วันนี้เสนอคำว่า บุญและบุญกิริยาวัตถุ

คำว่า บุญ หมายถึง ความประพฤติชอบทางกาย วาจา ใจ ความประพฤติดีงามทางกาย วาจา ใจ

คำว่า ประพฤติชอบ ประพฤติดีงามทางกาย วาจา และจิตใจ หมายถึง การละเว้นทุจริต ๓ อย่าง ทางกาย ทางวาจา ทางใจ อันได้แก่

ทางกาย ละเว้นการฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ และไม่เป็นชู้ไม่เป็นกิ๊ก แก่ลูกเมียชาวบ้าน รวมทั้งการละเว้นประพฤติสำส่อนทางเพศด้วย

ทางวาจา ละเว้นการพูดโกหก พูดส่อเสียด พูดเพ้อเจ้อ พูดคำหยาบ

ทางใจ ละเว้นความโลภ อยากได้ของชาวบ้าน 
ความพยาบาทอาฆาตแค้น

และละเว้นความเห็นที่ผิดไปจากกฎแห่งกรรม

ละเว้นเห็นผิดไปจากกฎสามัญลักษณะ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

ละเว้นความเห็นผิดไปจากความจริงอันประเสริฐ เช่น

ทุกข์และสิ่งทั้งปวง ล้วนเกิดมาจากเหตุ

เหตุแห่งทุกข์และสิ่งทั้งปวง หากจักดับก็ดับที่เหตุ

วิถีดับทุกข์และสิ่งทั้งปวงนั้นมีอยู่จริง

หลักปฎิบัติที่จักทำให้ทุกข์และสิ่งทั้งปวงนั้นดับ

ล้วนแต่อยู่ในอริยมรรคมีองค์ ๘ ประการ

เมื่อละเว้นจากความประพฤติไม่ชอบ ไม่ดีงาม ทั้งกาย วาจา ใจได้แล้ว ก็ต้องหันมาประพฤติชอบ ประพฤติดีงามทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ

คำว่า ประพฤติชอบ ประพฤติดีงามทางกาย วาจา ใจ ได้แก่ การนำพากาย วาจา ใจ ไปพูด ไปทำ ไปคิดในสิ่งที่ชอบ สิ่งที่ดีงาม ๑๐ ประการ เรียกว่าการทำบุญ ๑๐ อย่างหรือบุญกิริยาวัตถุ ๑๐

คำว่า บุญกิริยาวัตถุ หมายถึง สภาวะอารมณ์ที่เป็นกุศลหรือฉลาดแล้วลงมือทำ พูด คิด ซึ่งก็อาจจะประกอบด้วยวัตถุก็ได้ จึงเรียกว่า บุญ กิริยา วัตถุ

รวมความว่า หากท่านต้องการบุญ มันต้องเริ่มต้นที่ต้องมีกุศล คือ ความชาญฉลาดแล้วศรัทธาในสิ่งที่ตนจะทำ แล้วลงมือทำ ซึ่งก็อาจจะมีวัตถุเข้ามารวมด้วยก็ได้ เช่น

๑. การให้การบริจาค ซึ่งก็อาจจะไม่ต้องใช้วัตถุเลยก็ได้ เช่น การให้อภัยเป็นต้น อีกทั้งยังต้องจำไว้ว่า องค์พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสอนให้บริจาค ก็เพื่อทำลายความตระหนี่ ความคับแคบ ความเห็นแก่ตัวที่มีอยู่ในตัวเอง นี้คือเป้าประสงค์ในการให้ที่แท้จริง

๒. การรักษาศีล คือการมีกาย มีวาจา อันปกติซึ่งก็เป็นผลมาจากที่ใจนี้มีสติความระลึกได้ สัมปชัญญะความรู้ตัว แล้วสำรวม สังวร ระวังตาหู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ให้โลดแล่นไปตามอารมณ์ที่เข้ามาหลอกล่อ สุดท้ายต้องรู้จักละอายชั่ว เกรงกลัวบาป ไม่ทำผิดปกติ ทั้งต่อหน้าและลับหลัง

๓. ภาวนา หมายถึง การทำให้ใจและกายนี้เจริญในวิถีแห่งความฉลาด สะอาด สว่าง สงบ

๔. ความประพฤติที่อ่อนน้อม ถ่อมตน ไม่โอ้อวด ไม่หยิ่งยโส และไม่ทำตนเป็นน้ำชาล้นถ้วย

๕. การมีจิตอาสา ที่จะอุทิศตนให้เป็นประโยชน์สุขต่อส่วนรวม

๖. การแบ่งปันความดีงาม ที่ตนได้เข้าถึงแล้ว ให้แก่เพื่อนมนุษย์ด้วยกันด้วยจิตใจที่ดีงามเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่

๗. การยินดีและการแสดงความยินดี ต่อการทำความดีของผู้อื่นด้วยความจริงใจ ไม่เสแสร้ง

๘. การพยายามที่จักทำตนให้เป็นผู้ฟังให้มากกว่าพูด และสิ่งที่ควรฟังมากที่สุดคือ พระธรรมคำสอนขององค์พระผู้มีพระภาคเจ้า

๙. การเผยแพร่ธรรม การให้ธรรม การชี้สิ่งที่ถูกควรทำ ชี้ผิดเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ

๑๐. ทำความเห็นของตนให้ตรงและถูกต้องตามความเป็นจริงทั้งในสมมติธรรมและปรมัตถธรรม

ทั้งหมดนี้ถือว่าเป็นวิธีการบำเพ็ญบุญที่ถูกต้อง เมื่อได้บุญจากการทำ พูดคิด ที่ถูกต้องแล้ว จึงจะเป็น บุญนิธิ

คำว่า บุญนิธิ หมายความว่า บุญ คือ ขุมทรัพย์ บุญคือเครื่องยังให้สำเร็จถึงสมบัติทั้งปวง

พุทธะอิสระ