ซึ่งสืบเนื่องมาจากในพรรษาที่ ๗ นับแต่ตรัสรู้มา องค์พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเสด็จขึ้นไปจำพรรษายังดาวดึงส์เทวโลก ณ โคนต้นปาริฉัตร ต้นไม้สวรรค์ อันเป็นพระราชอุทยานขององค์อินทร์เทวราช
ด้วยพุทธประสงค์ที่จักแสดงธรรมโปรดพระพุทธมารดา ที่ทรงอุบัติในสวรรค์ชั้นดุสิต ทรงดำรงพระอิศรยศเป็นท้าวสันดุสิตเทวราช สวรรค์ชั้นนี้เป็นที่สถิตของพระโพธิสัตว์
เมื่อหมู่เทวดาทั้งหลายได้ทราบว่า บัดนี้องค์สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ทรงเสด็จขึ้นมาทรงพักจำพรรษาอยู่ดาวดึงส์เทวโลก
องค์อินเทวราชและหมู่เทพยดาในสรวงสรรค์จึงพากันมาเฝ้าถวายอริยศกันเกือบจะทุกองค์เทวา ไม่เว้นแม้แต่ท้าวมหาพรหม
สมเด็จพระบรมศาสดาทรงทอดพระเนตรไปยังหมู่เทพเทวามหาพรหมเหล่านั้น ก็ยังมิได้ทรงเห็นท้าวสันดุสิตเทวราช สมเด็จพระพุทธมารดา
พระพุทธองค์จึงทรงประทับนิ่งอยู่เช่นนั้น
เหล่าเทพเทวาและมหาพรหมได้ทัศนาเห็นพระอากัปกิริยาของพระบรมศาสดาทรงประทับนิ่งอยู่เช่นนั้น เทวดาพรหมเหล่านั้นจึงพากันให้ฉงนสนเท่ห์หฤทัย ว่าเหตุไฉนใยเล่า องค์พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงมิได้ทรงตรัสเสวนาธรรมใดๆ
องค์อินทราธิราชจึงได้ถวายอภิวาทพร้อมทูลถามว่า เหตุไฉนใยเล่าองค์พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงยังมิทรงตรัสเทศธรรมบรรยาย ทั้งที่หมู่พรหมเทวดาต่างพากันมาเฝ้าพรั่งพร้อมกันทุกชั้นฟ้าแล้ว
สมเด็จพระบรมศาสดาจึงทรงตรัสตององค์อินทร์ไปว่า
ดูกรอินทราธิราช บรรดาพรหมเทพเทวายังมาไม่ครบทุกชั้นฟ้าดอก ยังขาดสมเด็จพระพุทธมารดาท้าวสันดุสิตอยู่อีกหนึ่งพระองค์
เมื่อองค์อินทราธิราชทรงได้ทราบพระพุทธประสงค์ว่าจักทรงนั่งรอสมเด็จพระพุทธมารดาก่อนจึงจักทรงแสดงธรรมบรรยาย
องค์อินทร์จึงทูลขอพุทธานุญาตขึ้นว่า เช่นนั้นข้าหม่อมฉันจักขอไปทูลเชิญเสด็จท้าวสันดุสิตเทวราช สมเด็จพระพุทธมารดาให้เสด็จลงมาสดับพระธรรมเทศนาเองนะพระพุทธเจ้าข้า
สมเด็จพระบรมศาสดาจึงทรงประทับนิ่งโดยดุษฎี
ข้างองค์อินทราธิราชเมื่อทูลขอพุทธานุญาตแล้วจึงสำแดงเดชเหาะขึ้นไปยังสวรรค์ชั้นดุสิตแล้วทูลประกาศเสียงดังกึกก้องไปทั้งสรวงสวรรค์ชั้นดุสิตว่า ข้าแต่องค์สมเด็จพระพุทธมารดาท้าวสันดุสิตเทวราชา
บัดนี้สมเด็จพระบรมศาสดาพระราชบุตรของพระองค์ได้ทรงเสด็จขึ้นมาจำพรรษาอยู่ ณ ดาวดึงส์เทวโลก เพื่อจักแสดงอมฤตธรรมโปรดแก่องค์สมเด็จพระพุทธมารดา
อีกทั้งหมู่พรหมและเทวดาทุกชั้นฟ้าได้มาประชุมกันพรั่งพร้อมแล้ว
ข้าพระองค์ขอทูลเชิญเสด็จพระพุทธมารดาทรงเสด็จไปสดับรับฟังพระอมฤตธรรมจากพระโอษฐ์ขององค์พระผู้มีพระภาคเจ้า พระลูกแก้วของพระองค์เถิดพระเจ้าข้า
สมเด็จพระพุทธมารดาเมื่อได้ทรงทราบว่าบัดนี้องค์สมเด็จพระบรมศาสดาพระลูกแก้ว เสด็จขึ้นมาประทับบัลลังก์ รอที่จักแสดงอมฤตธรรมโปรดพระองค์ จึงทรงดีพระราชหฤทัย รีบเสด็จไปเฝ้าพระบรมศาสดาพร้อมกับองค์อินทร์ในทันที
เมื่อเสด็จเหาะมาถึงที่ประทับจึงทรงประทับเบื้องหน้าที่ประทับขององค์พระบรมศาสดา แล้วกราบถวายอภิวาทต่อพระบรมศาสดา
องค์พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้ทรงเอ่ยพระวาจาปราศรัยต่อสมเด็จพระพุทธมารดาพอเป็นเครื่องระลึกถึง
แล้วจึงทรงตรัสเตือนให้เทวสถาอยู่ในอาการสำรวมเพื่อสดับพระอภิธรรมเทศนา
องค์สมเด็จพระบรมศาสดาทรงแสดงพระอภิธรรมเทศทั้ง ๗ คัมภีร์ ประกอบด้วยคัมภีร์
๑. สังคณี หรือ ธัมมสังคณี รวมข้อธรรมเข้าเป็นหมวดหมู่แล้วอธิบายทีละประเภท ๆ
๒. วิภังค์ ยกหมวดธรรมสำคัญ ๆ ขึ้นตั้งเป็นหัวเรื่องแล้วแยกแยะออกอธิบายชี้แจงวินิจฉัยโดยละเอียด
๓. ธาตุกถา สงเคราะห์ข้อธรรมต่าง ๆ เข้าในขันธ์ อายตนะ ธาตุ
๔. ปุคคลบัญญัติ บัญญัติความหมายของบุคคลประเภทต่างๆ ตามคุณธรรมที่มีอยู่ในบุคคลนั้นๆ
๕. กถาวัตถุ แถลงและวินิจฉัยทัศนะของนิกายต่างๆ สมัยสังคายนาครั้งที่ ๓
๖. ยมก ยกหัวข้อธรรมขึ้นวินิจฉัยด้วยวิธีถามตอบ โดยตั้งคำถามย้อนกันเป็นคู่ๆ
๗. ปัฏฐาน หรือ มหาปกรณ์ อธิบายปัจจัย๒๔ แสดงความสัมพันธ์เนื่องอาศัยกันแห่งธรรมทั้งหลายโดยพิสดาร
รวมคัมภีร์ทั้ง ๗ เรียกโดยย่อว่า สัง วิ ธา ปุ กะ ยะ ปะ
องค์พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงอภิธรรมทั้ง ๗ คัมภีร์นี้ตลอด ๓ เดือน
จนพระพุทธมารดาได้บรรลุพระโสดาปัตติผล และเหล่าหมู่พรหมเทวดาที่สดับพระธรรมนั้น ล้วนได้ธรรมาภิสมัยกันทั่วหน้า
และเมื่ออกพรรษาวันแรม ๑ ค่ำเดือน ๑๑ พระบรมศาสดาจึงเสด็จลงสู่โลกมนุษย์ ณ หน้าประตูทางทิศเหนือของเมืองสังกัสนคร โดยมีพระอินทร์เนรมิตบันไดทอง บันไดเงิน และบันไดแก้วมณี
ในวันนี้องค์พระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงพุทธานุภาพ ทรงเปิดโลกทั้ง ๓ คือ โลกมนุษย์ให้ได้เห็นสวรรค์และนรก โลกสวรรค์และนรกให้ได้เห็นมนุษย์
จนเป็นเหตุให้เกิดมหาสัมมาทิฐิ คือความเห็นถูกต้องตามความเป็นจริงว่าอัตภาพที่ดีและหยาบที่มีแก่ตัวสัตว์ล้วนมาจากผลกรรมที่ตนกระทำทั้งนั้น เรียกว่า เชื่อกรรม เชื่อว่าสัตว์ที่ตกนรกและทำกรรมชั่ว สัตว์ที่ได้บังเกิดในสวรรค์เพราะทำกรรมดี
มนุษย์และสัตว์ใดผู้ปรารถนาที่จะพ้นทุกข์ ต้องละชั่ว ทำดี ทำจิตนี้ให้ผ่องแผ้วแจ่มใส
วันนี้เมื่อ ๒,๕๙๗ ปีที่แล้วมาจนถึงวันนี้ถือว่าเป็นวันแห่งมหาสัมมาทิฐิ ที่เป็นคุณูปการต่อมหาสัตว์ทั้ง ๓ โลก อย่างที่ใครก็มิอาจปฏิเสธได้
พุทธะอิสระ