มนุษย์เอย

หากเจ้ากล้าที่จักทำกรรม
ก็จงอย่ากลัวที่จักรับผลของกรรมอันเผ็ดร้อน

อธิบายความ คำว่า กรรมมี ๓ ชนิดก็มี มี ๔ ชนิดก็มี ดังนี้คือ
กรรม ๓ ชนิด ได้แก่
๑. กายกรรม สิ่งที่ทำด้วยกาย
๒. วจีกรรม สิ่งที่ทำด้วยวาจา
๓. มโนกรรม อารมณ์ที่เกิดขึ้นกับใจ
.
ขยายความคำว่า กายกรรม หมายถึง สิ่งที่ทำได้ด้วยกาย เช่น ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม กรรมดังกล่าวนี้ต้องทำด้วยเจตนา จึงจักส่งให้ได้รับผลกรรม กายกรรมทั้ง ๓ อย่างนี้ แม้จักกระทำไม่สำเร็จก็ตามที ก็ถือเป็นกรรมชั่วหยาบทางกาย เรียกได้อีกอย่างหนึ่งว่า กายทุจริต
.
ขยายความคำว่า วจีกรรม หมายถึง สิ่งที่ทำด้วยวาจา เช่น พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดเพ้อเจ้อ พูดคำหยาบ กรรมทางวาจาทั้ง ๔ อย่างนี้มีข้อแตกต่างให้วิเคราะห์ว่าแม้จักเพียรพยายาม พูดซักปานใด แต่หากไม่มีคนเชื่อ ก็ไม่ถือว่าเป็นความชั่วหยาบ เหตุเพราะ ไม่เกิดผลเสียแก่ผู้ใด แต่จักเป็นความผิดบาปเกิดขึ้นแก่ตนเอง
.
ขยายความคำว่า มโนกรรม หมายถึง อารมณ์ที่เกิดขึ้นกับจิตใจ ด้วยเหตุแห่งความโง่เขลา ท่านจำแนกเอาไว้เป็นหลักใหญ่ๆ ได้ ๓ ชนิด คือ
โลภ คิดอยากได้ของเขา
พยาบาท คิดปองร้ายเขา
และสุดท้าย เห็นผิดจากความจริง (มิจฉาทิฐิ)
.
อธิบายความว่า
โลภ ความอยากได้ของเขาก็ตาม
พยาบาท คิดปองร้ายเขาก็ตาม
เห็นผิดจากความเป็นจริงก็ตาม
.
ล้วนแล้วแต่เป็นอารมณ์ที่เกิดขึ้นกับจิต ที่มีสาเหตุมาจากความโง่ รู้ไม่ทันตามความเป็นจริง จึงส่งผลอันเผ็ดร้อนแก่ผู้ที่ถูกอารมณ์เข้าครอบงำ รวมเรียกว่า อกุศลกรรม
.
สรุป เพราะจิตโง่ จิตไม่รู้ จิตไม่มีปัญญานี่แหละ ที่เป็นสาเหตุให้ต้องทำกรรมทางกาย ทำกรรมทางวาจา และทำกรรมทางใจ ซึ่งคำว่า มโนกรรมในทีนี้แม้จักไม่หมายรวมไปถึงกุศลกรรมก็ตามที
แต่สำหรับผู้ศึกษาในวิถีจิต วิถีปัญญา วิถีปรมัตถ์สัจจะแล้ว ต้องตระหนักสำนึก ระลึกรู้อยู่เสมอว่า
อกุศลกรรมที่มีผลอันเผ็ดร้อน
กุศลกรรมมีผลให้เกิดความสงบเย็น ผ่อนคลายล้วนแล้วแต่เป็นสภาวะอารมณ์ที่ครอบงำจิต
เป็นเหตุให้จิตต้องเสพติดอารมณ์แล้วสร้างภพแดนเกิดทั้งนั้น หากมีความโง่ หลงมัวเมา ประมาทมาก ภพก็เกิดขึ้นมาก
.
เรียกว่า
โง่มาก ภพแดนเกิดก็มาก
โง่น้อย ภพแดนเกิดก็น้อย
.
ดังคำว่า
โง่มาก โรคก็มาก กลัวก็มาก
โง่น้อย โรคก็น้อย กลัวก็น้อย
(วันนี้รู้แค่นี้ก่อนนะจ๊ะ เดียวจะเครียดกันเกินไป วันต่อไปจะนำกรรม ๔ มาขยายความต่อ)
.
พุทธะอิสระ