ในขณะที่สวดมนต์คิดไปว่า “ พระพุทธเจ้า ” พระองค์ช่างเป็นคนที่ละเอียดอ่อนสุขุมคัมภีรภาพ เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ นิด ๆ หน่อย ๆ แม้แต่วาระสุดท้ายของชีวิตพระองค์ ในขณะที่อายุ 80 แล้ว คนแก่ที่อายุ 80 ก่อนจะตาย หรือใกล้ตาย หรือกำลังจะตาย น่าจะมีความรู้สึกว่า ห่วงหวงตนเอง แต่ตรงกันข้าม พระองค์กลับต้องให้ความเอื้ออาทร หรือมีความเอื้ออาทรต่อสรรพสัตว์ และพวกเราทั้งหลายอย่างสุดชีวิต ก่อนที่พระองค์จะตาย ยังสู้อุตสาห์สั่งเสีย ด้วยภาษาใจ กลายเป็นวลีที่สุดแสนจะเสนาะ ไพเราะ และมีค่ายิ่งว่า
“ หันทะทานิ ภิกขะเว อามันตะยามิ โว.. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้เราขอเตือนท่านทั้งหลายว่า ..วะยะธัมมาสังขารา ..สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา.. อัปปะมาเทนะ สัมปาเทถะ ท่านทั้งหลาย จงทำความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด ..อะยัง ตะถาคะตัสสะ ปัจฉิมา วาจา ..นี่เป็นพระวาจาครั้งสุดท้าย ของเราตถาคต.. ”
ด้วยคำพูดประโยคนี้ เราจะเห็นว่าพระองค์ช่วงเต็มเปี่ยมไปด้วยพระมหากรุณาธิคุณ เต็มเปี่ยมไปด้วยพระปัญญาคุณ เต็มเปี่ยมไปด้วยความเอื้ออาทร ความกรุณาต่อพวกเรา อย่างสุดชีวิตจิตใจ แม้แต่ในวาระสุดท้ายที่พระองค์จะ “ ปรินิพพาน ” หรือจากเราไป พระองค์ก็ยังทรงห่วงใยอาทร เฝ้าเตือนเราให้ระวังรักษาประโยชน์ของตน และประโยชน์คนอื่น พระองค์ยังอาทรห่วงใย เฝ้าเพียรพยายาม อบรมสั่งสอน พร่ำบ่นเตือนสติให้เรายั้งคิดว่า โดยจริงแล้ว ร่างกายเรา ที่เราเฝ้าทะนุถนอมรักษาเลี้ยงดูมัน ทำนุบำรุงมัน ห่วง หวงอย่างสุดชีวิตจริง ๆ แล้ว มันเสื่อมสิ้นไปเป็นธรรมดา เรากำลังทำให้มันผิดธรรมดาถ้าเราเห็นคนเกิดดีใจ เห็นคนแก่เสียใจ เห็นคนตายร้องไห้ ถือว่าเป็นความเห็นผิดธรรมดา เพราะพระองค์ทรงเตือนเราสอนเรา บอกให้เรารู้ว่า
“ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา ”
ความเรื่องนี้มีเหตุปัจจัยที่พระองค์ทรงเตือนให้เราเข้าใจ ถึงความเป็นจริง.. ครั้งเมื่อพระพุทธองค์ทรงอาพาธ ถึงกับเวทนากล้า ใกล้ถึงปรินิพพาน พระอานนท์พระพุทธอุปฐากผู้เป็นอนุชา ท่านอยู่ด้วยกันมาตั้งแต่เล็กจนกระทั่งโตแล้วก็แก่ บัดนี้ พระศาสดาเจ้าจะปรินิพพานจากเราไปแล้ว ครั้งเมื่อพระองค์ยังทรงพระชนม์อยู่ ทั่วทุกสารทิศสุกสกาวแจ่มแจ้ง ด้วยธรรมจักวาลจะดับลงแล้ว ต่อแต่นี้ไป ทั้งทุกสารทิศคงจะมืดมน ไม่สุกสว่างเหมือนเดิมเป็นแน่ ปกติทุกวันเราต้องปฏิบัติทำนุบำรุง ปูอาสนะ ปัดกวาดเช็ดถู จัดหาน้ำใช้ น้ำฉัน ผ้าผ่อนท่อนสไบ เราต้องซักและพับ ต่อไปนี้ เราจะซักให้ใคร ทำนุบำรุงใคร และอุปฐากอุปถัมภ์ใครอีก พระอานนท์ก็เสียใจ แอบไปยืนร้องให้ พระศาสดาทรงทราบเข้า ทรงรู้ได้ด้วยญาณวิถี พระองค์ก็ทรงเรียกพระอานนท์และพระภิกษุทั้งหลายเข้ามาใกล้ ด้วยพระกำลังอันน้อยนิดที่จะพึงมีพูดออกมาเป็นภาษาคนให้เข้าใจสื่อความหมาย กันได้โดยการเตือนว่า..
“ อานนท์ เธอจงอย่าเสียใจไปเลย เมื่อเราตถาคตนิพพานไปแล้วพระธรรมวินัยจะเป็นพระศาสดาสอนเธอเอง ”
“ ภิกษุทั้งหลาย สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา การที่พวกเธอทั้งหลายจะมานั่งเศร้าโศกเสียใจ ร้องให้ทุรนทุรายกับคนแก่คนหนึ่งที่ใกล้จะตาย ไม่ถือว่าเป็นเรื่องปกติ หรือว่าไม่ใช่เรื่องธรรมดาเธอกำลังทำชีวิตให้ผิดธรรมดา เพราะ ธรรมดาของโลกและสังขาร มีเกิดขึ้นในเบื้องต้น แปรปรวนในท่ามกลาง แล้วก็แตกสลายในที่สุด เรา ตถาคต ก็เป็นดั่งนั้น ตกอยู่ในกฎเกณฑ์และกติกาแห่งความเป็นธรรมดาเช่นนั้น ไมมีใครในโลกจะพึงหนีพ้นได้ เช่นนี้ การที่เธอทั้งหลายมาเฝ้าเศร้าโศกเสียใจร้องไห้ อาลัยรักต่อเรามิใช่เรื่องธรรมดา ไม่ใช่ตระกูลศากยะ ไม่ใช่สาวกแห่งเราตถาคต ไม่ใช่พุทธอุปฐาก ไม่ใช่พุทธะอนุชา และก็ไม่ใช่สาวกแห่งพระศาสดา เพราะท่านกำลังจะทำเรื่องธรรมดาให้ผิดธรรมดา จริงๆ แล้วมันเป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แปรปรวน สุดท้ายก็แตกสลาย ถือว่าเป็นเรื่องปกติ
ท่านที่รักทั้งหลาย การที่พระศาสดาทรงมีความเอื้ออาทรสุดชีวิตจิตใจต่อพระสงฆ์สาวก ต่อพวกเราพุทธบริษัททั้งหลาย ด้วยเอื้อนเอ่ยวาจาครั้งสุดท้ายให้เรารับรู้ว่า “ สังขารทั้งหลายมันมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา เธอทั้งหลายจงยังประโยชน์ตน และก็ประโยชน์ท่านให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด.. ”
เพราะฉะนั้น คำว่า “ ประโยชน์ตนและประโยชน์ท่านให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท ” เราจะเห็นว่าพระองค์ทรงเตือนเรา ให้มีชีวิตอยู่อย่างให้ประโยชน์ ทำประโยชน์ แล้วจึงจะรับประโยชน์ พระองค์ ไม่ได้เตือนให้เราเป็นผู้รับประโยชน์ ให้ประโยชน์ แล้วจึงทำประโยชน์ แต่พระองค์ทรงเตือนให้เราเป็นผู้ให้ประโยชน์ ทำประโยชน์ แล้วจึงรับประโยชน์ พระองค์เตือนให้เรามีชีวิตอยู่อย่างใช้ประโยชน์ในชีวิตให้คุ้มค่าในการที่ ได้เกิดมาเป็นคนกับเขาชาติหนึ่ง อย่าปล่อยตัวเองให้หลงใหลลื่นถลากับ ตาเห็นรูป หูฟังเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นรับรส กายถูกต้องสัมผัส ก็ถือว่าการกระทำชนิดนั้น เป็นการกระทำชั่วทางกาย ทางใจ ทางวาจา คนที่จะทำชั่ว หลวงปู่เคยพูดว่า.. ไม่ใช่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน จึงถือว่าชั่ว คนที่ทำชั่วมิใช่ตีหัวคนอื่นจึงจัดว่าชั่ว แต่คนชั่วก็คือคนที่ทำให้ตนเองเสียประโยชน์ในการมีชีวิตและเกิดมามีชีวิตก็ ไม่คิดบริหารให้สร้างสาระ แถมบางทียังทำร้ายสาระผู้อื่น
คนที่เป็นคนชั่วก็คือคนที่ไม่ทำให้ตนเองได้รับประโยชน์จากการมีชีวิต คนที่เป็นคนชั่ว คือคนที่ทำลายประโยชน์อันพึงได้พึงถึง จากการพิสูจน์ “ เรียนรู้..รับทราบแล้วก็พัฒนาตน ” มิใช่คนที่ทำชั่วโดยการทำให้คนอื่นเดือดร้อน คนที่ทำให้คนอื่นเดือดร้อนมิใช่คนที่ทำชั่ว แต่ถือว่าเป็นคนเลวแต่ คนชั่ว ก็คือ คนที่มีชีวิตอยู่อย่างไม่ให้ประโยชน์แก่ตนถ่องแท้ ประโยชน์ที่ถ่องแท้ก็คือ “ ประโยชน์ที่ปลุกจิตวิญญาณของตนให้เป็น ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ”
ตามสถานการณ์ความเป็นจริงของโลก คนที่ให้ประโยชน์อย่างถ่องแท้แก่ตนเอง ไม่จัดว่าเป็นคนชั่วในสายตาคนอื่น วิถีชีวิตพระศาสดาพระพุทธะผู้ยิ่งใหญ่ก็คือ คนที่รู้ตื่น และเบิกบานในการดำรงชีวิตมีวิถีและวิธีการในการที่จะแสวงหา ทำ จำ พูด และคิดในการสร้างสมอบรมบ่มนิสัยให้เป็นผู้ได้ประโยชน์อย่างถ่องแท้จากการมี ชีวิตเหล่านี้จึงถือว่าพระองค์ทรงเป็นเยี่ยงอย่างที่ดีเป็นแบบอย่างของคนไม่ ชั่ว คิดไม่ชั่ว ทำไม่ชั่ว และก็พูดไม่ชั่ว ซึ่งชาวเราทั้งหลาย ต้องเอาเป็นแบบอย่างพร้อมกันนั้น พระองค์ก็ยังทรงมีพระเมตตาและมหากรุณา แก่สรรพสัตว์ทั้งปวง โดยการอบรมสั่งสอน แนะนำวิถีอันประเสริฐ ให้สัตว์ทั้งปวงได้รู้และเดินตาม ไปสู่ความสำเร็จของชีวิตประเสริฐอีกด้วย เพราะฉะนั้น ใครก็ตาม ถึงแม้ว่าไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน แต่ทำร้ายทำลายประโยชน์ตน อันพึงได้จากการกระทำหรือคำที่พูดความจริงจึงถือว่าคนคนนั้นเป็นคนชั่ว เหตุที่เป็นเช่นนี้ เพราะการที่เราปฏิเสธเรื่องจริง หลอกลวงให้ผู้อื่นหลงเชื่อในเรื่องไม่จริง ต้องเกิดเป็นคนโง่ถึง 500 ชาติ คนเช่นนี้จึงถือได้ว่าไม่รักตนเอง ตัวเองยังไม่รัก ตัวเองยังไม่ให้ประโยชน์ สาอะไรที่จะให้ประโยชน์และรักคนอื่น
ฉะนั้น คนที่ชั่ว ไม่ใช่ชั่วจากการกระทำตัวให้เป็นโทษเป็นภัยต่อคนอื่น คนที่เป็นคนชั่วก็คือ คนที่ทำตัวเองให้เป็นโทษ เป็นภัยกับตัวเองและมีชีวิตอย่างไร้สาระ และไม่ได้ประโยชน์จากการเกิด ไม่ได้ประโยชน์จากการใช้พลังงาน ไม่ได้ประโยชน์จากการกิน ไม่ได้ประโยชน์จากการมีชีวิต และไม่ได้ประโยชน์จากการใช้ลมหายใจ แล้วชีวิตเช่นไร วิถีทางอย่างไร จึงจะถือว่าเต็มไปด้วยการมีประโยชน์ ได้แก่ วิถีทางแห่งความเป็นผู้รู้ รู้ในหน้าที่ หน้าที่ของความเป็นคน หน้าที่ของความเป็นพ่อ เป็นแม่ เป็นลูก เป็นผัว เป็นตัวตนของตนเอง และสุดท้ายก็หน้าที่ของการมีชีวิตที่แสวงหาหนทางแห่งการพึ่งพิงอาศัยอัน ประเสริฐและวิธีหลุดพ้นจากบ่วงเครื่องร้อยรัดทั้งปวง นั่นคือหน้าที่สุดท้ายที่เราต้องทำ แต่ถ้าหน้าที่เหล่านี้ไม่สมบูรณ์ บกพร่อง ไม่ถูกต้อง พระพุทธะผู้ยิ่งใหญ่ในโลกทั้งหลาย ก็จะเรียกขานบุคคลเหล่านั้นว่า เป็นบุคคลผู้เปล่าประโยชน์ เป็น “ อัพภัพพะบุคคล ” เป็น “ โมฆะบุรุษ ” เป็น “ โมฆะสตรี ” ชาวโลกเรียกขานคนเหล่านั้นว่าเป็นคนชั่ว
และถ้าอยากเป็นคนเลว ก็ต้องทำให้คนอื่นได้รับโทษจากการกระทำ คำที่พูด สูตรที่คิดของเรา การกระทำเช่นนั้น ไม่ว่าจะเป็นการกระทำที่จงใจ หรือมิจงใจ ถือว่าเป็นเหตุให้คนอื่นได้รับความเดือดร้อน เช่นนี้จัดว่าเป็นคนเลว เพราะฉะนั้น พระศาสดาทรงรู้ว่าคนจะชั่วก็ได้ จะเลวก็ได้ด้วยความประมาท จะชั่วก็ได้ จะเลวก็ได้ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ และไม่เข้าใจหลักการเป็นจริงของโลกสังขารและสังคม พระองค์จึงต้องเตือนด้วยความเอื้ออาทรสุดชีวิตจิตใจ ครั้งสุดท้ายว่า
“ หันทะทานิ ภิกขะเว อามันตะยามิ โว..ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้เราขอเตือนท่านทั้งหลายว่า .. วะยะธัมมา สังขารา...สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา...อัปปะมาเทนะ สัมปาเทถะ..ท่านทั้งหลายจงทำความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด .. อะยัง ตะถาคะตัสสะ ปัจฉิมาวาจา...นี่เป็นพระวาจาครั้งสุดท้ายของเราตถาคต ”
ถ้าเราเข้าใจและทำได้อย่างนี้ ถือว่าเราป้องกันทั้งความชั่วในการมีชีวิตของตัวเอง และความเลวที่จะทำให้แตกหักกับสังคม เราจะเห็นว่าพระศาสดาสัมมาสัมพุทธะผู้ยิ่งใหญ่ เต็มไปด้วยความเอื้ออาทร และความกรุณาสุดหัวใจ แม้แต่วันตาย ครั้งสุดท้ายพระองค์ยังคิดถึงผู้อื่น คิดถึงพวกเราที่กลัวว่าจะมีชีวิตอยู่ด้วยความประมาท ขลาดเขลา ไร้สติ ไร้สามัญสำนึก ไร้การพินิจพิจารณา และกลับกลายเป็นบุคคลที่มีชีวิตชั่ว พูดชั่ว ทำชั่ว คิดชั่ว จนที่สุดก็กลายเป็นคนเลวที่ทำแต่เรื่องเดือดร้อนต่อคนอื่น จนคนอื่นเรียกขานประณามเราว่า คนเลว...
จากหนังสือทำวัตร-สวดมนต์แปล