ข่าวเงินทอนวัดที่มีทั้งฆราวาสและพระเข้าไปเกี่ยวข้อง มันทำให้นึกถึงข้อห้ามขององค์พระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ทรงบัญญัติข้อห้ามมิให้ภิกษุสะสมหรือยินดีในเงินและทอง
เรื่องนี้มีมาในพระวินัยปิฎกเล่ม ๒ มหาวิภังค์ ภาค ๒ โกสิยวรรค สิกขาบทที่ ๘
----------------------------------
*เรื่องพระอุปนันทศากยบุตร*
[๑๐๕] โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน อันเป็นสถานที่พระราชทานเหยื่อแก่กระแต เขตพระนครราชคฤห์.
ครั้งนั้น ท่านพระอุปนันทศากยบุตร เป็นกุลุปกะของสกุลหนึ่ง รับภัตตาหารอยู่เป็นประจำ ของเคี้ยวของฉันอันใดที่เกิดขึ้นในสกุลนั้น เขาย่อมแบ่งส่วนไว้ถวายท่านพระอุปนันทศากยบุตร.
(กุลุปกะ แปลว่า ผู้เข้าถึงสกุล เป็นคำเรียกพระภิกษุผู้ใกล้ชิดสนิทสนมกับครอบครัวหรือวงศ์ตระกูลนั้นๆ มีความคุ้นเคย ไปมาหาสู่ผู้คนในครอบครัววงศ์ตระกูลเสมอ ผู้คนในครอบครัวและวงศ์ตระกูลนั้นรู้จัก ให้ความเคารพนับถือและอุปถัมภ์บำรุงด้วยดีโดยไม่รังเกียจ เรียกเต็มว่า พระกุลุปกะ โบราณเรียกว่า ชีต้น)
เย็นวันหนึ่งในสกุลนั้นมีเนื้อเกิดขึ้น เขาจึงแบ่งส่วนเนื้อนั้นไว้ถวายท่านพระอุปนันทศากยบุตร.
เด็กของสกุลนั้นตื่นขึ้นในเวลาเช้ามืด ร้องอ้อนวอนว่า จงให้เนื้อแก่ข้าพเจ้า.
บุรุษสามีจึงสั่งภรรยาว่า จงให้ส่วนของพระแก่เด็ก เราจักซื้อของอื่นถวายท่าน.
ครั้นแล้วเวลาเช้าท่านอุปนันทศากยบุตร นุ่งอันตรวาสกแล้ว ถือบาตรจีวรเข้าไปสู่สกุลนั้น แล้วนั่งบนอาสนะที่เขาจัดถวาย.
ทันใด บุรุษนั้นเข้าไปหาท่านพระอุปนันทศากยบุตร กราบแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง,
ได้กราบเรียนว่า ท่านเจ้าข้า เมื่อเย็นวานนี้มีเนื้อเกิดขึ้น,
ผมได้เก็บไว้ถวายพระคุณเจ้าส่วนหนึ่ง,
จากนั้นเด็กคนนี้ตื่นขึ้นแต่เช้ามืดร้องอ้อนวอนว่า จงให้เนื้อแก่ข้าพเจ้า
ผมจึงได้ให้เนื้อส่วนของพระคุณเจ้าแก่เด็ก, พระคุณเจ้าจะให้ผมจัดหาอะไรมาถวายด้วยทรัพย์กหาปณะหนึ่ง ขอรับ.
ท่านพระอุปนันทศากยบุตรถามว่า เธอบริจาคทรัพย์กหาปณะหนึ่งแก่เรา แล้วหรือ?
บุ. ขอรับ ผมบริจาคแล้ว.
อุ. เธอจงให้กหาปณะนั้นแหละแก่เรา.
บุรุษนั้นได้ถวายกหาปณะแก่ท่านพระอุปนันทศากยบุตร
ในทันใดนั้นเองชนทั้งหลายรับรู้เรื่อง แล้วเพ่งโทษติเตียน โพนทะนาว่า พระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตรเหล่านี้ รับรูปิยะเหมือนพวกเรา.
ภิกษุทั้งหลายได้ยินบุรุษนั้นเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาอยู่
บรรดาภิกษุที่เป็นผู้มักน้อยสันโดษ มีความละอาย มีความรังเกียจ ผู้ใคร่ต่อสิกขา ต่างก็เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า
ไฉน ท่านพระอุปนันทศากยบุตรจึงได้รับรูปิยะเล่า?
แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค.
*ประชุมสงฆ์ทรงสอบถาม*
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมภิกษุสงฆ์ ในเพราะเหตุนั้นเป็นเค้ามูล
แล้วทรงสอบถามท่านพระอุปนันทศากยบุตรว่า
ดูกรอุปนันทะ ข่าวว่าเธอรับรูปิยะจริงหรือ?
ท่านพระอุปนันทศากยบุตรทูลรับว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า.
*ทรงติเตียน*
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า
ดูกรโมฆบุรุษ การกระทำของเธอนั่น ไม่เหมาะ ไม่สม ไม่ควร ไม่ใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำ,
ไฉนเธอจึงได้รับรูปิยะเล่า?
การกระทำของเธอนั่น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว.
โดยที่แท้ การกระทำของเธอนั่น เป็นไปเพื่อความไม่เลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส และเพื่อความเป็นอย่างอื่นของชนบางพวกที่เลื่อมใสแล้ว.
*ทรงบัญญัติสิกขาบท*
พระผู้มีพระภาค ทรงติเตียนท่านพระอุปนันทศากยบุตร โดยอเนกปริยายดั่งนี้
แล้วตรัสโทษแห่งความเป็นคนเลี้ยงยาก
ความเป็นคนบำรุงยาก
ความเป็นคนมักมาก
ความเป็นคนไม่สันโดษ
ความคลุกคลี
ความเกียจคร้าน
ตรัสคุณแห่งความเป็นคนเลี้ยงง่าย
ความเป็นคนบำรุงง่าย
ความมักน้อย
ความสันโดษ
ความขัดเกลา
ความกำจัด อาการที่น่าเลื่อมใส การไม่สะสม
การปรารภความเพียร โดยอเนกปริยาย
ทรงกระทำธรรมีกถาที่สมควรแก่เรื่องนั้น ที่เหมาะสมแก่เรื่องนั้น แก่ภิกษุทั้งหลาย แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล เราจักบัญญัติสิกขาบทแก่ภิกษุทั้งหลาย อาศัยอำนาจประโยชน์ ๑๐ ประการ คือ
เพื่อความรับว่าดีแห่งสงฆ์ ๑
เพื่อความสำราญแห่งสงฆ์ ๑
เพื่อข่มบุคคลผู้เก้อยาก ๑
เพื่ออยู่สำราญแห่งภิกษุมีศีลเป็นที่รัก ๑
เพื่อป้องกันอาสวะอันจะบังเกิดในปัจจุบัน ๑
เพื่อกำจัดอาสวะอันจักบังเกิดในอนาคต ๑
เพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส ๑
เพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว ๑
เพื่อความตั้งมั่นแห่งพระสัทธรรม๑
เพื่อถือตามพระวินัย ๑.
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:-
*พระบัญญัติ*
๓๗. ๘. อนึ่ง ภิกษุใด รับก็ดี ให้รับก็ดี ซึ่งทอง เงิน หรือยินดีทอง เงิน
อันเขาเก็บไว้ให้, เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์.
เรื่องพระอุปนันทศากยบุตรจบ.
----------------------------------
ภิกษุใดผู้ต้องอาบัติสิกขาบทนี้ จักต้องสละเงินและทองต่อหน้าหมู่สงฆ์เสียก่อน จึงจะปลงอาบัติตก หากไม่สละเงินทองนั้น แม้จะปลงอาบัติ ก็ไม่สามารถทำให้อาบัตินั้นหายไปได้ ต้องเป็นอาบัติจนวันตาย
หากประพฤติทุจริตแล้วได้เงินทองนั้นมาเกินราคา ๕ มาสก(๑ บาท) ต้องอาบัติปาราชิก
พุทธะอิสระ