เกริ่นนำ
       
       วิถึชีวิตของคนเราย่อมมีแนวทางที่แตกต่างกัน แต่ใครบ้างจะมีแนวทางแห่งชีวิตที่เดินได้อย่างถูกต้อง ตรงแนว แห่งแนวทางที่ควรจะเป็นของแต่ละบุคคล ซึ่งแนวทางแห่งชีวิตที่ถูกต้อง ตรงแนว บริสุทธิ์ สมบูรณ์ได้นั้น ก็ต้องอาศัยสิ่งที่คอยกำกับ ควบคุม ดูแลให้คนเรามีชีวิตที่ถูกต้องนั่นก็คือ ธรรมะ ความหมายแห่งธรรมะ หรือพระธรรมนั้น ฟังดูอาจจะนึกถึง คัมภีร์ อักษร ภาษาทางศาสนาที่ได้ถูกบันทึกเอาไว้ แล้วเป็นเรื่องที่ศึกษาได้เฉพาะในกลุ่มของนักบวช แต่สิ่งที่อยู่รอบกายเราที่มิอาจบรรยายได้นั้น เป็นรสชาติแห่งความสงบ สุข สันติ อันเกิดจากการขัดเกลา กล่อมเกลา ของหลักธรรมะนั้น นับได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ได้จากพระธรรม
       
       การศึกษาธรรมะ ในอดีตอาจจะศึกษาจากผู้รู้ ซึ่งได้แก่ พระ นักบวช ปราชญ์ อาจารย์ต่างๆ ซึ่งนับเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะคนโบราณจะให้ความเคารพนับถือผู้ที่เป็นครูบาอาจารย์มาก เพราะท่านเหล่านั้น เป็นผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชา ให้ทั้งความรู้ ทำทุกอย่างให้แก่ศิษย์ เป็นผู้ที่มีคุณธรรม เป็นผู้ที่ฉลาด มีจิตใจเต็มเปี่ยมไปด้วยความเมตตา เอื้ออาทร ห่วงใย
       
       ดังนั้น ความหมายของคำว่าครู หรือศัพท์ทางนิกายมหายานเรียกกันว่า "คุรุ" นั้น จึงมีความสำคัญอย่างมากในกระบวนการของการพัฒนาตัวเอง จากผู้ที่ยังหลับใหล โง่ หลง งมงาย ในกิเลสมารต่างๆ ให้กลับเป็นผู้ที่ฉลาด รู้ ตื่น มีจิตใจกล้าแข็ง เข้มแข็ง มีจิตเมตตาพร้อมที่ช่วยเหลือสรรพสัตว์
       
       ด้วยเหตุนี้ ผมจึงคิดว่าการที่เราได้เกิดมาชาตินี้ ได้มีโอกาสเกิดมาเป็นมนุษย์แล้วนั้น มันจึงไม่ใช่เป็นเรื่องที่ง่ายนัก กับการที่ผมซึ่งอยู่ต่างที่ต่างถิ่น แล้วจะได้มีโอกาสมาสัมผัส ซึมซาบธรรมะจากครูผู้ใจอารี หรือคุรุผู้ศักดิ์สิทธิ์ ผู้นำทางวิญญาณที่ยิ่งใหญ่ในยุคนี้ ยุคแห่งความมืดบอดทางจิตวิญญาณ คุรุผู้ศักดิ์สิทธิ์ที่บรรรดาลูกศิษย์เรียกท่านว่า "หลวงปู่" ท่านเป็นคุรุที่ยิ่งใหญ่ที่ช่วยนำพา พัฒนาจิตวิญญาณของผมให้ไปสู่ความหมายของชีวิตที่สมบูรณ์ มีเอกภาพในตัวเอง สามารถที่จะคงชีวิตในเอกภพได้อย่างเป็นอิสระ เป็นผู้มีเสรีภาพ เหล่านี้จึงเป็นที่มาแห่งความเปลี่ยนแปลงในชีวิต จิตวิญญาณ และเกิดข้อเขียนประสบการณ์ทางวิญญาณของผม ที่เรียกว่า ตามรอยพระพุทธะ (อิสระ)

        ปฐมบท
       
       ช่วงชีวิตที่ผ่านมาจนโตเป็นหนุ่มนั้น ผมได้เสาะแสวงหาความหมายแห่งชีวิต หาสิ่งที่สำคัญของชีวิต ชีวิตเหมือนดั่งข้าวกล้าที่รอคอยน้ำฝน ชะโลมให้ความชุ่มเย็น เจริญงอกงาม เติบโตต่อไป เป็นการรอคอยหาผู้ที่จะชี้แสงสว่างแห่งชีวิต การก้าวเข้ามาสู่แนวทางแห่งพระพุทธะ นั้นเริ่มจากการที่ผมได้มีโอกาสศึกษาหลักวิชาปรัชญาทางตะวันออก เพื่อการพัฒนาตัวเอง โดยเฉพาะวิชามวยภายใน ประเภทมวยไท้เก็ก มวยสิ่งอี้ มวยฝ่ามือแปดทิศ มวยโป๊ยเก๊ก รวมทั้งศึกษาหลักการฝึกพลังปราณทางสายโยคะต่างๆ และทางฝึกปราณ หรือ ชี่ ของทางสายจีน
       
       จนกระทั่งวันหนึ่ง ผมได้ทราบเรื่องราวเกี่ยวกับพระองค์หนึ่ง ซึ่งมีประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจแปลกพิสดารมาก ซึ่งแต่เดิมนั้นผมไม่ค่อยสนใจจะไปหาพระเท่าไร จะมีพระที่ผมนับถือไม่มาก อย่างเช่น หลวงพ่อเกษม เขมโก ที่บ้านผมที่ลำปางเท่านั้น เพราะว่าท่านเป็นพระปฏิบัติจริง ปฏิบัติชอบ
       
       แล้วผมก็ได้มีโอกาสมาฟังธรรมจากพระองค์นั้น ณ สถานที่แห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ที่ได้นิมนต์ท่านมาแสดงปาฐกถาธรรม และมีการพบปะกันระหว่างคนใน "ชมรมธรรมะอิสระ" ซึ่งผมไม่รู้จักใครเลยในตอนนั้น รู้แต่เพียงว่าจะมาฟังธรรม ความรู้สึกภายในมันเรียกร้องว่า ต้องมาหาสิ่งที่สำคัญในชีวิตให้ได้ เมื่อมานั่งรอในห้อง สักครู่ก็มีพระหนุ่ม ๒ องค์เดินเข้ามา (หลวงปู่กับหลวงพี่มาลัย) พระที่ดูทางจริงจัง ตาดุ บุคลิกน่าเลื่อมใส สง่างาม องอาจ สมกับเป็นชายชาติอาชาไนย มีรัศมี รังสีแห่งผู้ทรงธรรม ผู้มีเมตตาอันเต็มเปี่ยม ขึ้นไปบนธรรมาสน์ แล้วก็เริ่มการแสดงธรรม ซึ่งข้อธรรมะที่ผมฟังแล้วประทับใจมีมากมาย และยังมีอรรถธรรมที่ฟังแล้วรู้สึกโดนใจ ชวนให้ขบคิด ไม่เคยได้ยินพระ หรือนักปราชญ์ที่ไหนพูดเรื่องเหล่านี้ ซึ่งพอสรุปข้อธรรมที่ผมจำฝังใจ หรือข้อธรรมสะกิดใจต่างๆ ที่ฟังจากพระหนุ่มองค์นั้น คือ
       
       (๑) คุรุ
       
       "คุรุ" คำนี้ผุดขึ้นในใจครั้งแรก จากการที่ฟังธรรมจากพระที่ใครๆ ก็เรียกท่านว่า "หลวงปู่" ท่านบอกว่า วิถีทางหนึ่งของ คุรุ หรือของครูผู้อารีที่มีต่อศิษย์ ซึ่งคุรุองค์นั้นๆ หรือครูท่านนั้นๆ ก็อาจจะมีความถนัด จัดเจน ในวิธีการนำพาชีวิตเข้าไปสู่เป้าหมายได้ต่างกัน สำหรับ "หลวงปู่" ที่คนทั้งหลายเรียกว่าครู มีความถนัด จัดเจนในวิถีทางที่จะนำไปสู่เป้าหมายด้วยวิธีการ ก็คือ "เป็นที่พึ่งของตัวเองได้ ทำตนให้คนอื่นพึ่งได้" นี่คือวิถีทางที่ท่านทำ หรือรวมแล้วก็คือ ท่านมาสั่งสอน มาชี้นำ มาทำให้ดู มาเป็นครูให้เห็น และเพื่อจะนำพา "จิตวิญญาณ" ของพวกเรา ไปสู่เป้าหมายของการพัฒนาสูงสุด เพื่อเอากายของพวกเรา เข้าไปสู่ศักยภาพสมบูรณ์ของตัวมันเอง ที่มีคุณสมบัติเพียบพร้อมสมบูรณ์แบบ และคงไว้ซึ่งสมดุลของตัวเอง
       
       พระหนุ่มองค์นั้น ยังบอกอีกว่า ความจริงมันไม่จำเป็นต้องเติมแต้ม สี เสียง แสง ให้ดูเสนาะ คนที่พูดความจริงไม่จำเป็นต้องเป็นคนพูดเพราะ คนพูดเพราะอาจพูดไม่จริงก็ได้ คนที่พูดจริงจะทำให้เรามีจิตวิญญาณอันสว่าง กระจ่างชัด โปร่ง โล่ง ผ่อนคลายทั้งกายและใจได้ คนพูดความจริงจะนำวิถีชีวิตเข้าไปสู่เป้าหมายที่กระจ่างชัด ไม่จำเป็นต้องมีคำเสนาะเพราะหู พระหนุ่มองค์นั้นก็ใช้สรรพนามแทนตัวเองว่า "กู" และท่านเขียน บทโศลกสอนลูกศิษย์ไว้ว่า
       
       "ลูกรัก... สัจจะและความจริงใจคือเครื่องเสริมสร้างบุคคลิกภาพและความสำเร็จ"
       
       (๒) สามศักดิ์สิทธิ์
       
       พระหนุ่มองค์นั้นยังได้พูดถึง "หัวใจสำคัญของวิชาลมเจ็ดฐาน" ซึ่งเป็นวิชาสูงสุดของ "พระโพธิสัตว์" ทั้งหลาย นั่นคือ กายศักดิ์สิทธิ์ ธรรมะศักดิ์สิทธิ์ และจิตศักดิ์สิทธิ์
       
       ซึ่งผมยังไม่เข้าใจหรอกว่า วิชาลมเจ็ดฐานนั้นคืออะไร? เหมือนกับการฝึกลมปราณ หรือ จักระทั้ง ๗ แบบโยคะหรือเปล่า แต่สิ่งที่ท่านอธิบายในความหมายของคำเหล่านี้ก็คือ คนที่สามารถจะกราบตัวเองได้ด้วยการกระทำ ด้วยคำที่พูด และด้วยสูตรที่คิด นี่เป็นความหมายของ "กายศักดิ์สิทธิ์" เมื่อถึงกายศักดิ์สิทธิ์แล้ว จะรู้เองว่า "ธรรมะศักดิ์สิทธิ์" คืออะไร ธรรมะมีอยู่ทุกที่ หากกายไม่ศักดิ์สิทธิ์ก็จะไม่เห็นธรรมะในทุกที่แม้แต่ในพระไตรปิฎก เมื่อเราเห็นธรรมะศักดิ์สิทธิ์ในทุกที่ "จิตศักดิ์สิทธิ์" ก็จะอุบัติขึ้นเอง
       
       (๓) ครูผู้หลับใหล(ในตัวเรา)
       
       ความหมายคำนี้ เป็นความหมายที่ยิ่งใหญ่ที่ผมฟังแล้ว รู้สึกว่าเป็นการปลุกให้ตัวเองมีพลังที่จะพัฒนาตัวเอง พระหนุ่มองค์นั้นได้พูดไว้ว่า การที่ท่านมีวันนี้ได้ กล้าจะพูดได้ว่าชั่วชีวิตไม่เคยมีครูสอน สิ่งที่สอนพวกเราทุกคนในวันนี้ไม่ใช่ได้มาจากครูคนใด ไม่ใช่เรียนรู้มาจากตำราเล่มใด แต่เป็นความรู้ที่ปลุกเอามาจากครูที่วิเศษภายในให้ตื่นขึ้นมาสอนตัวเอง ความหมายของการปลุกครูผู้หลับใหล (ในตัวเรา) ให้ตื่นขึ้นมาได้ ต้องนำพาพฤติกรรมของเราโดยเฉพาะกาย ให้เรากราบตัวเองได้อย่างสนิทใจคือทำ "กายให้ศักดิ์สิทธิ์"
       
       (๔) ธรรมอิสระ
       
       คำว่า "ธรรมอิสระ" คำนี้หากใครได้ยินครั้งแรกก็คงคิดว่า เอาอีกแล้วจะมาตั้งลัทธิใหม่อีกแล้ว แต่ภายหลังจากการที่ฟังพระหนุ่มองค์นั้นพูด ถึงเข้าใจว่า ไม่ใช่ประกาศความอิสระโดยไม่ขึ้นตรงต่อกฎหมายบ้านเมือง วิธีการปกครองของใคร หรือรัฐใดๆ แต่หมายถึง การปลดปล่อยตัวเองออกจากความเป็นทาส ของตาเห็นรูป หูได้เสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นรับรส กายถูกต้องสัมผัส ที่จะฉุดกระชากให้เราต้องตกไปตามกระบวนการนั้นๆ เป็นความอาจหาญ ยิ่งใหญ่ มีเสรีภาพ คนที่เข้าถึงธรรมะมีอิสระทุกที่ที่ไป และสุดท้ายท่านยังบอกว่า ชมรมธรรมอิสระที่ตั้งขึ้นมาเพื่อเป้าหมายของชีวิตสูงสุด กิจกรรมต่างๆ เช่น การบวชป่า อนุรักษ์ป่า บวชพระ บวชเณรฯ (ผมยังไม่รู้หรอกว่ามีกิจกรรมอะไรบ้างตอนนั้น) ไม่ใช่หัวข้อสำคัญ หัวใจสำคัญของการตั้งชมรมธรรมอิสระ ก็คือ เพื่อให้คนได้รับการพัฒนาทาง "จิตวิญญาณ"

        "หลวงปู่" คือใคร
       
       ภายหลังจากที่ผมได้รับฟังธรรมะจากพระหนุ่มองค์นั้นแล้ว (องค์หลวงปู่) รู้สึกซาบซึ้ง มีความสุข ประทับใจเป็นอย่างมาก พร้อมทั้งมีความรู้สึกบางอย่างเกิดขึ้น เกิดความศรัทธา ความรัก เคารพ อย่างบอกไม่ถูก เพราะการที่ในช่วงชีวิตของคนเราจะพบเจอกับบุคคลที่สำคัญ มีความหมาย เป็นบุคคลที่เรารัก เคารพ ผูกพันด้วย คงไม่ได้มีมากนัก
       
       เมื่อประมาณต้นปี ๒๕๔๑ ผมและเพื่อนๆ ได้เดินทางไปเสาะแสวงหาธรรม ฝึกสติ ในป่าลึก จ.แม่ฮ่องสอน และได้ยินเพื่อนเล่าให้ฟังว่า หลวงปู่หนุ่มองค์นั้นก็คือ "หลวงปู่เทพโลกอุดร" ที่มาบำเพ็ญบารมีช่วยเหลือสรรพสัตว์
       
       แต่ผมก็ไม่รู้จักว่า หลวงปู่เทพโลกอุดร คือใคร? เป็นพระสุปฎิปันโนเหมือนกับ หลวงปู่มั่น หรือหลวงปู่แหวน ไหมหนอ ซึ่งจากการค้นคว้า ทำให้ผมทราบว่า ความเกี่ยวข้องของ "หลวงปู่เทพโลกอุดร" กับคณะ "พระธรรมทูต" ที่เข้ามาเผยแผ่พระพุทธศาสนาในสุวรรณภูมิ ในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช เมื่อ พ.ศ. ๒๓๕ หลัง พุทธกาล โดยมีพระเถระต่างๆ ดังนี้คือ พระโสณะ พระอุตตระ พระฌานียะ พระภูริยะ พระมูนียะ ซึ่งได้เดินทางเข้ามาเผยแผ่ทางรามัญประเทศ ไปจรดเมืองญวน จากพม่าไปจรดแหลมมลายู โดยได้สร้างสถูปแห่งแรกบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ที่เรียกว่า "พระปฐมเจดีย์" ที่จังหวัดนครปฐม
       
       มีการกล่าวกันว่า พระอุตตระเถระ ท่านเป็นปฐมกำเนิด พระเทพโลกอุดร ท่านเป็น "พระโพธิสัตว์" ผู้มีญาณเยี่ยงพระอรหันต์ ได้รับพุทธพยากรณ์มีความเที่ยงแท้ในการตรัสรู้เป็นพุทธเจ้าในอนาคต สำเร็จอภิญญาชั้นสูง และปฏิสัมภิทาญาณ มีปฏิภาณโวหาร ทั้งอิทธิฤทธิ์ล้ำเลิศ เป็นผู้พิทักษ์รักษาค้ำจุนพระศาสนาในอยู่รอดปลอดภัย จนกว่าจะสิ้นพุทธันดรครบ ๕,๐๐๐ พรรษา
       
       ซึ่งท่านได้แบ่งภาคมาจุติ เพื่อโปรดสัตว์คือ "พระอุทุมพรมหาสวามี" เป็นพระสังฆราชแห่งลังกา "พระบรมครูแห่งศรีสัชนาลัย" ในสมัยพระเจ้าลิไท แห่งกรุงสุโขทัย ต่อมาท่านกลับชาติมาเกิดเป็น "พระครูเทพผู้วิเศษ" ในสมัยอยุธยา ราวปี พ.ศ. ๒๑๒๗ ท่านเป็นเจ้าตำรับการสร้างพระโพธิ์ห้ามสมุทรและไม้โพธิ์ ต่อมาท่านได้มาปรากฏในสมัยต้นกรุงรัตนโกสิทนทร์ โดยเกี่ยวข้องกับสมเด็จวังหน้า หรือสมเด็จพระบวรราชเจ้ากรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ซึ่งได้มีการพบกรุพระเครื่อง พระบูชาจำนวนมากที่วัดบวรสถานสุทธาวาส กรุงเทพฯ และในบรรดาพระบูชานั้นที่ฐานพระด้านหน้าขององค์ "พระสังกัจจายนะ" มีการสลักชื่อพระผู้สร้างไว้ว่า "พระเทพโลกอุดร" และก็ยังมีการพบพระบูชารูปเหมือนพระครูเทพโลกอุดร ขนาดหน้าตัก ๕.๕ นิ้ว อีกด้วย
       
       ถ้าจะถามว่าหลวงปู่เทพโลกอุดรคือใคร ผมก็ยังหาคำตอบที่สมบูรณ์ไม่ได้ แต่ก็มีคำสอนของท่านให้แง่คิดว่า อดีตเป็นเรื่องที่ผ่านพ้นไปแล้ว ไม่ต้องนำมาคิด อนาคตเป็นเรื่องที่ยังมาไม่ถึง ไม่ควรไปสนใจให้เสียเวลา ปัจจุบันเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ให้เร่งศึกษาปฏิบัติ อย่าถามถึงชื่อของท่าน ท่านจะไม่ตอบ อย่ามัวมาเสียเวลากับชื่อ ให้เร่งปฏิบัติ เวลาของชีวิตนี้มีน้อย อย่าเสียเวลากับสิ่ง ที่ไม่ปฏิบัติอยู่เลย ชื่อที่เราๆ เรียกท่านอยู่ทุกวันนี้ เป็นชื่อสมมติที่ สมเด็จฯวังหน้า เป็นผู้เรียกท่าน เพราะคำว่า "เทพโลกอุดร" ก็หมายถึง ผู้อยู่เหนือโลก เป็นเหมือนเทพผู้อยู่เหนือโลก ไปไหนมาไหนเหมือนเทพ มีอายุที่ยืนนานและนอกเหนืออำนาจแห่งพญามัจจุราช
       
       แต่ก็มีบางท่านบอกว่า พระครูเทพโลกอุดร คือพระมหาโพธิ์ศรีอุดม ซึ่งชื่อนี้พระมหากัสสปะเป็นผู้ตั้งให้ บิดาท่านเป็นชาวเนปาล มารดาท่านเป็นชาว "ธิเบต"
       
       ส่วนพระเถระองค์อื่นก็มีการกล่าวกันว่ามาบำเพ็ญบารมีต่อ โดยมีข้อสังเกตดังนี้คือ (อย่าเพิ่งเชื่อ โปรดใช้วิจารณญาณ)
       
       พระฌานียะเถรเจ้า หรือหลวงปู่เดินหน หรือปู่ขรัวโพรงโพธิ์ มีบุคลิกงาม ท่านเชี่ยวชาญในวิชาแปรธาตุ เป็นผู้คงแก่เรียน เจริญในอสุภกรรมฐาน ภาพถ่ายของท่านจะเป็นรูปโครงกระดูก นิสัยเงียบขรึม พูดน้อย ชอบประทับในโพรงโพธิ์
       พระภูริยะเถรเจ้า หรือหลวงปู่ขรัวขี้เถ้า รูปร่างค่อนข้างขี้เหร่ ผิวสองสี ร่างใหญ่ เคยมาสร้างบารมีเพิ่มเติมในรูปของ หลวงพ่อกบ วัดเขาสาริกา บ้านหมี่ จ.ลพบุรี เชี่ยวชาญในวิชาแปรธาตุ มีอะไรเผาให้เป็นขี้เถ้าหมดอันเป็นปริศนาธรรมว่า แม้คนเราจะสูงศักดิ์อัครฐานมากเพียงใด ที่สุดก็ไม่พ้นไปจากขึ้เถ้า หาอะไรติดตัวไปไม่ได้เว้น แต่กรรมดี ชั่ว
       พระมูนิยะเถรเจ้า หรือหลวงปู่ขรัวหน้าปาน ท่านมาสร้างบารมีเพิ่มในรูปของ หลวงพ่อโอภาสี อาศรมบางมด มีนิสัยสมถะ ท่านสำเร็จทางปรอท
       พระอุตตระเถรเจ้า หรือ หลวงปู่พระครูเทพโลกอุดร ลักษณะรูปร่างสันทัด ผิวค่อนข้างดำคล้ำ มีจิตเยี่ยง "พระโพธิสัตว์"สำเร็จอภิญญาสมาบัติ แลปฎิสัมภิทาญาณ การสอนวิชาของท่านเรียกว่า วิทยาศาสตร์ทางใจ เชี่ยวชาญในการแพทย์ เชี่ยวชาญในวิชาแปรธาตุ และสามารถให้ถาวรได้ ท่านมีสภาวะจิตที่เร็วมาก และแผ่พลังออกมาด้วยความเมตตาปรานี ใบหน้ามีรอยยิ้มระรื่น เป็นผู้ที่มี อารมณ์ขัน
       
       ยังมีเรื่องราวของหลวงปู่เทพโลกอุดร (จากการค้นคว้าหาอ่านตามหนังสือ) ซึ่งได้มีการบรรยายลักษณะนิสัยของท่าน ตามที่เล่าไว้โดยครูบาลุ่ม ท่านเล่าว่าสมัยที่ท่านเป็นเณร หลวงพ่อกิมเม้ง อาจารย์ของท่านจะละร่างจึงนำท่านไปฝากไว้กับอาจารย์ของอาจารย์ท่าน ซึ่งก็คือ หลวงปู่เทพโลกอุดร หรือที่รู้จักสั้นๆ ว่า "หลวงปู่ใหญ่" นั่นเอง ถ้อยคำของพระครูบาลุ่มนั้นได้พูดถึงหลวงปู่ใหญ่ไว้ว่า ครั้งแรกสุดที่พบไม่ชอบเอาเสียเลย เพราะพูดจาไม่เพราะ ดุดัน แต่ก็มีเมตตาอย่างสูง บางครั้งจะพูดแทนตัวเองว่า พ่อ เรียกคนที่มาหาว่า ลูก มีนิสัยที่ขี้เล่นสนุกสนาน และที่สำคัญทำงานตลอดเวลาไม่ค่อยอยู่เฉย เห็นว่าการทำงาน คือ การทำสมาธิอย่างหนึ่ง
       
       เมื่อผมได้ศึกษาเรื่อง หลวงปู่เทพโลกอุดร มาบ้างแล้ว และได้มีโอกาสเดินทางมาวัดอ้อน้อยบ่อยขึ้นกับเพื่อนๆ ครั้งแรกที่มากัน ผมก็นำพวงมาลัยดอกไม้มาถวายเป็นการแสดงความเคารพหลวงปู่ และก็กราบขออนุญาตฝากตัวเป็นศิษย์ แล้วก็มารับฟังธรรมะจากท่านที่ซุ้มดอกไม้ในสวนหย่อม ซึ่งโอวาทที่ท่านพูดไว้เสมอว่า ตราบใดที่เราทำดี ทุกคนเป็นศิษย์หลวงปู่ เป็นศิษย์พระพุทธะผู้ยิ่งใหญ่ เป็นศิษย์พุทธะอิสระ เป็นศิษย์พระครูโลกอุดร เป็นศิษย์หลวงปู่จร และก็เป็นศิษย์พระผี เป็นศิษย์พระที่อยู่ดีๆ ในพระศาสนานี้ทุกองค์ จึงเป็นเครื่องยืนยันได้ว่า หากเราหมั่นที่จะทำดี ไม่ว่าเป็นศิษย์คุรุองค์ใดก็ได้ ย่อมจะนำพาเราไปสู่สิ่งที่ดีได้
       
       ตอนที่ผมมาวัดช่วงนั้น โบสถ์ยังก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ เพิ่งจะมีการวางแผนการวาดรูปผนังโบสถ์ด้านบน แต่ก็มีโครงสร้างการก่อสร้างที่เห็นได้ชัดเจนแล้ว ดังนั้นช่วงเวลาที่พอมีโอกาสได้ฟังธรรมจากท่าน จึงเป็นช่วงเวลาที่ท่านฉันเพลเสร็จแล้ว และออกมาพูดคุยด้วย ที่ซุ้มสวนดอกไม้ หน้าหอฉันในปัจจุบัน ซึ่งตอนนั้นผู้คนมาหาหลวงปู่ไม่ค่อยมากเท่าไร เวลาพวกเราสอบถามปัญหาธรรมะจากท่านจึงพอมีเวลาอยู่บ้าง
       
       เรื่องราวความเชื่อว่า หลวงปู่หนุ่มองค์นี้คือ หลวงปู่เทพโลกอุดรนั้น มีอยู่ในหมู่ศิษย์เป็นอันมาก ซึ่งจะพบได้จากหนังสือ อยู่กับปู่ ที่เขียนโดยลูกศิษย์หลวงปู่คนหนึ่ง และหลายต่อหลายคนที่เคยมาพบหลวงปู่เชื่อว่า เข้าใจว่า จนถึงเชื่ออย่างสนิทใจว่า ท่านคือ หลวงปู่เทพโลกอุดร ซึ่งพี่ๆ ที่อยู่กับหลวงปู่มานานเล่าให้ฟังว่า ท่านเองไม่ได้ยอมรับหรือปฏิเสธในเรื่องนี้ แต่หากมีใครมาถามท่าน หากท่านไม่ด่ากลับไป ท่านก็จะตอบเลี่ยงๆ ไป
       
       ที่ผมเคยได้รู้มาว่า เคยมีคนเอารูป พระแขก ที่ถ่ายรูปคู่กับหลวงปู่โง่นและครูบาบุญชุ่ม ซึ่งเป็นที่เชื่อกันว่าเป็นรูปแปลงของหลวงปู่เทพโลกอุดร เข้าไปถามหลวงปู่ ว่าเป็นรูปหลวงปู่หรือไม่? ท่านก็ตอบกลับมาว่า "กูจะไปรู้เรอะ มึงถามสองคนนั้นเอาเองสิ" แต่ผมก็ไม่ได้สนใจอะไร ได้แต่รับฟังที่เขาพูดกัน เพราะอย่างไร ก็ไม่มีทางที่เราจะพิสูจน์ได้ ตราบเท่าที่ท่านไม่พูดออกมาเอง ซึ่งแน่นอนว่าท่านไม่พูดเรื่องนี้
       
       เป็นที่น่าแปลกใจในความตรงกันของหลวงปู่เทพโลกอุดร หรือหลวงปู่ใหญ่ กับบุคลิกของหลวงปู่ ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า คงเป็นความตรงกันทางจิตวิญญาณ มากกว่ารูปร่างหน้าตา ครั้งหนึ่งครูบาลุ่ม ท่านเห็นหลวงปู่ใหญ่ ปรากฏร่างออกมาเป็นพระหนุ่มห่มจีวรสีแดง แต่เมื่อท่านมองอีกครั้ง ก็เห็นเป็นหลวงปู่ใหญ่อย่างเดิม เมื่อท่านถามว่า เมื่อตะกี้นั่นใคร หลวงปู่ใหญ่ตอบว่า ไม่เห็นมีใคร มีแต่ท่านนั่งอยู่คนเดียวตั้งนานแล้ว แต่ที่น่าแปลกคือ หลวงปู่ (พุทธะอิสระ) ท่านชอบใช้สีแดง เป็นสีประจำตัวท่านเหมือนกัน
       
       จริงๆ แล้วหลวงปู่มักจะแสดงหรือพูดอะไร ที่ทำให้เราคิดหรือนำมาปะติดปะต่อเข้ากันได้ เช่น ท่านไม่ยอมอ่านชื่อพระโพธิสัตว์องค์หนึ่ง ในเหรียญเบญจมหาโพธิ ที่ท่านทำขึ้น ท่านบอกว่าอ่านไม่ออก! แต่เมื่อดูที่เหรียญก็ปรากฏว่าชื่อของพระโพธิสัตว์องค์นั้นก็คือ "หลวงปู่เทพอุดรอิสระธรรมมุนีโพธิสัตว์" ซึ่งก็ตีความได้ว่า คือหลวงปู่เทพโลกอุดรนั่นเอง
       
       ไม่เพียงแต่จะมีคนบอกว่า หลวงปู่ คือ หลวงปู่เทพโลกอุดร เท่านั้น บางคนยังเชื่อว่า ท่านคือหลวงพ่อโอภาสีบ้าง มิราเลปะบ้าง หรือแม้ในช่วงล่าสุด ท่านก็เล่าให้ฟัง ตอนที่อบรมพระ วิปัสสนาจารย์ว่า ตอนที่ท่านธุดงค์ไปแถว จ.นครนายก ลูกศิษย์หลวงพ่อกบ วัดเขาสาริกา ยังคิดว่าหลวงปู่ เป็นหลวงพ่อกบ เพราะก่อนที่หลวงพ่อกบจะมรณภาพได้สั่งลูกศิษย์เอาไว้ว่า ท่านจะมาเกิดอีก โดยมีสัญลักษณ์ บุคลิกอย่างไร
       
       ซึ่งความเหมือน ความสัมพันธ์ ระหว่างหลวงปู่ กับ หลวงพ่อโอภาสี, หลวงพ่อกบ กับคณะพระธรรมทูต และ หลวงปู่เทพโลกอุดร นี้ ผมคิดว่าคงต้องมีอะไรที่เกี่ยวข้องกันอยู่บ้าง (อย่างเพิ่งเชื่อ เป็นเพียงความคิดเห็นส่วนตัว ไม่ขอรับรองว่าเป็นความจริง) ในข้อสังเกตของผมคือ
       
       ๑. พระที่รู้จักและใช้เครื่องหมาย "สวัสดิกะ" เป็น ในแผ่นดินสยามยุคนี้ ก็มีเพียง หลวงพ่อโอภาสี หลวงพ่อกบ แล้วก็หลวงปู่
       ๒. จากหลักฐานที่กล่าวกันว่า พระธรรมทูต นี้ เป็นพระผู้คอยค้ำชูพระศาสนา มาบำเพ็ญบารมีต่อ คือ หลวงพ่อโอภาสี หลวงพ่อกบ แล้วก็ หลวงปู่เทพโลกอุดร
       
       ในเรื่องความรู้ของหลวงปู่นั้นมากมายมหาศาล จากการที่ได้มาสัมผัส แล้วสอบถามข้อธรรม และทางโลกนั้น ท่านตอบได้หมดทุกเรื่อง จะว่าท่านศึกษา อ่านมาเยอะก็คงเป็นเหตุผลดูธรรมดาที่ไม่ สมเหตุผลเท่าไร เพราะท่านดูหนุ่ม เรื่องราว ความรู้ที่ท่านพูด บอก เล่า สอนนั้น มันมากมายเกินกว่าที่มนุษย์ ผู้ชายคนหนึ่งจะศึกษามาได้ในชาตินี้ จากช่วงระยะเวลาเพียงไม่กี่ปี ถ้าจะคิดแบบธรรมดาๆ ท่านต้องเป็นอัจฉริยบุคคลที่ยากจะหาใครเหมือน เพราะภูมิความรู้ทั้งทางโลกและทางธรรม สามารถแก้ปัญหาต่างๆ ได้อย่างคล่องแคล่ว พูดคุยกับผู้คนได้ทุกเรื่องราว ทุกแขนง
       
       ความเป็นไปได้ที่พวกผมคิดก็คือ อย่างแรก หลวงปู่อ่านใจคนได้ (ซึ่งก็จริงผมได้เห็นท่านทำมาแล้ว) และสามารถดึงนำเอาสรรพความรู้ต่างๆ จากในจักรวาลมาใช้ (มีทฤษฎีที่ศึกษากันทางจิตศาสตร์ ว่าองค์ความรู้ในจักรวาลมันอยู่ทุกแห่ง ตลอดกาลเวลา แล้วแต่ว่าใครจะสามารถเปิดสภาวะแห่งตัว เข้าไปนำความรู้นั้นมาใช้ได้ คล้ายๆ กับโลกของ ไซเบอร์สเปซ (CYBER SPACE) ทาง อินเตอร์เน็ต (INTERNET) ที่มีความรู้มากมายอยู่ที่ว่าเราจะใช้คอมพิวเตอร์ (สภาวะแห่งจิต) เข้าไปหาข้อมูลอันไหน สำคัญอยู่ที่ว่า เราจูน ปรับ สภาวะของเราเพื่อนำสิ่งนั้นมาใช้ได้หรือไม่) อย่างที่สอง ความรู้ที่หลวงปู่บอก สอนเรานั้น หลายอย่างต้องเป็นความรู้เมื่ออดีตชาติของท่าน อย่างแน่นอน เพราะบางอย่างที่ท่านเล่าให้ฟังนั้น ศึกษาค้นคว้าไม่ได้ในปัจจุบัน แต่สิ่งที่พวกเราคิดกันเองนี้ ก็ใช่ว่าจะคิดกันอย่างไร้เหตุผล หากท่านผู้อ่านได้ลองวิเคราะห์ ตั้งข้อสังเกต อย่างนี้บางทีอาจจะหาคำตอบได้

        น้ำมนต์ชโลมใจ
       
       เมื่อได้มีโอกาสมาฟังธรรมจากหลวงปู่บ่อยขึ้นในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ทำให้ผมเกิดความรู้สึกศรัทธา เลื่อมใสในองค์หลวงปู่เป็นอันมาก คิดจะทำตัวให้เป็นประโยชน์ ให้ดี ตามแบบอย่างของท่าน ดังนั้นเวลาที่วัดมีงานเช่น บวชเนกขัมมะ ผมจึงมักมาร่วมงาน และช่วยงานเสมอ จนมาถึงงานใหญ่ของวัดคือ งานปิดทองฝังลูกนิมิต ซึ่งกลุ่มของพวกผมก็ได้มาช่วยงานเกี่ยวกับด้านตักบาตรสตางค์
       
       ในวันสุดท้ายของงาน เมื่องานเสร็จ ก็เก็บข้าวของ ผมเองไปช่วยยกพระพุทธรูป เผอิญวันนั้นกลุ่มของพวกผมมีผู้ชายไม่มาก ประมาณสัก ๖-๗ คน ช่วงแรกๆ ยกพระองค์เล็กๆ ก็ไม่ค่อยเท่าไร พอมายกพระประจำวันเสาร์ คือ พระปางนาคปรก ตอนแรกๆ ก็ค่อยเอนมาทางด้านหลัง ผมกับเพื่อนอีก ๓ คนคิดว่าจะช่วยกันประคองไว้ก่อน แล้วค่อยๆ อุ้มลง ผมจึงเอาตัวเข้าไปอุ้มพระไว้กับเพื่อนอีก โดยคนอื่นช่วยประคอง
       
       พอเอนพระผ่านจุดศูนย์ถ่วงน้ำหนักมาด้านหลังจากฐานพระที่ยกขึ้นสูงไว้ นั้น พอจะเข้าไปรับ องค์พระปางนาคปรกนั้นหล่นลงมาอย่างรวดเร็ว โดยไม่ทันตั้งตัว พวกเราที่ยกพระกันรับน้ำหนักไม่ไหว เพราะหนักมาก เลยปล่อยให้พระหล่นลงมา คนอื่นที่อยู่วงนอก ฉากหลบออกมาทัน แต่ผมกับเพื่อนอีกคนอยู่ด้านล่าง หลบไม่ทัน
       
       ทุกคนที่เฝ้าดูต่างเห็นว่าพระจะหล่นมาทับตัวผม ซึ่งหล่นมาตรงๆ ตัวพอดี ผมคิดว่า ผมตายแน่แล้วคราวนี้ แต่ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น เหมือนกับมีอะไรมาดึงผมให้เบี่ยงตัวหลบ หมุนมาด้านข้างนิดหนึ่ง จะว่าสัญชาตญาณของความกลัวตาย หรือความเคยชินจากการฝึกหลบท่ามวยไท้เก๊ก ก็ไม่น่าใช่ เพราะขณะนั้นผม กำลังช็อกอยู่เหมือนกัน แต่เหมือนมันมีแรงอะไรมาดันผมไว้จริงๆ ทำให้ผมรอดตายครั้งนั้น แต่ก็ทำให้ผมเจ็บที่ไหล่ซ้าย เพราะโดนพระครูดที่แขน แล้วมาฟาดที่ข้อมือจนบวมเป็นเดือน
       
       ในระหว่างที่ทำพระหล่นกันนั้น ก็กลัวว่าจะโดนหลวงปู่ดุ เลยรีบช่วยกันยกพระให้ตั้งขึ้นก่อน แล้วให้พี่ทหารที่ตัวล่ำๆ กว่า ๑๐ คนมาช่วยยกขึ้นรถไป ส่วนผมนั้น เจ็บหนักกกว่าคนอื่น เลือดอาบเต็มแขนไปหมด รู้สึกปวดที่ข้อและที่ไหล่ เพื่อนและพี่ช่วยกันนำน้ำมันหลวงปู่มาทาให้ แต่ไม่ช่วยให้อาการดีขึ้น
       
       สักพัก หลวงปู่เดินมาจากทางโบสถ์ ถามว่า นั่นใครเป็นอะไร ไหนมาดูหน่อยซิ ผมกับเพื่อนจึงเดินมาหาท่านที่บันได พอดีท่านถือแก้วน้ำอยู่ ท่านเรียกผมกับเพื่อนให้เข้ามาใกล้ๆ แล้วท่านก็อมน้ำแข็งเข้าไป ทำปากขมุบขมิบ เหมือนการท่องบริกรรมคาถา จากนั้นท่านจึงนำน้ำแข็งมาลูบทาแผลที่บริเวณไหล่ผมจนน้ำแข็งละลายหมด สักพักอาการบวมก็ลดลงทันตาเห็น เลือดที่เคยไหล ก็หยุดไหล มันเหมือนมีพลังบางอย่างวิ่งอยู่ที่ไหล่ผมอย่างบอกไม่ถูก รู้สึกสุขใจมากทั้งๆ ที่ตัวเองบาดเจ็บ แต่เกิดความสุข ปีติ ซาบซึ้ง เกิดพลังบางอย่างขึ้นมา เพราะวันนี้ ช่วงเวลานี้ ตั้งแต่กราบเป็นศิษย์ มาฟังธรรม เพิ่งจะมีโอกาสได้อยู่ใกล้ชิดท่าน แบบจิตต่อจิตก็ครั้งนี้เอง มันเหมือนกับพ่อที่คอยยื่นมือให้ลูก เวลาที่ลูกล้ม แล้วบอกว่าลุกขึ้นมาลูก มาต่อสู้ตามแบบพ่อ ตามหนทางในวิถีของพุทธะเถิดลูก (ผมรู้สึกเอาเอง)

       ก่อนบวช
       
       หลังจากงานปิดทองลูกนิมิต ประมาณเดือน กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๒ ผมได้ข่าวว่าทางวัดจะจัดให้มีการบวชพระ บวชเณร ภาคฤดูร้อน ตอนแรกผมคิดจะบวชช่วงนี้ เพราะว่าอายุผมก็ เบญจเพศแล้ว และอยากบวชอุทิศบุญกุศลให้พ่อแม่ รวมทั้งอยากหาสาระให้แก่ชีวิตลูกผู้ชายบ้าง แต่ไม่สะดวกเพราะลางานไม่ทัน เลยคิดว่าจะไปบวชช่วงเข้าพรรษาแทน จึงเขียนใบลาอุปสมบท ซึ่งก็ได้รับการอนุมัติจากที่ทำงานเรียบร้อย พอช่วงวันวิสาขบูชาได้ข่าวว่าทางวัดจะจัดให้มีการบวชพระ ๗๓ รูป ในเดือนธันวาคม เพื่ออุทิศเป็นพระราชกุศล ได้ข่าวว่าบวชรุ่นนี้ หลวงปู่จะพาไปธุดงค์ด้วย ผมจึงต้องรีบไปเลื่อน เปลี่ยนวัน ขออนุญาตลาอุปสมบทจากที่ทำงานอีกครั้งหนึ่ง
       
       จนกระทั่งได้รับการตอบรับจากทางมูลนิธิฯ และทางวัด ว่าคุณสมบัติผ่าน และ ต้องมาทำการฝึกขานนาค ซ้อมขานนาค ซ้อมไหว้ นัดแนะระเบียบ พิธีการต่างๆ อีกมาก รวม ๓ ครั้ง ต้องมาให้ได้ทุกครั้งไม่เช่นนั้นจะถูกคัดชื่อออก ถ้าผ่านแล้วถึงจะได้บวช ผมก็พยายามทำทุกอย่าง เพื่อจะบวชในครั้งนี้ให้ได้
       
       ดังนั้น ผมต้องรีบเคลียร์เรื่องงาน และเรื่องส่วนตัว ซึ่งกำลังมีงานที่ต้องเร่งทำ และต้องไปอธิบายให้พ่อแม่ที่ต่างจังหวัดได้เข้าใจ เพราะประเพณีทางเหนือบ้านผม เขาจะจัดงานบวชแบบใหญ่โต โชว์หน้าตากันและบวชแค่ ๕ วัน ๑๐ วัน แต่ผมไม่เห็นด้วย เห็นว่ามันสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ และอีกอย่าง หาวัดที่ผมศรัทธาจริงๆ มีน้อย เมื่อผมมีโอกาสเจอคุรุที่ประเสริฐสุดในชาตินี้แล้ว ผมจะไม่ยอมให้เสียโอกาสนี้ไปได้ ผมจึงอธิบายให้ทางบ้านได้รู้ว่าผมกำลังจะทำสิ่งดีๆ ให้แก่ท่านอยู่ ทางบ้านจึงยอมเข้าใจ
       
       เมื่อเคลียร์ทุกอย่างเสร็จ รวมทั้งซ้อมขานนาคเรียบร้อยแล้ว เมื่อใกล้วันกำหนดบวช คือวันที่ ๔ ธันวาคม ผมได้เดินทางมาอยู่วัด ล่วงหน้าก่อน ๒-๓ วัน กิจกรรมของวัดช่วงนั้นมีมาก เพราะต้องจัดเตรียมสถานที่ต่างๆ ผมจึงไปช่วยเกลี่ยกองหิน ยกของ ขัดพระ รดน้ำต้นไม้ ถางหญ้า แต่งานที่หนักมากคือขนขยะ เศษต้นไม้ เศษหญ้าที่ทับถมอยู่ริมสระ ในเนื้อที่ ๘ ไร่ จนรู้สึกปวดเมื่อยไปหมดในคืนแรกที่ทำงานหนัก กว่าจะชินกับงานหนักก็หลายวัน
       
       แม้ว่าหลวงปู่จะเป็นใคร ผมก็ยังเคารพ รัก ศรัทธา โดยไม่ได้สนใจว่าท่านจะมาจากไหน เพราะว่าเราไม่มีทางรู้ ไม่มีทางที่จะพิสูจน์ได้ ตราบเท่าที่ท่านไม่พูดออกมาเอง ซึ่งแน่นอนว่าท่านไม่พูดเรื่องนี้ แต่ ณ ปัจจุบันนี้เราได้รับอะไรบ้างจากท่าน เราทำอะไรให้ท่านภูมิใจ เราแก้พฤติกรรม นำเอาธรรมะที่ท่านสอนมาใช้มากน้อยแค่ไหน และเราทำอะไรเพื่อพระศาสนาแล้วหรือยัง ผมจะถามตัวเองอย่างนี้เสมอ และผมก็มีความรู้สึกผูกพัน ศรัทธาใน "หลวงปู่พุทธะอิสระ" องค์นี้มากกว่า
       
       จบภาคโลกียชน .........