พอเรามีเวลาอยู่กับตัวเอง ไม่ส่งใจออกไปรับรู้อารมณ์ภายนอก ไม่สนใจว่าใครจะเป็น ใครจะตาย สังคมจะสุขจะทุกข์ขนาดไหน แผ่นดินจะมั่นคงหรือล่มสลาย ประเทศชาติจะลุกเป็นไฟหรือร่มเย็น

เราก็ไม่สนใจ ไม่ใส่ใจ พาตัวเองหลบไปอยู่ในที่ที่ตนเองปลอดภัย หาความสบายเอาตัวรอด ทำตัวเป็นผู้สะอาด ปราศจากอารมณ์ทั้งปวง

ผู้คนและสังคมก็ประณามว่าเราใจร้าย ใจดำ แล้งน้ำใจ เห็นแก่ตัว เอาเปรียบ เป็นภาระทางสังคม ไม่มีเมตตา มีโลกส่วนตัวสูง เป็นคนรกโลก น่ารังเกียจ กาฝากสังคม

แต่พอเราส่งใจออกไปรับรู้อารมณ์ภายนอก สนใจ ใส่ใจ รับรู้สุขทุกข์ของชาวบ้าน มีความห่วงใยอาทรให้ความช่วยเหลือ อนุเคราะห์เกื้อกูล ปกป้อง ธำรงรักษาชาติ ศาสนา สถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นที่รักยิ่ง ขวางพวกบ่อนทำลายชาติ ผู้ที่ทำให้ชาติบ้านเมืองเสียหาย เราเสียสละประโยชน์ส่วนตัวเพื่อส่วนรวม

ก็ถูกตั้งข้อรังเกียจตำหนิติด่าอีกว่า ไม่ใช่หน้าที่ ไปเสือกเรื่องของชาวบ้านทำไม ไม่ใช่กิจของสงฆ์ ไม่สำรวม

แต่พอเราคิดจะเอาตัวรอดขึ้นมาบ้าง อยากอยู่เฉยๆ ก็ถูกหาว่าขี้เกียจ เอาแต่กินๆ นอนๆ ไม่มีประโยชน์ ไม่ให้ประโยชน์เป็นกาฝากสังคม

เมื่อคิดจะเสียสละความสุขส่วนตน บำเพ็ญประโยชน์เพื่อส่วนรวม ก็ถูกกล่าวหาว่าสร้างภาพ อยากดัง อยากเรียกร้องศรัทธา ต้องการลาภสักการะ

สรุปแล้วเหตุผลของพวกปุถุชนพวกนี้ดูจะยึดถือแต่อารมณ์ของตนเป็นใหญ่ ไม่สนใจหลักการและเหตุผล และความจริงที่ปรากฏ ทั้งที่พระบรมศาสดาทรงมีปัจฉิมโอวาทสอนเอาไว้ว่า

“ภิกษุทั้งหลายสังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา เธอทั้งหลายจงยังประโยชน์ตน และประโยชน์ท่านให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด”

รวมความว่า หากเราจะฝากชีวิตนี้ไว้ให้อยู่บนฟองน้ำลายบนปลายลิ้นของชาวบ้าน เราก็คงจักต้องตกอยู่ภายใต้อารมณ์ที่แล้วแต่ชาวบ้านจะพาไป

พระบรมศาสดา จึงทรงแนะนำให้เราถือประโยชน์เป็นใหญ่ หากการทำ พูด คิดใดๆ มันทำให้เกิดประโยชน์ตน ประโยชน์ชาติ ประโยชน์คนหมู่มากเป็นหลัก

ถือว่ากรรมนั้นถูกต้องชอบธรรม

แต่ถ้าการทำ พูด คิดใดๆ มีแต่ประโยชน์ตน ไม่ได้ให้ประโยชน์ท่าน

ถือว่ากรรมนั้น เป็นกรรมของปุถุชนผู้มากไปด้วยความเห็นแก่ตัว คับแคบ เอาเปรียบ และน่ารังเกียจ

รวมความว่า โดยหลักคำสอนครั้งสุดท้ายขององค์พระบรมศาสดาทรงสรุปพระธรรมคำสอนทั้งหมดรวมลงตรงคำว่า

“ทำประโยชน์ตน ให้ประโยชน์ท่าน ให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท”

แล้วพวกท่านทั้งหลายได้กระทำกันแล้วหรือยัง

พุทธะอิสระ