๑๔ ก.พ. ออกจากวัดตั้งแต่เวลาตี ๕ มุ่งสู่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ อ.บางสะพาน เพื่อนำเงินและข้าวสารน้ำดื่มไปมอบให้พี่น้องผู้ประสบภัยน้ำท่วมจนบ้านพังทั้งหลัง ซึ่งมีอยู่ ๕๘ หลัง
โดยมีท่านผู้ว่าราชการจังหวัด คุณทวี นริสศิริกุล, คุณกิตติกรณ์ เทพอยู่อำนวย หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด, คุณศักรินทร์ ทุมเสน นายอำเภอบางสะพาน, และคุณลิขิต สุขเยาว์ ปลัดอำเภอบางสะพาน พร้อมกำนันผู้ใหญ่บ้าน กำนันในหมู่บ้าน ตำบล ที่ประสบภัยบ้านพังทั้งหลังคอยให้การต้อนรับ
โดยท่านอธิบดีกรมบรรเทาสาธารณภัยส่งข้อมูลรายชื่อที่อยู่ผู้ที่บ้านพังมาให้ ๕๘ หลัง โดยกระจัดกระจายกันอยู่ตามหมู่บ้านและตำบลต่างๆ ดังนี้
ต.ร่อนทอง มีบ้านพัง ๑๘ หลัง
ต.พงศ์ประศาสน์ ๑๒ หลัง
ต.ธงชัย ๙ หลัง
ต.กำเนิดนพคุณ ๑๑ หลัง
รวมแล้วในอำเภอบางสะพานมีบ้านพังทั้งหลังเพราอุทกภัย ๕๘ หลัง
๙ โมงเช้า ขบวนของเราถึง อ.บางสะพาน โดยมีท่านปลัดอำเภอบางสะพานและกำนันผู้ใหญ่บ้านคอยให้การต้อนรับอยู่ที่ว่าการอำเภอ
พวกเขานิมนต์ให้ฉันขึ้นไปพักในห้องรับรองของอำเภอเพื่อพบปะพูดคุยกับกำนันผู้ใหญ่บ้านในหมู่ที่ประสบภัย
ฉันแจ้งกับท่านปลัดว่า อย่าให้เสียเวลาเลย เราเข้าพื้นที่ช่วยผู้ประสบภัยกันดีกว่า ฉันเกรงว่าวันนี้จะไปไม่ครบ ๕๘ หลัง แต่ก็อยากไปให้ได้มากที่สุด หากวันนี้ไม่จบ ก็เอาไว้ต่อวันพรุ่งนี้อีกได้
ท่านปลัดได้ฟังจึงให้คนไปเรียกกำนันผู้ใหญ่บ้านทั้งหมดลงมาพูดคุยทักทายกับฉัน และนัดแนะกันว่าจะเดินทางเข้าไปสู่ตำบลไหนก่อน
เมื่อทุกคนเข้าใจหน้าที่กันดีแล้ว ท่านปลัดและผู้ใหญ่บ้านหมู่แรกจึงนำพาคณะออกเดินทางไปช่วยผู้ประสบภัย
ระหว่างทางก็ดูร่องรอยคราบน้ำท่วมที่สูงมิดหัวแล้วทำให้รู้สึกว่า ในช่วงเวลาน้ำท่วมนั้น ชาวบางสะพานทั้งอำเภอต่างตกอยู่ในสภาวะเดือนร้อนทุกข์ทรมานขนาดไหน ก็ขนาดโรงพยาบาลประจำอำเภอมีทำเลที่ตั้งอยู่ในพื้นที่สูงที่สุดใน อ.บางสะพานแล้ว ยังถูกน้ำท่วมสูงเกือบ ๒ เมตร คงไม่ต้องพูดถึงบ้านเรือนที่มีที่ตั้งอยู่ในที่ลุ่มต่ำคงจะมิดหลังคา
และเมื่อได้เดินทางมาถึงพื้นที่บ้านพังหลังแรก ได้เห็นสภาพโครงซากบ้านที่หลงเหลือ จึงได้รู้ว่า ภัยที่เกิดจากน้ำป่าไหลบ่ามาท่วม อ.บางสะพาน ในครั้งนี้ เป็นภัยที่หนักหนาสาหัส ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นเช่นนี้เลยในรอบร้อยปี
ที่น่าอนาถ คือมีคนเจ็บ คนตาย และคนเกือบตาย เช่นขณะที่มอบเงิน ๕,๐๐๐ บาท ข้าวสารถุงละ ๕ กิโล ๒ ถุง น้ำดื่มน้ำใจ ๒ แพ็ค แก่เจ้าของบ้านพังที่เป็นผู้หญิงคนหนึ่ง
ฉันสังเกตเธอมีรอยฟกช้ำอยู่เต็มวงแขนและขาทั้ง ๒ ข้าง ใจก็คิดว่าผู้หญิงคนนี้เขาไปถูกสามีซ้อมมาหรืออย่างไร หรือประสบอุบัติเหตุรถล้ม
เมื่อมอบของแล้วจึงเอ่ยปากถามเธอด้วยความเป็นห่วงว่าเจ็บไหม ไปโดนอะไรมา ทำไมจึงมีแผลถลอกปอกเปิกเช่นนี้
ผู้หญิงคนนั้นและผู้ใหญ่บ้านช่วยกันเล่าให้ฉันฟังว่า คืนที่น้ำมาเธออยู่ในบ้านไม้พื้นใต้ถุนสูงคนเดียว สามีและลูกออกไปทำงานกลับเข้าบ้านไม่ทัน น้ำป่าไหลบ่ามาแรงและเร็วมาก เธอยืนดูน้ำไหลลอดใต้ถุนบ้านไปด้วยความวิตกกังวล แต่ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร เพราะน้ำไหลแรงมากและสูงขึ้นเรื่อยๆ เธอพยายามโทรศัพท์ขอความช่วยเหลือจากผู้ใหญ่บ้านให้นำเรือมารับก็ได้รับคำตอบว่า น้ำไหลเชี่ยวมาก ไม่สามารถนำเรือมารับได้ เธอโทรหาสามีและลูกก็ติดน้ำเข้ามาช่วยเธอไม่ได้
จนเวลา ๕ ทุ่ม ปริมาณน้ำเริ่มสูงมากจนถึงพื้นบ้าน พร้อมมีซุงต้นใหญ่ลอยมาชนตัวบ้าน ทำให้บ้านเรือนไม้ทั้งหลังล้มและลอยไปกับน้ำ เธอมีสติวิ่งไปเกาะเสาเรือนอีกข้างหนึ่งที่ไม่จมน้ำ แต่ก็อยู่ได้ไม่นานเพราะตัวบ้านถูกน้ำและท่อนไม้ชนจนแตกแยกออกจากกัน ลอยไปกับน้ำ
เธอเห็นว่า ขืนอาศัยเกาะเสาเรือนที่หลุดลอยอยู่เช่นนี้คงจะเอาชีวิตไม่รอด เมื่อเสาเรือนลอยมาใกล้ต้นมะพร้าวเธอจึงทิ้งเสาเรือนว่ายน้ำปีนไปเกาะอยู่กับต้นมะพร้าวตั้งแต่ ๕ ทุ่มจนถึงเกือบเที่ยงของอีกวันหนึ่ง จึงมีคนมาช่วยเธอลงจากต้นมะพร้าว
ฉันถามเธอว่า ในเวลานั้นเธอคิดอะไร ถึงใครอยู่
เธอตอบว่า ไม่คิดถึงใคร คิดแต่ว่าจะต้องเอาตัวให้รอดในภัยครั้งนี้ให้ได้
ฉันถามเธอต่อไปว่า ขณะอยู่กอดต้นมะพร้าวอยู่ครึ่งคืนและอีกครึ่งวัน คิดกลัวบ้างไหม
เธอตอบว่า กลัว ก็เพราะกลัวนี่แหละเธอจึงกอดต้นมะพร้าวไม่ยอมปล่อย จนทำให้แขนและขามีแผลอย่างที่เห็น
ฉันได้รับฟังเธอและผู้ใหญ่บ้านเล่าบรรยายความเสี่ยงตายของแม่หญิงแกร่งคนนี้แล้ว ทำให้ฉันต้องยกนิ้วให้พร้อมพูดชมเธอว่า
“เธอนี่สุดยอดของหญิงแกร่งจริงๆ”
ไหนๆ ก็สู้จนเอาชีวิตรอดมาแล้ว ก็จงสู้ต่อไปจนกว่าจะหลุดพ้นจากความทุกข์ยาก
เหล่านี้คือตัวอย่างแรกที่ฉันได้พบเห็นจากหลักฐานที่ปรากฏและจากปากของผู้มีประสบการณ์ และผู้ร่วมเหตุการณ์
เอาไว้วันหน้า จะเขียนมาเล่าให้ท่านทั้งหลายฟังถึงความทุกข์ยากลำบากของพี่น้องบางสะพาน ที่ถูกน้องน้ำยกทัพมาโจมตีจนบ้านเรือน เรือกสวนไร่นาราบพนาสูญ
พุทธะอิสระ