วันนี้เสนอคำว่า อารมณ์

อารมณ์ หมายถึง เครื่องครอบงำจิต เครื่องยึดเหนี่ยวจิต เครื่องพันธนาการจิต เครื่องจองจำจิต เครื่องอาศัยของจิต เครื่องสร้างความรื่นเริงหรือหดหู่ให้เกิดแก่จิต เครื่องที่ทำให้จิตงดงามหรือต่ำทราม เครื่องสร้างภาระมลทินให้แก่จิต เครื่องสร้างกุศลและอกุศลให้จิต เครื่องสร้างสุขและทุกข์ให้จิต และเครื่องทำให้เกิดชาติภพแก่จิต

สุขคติภพหรือทุกคติภพล้วนมาจากอารมณ์ที่จิตนี้กำลังเสพอยู่

อารมณ์ยังสามารถทำให้มนุษย์ธรรมดากลายเป็นสัตว์เดรัจฉาน เปรต อสุรกาย สัตว์นรก

อารมณ์มีศักยภาพทำให้จิตนี้ไปเป็นเทวดา พรหม มาร แม้พระอริยเจ้าระดับต้นๆ ก็ได้ อีทั้งอารมณ์ยังสามารถทำให้สามัญยสัตว์ กลายเป็นพระโพธิสัตว์ยังได้

เมื่ออารมณ์มีทั้งคุณและโทษเห็นปานนี้

แล้วที่เกิดแห่งอารมณ์มาจากไหนละ

ตอบว่า ที่เกิดหรือเส้นทางที่มาแห่งอารมณ์มี ๖ ทางที่เรียกว่าอายตนะภายนอกคือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส (โผฏฐัพพะ) และความรู้สึกในขณะเวลาที่จิตมีอารมณ์ในเวลาหนึ่งๆ ขณะที่อารมณ์อยู่กับรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และจิตใจ

ถามว่า แล้วมันเข้ามาครอบงำ ยึดเหนี่ยวสิงสถิตอยู่ในร่างกายจิตใจเราได้อย่างไร

ตอบว่า

อารมณ์ที่เกิดจากรูป มันเข้ามาทางตา

อารมณ์ที่เกิดจากเสียง มันเข้ามาทางหู

อารมณ์ที่เกิดจากกลิ่น มันเข้ามาทางจมูก

อารมณ์ที่เกิดจากรส มันเข้ามาทางช่องปากโดยลิ้น

อารมณ์ที่เกิดจากการสัมผัส มันเข้ามาทางประสาทสัมผัสที่กายนี้ได้รับ

ส่วนอารมณ์ที่เกิดจากจิต อันนี้มันเป็นอารมณ์กรณีพิเศษที่มีมาแต่อดีต โดยการทำหน้าที่ของจิตรับ จิตจำ จิตรู้ จิตคิด อารมณ์ชนิดนี้เรียกว่า อตีตารมณ์

หรือไม่ก็เป็นอารมณ์ที่เกิดขึ้นในขณะปัจจุบัน จากการทำหน้าที่ของจิตรับ จิตจำ จิตรู้ จิตคิด ซึ่งก็เป็นอารมณ์ที่เข้ามาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจในปัจจุบันเรียกว่า ปัจจุบัน อารมณ์

ก็เมื่ออารมณ์ทั้งหลายล้วนมาจากเหตุ คืออายตนะภายนอกได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และการรับรู้สึกของจิตใจ มากระทบช่องทางประสาทสัมผัสทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจที่เรียกว่า อายตนะภายนอก

ทั้งที่โดยสภาวะแห่งรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส หาได้มีอารมณ์อยู่ในตัวมันไม่ หากจิตนี้ไม่ไปปรุงแต่งยึดถือมัน

องค์พระผู้มีพระภาคเจ้า จึงทรงสอนให้รู้จักสำรวม สังวร ระมัดระวัง

ตา ที่มองรูป

หู ที่รับฟังเสียง

จมูก ที่ดมกลิ่น

ลิ้น ที่รับรส

กาย ที่สัมผัส

และใจ ที่ทำหน้าที่รับอารมณ์ จำอารมณ์ รู้อารมณ์ คิดในอารมณ์

อย่าให้เข้ามาสร้างภาระให้แก่จิตทำประหนึ่งว่า หยิบแล้ววาง วางแล้วว่าง ดับแล้วเย็น อีกนัยหนึ่งโบราณท่านก็มีคำสอนว่า ปิดหู ปิดตา เสียบ้าง จะได้นั่ง นอน สบาย

แม้เราจักรู้ว่า อารมณ์นั้นจะมีอยู่กับรูป เสียง กลิ่น รส การสัมผัส และจิตใจ ได้ก็ต่อเมื่อจิตนี้ต้องเข้าไปปรุงแต่ง

แต่โดยธรรมชาติของจิตที่ขาดสติปัญญา เราจึงไม่สามารถห้ามจิตที่ปรุงแต่งอารมณ์ขณะที่ตาเห็นรูป หูฟังเสียง จมูกดมกลิ่น ลิ้นรับรส กายสัมผัสได้

แต่เราสามารถกำจัดหรือห้ามอารมณ์ที่จักเกิดกับจิตได้ถ้าเรามีสติปัญญา

ว่าโดยหลักแล้วการที่จิตนี้จักสามารถกำจัดหรือปฏิเสธอารมณ์ที่ปรุงแต่งในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และจิตใจได้นั้น

องค์พระบรมศาสดาทรงสอนเอาไว้ ๒ ประการคือ

๑. การห้ามอารมณ์ด้วยการข่มจิตด้วยอำนาจแห่งสมาธิ คือ เพ่งจิตให้อยู่ในอารมณ์เดียว เรียกว่า สมถกรรมฐาน

๒. การเจริญปัญญาที่เรียกว่า วิปัสสนา โดยใช้สติปัญญาพิจารณา ค้นหาความจริงในต้นเหตุที่เกิดอารมณ์ ในที่ตั้งแห่งอารมณ์ ในการทำงานของอารมณ์ คุณประโยชน์แห่งอารมณ์ และโทษภัยของอารมณ์ แล้วทุกอย่างก็จะจบลงตรงคำว่า เราโง่ไปเอง

เพราะอวิชาความโง่ ความไม่รู้ เป็นเหตุให้เกิดสังขารการปรุงแต่ง

เพราะสังขารการปรุงแต่ง เป็นเหตุให้เกิดวิญญาณการรับรู้ในอารมณ์

เพราะวิญญาณการรับรู้อารมณ์ เป็นเหตุให้เกิดนามรูป คือ กายใจ

เพราะนามรูปกายใจ เป็นเหตุให้เกิดสฬายตนะทางเดินแห่งอารมณ์คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

เพราะสฬายตนะทางเดินแห่งอารมณ์ เป็นเหตุให้เกิดผัสสะหรือสัมผัส

เพราะผัสสะหรือสัมผัส เป็นเหตุให้เกิดเวทนาอารมณ์สุข ทุกข์

เพราะเวทนาอารมณ์สุข ทุกข์ เป็นเหตุให้เกิดตัณหา ความทะยานยาก

เพราะตัณหา ความทะยานยาก เป็นเหตุให้เกิดอุปาทานความยึดถือ

เพราะอุปาทานความยึดถือ เป็นเหตุให้เกิดภพ แดนเกิด

เพราะภพ แดนเกิด เป็นเหตุให้เกิด ชาติการเกิด

เพราะชาติการเกิด เป็นเหตุให้เกิด ชรา มรณะ พยาธิ ความโศก ความร่ำไรรำพัน

และเพราะชรา มรณะ พยาธิ ความโศก ความร่ำไรรำพัน เป็นเหตุให้เกิดความโง่เขลา ไม่รู้

ทั้งหมดนี้ล้วนหมุนวนอยู่ไม่รู้จบ หากยังไม่มีสติปัญญา ตัดวงจรที่เกิดจากความโง่เขลา

สรุปเมื่ออารมณ์เกิดจากความโง่ ความไม่รู้ เช่นนั้นเราก็ต้องขวนขวายให้เกิดความรู้ จักได้ไม่โง่ไม่ตกเป็นทาสของอารมณ์ ไม่ถูกอารมณ์นำพาไปเกิด แก่ เจ็บ ตาย ทุกข์ทรมานในวัฏฏะไม่จบไม่สิ้น

ถามว่า จักขวนขวายเช่นไร

ตอบว่า เพียรพยายามขยัน ฟัง คิด แล้วลงมือทำเสียที

จนเกิดสติปัญญา รู้ชัดตามความเป็นจริงของอารมณ์และสิ่งทั้งปวง จักได้เห็นโทษภัยของอารมณ์และสิ่งทั้งปวงได้อย่างแจ่มชัด

ขอให้อ่านบทความนี้บ่อยๆ หลายๆ ครั้งเพื่อความเข้าใจให้แจ่มชัด

จักได้ไม่ตกเป็นทาสของอารมณ์ ไม่ติดคุกในอารมณ์ ไม่ทำอารมณ์ให้เป็นอะไร แล้วจักได้ไม่มีอาลัยในอารมณ์ทั้งปวง

พุทธะอิสระ