๑๑ กรกฎาคม ๒๕๖๓
สัมมาทิฏฐิ มาจากคำว่า
๑. สัมมา หมายถึง โดยชอบ หรือ ถูกต้อง
๒. ทิฏฐิ หมายถึง ความเห็น หรือ ความเข้าใจ
.
สัมมาทิฏฐิมี ๒ ระดับ ได้แก่
๑. สัมมาทิฏฐิในฝ่ายโลกียะ หมายถึง ความคิดเห็นที่นำไปสู่ความความเจริญ อันเกิดจากการกระทำของตนและความสำนึกรับผิดชอบต่อการกระทำนั้นตามหลักธรรมจรรยาอันดีงาม เรียกสั้นๆว่า กัมมัสสกตา
.
สัมมาทิฏฐิ ๑๐ ประการ ในฝ่ายโลกียะที่จำเป็นต้องมี ได้แก่
๑. เห็นว่าทานที่ให้แล้วมีผล
๒. เห็นว่าการบำเพ็ญทานมีผล
๓. เห็นว่าการบูชามีผล
๔. เห็นว่ากรรมที่ทำไว้ดีและชั่วมีผลวิบาก
๕. เห็นว่าโลกนี้มี
๖. เห็นว่าปรโลกหรือโลกหน้ามี
๗. เห็นว่ามารดามีคุณ
๘. เห็นว่าบิดามีคุณ
๙. เห็นว่าสัตว์เป็นโอปปาติกะ หรือ การเกิดใหม่ของสรรพสัตว์มีจริง
๑๐. เห็นว่าพระอรหันต์ผู้ประพฤติชอบ ปฏิบัติชอบในโลกนี้ และปรโลกมีจริง
.
๒. สัมมาทิฏฐิในฝ่ายโลกุตระ หมายถึง ความคิดเห็นในความเป็นไปของสรรพสิ่งตามเหตุแห่งปัจจัยทั้งหลายว่า ทุกสิ่งไม่เที่ยงเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปตามเหตุแห่งปัจจัยของสิ่งทั้งหลายเหล่านั้น เรียกสั้นๆว่า สัจจานุโลมิกญาณเหล่านี้ เป็นสัมมาทิฏฐิระดับโลกุตระ
.
เหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดสัมมาทิฏฐิ
มิใช่เพียงอาศัยธรรมอย่างใดอย่างหนึ่งได้ไม่ ต้องอาศัยการสนับสนุนจากธรรมในข้ออื่นๆ เพื่อให้สัมมาทิฏฐิที่เกิดขึ้นในตนมีความเข้มแข็ง และมีกำลังบริสุทธิ์มากขึ้น เหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดสัมมาทิฏฐิมี ๒ แนวทาง ได้แก่
.
๑. ปรโตโฆสะ
หมายถึง เสียงคำสั่งสอนจากผู้อื่นหรือสิ่งที่รู้เห็นจากภายนอก หนังสือตำรา คำสอน การเล่าเรียน การรับรู้จากสื่อหรือข่าวสารทางสังคม ซึ่งเป็นปัจจัยภายนอกที่ดีงามที่ช่วยหล่อหลอม และขัดเกลาให้เป็นผู้รู้ เป็นผู้มีคุณธรรม ซึ่งจะนำมาซึ่งการประพฤติ ปฏิบัติแต่ในสิ่งที่ดีงาม โดยเฉพาะการปฏิบัติตามหลัก กัลยาณมิตร ๔ ประการ และสัปปุริสธรรม ๗ ประการ
.
กัลยาณมิตร คือ มิตรแท้ เพื่อนแท้ เพื่อนตาย เพื่อนที่คอยช่วยเหลือเพื่อนอย่างจริงใจโดยไม่หวังสิ่งใดตอบแทน เป็นมิตรที่หวังดี มีสิ่งดี ๆ ให้กันด้วยความจริงใจ
กัลยาณมิตร…คือมิตรแท้ ๔ แบบ
- มิตร มีอุปการะคอยช่วยเหลือ
- มิตร ร่วมสุขร่วมทุกข์
- มิตร แนะนำแต่สิ่งดี
- มิตร มีความรักใคร่
.
คุณสมบัติของกัลยาณมิตร (กัลยาณมิตรธรรม ๗)
- ปิโย น่ารัก ในฐานเป็นที่สบายใจและสนิทสนม ชวนให้อยากเข้าไปปรึกษา ไต่ถาม
- ครุ น่าเคารพ ในฐานประพฤติสมควรแก่ฐานะ ให้เกิดความรู้สึกอบอุ่นใจ เป็นที่พึ่งใจ และปลอดภัย
- ภาวนีโย น่าเจริญใจ หรือน่ายกย่อง ในฐานทรงคุณ คือ ความรู้และภูมิปัญญาแท้จริง ทั้งเป็นผู้ฝึกอบรมและปรับปรุงตนอยู่เสมอ ควรเอาอย่าง ทำให้ระลึกและเอ่ยอ้างด้วยซาบซึ้งภูมิใจ
- วตฺตา จ รู้จักพูดให้เหตุ รู้จักชี้แจงให้เข้าใจ รู้ว่าเมื่อไรควรพูดอะไรอย่างไร คอยให้คำแนะนำว่ากล่าวตักเตือน เป็นที่ปรึกษาที่ดี
- วจนกฺขโม อดทนต่อถ้อยคำ คือ พร้อมที่จะรับฟังคำปรึกษาซักถามคำเสนอแนะวิพากษ์วิจารณ์ อดทน ฟังได้ไม่เบื่อ ไม่ฉุนเฉียว
- คมฺภีรญฺจ กถํ กตฺตา แถลงเรื่องล้ำลึกได้ สามารถอธิบายเรื่องยุ่งยากซับซ้อน ให้เข้าใจ และให้เรียนรู้เรื่องราวที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นไป
- โน จฏฐาเน นิโยชเย ไม่ชักนำในอฐาน คือ ไม่แนะนำในเรื่องเหลวไหล หรือชักจูงไปในทางเสื่อมเสีย
เหล่านี้คือคุณสมบัติของบุคคลที่ได้ชื่อว่าเป็นกัลยาณมิตร
.
สัปปุริสธรรม ๗ ประกอบด้วย
- ธัมมัญญุตา เป็นผู้รู้จักธรรมใดเป็นเหตุ
- อัตถัญญุตา เป็นผู้รู้จักธรรมใดเป็นผล
- อัตตัญญุตา เป็นผู้รู้จักสถานภาพของตน
- มัตตัญญุตา เป็นผู้รู้จักประมาณตน ประเมินสถานการณ์
- กาลัญญุตา เป็นผู้รู้จักกาลว่าควรหรือมิควร
- ปริสัญญุตา เป็นผู้รู้จักบริษัทที่รวมตัวกัน
- ปุคคลัญญุตา เป็นผู้รู้จักบุคคลว่าดีหรือไม่ดี
.
๒. โยนิโสมนสิการ
หมายถึง การใช้ความคิดอย่างถูกวิธี โดยพิจารณาให้เห็นในเหตุและผล อันปราศจากอคติแห่งตน ซึ่งจะทำให้เกิดความดีงาม และสามารถแก้ปัญหาได้จริง
.
การเจริญสัมมาทิฏฐิ จักต้องเป็นไปตามลำดับขั้น จักข้ามโลกียะไป และเจริญสัมมาทิฏฐิแต่โลกุตระอย่างเดียว ก็จักไม่สำเร็จประโยชน์สูงสุดของชีวิต และอาจจะทำให้เกิดจิตวิปลาสเสียด้วยซ้ำ
แต่หากจะเจริญแต่โลกียะอย่างเดียว ก็อาจจะทำให้หลง งมงายตกอยู่ในอำนาจของวัฏฏะไม่จบสิ้น
.
เข้าพรรษาปีนี้ เราท่านทั้งหลายควรที่จะมาเจริญธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือการพิจารณาหลักธรรมในมัคควิถี ซึ่งเที่ยวนี้นำเอาสัมมาทิฏฐิข้อแรกและเป็นข้อธรรมที่สำคัญที่สุดมาแสดงต่อท่านผู้เจริญ
.
ด้วยหวังว่า จักเป็นนิมิตของจิตอยู่ในใจอย่างต่อเนื่อง เพื่อสกัดกั้นมิให้อกุศลครอบงำจิตได้
.
โอกาสหน้าจักนำคำอธิบายของสัมมาสังกัปปะ ความดำริชอบ มาแสดงแก่ท่านผู้หวังความเจริญสืบไป
.
พุทธะอิสระ