พระไตรปิฎก เล่มที่ ๗ พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๗

จุลวรรค ภาค ๒

พุทธานุญาตภัตร

[๓๒๔] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่เมืองอาฬวีตามพระพุทธาภิรมย์ แล้วเสด็จจาริกทางกรุงราชคฤห์ เสด็จจาริกโดยลำดับ ถึงกรุงราชคฤห์ ทราบว่า พระองค์ประทับอยู่ ณ พระเวฬุวันวิหารอันเป็นสถานที่พระราชทานเหยื่อแก่กระแต เขตกรุงราชคฤห์นั้น ฯ

[๓๒๕] สมัยต่อมา กรุงราชคฤห์มีข้าวแพง ประชาชนไม่สามารถจะทำสังฆภัตร (อาหารที่เจ้าของนำมามาถวายสงฆ์ในอารามพอแจกทั่วกัน) 
แต่ปรารถนาจะทำอุทเทสภัตร (อาหารที่ถวายสงฆ์แต่ไม่พอแจกทั่วกัน ท่านให้แจกไปตามลำดับ เริ่มตั้งแต่พระสังฆเถระลงมา ของหมดแค่ลำดับไหน กำหนดไว้ เมื่อของมีมาใหม่อีกจึงแจกต่อไปตั้งแต่ลำดับที่ค้างอยู่ อย่างนี้เรื่อยไปจนทั่วกัน แล้วจึงเวียนขึ้นต้นใหม่อีก) 
นิมันตนภัตร (อาหารที่ถวายในที่นิมนต์)
สลากภัตร (อาหารที่ถวายโดยวิธีจับสลาก) 
ปักขิกภัตร (อาหารที่ถวายประจำปักษ์ หรือประจำสัปดาห์) 
อุโปสถิกภัตร (อาหารที่ถวายในวันอุโบสถ) 
ปาฏิปทิกภัตร (อาหารที่ถวายในวันหนึ่งค่ำ) 
ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคๆ รับสั่งว่า 
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตสังฆภัตร อุทเทสภัตร นิมันตนภัตร สลากภัตร ปักขิกภัตร อุโปสถิกภัตร ปาฏิปทิกภัตร ฯ

พุทธานุญาตให้สมมติภัตตุเทสก์

[๓๒๖] สมัยนั้น พระฉัพพัคคีย์รับภัตตาหารดีๆ ไว้สำหรับพวกตน ให้ภัตตาหารเลวๆ แก่ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคๆ รับสั่งว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้สมมติภิกษุที่ประกอบด้วยองค์ ๕ เป็นภัตตุเทสก์ คือ:-

๑. ไม่ถึงความลำเอียงเพราะความชอบพอ
๒. ไม่ถึงความลำเอียงเพราะความเกลียดชัง
๓. ไม่ถึงความลำเอียงเพราะความงมงาย
๔. ไม่ถึงความลำเอียงเพราะความกลัว และ
๕. รู้จักภัตรที่แจกแล้วและยังมิได้แจก ฯ
วิธีสมมติ

[๓๒๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แล สงฆ์พึงสมมติอย่างนี้ พึงขอร้องภิกษุก่อน ครั้นแล้วภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจา ว่าดังนี้:-

กรรมวาจาสมมติ

ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงสมมติภิกษุมีชื่อนี้เป็นภัตตุเทสก์ นี้เป็นญัตติ
ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า สงฆ์สมมติภิกษุมีชื่อนี้เป็นภัตตุเทสก์ การสมมติภิกษุมีชื่อนี้เป็นภัตตุเทสก์ ชอบแก่ท่านผู้ใดท่านผู้นั้นพึงเป็นผู้นิ่ง ไม่ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงพูด
ภิกษุมีชื่อนี้ สงฆ์สมมติเป็นภัตตุเทสก์แล้ว ชอบแก่สงฆ์ เหตุนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าทรงความนี้ไว้ ด้วยอย่างนี้ ฯ
วิธีแจกภัตร

[๓๒๘] ครั้นนั้น พระภัตตุเทสก์มีความสงสัยว่า จะพึงแจกภัตรอย่างไรหนอ จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคๆ 
รับสั่งว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้เขียนชื่อลงในสลากหรือแผ่นผ้ารวมเข้าไว้ แล้วจึงแจกภัตร ฯ

---------------------------------------
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๓ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๕ [ฉบับมหาจุฬาฯ]
ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๒ -พุทธวังสะ-จริยาปิฎก


๖. กุสัฏฐกทายกเถราปทาน

ประวัติในอดีตชาติของพระกุสัฏฐกทายกเถระ

(พระกุสัฏฐกทายกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)

[๕๖] ข้าพเจ้าเป็นผู้มีจิตเลื่อมใส มีใจยินดี
ได้ถวายสลากภัต ๘ ครั้ง
แด่พระผู้มีพระภาคพระนามว่ากัสสปะ
ผู้ประเสริฐ อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว

[๕๗] ในกัปนี้เอง ข้าพเจ้าได้ถวายสลากภัต ๘ ครั้ง
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการถวายสลากภัต ๘ ครั้ง

[๕๘] กิเลสทั้งหลายข้าพเจ้าก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงข้าพเจ้าก็ถอนได้แล้ว
ข้าพเจ้าตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ

[๕๙] การที่ข้าพเจ้ามาในสำนักของพระพุทธเจ้า
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้
วิชชา ๓ ข้าพเจ้าได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว

[๖๐] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าก็ได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล

ได้ทราบว่า ท่านพระกุสัฏฐกทายกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้

กุสัฏฐกทายกเถราปทานที่ ๖ จบ