คราวที่แล้ว ได้พยายามอธิบายชี้แจง ลักษณะของจิตที่ไม่มีปัญญาให้ท่านทั้งหลาย ได้รับรู้ รับทราบกันไปแล้ว
ทั้งได้สรุปเอาไว้ว่า จิตที่มีปัญญา คือ จิตที่ ฉลาด สะอาด สว่าง สงบ
มีคำถามว่า แล้วเราจักทำอย่างไรให้จิตนี้
ฉลาด สะอาด สว่าง สงบ ได้หละ
ตอบง่ายๆ ว่า
อยู่กับจิต อย่าไปอยู่กับอารมณ์
อยู่กับหน้าที่ และธรรมชาติของจิต
อย่าไปอยู่กับ อาการของจิต
หน้าที่ของจิต คือ รับ จำ คิด รู้
อาการของจิต คือ
จิตรับต้องแบกอารมณ์
จิตจำ ต้องจำทุกสภาวะอารมณ์ ที่เข้ามาไม่ว่าจะดีหรือเลว
จิตคิดต้องปรุงแต่ง วิตกกังวล ทุรนทุราย ร้อนรุ่ม สับส่าย สับสน ฟุ้งซ่าน
จิตรู้ ต้องรู้ทุกเรื่อง ไม่เว้นแม้แต่เรื่องที่เลวร้าย
เหล่านี้คือมูลเหตุแห่งการสืบต่อ ยึดถือ ตกอยู่ในอำนาจ เป็นทาส และถูกจองจำ วนเวียนไม่รู้จบ
ท่านทั้งหลาย ต้องสำเหนียก สำนึก ระลึกอยู่เสมอๆ ว่า
หน้าที่ของจิต มีเพียงแค่ รับ จำ รู้ คิด
มิได้มีหน้าที่ ยึดถือ เป็นเจ้าเข้าเจ้าของ ในสิ่งที่จิตนี้รับมา จำมา รู้มา คิดอยู่
เหมือนกับนายหรือนาง ธนาคาร ที่มีหน้าที่แค่รับ ฝาก คิด รู้ ยอดเงิน ที่เขามาฝาก
แต่มิได้เป็นเจ้าของเงินนั้นๆ
เช่นเดียวกัน หน้าที่ของจิตนี้ มีแค่ รับ จำ คิด รู้ ในอารมณ์ทั้งปวงเท่านั้น
หาได้มีหน้าที่ ยึดถือ ผูกพัน เอาอารมณ์นั้นๆ มาเป็นของตนไม่
ผู้ศึกษาวิถีจิต จักต้องตระหนัก สำเหนียก ระลึก นึกถึงอยู่เสมอๆ เช่นนี้
จักได้ไม่ต้อง ทำอารมณ์ ให้เป็นอาลัย เราจักได้ไม่มีอาลัย ในอารมณ์นั้นๆ
พุทธะอิสระ