ถาม:
ดอกบัว มีความหมายอย่างไรในทางพระพุทธศาสนาครับ ?
ตอบ:
คติความเชื่อทางพุทธศาสนาถือว่า ดอกบัว เป็นนิมิตหรือสัญลักษณ์ของการพัฒนาอย่างเป็นขั้นเป็นตอน
เพราะดอกบัวเกิดจากโคนตม แต่ก็สามารถรอดพ้นจากการเป็นอาหารของเต่าและปลา จนสามารถชูช่อ พ้นน้ำ บานรับแสงอาทิตย์ได้ในที่สุด
เปรียบดังหมู่สัตว์ที่เข้ามามุ่งมั่นเพียรปฏิบัติในพระธรรมวินัยนี้ อย่างต่อเนื่อง ที่จักพัฒนานำพาชีวิตให้รุ่งเรืองเจริญจนถึงขีดสุด และสามารถก้าวข้ามพ้นขีดจำกัดของตนได้
ถาม:
ความฝันเกิดมาจากเหตุใด ?
ตอบ:
ในพระพุทธศาสนา ท่านได้ชี้ให้เห็นถึงเหตุแห่งฝันเอาไว้ ๔ อย่าง คือ
๑. ธาตุวิปริต หมายถึงร่างกายไม่สบาย ธาตุพิการ อาหารไม่ย่อย ธาตุทั้ง ๔ ในร่างกายไม่เป็นปกติ จึงได้ฝัน ซึ่งเป็นความฝันที่ไม่จริง
๒. จิตนิวรณ์ หมายถึงจิตมีความผูกพันอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง อาจเป็นสิ่งของ สถานที่ หรือบุคคล จึงนำมาปรุงแต่งเฟ้อฝัน เช่น ฝันถึงคนเคยรู้จักกันที่ยังมีชีวิตอยู่ หรือเสียชีวิตไปแล้ว อาจฝันดีหรือฝันร้ายก็ได้ ฝันดังกล่าวบางครั้งก็เป็นจริง แต่หลายครั้งไม่จริง อย่างไรก็ตามหากฝันถึงคนที่เสียชีวิตไปแล้วเห็นเขาอยู่ในสภาพที่ไม่ดี ก็ควรทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้เพื่อความสบายใจ เขาจะได้รับส่วนบุญหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัย ๒ ประการ คือ
- ผู้ตายรับรู้ในการทำบุญนั้นแล้วอนุโมทนา แต่ผู้ที่ทำบุญย่อมได้รับบุญนั้น
- ผู้อุทิศแสดงเจตนาเจาะจงที่จะอุทิศผลบุญนั้นให้แก่ผู้ตาย
แต่ที่แน่ๆ ผู้ที่ทำบุญย่อมได้รับบุญนั้น
๓. เทพสังหรณ์ หมายถึงเทวดามาดลใจให้ฝัน อาจแม่นหรือไม่แม่นก็ได้ เพราะเทวดามีทั้งสัมมาทิฐิ และมิจฉาทิฐิ หากเทวดาที่มีสัมมาทิฐิมีบุญบารมีมากมาเข้าฝัน เรื่องที่ฝันก็เป็นความจริง แต่ถ้าเทวดาที่เป็นมิจฉาทิฐิมาทำให้ฝัน เรื่องที่ฝันอาจจะคาดเคลื่อนจากความจริง
๔. สุบินนิมิตหรือบุพนิมิต ฝันเพราะมีลางบอกเหตุ ว่าจะได้พบเจอสิ่งใดในกาลข้างหน้า เป็นความฝันที่เกิดจากอำนาจจิต อำนาจสมาธิ สมาบัติ เรื่องที่ฝันก็จะเป็นจริง ดังเช่นพระนางสิริมหามายา พุทธมารดา ฝันว่ามีช้างนำดอกบัวมาถวาย โหรทำนายว่าจะมีพระโพธิสัตว์ผู้ที่จะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้ามาเกิดในครรภ์ของพระนาง ซึ่งก็เป็นจริง แม้นักพรตสิทธัตถะก่อนจะตรัสรู้หนึ่งคืน ก็มีบุพนิมิต (ลางบอกเหตุ) เป็นความฝัน ๕ เรื่องด้วยกัน ตื่นเช้าท่านตีปริศนาแห่งความฝันว่าจะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ซึ่งก็เป็นความจริง
พุทธะอิสระ