิ่งอ่อนน้อม รากเหง้าของกุศลธรรม ความฉลาด คือ ความอ่อนน้อมถ่อมตน
    ความอ่อนน้อมถ่อมตน ถือว่าเป็นหัวใจของคุณธรรม สัจธรรม อริยธรรม รวมทั้งเป็นหัวใจของอีกหลายสิ่งเช่นนี้ ควรจะทำให้มีอยู่ในคำว่าศิษย์ที่ดี และควรมีอยู่สม่ำเสมอจนเห็นเป็นปกติ
 
 
  • ลูกรัก...วิถีชีวิตของเจ้าควรจักเริ่มต้นคือ ทำตนให้ละเอียดอ่อน พินอบพิเทา ละเมียดละไม อ่อนน้อมถ่อมตน อ่อนโยน อ่อนไหว แต่มิใช่อ่อนแอ
 
  • ลูกรัก...เจ้าจงใช้ความอ่อนน้อมถ่อมตน เข้าหาครูผู้ใจอารีทุกท่าน ด้วยอารมณ์ที่เป็นกลาง เพื่อที่จะทำลาย ทิฐิ มานะ ของตัวเจ้าเองเสียก่อน มิใช่เสแสร้งหรือแกล้งทำ มิฉะนั้นใจของเจ้าจะไม่เปิดกว้าง เพื่อรับเอาทุกสิ่งทุกอย่างมาพิจารณา และแยกแยะว่าถูกหรือผิด เจ้าอย่าได้เอาทิฐิเล็กเล็ก น้อยน้อย, มาเป็นม่านที่คอยขวางกั้นเจ้าอยู่เลย ซึ่งมันไม่เป็นผลดีเลยนะ ลูกรัก
 
พุทธะอิสระ