สัมมาสติ คือ สติที่ระลึกได้ในกาย ทั้งภายในและภายนอก
วันนี้ขอหยิบเอาเรื่องสัมมาสติ คือสติที่ระลึกได้อย่างถูกต้องมาเล่าสู่กันฟังจะดีกว่า
เรื่องนี้มีมาใน พระสุตันตปิฎก เล่มที่ ๒ ทีฆนิกาย มหาวรรค
องค์พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรัสสอนแก่ภิกษุทั้งหลายเอาไว้ว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัมมาสติเป็นไฉน
ภิกษุในธรรมวินัยนี้พิจารณาเห็นกายในกาย ด้วยความเพียร ด้วยสัมปชัญญะ ด้วยสติ
จักกำจัดอภิชฌา และโทมนัสในโลกนี้เสียได้
พิจารณาเห็น เวทนาในเวทนาอยู่
พิจารณาเห็น จิตในจิตอยู่
พิจารณาเห็น ธรรมในธรรมอยู่
มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ อันนี้เรียกว่า สัมมาสติ
อธิบายคำว่า สัมมาสติ หมายถึงความระลึกได้ที่ถูกต้อง หรือความระลึกได้ที่ตั้งมั่นอย่างถูกต้อง อันได้แก่ ระลึกได้ตั้งมั่นอยู่ในกายนี้เท่านั้น
- ขยายความคำว่า พิจารณาเห็นกายภายในกายและภายนอก หมายความว่า
มีสติความระลึกได้อยู่เฉพาะภายในกาย เช่น กระดูก เส้นเอ็น พังผืด เส้นเลือดน้อยใหญ่ หัวใจ ตับ ไต ไส้ ปอด มันสมอง เส้นประสาท อวัยวะน้อยใหญ่ที่อยู่ภายในกายนี้ รวมทั้งธาตุ ๔ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ ที่เป็นองค์ประกอบของอวัยวะน้อยใหญ่ภายในกายนี้ เป็นต้น
ขยายความคำว่า พิจารณาเห็นกายภายนอก หมายความว่า มีสติระลึกรู้ได้อยู่เฉพาะอิริยาบถยืน เดิน นั่ง นอน และอิริยาบถย่อย เช่น ยกแขน ลดแขน ยกขา ลดขา ย่างก้าว เหลียวซ้าย แลขวา กระพริบตา แลมอง และการที่กายกระทบสัมผัส เป็นต้น
- อธิบายคำว่า พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนา หมายความว่า
เวทนาคืออารมณ์ความรู้สึกที่เกิดกับกายและใจ
ขยายความคำว่า เวทนาภายนอก ได้แก่ อารมณ์ ความรู้สึกที่เกิดกับกาย
ขยายความคำว่า เวทนาภายใน ได้แก่ อารมณ์ความรู้สึกที่เกิดกับจิตใจ
- อธิบายคำว่า พิจารณาเห็นจิตในจิต หมายความว่า
จิตมีธรรมชาติ รับอารมณ์ จำอารมณ์ รู้อารมณ์ คิดในอารมณ์
ขยายความคำว่า จิตในจิต หมายความว่า มีความเพียรระลึกได้รู้แจ่มชัดถึงขบวนการทำงานของจิตภายใน ที่มีหน้าที่รับอารมณ์ จำอารมณ์ รู้อารมณ์ และคิดในอารมณ์
ขยายความคำว่า จิตภายนอก หมายความว่า จิตนี้มีเจตสิกเครื่องปรุง เครื่องครอบ ที่เข้ามาทางตา หู จมูก ลิ้น และกาย ที่ทำให้จิตนี้เป็นไปในอาการต่างๆ คือ อกุศลจิต กุศลจิต หรืออัพยากฤตจิต
- อธิบายคำว่า พิจารณาเห็นธรรมในธรรม หมายความว่า สิ่งที่มีธรรมชาติแห่งความจริง เรียกว่าปรมัตถสัจจะ หรือธรรมสัจจะ และสิ่งที่มีสภาพตรงกันข้ามกับความจริงทั้งปวง เรียกว่า สมมุติบัญญัติ หรือเรียกว่าสมมุติธรรม
ขยายความว่า มีความเพียรระลึกรู้อย่างแจ่มชัดในสภาพธรรมที่ปรากฏให้เห็นตามความเป็นจริง เช่นนี้เรียกว่าธรรมภายใน
ขยายความคำว่า มีความเพียรระลึกรู้อย่างแจ่มชัดในสภาพธรรมที่ปรากฏให้เห็นตามสมมุติบัญญัติ เช่นนี้เรียกว่า ธรรมภายนอก
ขยายความคำว่า ธรรมภายนอกและธรรมภายใน อาจหมายถึงรูปธรรมและนามธรรมด้วย
อธิบายคำว่า มีความเพียร หมายถึง ความกระตือรือร้น การขวนขวายที่จะเรียนรู้ศึกษา
อธิบายคำว่า มีสัมปชัญญะ หมายความว่า มีปัญญาตื่น รู้คิด ใคร่ครวญ พิสูจน์ทราบ ค้นหาความจริง
อธิบายคำว่า มีสติกำจัดอภิชฌาคือ ความโลภอยากได้ของเขา, ความคิดเพ่งเล็งจ้องจะเอาของของคนอื่น และโทมนัสคือ ความเสียใจ, ความเป็นทุกข์ใจ เป็นต้น
อธิบายคำว่า ในโลกเสียได้ หมายความว่า องค์พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพยายามชี้ให้เห็นว่า กาย เวทนา จิต และธรรมทั้งหลายที่มีอยู่ทั้งภายในและภายนอกกายนี้
เป็นประดุจดังตัวแทนแห่งโลกที่ระคนปนเปื้อนด้วยอภิชฌา คือ ความทะยานอยาก และโทมนัส คือ ความทุกข์ใจ ซึ่งมีอยู่ในทุกตัวตนของสัตว์
เมื่อเราทั้งหลายมีความเพียร พิจารณาด้วยสติปัญญา จนรู้ชัดตามความเป็นจริง ก็จะเป็นผู้ไม่ถูกพันธนาการด้วยอภิชฌาและโทมนัส ซึ่งเป็นเครื่องร้อยรัดผูกสัตว์ให้ติดอยู่กับโลกให้วนเวียนตายเกิดไม่จบสิ้น
ในเวลาต่อมาพระสารีบุตรได้ให้ธรรมโอวาทแก่หมู่ภิกษุทั้ง ๕๐๐ ณ นครจัมปา ว่า
ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ท่านทั้งหลายรู้หรือไม่ว่า ธรรมที่มีอุปการะมากคือธรรมอะไร
ก็แล สติและสัมปชัญญะ ยังไงเล่าที่ชื่อว่าธรรมมีอุปการะมาก
เรื่องนี้มีมาในพระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๓ ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค
สรุปคำว่าสัมมาสติหมายถึง สติที่เป็นไปตั้งอยู่ภายใน กาย เวทนา จิต และธรรม เท่านั้น หาได้มีอยู่ในอย่างอื่นไม่
พระบรมศาสดาทรงตรัสสอนว่า
ผู้มีสติอันตั้งไว้ชอบแล้วในกาย
กายนี้ไม่ลำบากเลย
ผู้มีสติอันตั้งไว้ชอบแล้วในวาจา
วาจานี้ไม่ลำบากเลย
ผู้มีสติอันตั้งไว้ชอบแล้วในใจ
ใจนี้ย่อมไม่ลำบากเลย
พุทธะอิสระ