ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานในมรรควิถีข้อที่ ๔
สัมมากัมมันตะ แปลว่า การกระทำที่ไม่เบียดเบียนตนและคนอื่น ทั้งทางกาย วาจา และใจ อันมีหลักพิจารณาอยู่ ๓ อย่าง คือ
๑. เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ (หากเผลอฆ่าโดยไม่มีเจตนา ขาดสติเป็นบ้า สติวิปลาส เช่นนี้ไม่ถือว่าเป็นการละเมิดในข้อนี้)
๒. เว้นจากการยึดครองสิ่งที่เจ้าของมิได้ให้ (หากยึดครองของที่ไม่มีเจ้าของ ไม่ถือว่าเป็นการละเมิดในข้อนี้)
๓. เว้นขาดจากการประพฤติผิดในกาม (ข้อนี้หากเป็นศีล หลักในการพิจารณาคือ ไม่เป็นชู้ต่อผู้ที่มีเจ้าของ แต่หากเป็นมรรควิถีหลักในการพิจารณา คือการถือพรหมจรรย์)
.
การจักทำให้สัมมากัมมันตะเจริญท่านต้อง
- เจริญเมตตาและให้อภัย เป็นการบรรเทาพฤติกรรมการฆ่าให้หมดไป
- เจริญทานบารมี ฝึกฝนให้ตนเป็นคนเสียสละ มีจิตอาสา มีจาคะการบริจาค ก็จักสามารถขจัดเสียได้ ซึ่งความโลภอยากได้ของของผู้อื่น ให้ลดน้อยลงไปได้
- ฝึกฝนให้เป็นผู้รู้จักหักห้ามจิตใจ คุมจิตให้อยู่ในอำนาจของสมาธิหรือปัญญา พร้อมทั้งฝึกฝนตนให้เป็นผู้ซื่อตรงทั้งต่อหน้าและลับหลัง เช่นนี้ก็จักขจัดความหมกมุ่นในกามคุณ ให้ลดน้อยลงไปได้
.
สรุป การที่จักสามารถปฏิบัติตามหลักสัมมากัมมันตะให้ได้สมบูรณ์นั้น นอกจากจักเพียรพยายามมีสติระมัดระวัง พฤติกรรมทางกาย วาจา ใจ ของตนให้มั่นคงแล้วยังต้องเจริญเมตตา ปรารถนาให้สัตว์ทั้งปวงเป็นสุข บริจาคทานเสียสละและเจริญภาวนาอยู่เนืองนิจ
.
พุทธะอิสระ