ถอดเทปคำสอนของหลวงปู่พุทธะอิสระ ขณะปฏิบัติกรรมฐาน ตั้งแต่ขั้นที่ 1-10
ระหว่างเดือน เมษายน  -  ตุลาคม 2553

จังหวะที่ 1   

หูฟังเสียงจังหวะ  ใจรับรู้ เท้าก้าวเดิน ถ้าเดินแบบล่องลอย จะไม่ได้ประโยชน์
ทำให้จิตอยู่กับเรื่องเดียว เรื่องพฤติกรรมของกาย และหูที่ฟังเสียง
ถ้าอยากมีกำไร และใช้ให้ได้มีประโยชน์ก็ต้องตั้งใจ
จังหวะไหนควรหยุด จังหวะไหนควรก้าว
หยุดจังหวะไหน สังเกตให้ได้
กำหนดให้ได้ว่า จังหวะไหนควรหยุดตรงไหน
ขั้นที่ 1 เป็นการสร้างสติ

หูฟังเสียง ใจรับรู้ เท้าก้าวเดิน 3 อย่างรวม  อย่าเดินแต่ซาก
ประคองใจให้เดินไปกับกายด้วย ไม่ใช่กายเดินอย่างเดียว แต่ใจฟุ้งไปที่อื่น

หูฟังเสียง ใจรับรู้ เท้าก้าวเดิน  ไม่ใช่ซ่านออกไปข้างนอก
รู้ไม๊ว่า จิตที่ออกไปรับรู้ เป็นจิตที่ไปรับทุกข์ จิตที่ขาดทุน จิตที่ล้มละลาย และเศร้าหมอง

ขั้นที่ 1 อย่าให้เคลื่อนออกจาก 2 สิ่งนี้ ไม่อย่างนั้นจะถือว่าไม่มีประโยชน์ เดินแต่ซากเฉยๆ อยากให้พระมีความไร้สาระ ก็ทำใจไร้สาระ อยากให้พระมีสาระ ก็ทำใจให้มันมีสาระ เพราะทุกอย่างที่เราทำ มันจะเข้าไปอยู่ในตัวพระ ในองค์พระ

ขั้นที่ 1 อย่าเดินแต่ซาก อย่าสักแต่ว่าเดิน ประคองใจให้อยู่ในพฤติกรรมที่กำลังเคลื่อนไหว เรื่องที่กำลังจะทำ อย่าเดินแบบเลื่อนลอย หูฟังเสียง เท้าก้าวเดิน ใจรับรู้
ขั้นนี้จะใช้ได้และผ่านก็ต่อเมื่อก้าวไม่ผิดเลย แม้แต่จังหวะเดียว ถ้าวันนี้ยังก้าวผิดๆ พลาดๆ เดี๋ยววันสุดท้ายที่จะสอบ ก็ยิ่งพลาดใหญ่

ขั้นที่ 1  ระวังจะหลุดออกนอกทาง ให้กายกับจิตอยู่ในทาง อ้ายที่เดินเลื่อนลอยน่ะ เค้าเรียกเดินออกนอกทาง เหมือนกับรถไฟกำลังจะตกราง แน่ใจหรือเปล่าว่าจิตทุกดวงอยู่กับงานและทางที่เดิน  กำลังหลอกตัวเองหรือเปล่า งานและทางแจ่มชัดหรือเปล่า ไม่ใช่คลุมเคลือ เบลอๆ จังหวะก็แจ่มชัด ก้าวก็แจ่มชัด การรับรู้ก็แจ่มชัด ไม่ใช่กล้องเปียกน้ำ มองภาพเบลอๆ ให้ชัดเจน จิต 100 ดวงก็เดินอยู่บนทางทั้ง 100 ดวง ไม่ใช่หลุดออกไปดวงใดดวงหนึ่ง

ขั้นที่ 1 มีศรัทธา มีปัญญา มาคนเดียว

เตรียมปฏิบัติธรรม ขั้นที่ 1
กรรมฐานทุกชนิด มันเป็นงานที่ทำให้ใจอยู่กับที่ อยู่กับงาน แต่ถ้าเมื่อบอกว่า เราฝึกกรรมฐานแต่ใจเลื่อนลอย วิ่งดิ้นถลาไปเนี่ย แสดงว่าเราไม่ได้ทำกรรมฐาน
เพราะงั้นใจต้องอยู่กับงานที่กำลังทำ หูฟังเสียง เท้าก้าวเดิน ใจรับรู้  และเมื่อใดที่ใจไม่รับรู้ แสดงว่าเรากำลังไม่ได้ทำกรรมฐาน ใจจะต้องจดจ่อ กับงานที่กำลังทำ มันเป็นงาน
ที่ฝึกให้ใจนิ่ง ฝึกให้ใจรู้ ฝึกให้ใจรับในสิ่งที่เราต้องการให้มันรับ ฝึกที่จะควบคุมใจ
แล้วเมื่อใดที่มันแว๊บแล้วแล๊บออกไป แสดงว่าใจเราคุมไม่ได้แล้ว เมื่อเราคุมใจเราเองไม่ได้ แล้วสาอะไรจะไปคุมคนอื่นคุมสิ่งอื่น งั้นต้องคุมจิตใจให้ได้อย่างต่อเนื่องตลอด
ไม่ใช่ได้เป็นบางที ทำให้ใจจดจ่อ จับจ้อง ตั้งใจ จริงจัง
แต่ละรอบ ดูว่าใจมันหลุดไปกี่ครั้ง   1 รอบก็คือ ผู้หญิงร้องครั้ง ผู้ชายยังไม่สวด ผู้หญิงจบจึงเรียกว่า 1 รอบ ดูว่าใจมันหลุดไปกี่ครั้ง แล้วรอบผู้ชายที่สวด ดูว่าใจหลุดไปอีกกี่ครั้ง ถ้ายังมีหลุดแบบนี้ แสดงว่าสอบไม่ผ่านล่ะ ถ้าจะผ่านต้องไม่ให้หลุดเลย ไม่ว่าจะเสียงผู้หญิงสวดหรือเสียงผู้ชายสวด

ไม่แน่ใจ อย่าก้าวผิด สู้หยุดรอจังหวะให้ถูกแล้วจึงก้าว ฝึกนิสัยให้เป็นคนสุขุม
ทำอะไรแบบชนิดที่ใช้สติปัญญา ไม่ใช้อารมณ์ ทุกครั้งที่ก้าวมันหมายถึงความสำเร็จ ไม่ใช่ก้าวแล้วผิดพลาด .........ใจอยู่กับงานหรือเปล่า หรืออกไปไหนแล้ว
การที่เราจะเข้าห้องแห่งปราณได้ หมายถึงขยับขึ้นขั้นที่ 10 ได้ ขั้นแรกจะต้องเป็นกรรมฐานให้ได้ก่อน คำว่าเป็นกรรมฐานให้ได้ คือ ใจต้องอยู่กับกรรมฐานตลอดเวลาก่อน
กรรมฐานคือ งานของใจ เวลานี้เรากำลังจะทำใจให้มีงาน หรือใจตกงาน
ใจตกงาน คือใจที่เลื่อนลอย  ใจที่ไม่อยู่กับงานที่กำลังทำ เท้าก้าวเดิน หูฟังเสียง
ใจเลื่อนลอย อย่างนี้เค้าเรียกว่า ใจตกงาน ต้องทำใจให้มีงาน งานกับใจเป็นหนึ่งเดียวกัน ลองดูซิว่า อย่าให้เคลื่อนเลย อย่าให้หลุดออกไปเลย ให้ใจกับกรรมฐานเป็นหนึ่งเดียงกันให้ได้
นี่เป็นเพียงแค่ขั้นที่ 1 มันมีทั้งหมดตั้ง 9 ขั้น วันนี้ถ้าใจยังไม่อยู่กับงาน จะยังไม่ขยับขึ้น ต้องให้เข้มขึ้น เดินแต่ละครั้งต้องไม่หลุดเลย

เดินในขั้นที่ 1 เริ่ม  ก้าวนึงก็ไปสวรรค์นะ  หนึ่งก้าวก็คือ หนึ่งขั้นกะไดสวรรค์
ถ้าก้าวถูกพร้อมใจ แต่ถ้าก้าวผิดก็คือ นรก  เพราะทุกวันทุกคนตกนรกอยู่แล้ว
นรกที่เกิดจาก ตาเห็นรูป หูฟังเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นรับรส กายถูกต้องสัมผัส นรกที่มีราคะ โทสะ โมหะ อวิชชา ตัณหา อุปาทาน
เพราะงั้นทุกครั้งที่เราเดินด้วยใจกรรมฐานก็คือ การก้าวขึ้นกะไดสวรรค์ แต่ทุกครั้งที่เราเดินด้วยใจอกุศล คือ สับสน วุ่นวาย ฟุ้งซ่าน หงุดหงิด รำคาญ นั่นคือเดินลงนรก 
หนึ่งก้าวของจิตกรรมฐาน มันจะทำหน้าที่เก็บข้อมูลเอาไว้ เช่นเดียวกัน หนึ่งก้าวของจิตที่ไร้กรรมฐาน มันก็จะเก็บข้อมูลเอาไว้
หนึ่งก้าวของจิตกรรมฐาน คือ หนึ่งก้าวสวรรค์
หนึ่งก้าวของจิตที่ไม่มีกรรมฐาน คือ หนึ่งก้าวนรก มันก็จะเก็บข้อมูลเอาไว้
เพราะหน้าที่ของจิตมัน รับ จำ คิด รู้ ที่นี้ก็อย่าไปบอกคนอื่น อย่าไปร้องขอความช่วยเหลือคนอื่น เพราะตัวเราเองเป็นผู้ทำร้ายตัวเราเอง สาปแช่งตัวเอง หรือให้พรตัวเอง
ให้จิตอยู่กับงาน ให้งานกับจิตรวมกันเป็นหนึ่ง แม้ไม่ต้องตาย สวรรค์ก็มีอยู่ภายใน
มีชีวิตอยู่ก็ขึ้นสวรรค์ได้

สังเกตดูบ่อยครั้งมากที่ลูกหลานทั้งหลายปฏิบัติธรรมแล้ว หลงลืมภาระกรรมและหน้าที่ที่ชัดเจนของตน ก็คือ ลืมไปว่า เรากำลังจะทำกรรมฐานที่จิต เราคิดว่า เดินก็น่าจะได้แล้ว เราก็เลยไม่ทำให้จิตมันจดจ่อกับสิ่งที่เรากำลังทำ กำลังเดิน

เพราะงั้นหลายคนปล่อยให้จิตเลื่อนลอย แม้จะบอกว่าเดินถูกจังหวะ แต่ใจไม่อยู่กับกาย ไม่อยู่กับจังหวะ มันก็ไม่ได้ชื่อว่า เดินกรรมฐาน เมื่อจิตไม่เป็นกรรมฐาน ให้เดินให้ตายก็ไม่ได้อารมณ์กรรมฐาน เพราะขั้นที่ 1 สำคัญที่สุด ต้องได้อารมณ์กรรมฐาน ต้องเป็นเจ้าของกรรมฐาน เวลามาสอบก็ต้องอย่างนี้ ถ้าเดินแล้วไม่สามารถจะชี้แจง และบอกได้ว่า อารมณ์กรรมฐานเป็นอย่างไร  ถือว่าสอบตกในขั้นที่ 1 ไม่มีสิทธิ์จะสอบในขั้นต่อไป ให้รู้ไว้นี่คือข้อสอบ บอกข้อสอบไว้ก่อนเลย แล้วคนนึง วันนึงไม่ใช่สอบได้ 9 ขั้น ไม่ใช่ ถ้าขั้นแรกไม่ผ่าน ก็ไม่มีสิทธิ์สอบขั้นต่อๆไป

จำไว้ว่า ขั้นแรกต้องได้อะไร อารมณ์กรรมฐาน
อารมณ์กรรมฐาน คืออะไร จิตต้องอยู่กับงาน นั่นแหละคือ อารมณ์กรรมฐาน
แว็บก็ไม่ได้  ถ้าแว็บไปนิดนึง ก็ถือว่าเราทิ้งงานแล้ว ตลอดระยะเวลาที่เราเดิน
ต้องไม่แว็บเลย มีมั่งไม๊ ไม่แว็บเลย

เพราะงั้นต้องฝึกให้ได้ ต้องพยายามรักษาอารมณ์ให้อยู่กับงานให้ได้ มันเป็นการฝึก
ทั้งคดีโลกและคดีธรรม เวลาไปปฏิบัติธรรมก็ได้ประโยชน์ เวลาไปอยู่กับโลกข้างนอก
ก็ได้มหาศาล เมื่อทำงานมีจิตจดจ่อ จับจ้อง จริงใจ ตั้งใจ มันไม่มีอะไรผิดพลาด
ฝึกให้ได้ในกรรมฐานเหล่านี้ เวลาไปทำการงาน เราจะรู้สึกตัวเอง ผลของงานจะสำเร็จประโยชน์ได้มากที่สุด ใช้เวลาน้อยที่สุด คุ้มค่าที่สุด เรียกว่า ประโยชน์สูง ประหยัดสุด
อ้ายคนที่ทำผิดๆ พลาดๆ ไม่ถูกต้องอยู่เนืองๆ ก็เพราะมันทำด้วยซาก ไม่มีจิตวิญญาณในการทำ ทำโดยไม่ใส่ใจ ไม่สนใจ เรียกว่า ทำด้วยวิธีไม่เลิศ ผลที่ประเสริฐอยากได้

เพราะงั้นต้องฝึกตัวเองให้ได้ พยายามปรับ แม้จะเห็นว่าเป็นเรื่องง่ายๆ เดินตามจังหวะ
ใจลอยไปลอยมา มันไม่ง่าย ถ้าเดินเล่นล่ะได้ แต่เดินเพื่อให้ได้ประโยชน์  จำไว้ว่า
ทุกครั้งที่ก้าวด้วยใจกรรมฐาน นั่นคือก้าวขึ้นสวรรค์ และทุกครั้งที่จิตไร้กรรมฐาน
นั่นคือก้าวลงนรก เพราะจิตที่ไม่มีกรรมฐาน คือจิตที่เป็นอกุศล ถูกไม๊  มีราคะจิต
มีโทสะจิต มีโมหะจิต มีตัณหาจิต มีอวิชชาจิต มีฟุ้งซ่านจิต มีง่วงหงาวหาวนอนจิต เหล่านี้ เป็นกุศลหรืออกุศล เมื่ออกุศลเกิดขึ้น ที่ไหนจะมีสวรรค์ มันก็ตกนรก

เพราะงั้นทุกครั้งที่เราก้าวด้วยจิตที่เป็นกรรมฐาน คือการก้าวขึ้นสวรรค์ ทุกครั้งที่เราก้าวด้วยจิตที่ไม่มีกรรมฐาน นั่นคือ การก้าวลงนรก แล้วไม่รู้ว่าจะตายในก้าวไหน ก็ตกนรกในก้าวนั้น เพราะงั้นทุกครั้งที่เราก้าวไปข้างหน้า แม้ตายในก้าวนั้น แต่จิตเต็มเปี่ยมไปด้วยกรรมฐาน กรรมฐาน คืออะไร คือ การงานที่ควบคุมจิต และจิตกับงานรวมกันเป็นหนึ่ง แล้วเป็นงานที่เป็นกุศล คือ จิตสงบ ในขณะที่เราก้าวด้วยจิตกรรมฐาน เราสงบไม๊ เรามีตัวรู้ไม๊ มีสติไม๊ มีสัมปชัญญะไม๊ เออ เมื่อมันมีองค์ประกอบครงเครื่องเรื่องของกุศล มีหรือจะไม่ได้ขึ้นสวรรค์ เพราะงั้น เห็นเดินลงนรกกันทั้งศาลา บางทีแว็บลงไปตั้งลึก แล้วตะกายขึ้นมาใหม่ เฮือกๆ พอด่าที บ่นที ก็ตะกายขึ้นมา พอไม่ด่า ไม่บ่นก็วูบ จมบุ๋ม หายไปเลย เดินเรื่อยเปื่อย ลอยชายอะไรก็ไม่รู้

เริ่มปฏิบัติ ขั้นที่ 1
กำลังทำอะไรอยู่ ทำให้จิตมีงาน อย่าปล่อยให้จิตตกงาน และงานที่จิตกำลังมีและกำลังทำ คือกรรมฐาน
เดินเลื่อนลอย เดินแต่ซาก เราจะได้ประโยชน์อะไร อีหนู  เค้าต้องเดินพร้อมกายและใจ ไม่ใช่กายเดิน แต่ใจล่องลอย อย่างนั้นเค้าเรียกว่า ไม่ซื่อตรงต่อตัวเอง ทุกครั้งที่ก้าวด้วยจิต นั่นคือ ก้าวอันศักดิ์สิทธิ์ เรียกว่า ก้าวกรรมฐาน แต่ทุกครั้งที่ก้าวโดยไม่มีจิต นั่นเรียกว่า ก้าวไม่ศักดิ์สิทธิ์ ก้าวไม่สำเร็จประโยชน์ ไม่ใช่ก้าวกรรมฐาน ไม่ใช่ก้าวขึ้นสวรรค์ แต่ก้าวลงนรก งั้นทุกครั้งที่ก้าว ต้องมีจิตรู้ ต้องก้าวพร้อมจิต
จังหวะที่ 1 ขั้นที่ 1 ใหม่

เวลาเดิน เอาจิตตั้งไว้ที่ไหน จิตไม่ควรตั้งที่เวทนา คืออารมณ์ ไม่ควรตั้งที่เสียง ไม่ควรตั้งที่เท้า แต่ควรตั้งอยู่ในกาย เพราะจิตมีหน้าที่รับรู้เสียงอยู่แล้ว เมื่อจิตรับรู้เสียง ก็ส่งคลื่นสมองไปที่สมอง สมองก็สั่งงานไปที่เท้า แต่ถ้าจิตอยู่ที่อารมณ์ อยู่ที่เวทนา แม้ที่สุดอยู่ที่เท้า ก็ไม่ถูกต้อง เพราะในขั้นที่ 1 เพียงแค่จิตกรรมฐาน เพราะงั้น ต้องเอาจิตตั้งไว้ในกาย เอาใหม่ ลองดูซิให้จิตตั้งอยู่ในกาย แล้วก้าวเดิน 
ตั้งไว้ในเสียงก็ไม่ได้ ตั้งในความรู้สึกก็ไม่ได้ แม้ตั้งอยู่ที่เท้าก็ไม่ได้ แต่ต้องตั้งไว้ในกาย
คำว่า ในกายยังสงสัยอีกว่า ตรงไหน ก็โครงสร้างหลักของกาย  ลองดูซิ จิตตั้งไปในโครงสร้างหลักของกาย แล้วก้าวเดินตามจังหวะ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

จังหวะที่ 2

อย่าช้าเกินไป  อย่าเร็วเกินไป 
ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนผ่อนคลาย  ผ่อนคลายกล้ามเนื้อ
ผ่อนคลายอารมณ์ ผ่อนคลายอิริยาบถ
สบายๆ แค่หูฟัง ใจรับรู้ เท้าก้าวเดิน ไม่ต้องเกร็ง ไม่ต้องเครียด
ขั้นนี้ไม่มีอะไรเครียด แม้แต่กล้ามเนื้อใบหน้าก็จะผ่อนคลาย
ร่างกายทุกส่วนจะผ่อนคลาย  แค่หูฟัง ใจรับรู้ เท้าก้าวเดิน
กล้ามเนื้อผ่อนคลาย ฝ่าเท้าผ่อนคลาย ท่อนขาผ่อนคลาย หลังผ่อนคลาย

เดินในขั้นที่ 2  ผ่อนคลาย

ขั้นที่ 2 เดินมากๆ ก็อาจจะทำให้ปวดเมื่อยหลัง กระเบนเหน็บ เอว เพราะฉะนั้นการเดินในขั้นที่ 2 ก็เป็นการผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ผ่อนคลายระบบประสาท แล้วก็ผ่อนคลายจิตจากการผูกพันจากการเพ่ง

เดินในจังหวะที่ 2  รุ่นพี่อย่าใจจืดนะ เห็นผู้ที่มาใหม่เดินไม่ได้ ช่วยสงเคราะห์หน่อย ไม่ใช่เดินผ่านแล้วไม่สนใจ เห็นเค้าเดินผิดก็ช่วยเตือน อย่าคิดว่า เค้าจะโกรธเมื่อเราเตือน ถ้าคิดแบบนั้น ก็ไม่มีใครเตือนกัน แล้วมันจะตรงกับวันมหาปวารณาได้อย่างไร เพราะเรากำลังจะแนะนำ ชี้ประโยชน์ให้เค้า ต้องคิดเสมอว่า นี่คือ การชี้ขุมทรัพย์ ผู้รับคำเตือนก็ต้องมีความรู้สึกว่า นั่นคือผู้ให้ประโยชน์ ผู้มีคุณแก่เรา เป็นกัลยาณมิตร กัลยาณธรรม กัลยา แปลว่า งดงาม เพื่อนที่งดงาม เพื่อนที่ดีงาม ผู้หวังความเจริญ อย่ารู้สึกอายเมื่อมีคนมาบอกว่า เราทำผิด ต้องกล้าที่จะรับความจริง แล้วแก้ไข นั่นจึงเรียกว่า ผู้เจริญ ถ้าความอายมันจะเกิดขึ้น มันต้องเกิดก่อนที่จะทำผิด อย่างนั้นเค้าเรียกว่า มีหิริ ความละอายชั่ว แต่ถ้าผิดแล้วมาอายหลังจากมีคนมาบอกมาชี้ แสดงว่า ไม่มี หิริ ความละอาย

เพราะงั้น ขั้นที่ 2  ก็อย่าให้ใจเลื่อนลอย ให้ใจมีงาน งานกับใจอยู่เป็นหนึ่งเดียวกัน ถึงมันจะจดจ่ออย่างไม่จริงจัง แต่มันก็ยังมีงาน เพราะขั้นนี้เป็นขั้นที่ผ่อนคลาย ผ่อนคลายอารมณ์ ผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ผ่อนคลายความรู้สึก ผ่อนคลายระบบประสาท ผ่อนคลายจิตวิญญาณ แต่มันก็มีงาน เป็นงานที่ผ่อนคลาย ดีที่สุด ไม่ใช่ล่องลอยออกไปข้างนอก มันคืองานที่ดูความเป็นไปภายในกาย เรียกว่า กายานุสติปัฏฐาน จิตตานุสติปัฏฐาน เวทนานุสติปัฏฐาน ดูกาย ดูจิต ดูความรู้สึก ดูอารมณ์ ตรงไหนมันขุ่นเคือง มันฝืด มันอึดอัด มันทรมาน มันไม่ผ่อนคลาย ก็เข้าไปจัดการบริหารมันซะ ทำให้มันผ่อนคลาย

แต่ถ้าเราบอกว่า เราต้องการผ่อนคลาย แล้วเราออกไปข้างนอก ไปดูรูป ไปดูรส ไปดูกลิ่น ไปดูเสียง มันยิ่งเพิ่มงานมากขึ้น ภาระกรรมของจิตจะต้องรู้เยอะขึ้น มันจะผ่อนคลายที่ไหน ถึงจะเป็นความผ่อนคลาย ก็เป็นความผ่อนคลายแบบมีอามิส  เพราะเราต้องลงทุน ต้องแลกมา แต่ผ่อนคลายที่ไม่มีอามิส ไม่ต้องลงทุน ไม่ต้องแลกมา คือเครื่องมือในความผ่อนคลายภายใน มีสติอยู่กับกาย เราบอกว่า ไปดูหนัง ไปฟังเพลง มันผ่อนคลาย นั่นก็เป็นผ่อนคลาย ต้องลงทุน ต้องแลกเสียแลกได้ แล้วก็เป็นความผ่อนคลายที่ไม่ยั่งยืน

แม้ขั้นที่ 2 บอกว่าผ่อนคลายก็ต้องตอบให้ได้ว่า อะไรคือความผ่อนคลาย อะไรเรียกว่า ความผ่อนคลาย กายผ่อนคลาย หรือใจผ่อนคลาย หรือทั้งกายและใจผ่อนคลาย ถ้ากายใจผ่อนคลาย ตรงไหนบ้างที่มันไม่ผ่อนคลาย ต้องตอบให้ได้

 

 

 

 

 

 

 

 

จังหวะที่  3

ก้าวจังหวะ เว้นจังหวะ ไม่ต้องประกอบลมหายใจ
ขั้นนี้คนที่ไม่มีสติ สติอ่อน สติซ่าน จะทำไม่ได้ 
เค้าจะไม่ยกขารอไว้ก่อน  จะก้าวเมื่อควรก้าว
ต้องไม่เคลื่อนแม้แต่จังหวะเดียว  เก็บให้หมด  อย่าให้พลาดเลย
ใครที่สมาธิสั้นต้องฝึกขั้นนี้ให้ได้
ขั้นตอนนี้ คนมีสติอ่อนแอ สัมปชัญญะไม่แข็งแรง
จะทำไม่ได้ คือ กำหนดจังหวะไม่ชัด
บัดเดี๋ยวช้า บัดเดี๋ยวเร็ว  แต่ต้องก้าวให้ทันทุกจังหวะ
คำว่าทุกจังหวะ คือ ทุกจังหวะที่ควรก้าว 
ก้าวจังหวะ เว้น จังหวะแต่ต้องให้ทัน
ใครที่เฉื่อยชา เผลอ เคลิ้ม ก็จะไม่ทัน
ใครที่ไวไปก็จะพลาด
เพราะฉะนั้น ขั้นตอนที่ 3 เป็นขั้นตอนในการฝึกสัมปชัญญะตัวเอง
ต้องไม่หลุด ไม่ให้เคลื่อน ต้องให้ทัน  เดี๋ยวเร็ว เดี๋ยวช้า  ต้องตามให้หมด
ใครที่รู้ตัวว่าตามเก็บไม่หมด ต้องเก็บให้หมด
พอช้าก็ไม่ทันแล้ว  ต้องแม่น ต้องไม่เคลื่อน
ขั้นนี้ ถือว่าเป็นขั้นดัดนิสัย
ใครที่มีนิสัยอ้อยอิ่ง เฉื่อยช้า ก็จะกระตือรือร้นขึ้น
ใครที่มีนิสัยทุรนทุราย เร่าร้อนก็จะเชื่องช้าลง
เก็บให้หมด บัดเดี๋ยวเร็ว บัดเดี๋ยวช้า อย่าให้เหลือหลง
ไวไปก็จะผิดพลาด  ช้าไปก็จะไม่ทัน  ต้องปรับตัวเอง  ไม่ใช่ปรับจังหวะ
ขั้นที่ 3  เรียกว่า เป็นขั้นดัดสันดาน
เป็นช่วงที่ทำให้เกิดสัมปชัญญะ
เป็นขั้นที่ฝึกความสามารถในการควบคุมพฤติกรรมตนเองอย่างกระชับฉับไว
ตรงต่อสถานการณ์  และกล้าจะเผชิญต่อเหตุการณ์อย่างไม่หวั่นหวาด
ในขั้นที่ 3 จะสังเกตเห็นว่า บัดเดี๋ยวเร็ว บัดเดี๋ยวช้า เดี๋ยวก็เนิบนาบ เดี๋ยวก็ว่องไว
เราต้องไม่ผิดพลาดเลยแม้สักขั้นเดียว
แม้จะบอกว่า ก้าวจังหวะ เว้นจังหวะ ก็ตามที 
แต่จังหวะที่เว้นนั้น เดี๋ยวก็เร็ว เดี๋ยวก็ช้า
เราต้องเก็บให้หมด  อย่าให้เคลื่อน  อย่าให้หลุด  ควบคุมพฤติกรรม 
สมองสั่งงานรับรู้ หูฟังเสียง เท้าก้าวเดิน  ต้องทันต่อทุกจังหวะที่เราจะต้องก้าว

ช้าในจังหวะที่ควรช้า เร็วในจังหวะที่ควรเร็ว
อย่างนี้จึงจะเรียกว่า ใจประสานกาย กายประสานจังหวะ 
สามรวมเป็นหนึ่ง  จึงจะทำให้เกิดปราณ
ก้าวก่อน ยังไม่ป๊อก ก็แสดงว่าเร็วไป
ป๊อกแล้วยังไม่ก้าว ก็แสดงว่า ช้าไป ต้องปรับ

อยากบอกว่า ขั้นนี้ เป็นขั้นไร้อารมณ์ 
บางคนก้าวได้ในจังหวะที่ไว ก็มีอารมณ์ลิงโลด
ผ่านจากช่วงอารมณ์ลิงโลด ก้าวไม่ทันแล้ว
บางคนก้าวไม่ได้ก็รู้สึกผิดหวัง แล้วก็พลาด แล้วก็โทษตัวเอง
มัวแต่หลงอยู่ในอารมณ์ลิงโลดและผิดหวัง ก็เลยก้าวไม่ทันอีก
เพราะฉะนั้น ขั้นนี้ที่ถูกต้องเป็นขั้นที่ไม่มีอารมณ์  มีแต่ตัวรู้
บอกแล้วว่าหูฟังเสียง ใจรับรู้ เท้าก้าวเดิน
ทำสามอย่างให้รวมเป็นหนึ่ง แล้วอย่าให้เคลื่อน
เดี๋ยวไว เราก็ไวตาม
เดี๋ยวช้า เราก็ช้าตาม
แล้วไม่ให้พลาด ไม่ให้คลาดเลย
แล้วเมื่อก้าวได้แล้ว ต้องไม่ปรากฏอารมณ์ใดๆในจิตเลย 
ไม่ดีใจ ไม่เสียใจ ไม่โทษตัวเอง
เพราะนั่นแสดงว่าเราก็จะผิดในจังหวะต่อไปอีก แล้วไม่รู้ว่าจะผิดอีกกี่จังหวะ
เพราะฉะนั้นต้องซื่อตรงต่อตัวเอง ซื่อตรงต่อจังหวะ ซื่อตรงต่อการก้าว
แล้วต้องเป็นปัจจุบัน
พูดง่ายๆ ก็คือว่า อย่าให้เกิดอารมณ์ใดๆเลย มีแต่ตัวรู้เฉยๆ
แล้วอารมณ์มันจะเกิดได้อย่างไร
มันเกิดได้จากการก้าวได้ กับ การก้าวไม่ได้ ก็ถือว่า เป็นอารมณ์
ขั้นนี้ต้องละเอียดมากๆ จึงจะเรียกว่า สอบได้ หรือว่า ผ่าน

แม้แต่ป๊อกเดียวก็หลุดไม่ได้
เราจะสังเกตตัวเองว่า หลังจากทำมันจริงๆจังๆแล้วจะมีตัวรู้ลอยชัดขึ้น
จิตเราจะไม่มีอารมณ์อื่น นอกจากตัวรู้ และความเพียร เรียกว่า  วิริยะ
มีสติ มีความตั้งมั่น คือมีสมาธิ  มีสัมปชัญญะ คือปัญญา
ธรรมในอินทรีย์ 5 อย่างจะเกิดขึ้นในเวลาที่เราทำได้ชัดเจน
เป็นองค์ประกอบของจิต ผู้มีความเพียรเพ่งอยู่

ดีที่สุด คือไม่เคลื่อน เลย จังหวะต้องไม่หลุดเลย
ใครที่มีนิสัยอ้อยอิ่ง ก็จะปรับตัวให้กระตือรือร้น
ใครที่เร็วและกระตือรือร้น ก็ปรับให้ช้าลงอย่างพอดี
อย่าให้จังหวะในการก้าวหลุดไปเลยแม้จังหวะเดียว
เดี๋ยวก้าวเร็ว เดี๋ยวก้าวช้า ต้องปรับตัวเองให้เหมาะสมต่อทุกจังหวะ
เฉื่อยชาก็ไม่ได้  ไวไปก็ไม่ดี

เดี๋ยวเร็ว เดี๋ยวช้าก็ต้องทัน ไม่ให้หลุดแม้แต่จังหวะเดียว
จังหวะนี้ เรียกว่าเป็นการสั่งสมสติ

อย่าสักแต่ว่าเดิน จิตอยู่ในกายแล้วถ่ายน้ำหนักด้วย 
ไม่ใช่แค่เดินถูกอย่างเดียว  ต้องถ่ายน้ำหนักให้ถูกด้วย เรียกว่ามีกายภายในกาย
รู้กายในกาย  ทุกครั้งที่ก้าว ต้องรู้ว่าน้ำหนักได้ถ่ายจากเท้าหนึ่งไปสู่อีกเท้าหนึ่ง
การจะรู้สึกอย่างนี้ได้ ต้องส่งความรู้สึกไปในกาย  ไม่ใช่เลื่อนลอย 
ก้าวก็ต้องถูก  จังหวะก็ใช่ ถ่ายน้ำหนักก็ต้องเป็น

อย่าลืมน้ำหนักที่ถ่ายเท  อย่าสักแต่ว่าก้าว
เก็บให้หมดทุกจังหวะที่ต้องก้าว  อย่าให้หลง
มีคำให้วิเคราะห์ว่า เดินอย่างมีวิญญาณ กับเดินแบบไร้วิญญาณ
เดินอย่างมีวิญญาณ ก็คือ เดินอย่างมีความรู้สึกตัวทั่วพร้อม
เดินถ่ายน้ำหนักจากซ้ายมาขวา และขวามาซ้าย
คำว่า วิญญาณ  แปลว่า ความรับรู้  อย่างนี้ เค้าเรียกว่า เดินอย่างมีวิญญาณ
ก้าวไปตามเฉยๆ  แต่ไม่มีความรู้เนื้อรู้ตัวทั่วพร้อมภายในกาย อย่างนี้เค้าเรียกว่า
เดินแบบไร้วิญญาณ
เหตุผลอะไรต้องให้เดินอย่างมีวิญญาณ เพราะต้องการฝึกให้วิญญาณมันแข็งแรงยังไง
วิญญาณที่แปลว่า ความรับรู้ ให้มันแข็งแรง

ขยับขึ้นขั้นที่ 3  ต้องไม่มีจังหวะไหนที่จะก้าวแล้วเคลื่อน ก้าวจังหวะเว้นจังหวะ ไม่ว่าจังหวะสั้นหรือยาว ต้องก้าวให้ทัน เข้าใจ จดจ่อ จริงๆ เราจะแยกเสียงร้องและจังหวะได้อย่างชัดเจน  สองหูจะก้องอยู่เฉพาะเสียงป๊อกๆ เท่านั้น นั่นแสดงว่าจิตเรารวมเป็นเอกทัตตาแล้ว เพราะงั้นทุกจังหวะเราจะกำหนดก้าวได้ทัน ไม่ว่าจะสั้นหรือยาว กว้างหรือลึก
ในมุมกลับกัน กับคนที่เลื่อนลอยและสติคลาดเคลื่อน กำหนดรู้ไม่ทัน และก้าวไม่ถูก ยิ่งจังหวะที่เร็วและซอยถี่ ก็ยิ่งก้าวยาก ไม่ต้องมองคนอื่น เอาตัวเองให้รอด หยุดยืนอยู่กับที่ รอจังหวะก้าวต่อไป
การก้าวได้บ้าง ก้าวเสียบ้าง อ้ายก้าวได้ไม่ตกน้ำ แต่ก้าวเสียน่ะ จิตหล่นน้ำไปแล้ว เรียกว่า ขาดทุนล่ะ พระที่ถืออยู่ในมือก็จะขาดทุนตามไปด้วย เป็นสัญญลักษณ์ของความขาดทุน ต้องให้จิตทุกดวงมีกำไร

เลื่อนขึ้นขั้นที่ 3  ประคองจิตให้อยู่ในทางให้ได้ทุกดวง ทุกย่างก้าว ทุกจังหวะที่รับรู้ อย่าให้เคลื่อน อย่าให้หลุดออกไป อย่าเดินแต่ซาก แต่ไม่มีวิญญาณรับรู้ เมื่อมีจิตอยู่ในงานแล้วเนี่ย ไม่ว่าจังหวะสั้น ยาว เร็ว ช้า เราจะก้าวไม่ผิดเลย

ขยับขึ้นขั้นที่ 3  กำหนดรู้จังหวะ และก้าว อย่าเลื่อนลอย ให้มันจริงจัง จับจ้อง หูฟังเสียง เท้าก้าวเดิน ใจรับรู้ ให้ 3 อย่างรวมเป็นหนึ่ง

ขยับขึ้นขั้นที่ 4

ขั้นที่ 4  ก้าวจังหวะ เว้นจังหวะ พร้อมลมหายใจ
ปรับตัวเองให้เหมาะสมกับสถานการณ์ และสิ่งแวดล้อม
ให้เหมาะสมกับจังหวะการก้าว และให้ทันท่วงที ทันเวลา ทันสถานการณ์
อย่าเฉื่อยชา อย่าวู่วาม แล้วอย่าลืมลมหายใจ
ทุกครั้งที่ก้าวไป ทุกครั้งที่ก้าว ก้าวพร้อมลมหายใจ
อยากให้ปัญญาตั้งมั่น ต้องทำขั้นนี้ให้ได้
อย่าให้พลาดเลยทั้งลมหายใจ การก้าว และจังหวะ
เพราะขั้นนี้ทำให้เกิดสัมปชัญญะ หรือปัญญา
มันจะทำให้เรารู้เนื้อรู้ตัวมากขึ้น เกิดตัวรู้มากขึ้น กระตือรือร้นมากขึ้น
กระฉับกระเฉงมากขึ้น รอบรู้มากขึ้น
ลมหายใจ จังหวะ การก้าว ต้องประสานกันรวมเป็นหนึ่ง
อย่าให้เคลื่อน อย่าให้แตกแยก  หายใจให้ทันจังหวะ เดี๋ยวเร็ว เดี๋ยวช้า ก็ต้องทำให้ได้

ขั้นที่ 4  เป็นการสร้างให้เกิดสัมปชัญญะ แล้วทำให้สัมปชัญญะเจริญ

คนที่ยกเท้ารอจังหวะ ถือว่าไม่ถูกต้องนะ  ยกขึ้นก่อนแล้วรอจังหวะที่จะก้าว ไม่ถูก
แสดงว่าเราไวไป  จิตกับกายไม่สัมพันธ์กัน
ยกไว้รอจังหวะก็ไม่สัมพันธ์  ก้าวไม่ทันก็ไม่สัมพันธ์
ต้องทำให้มันสัมพันธ์กัน  กาย ลม จิต จังหวะ สัมพันธ์กัน

ลมหายใจอย่าช้าไป อย่าเร็วไป ให้เหมาะสมกับการก้าว 
รุ่นพี่เห็นผิดแล้วต้องเข้าไปชี้แนะ อย่าธุระไม่ใช่
เพราะสังคมที่เห็นผิดแล้ว ไม่บอก ก็เลยไม่มีการแก้ไข
ขั้นนี้ เป็นการฝึกสัมปชัญญะ หลายคนอาจจะมีการตรึก
เราหายใจไม่ทันก้าว เราก้าวไม่ทันจังหวะ  ไม่ใช่เรื่องแปลก
แต่ต้องพยายามหายใจให้ทันก้าว ก้าวให้ทันจังหวะ  ทำให้มันได้
อย่าให้คลาดเคลื่อน  อย่าให้ผิดเพี้ยน  แล้วมันจะสอดคล้อง กลมกลืนและไปได้เอง
สำคัญคือขั้นนี้ต้องใช้ความเพียรอย่างยิ่ง
หลายคนอาจจะกังวลว่า เดี๋ยวก้าวไม่ทัน เดี๋ยวหายใจไม่ถูก แต่ต้องพยายาม
พยายามก้าวให้ทัน หายใจให้ถูก และพยายามถ่ายน้ำหนักให้ได้
จังหวะ การก้าว ลมหายใจ และถ่ายน้ำหนัก   4 อย่างต้องรวมให้เป็นหนึ่ง
ไม่ว่าจะยากอย่างไร ต้องทำให้ได้

คนมีสติไม่แข็งแรง อ่อนแอ จะทำขั้นนี้ยากมาก และรู้สึกหงุดหงิด รำคาญ
อย่าลืมลมหายใจ

ขยับขึ้นขั้นที่ 4  ทุกครั้งที่ก้าวต้องหายใจ จิตหนึ่งรู้จังหวะ จิตหนึ่งรู้ก้าว จิตหนึ่งรู้ลมหายใจ ให้จิตทุกดวงมีงานที่เป็นกุศลควบคุม control ได้ เรียกว่า จิตไม่ตกน้ำ แต่ถ้าดวงใดดวงหนึ่งตกน้ำ ก็แสดงว่า ขาดทุน เดช ตบะ ศักดา และอำนาจของเราก็จะบกพร่อง จะถ่ายพลังลงในพระก็ยิ่งบกพร่อง ก็ได้แต่พลังที่บกพร่อง

ขยับขึ้นในขั้นที่ 4  จิตหนึ่งรู้จังหวะ จิตต่อมารู้การก้าว จิตต่อไปรู้ลมหายใจ จิตต่อไปรู้เว้น ต้องทำให้สอดคล้องกันอย่างไม่ขาดตกบกพร่อง อย่าให้จิตตกน้ำ อย่าให้จิตขาดทุน เพราะเมื่อใดที่เราไม่รู้จังหวะ ไม่รู้ก้าว แม้ที่สุดไม่รู้ลม ไม่รู้เว้น ดวงใดดวงหนึ่งก็ตาม แสดงว่าจิตนั้นขาดทุน เรียกว่าแก้วได้ตกน้ำไปแล้ว
ต้องประคองให้ได้ประโยชน์ทุกจิต จิต 100 ดวงที่เกิดดับก็ต้องเป็น 100 ดวงที่กำไร และไม่ผิดพลาด พระที่เราปลุกจึงจะศักดิ์สิทธิ์ พระที่เราปลุกจึงจะวิเศษ เพราะเป็นจิตตานุภาพ เรียกว่า อานุภาพของจิตมีอยู่ แต่เดี๋ยวได้กำไรบ้าง ขาดทุนบ้าง ตกน้ำบ้าง พลาดบ้าง ผิดบ้าง แล้วมันจะเอาอานุภาพของจิตมาจากไหน
ต้องประคองจิตทุกดวงให้ได้กำไรทั้งหมด ทำจนมันได้กำไรในจิตทุกดวง มันจะเกิดอานุภาพของจิต แล้วมันจะเพลิน มันจะไม่เหนื่อย ไม่เมื่อย แถมสบายแล้วเพลิดเพลิน ไอ้หนู ถ้าว้าวุ่นมันจะไม่ได้เรื่อง เสียเวลาเปล่า ทำอย่างอื่นทำได้ตั้งเยอะแยะ ทำเรื่องดีๆ ให้กับชีวิตตัวเอง ทำไมทำไม่ได้

ขั้นที่ 4  อย่าลืมลมหายใจ  นอกจากก้าวให้ทันแล้ว ต้องหายใจให้ทันด้วย เลื่อนลอยอย่างนั้นจะเดินได้ประโยชน์อะไร หนู จิตทุกดวงต้องรู้ลม รู้จังหวะ รู้ก้าว ไม่รู้เรื่องอื่น อย่างนี้จึงเรียกว่า จิตอยู่ในทาง ถ้าพ้นหลุดออกไปรู้เรื่องอื่น ก็แสดงว่า มันออกนอกทางแล้ว

ขยับขึ้นขั้นที่ 4  อย่าลืมลมหายใจทุกครั้งที่ก้าว

ขยับขึ้นขั้นที่ 4  อย่าลืมลมหายใจ หายใจให้ทันก้าว ก้าวให้ทันจังหวะ

ขั้นที่ 3 กับ ขั้นที่ 4 เป็นขั้นตอนสำคัญที่เราจะต้องทำให้ช่ำชองเชี่ยวชาญ
เพราะเป็นขั้นสร้างสติ สัมปชัญญะ
การที่ปราณจะเกิดขึ้นได้ และตั้งอยู่ได้ ต้องทำ 3 ขั้นนี้ให้ชำนาญ 
แล้วมันจึงจะสามารถแหลมดังเข็ม และทะลุทะลวงทุกอณูของร่างกายได้
เราจะเปลี่ยนปราณให้เป็นพลังวิเศษ กระตุ้นไขกระดูก ชำระล้างร่างกาย
ทำให้เลือดลมเราเดินอย่างสะดวก ความดัน ชีพจรปรกติคงที่สม่ำเสมอ
ทั้งหมดอยู่ที่ขั้นที่ 3 กับขั้นที่ 4  ต้องฝึกจนกระทั่งมันรวมเป็นหนึ่งให้ได้
จังหวะ ลมหายใจ การก้าว แล้วต้องไม่ให้เคลื่อนคลาด ไม่ให้พลาด
ต้องทัน ฉับไว เหมาะสม  ทันต่อจังหวะ ทันต่อการก้าว ทันต่อลมหายใจ
อะไรอย่างใดอย่างหนึ่ง หลุดไปไม่ได้
ต้อง 3 อย่างรวมกันให้ได้  และต้องรวมกันไม่ใช่แวบเดียว
รวมกันนานจนกลายเป็นวสี ที่เรียกว่าชำนาญ
ทีนี้เราก็จะอยู่เหนืออารมณ์ปรุงทั้งปวง
มองโลกตามความเป็นจริงได้ชัดเจน  ไม่ว่าจะเผชิญ เจอะเจอปัญหาอุปสรรคบีบคั้นใดๆ
เราจะชนะมันได้โดยไม่เหลือบ่ากว่าแรง
ไม่ต้องทุกข์ระทม ไม่ต้องโดนอะไรมาบีบ  เพราะเราอยู่เหนือสิ่งเหล่านั้น

 


ขยับขึ้นขั้นที่ 5
 
ขั้นที่ 5  ก้าวแต่ละจังหวะ พร้อมลมหายใจ เรียกว่าขั้นที่ 5
คือกลับลงมาอยู่ขั้นที่ 1 ประกอบพร้อมลมหายใจ  เป็นขั้นที่ 5
อย่าลืมหายใจตามจังหวะที่ก้าว  จะหายใจเร็ว และถี่ขึ้น
ปัญหามันอยู่ที่ว่า เราต้องทำให้ลมหายใจทันกับการก้าว
ขั้นนี้จะเป็นขั้นสร้างปราณร้อน และปราณเย็นให้เกิดขึ้นที่หน้าอก ฝ่ามือ กระหม่อม
ฝ่าเท้า กลางสันหลัง และช่องท้อง  หายใจทุกครั้งที่ก้าว ทุกจังหวะ
ขั้นที่ 5 คือ ขั้นที่ 1 ก้าวทุกจังหวะ แต่ต้องประกอบลมหายใจ อย่าลืม
ต้องหายใจให้ทันกับจังหวะที่ก้าว  อย่าลืมลมหายใจ
หายใจทุกครั้งที่ก้าวใช้จังหวะที่หยุด ผ่อนลมหายใจได้

ขยับขึ้นขั้นที่ 5  ใช้ช่วงจังหวะหยุดในการผ่อนลมหายใจ ขั้นนี้ไม่เรียกว่าหายใจ แต่เรียกว่า เป็นการเป่าลม สูดลม ถ้าทำขั้นที่ 1-4 ได้เรียบร้อย ขั้นที่ 5 จะง่าย ช่วงไหนที่หยุด ช่วงนั้นก็จะผ่อนลมหายใจ ถ้าสังเกตุดู จะรู้สึกว่าดูเหมือนเหนื่อย แต่เรามีกลุ่มก้อนพลังที่อยู่ในทรวงอกและร่างกาย

ขยับขึ้นขั้นที่ 5  อย่าลืมลมหายใจ

ขยับไปขั้นที่ 5  รอจังหวะ ส่งจิตเข้าไปในกาย  ทุกครั้งที่ก้าว ต้องไม่ลืมลมหายใจ ใช้จังหวะที่หยุดเป็นการผ่อนคลายลม

รู้สึกไอร้อนจะอยู่ในทรวงอกมากไปหน่อย สลายมันซะ ความร้อนจะมากไป จะไม่สมดุลย์ ต้องปรับสมดุลย์เสมอ ร้อนกับเย็นต้อง balance กัน ต้องสมดุลย์กัน

วิธีก็คือ ต้องกลับไปอยู่ในจังหวะที่ 2 เดินและผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ให้ทุกส่วนร่างกายผ่อนคลาย เริ่ม   แขนเป็นอิสระ อย่าไปเกร็ง อย่าไปกำเอาไว้ เอาพระใส่กระเป๋าได้แล้ว ผ่อนคลายตามจังหวะ ให้ทุกอย่างผ่อนคลาย ไม่งั้นจะเกิดความร้อนสุมอยู่ในทรวงอก  จะทำให้เรารู้สึกไม่สบาย แต่จริงๆแล้ว มันไม่เป็นผลอะไร แต่ร้อนมากไปก็ไม่ดี เย็นมากไปก็ไม่ดี ต้องรู้จักปรับ  คลายมือ กำมือตามจังหวะก็ได้ จะแกว่งแขนตามจังหวะก็ได้ กำมือก้าว คลายมือก้าวก็ได้

จะเห็นว่า เวลาฝึกขั้นที่ 5 ขั้นที่ 4 หลายคนทำไม่ค่อยได้
เดี๋ยวมากังวลหายใจเข้า  เดี๋ยวมากังวลก้าวเดิน เดี๋ยวบางคนถ่ายน้ำหนัก
เดี๋ยวก็กังวลจังหวะ
นี่เป็นเครื่องชี้ให้เห็นว่า ขั้นที่ 1 ถึงขั้นที่ 3 เรายังไม่ช่ำชองเชี่ยวชาญ
เราไม่สามารถทำให้สติตั้งมั่นได้  สัมปชัญญะในขั้นที่ 4 จึงดูเหมือนกับมาวิตกกังวล
ก้าวไม่ทันบ้าง หายใจไม่ถูกบ้าง จังหวะพลาดบ้าง
แสดงว่าพัฒนาการของเรายังไม่ดีพอ แต่ละขั้นจึงไม่ส่งผลไปขั้นที่ 4 ไม่สำเร็จประโยชน์
ขยับถึงขั้นที่ 5 ที่ 6  ทำไมถึงข้ามขั้นที่ 5 เพราะขั้นที่ 5 ยิ่งยากกว่า ยิ่งละเอียดกว่า
แต่ถามว่า สอนไปหรือยัง ขั้นที่ 5
เมื่อจะเข้าห้องแห่งปราณ  ต้องฝึกขั้นที่ 5 ให้ช่ำชอง  เพราะเป็นขั้นที่ทำให้เกิดปราณร้อน และปราณเย็น

 

 

 

 

 

 


ขั้นที่ 6   เว้น 2 จังหวะ แล้วจึงก้าว แล้วประกอบลมหายใจด้วย (ถอดตามเทป)
(หมายเหตุ  หลวงปู่บอกภายหลังว่า ขั้นที่ 6 ยังไม่ประกอบลมหายใจ  ขั้นที่ 7  จึงจะประกอบลมหายใจ)

ขั้นที่ 6 นี้ จิตจะสุขุมขึ้น  ความละเอียดอ่อนของจิตจะมากขึ้น
สติประณีตขึ้น สัมปชัญญะจะประณีตขึ้น
อารมณ์กรรมฐานในขั้นที่ 6 คือ จะทรงสติ  ดูการเคลื่อนไหวของพลังในกาย
ในการก้าวเท้า ทิ้งน้ำหนัก ลมหายใจ และย้ายฝ่าเท้า
เราจะสังเกตว่า วิธีทรมานจิตของหลวงปู่ จะเริ่มจากอย่างหยาบจนกระทั่งถึงละเอียด
จิตเราค่อยประณีตขึ้นเรื่อยๆ  ตัวรู้จะชัดแจ้งมากขึ้น  สติจะตั้งได้แยะขึ้น
เราจะเผชิญต่อทุกปัญหาได้อย่างกล้ามากขึ้น ไม่ตกใจ ไม่หวาดผวา
มีสติตรึกตรองได้เยอะขึ้น  เรามีวิธีคิดที่ฉลาด และเป็นมากขึ้น  คิดเป็น
แก้ไขได้ฉับไว และตรงได้มากขึ้น 
ทั้งหมดนี้มันค่อยๆ ก่อตัวขึ้นจากการฝึกทีละเล็กละน้อย

ในขณะที่เว้น 2 จังหวะ ต้องค่อยๆ ถ่ายน้ำหนักจากเท้าหลังมาเท้าหน้า
เราต้องรู้ตามชัด  แล้วต้องให้ทันจังหวะที่ก้าวด้วย
ขั้นนี้จะเกิดมหาสติ  มหาสัมปชัญญะอย่างยิ่ง
จิตจะส่งออกข้างนอกไม่ได้เลย 
ไม่ว่าจังหวะเร็ว หรือจังหวะช้า ก็อย่าให้เกิน 2 จังหวะ
ควบคุมลมหายใจให้พอดีกับจังหวะ และการก้าว
มีสติเป็นไปภายในกาย  การเคลื่อนไหว และถ่ายน้ำหนักก่อนที่จะก้าว
ทำจนกระทั่งเราเห็นกายนี้เคลื่อนไหวต่อเนื่อง คือไม่ขาดสาย
ไม่มีจังหวะหยุดเลยด้วยซ้ำไป  จนทุกอย่างกลายเป็นเส้นตรงของจิต
จึงจะเรียกว่า วิเสตะจิต  เพราะแม้ในขณะรอจังหวะก้าว ร่างกายก็ยังเคลื่อนไหวอยู่
การถ่ายน้ำหนัก และการรับรู้การถ่ายน้ำหนัก  ไม่มีอะไรไม่รู้ ต้องรู้ตลอด ต้องรู้จบ
อารมณ์กรรมฐานของขั้นที่ 6 นี้จะลุ่มลึกมาก จะสุขุมมาก
ต้องไม่มีจิตหลุดออกจากกายเลย จึงจะใช้ได้
ขั้นนี้ อารมณ์กรรมฐานจะแสดงออกที่สีหน้า แววตา พฤติกรรม กิริยา ท่าทาง
มันล้นออกจากใจจนเป็นกายกรรมฐาน
ดูน้ำหนัก ดูการเคลื่อนไหวกาย ดูลมหายใจ ดูการก้าว รู้จังหวะ ต้องเป็นเส้นตรง รู้ตลอด

ขั้นที่ 6 เรียกได้อีกอย่างว่า ขั้นของกายกรรมฐาน
รู้สึกไม๊ว่า ในขั้นที่ 6 มันทำให้เราสงบได้มากกว่าทุกๆขั้น
จิต สติ สมาธิ สัมปชัญญะ คือปัญญา จะรุ่งเรือง ตั้งมั่น  รู้สึกได้ไม๊
มันมีอารมณ์ของมันอย่างในชั้นของกายกรรมฐาน
อารมณ์นั้นยังไม่บอก 
จะต้องทำจนชำนาญ แล้วมันเกิดอารมณ์ของมันเอง
บางคนจะมีอารมณ์กายกรรมฐานต่างกัน
แต่ที่แน่ ผู้มีกายกรรมฐาน  มองจากข้างนอกจะเห็น
แม้คนไม่รู้สติ สมาธิ ก็จะสัมผัสกายกรรมฐานนั้นได้
คนที่มีกายกรรมฐาน จะเป็นที่รักของเทวดา
จะเป็นที่รักของเพื่อนมนุษย์ พรหม มาร และ เทพยดา  อสูร รากสก
และสรรพสัตว์ทั้งปวง  ถ้าทำจนถึงขั้นกายกรรมฐาน
หมายถึงว่ากรรมฐานออกมาจากเนื้อ จากหนัง ถึงเนื้อ ถึงหนัง
จะแสดงออกมาทางสีหน้า และแววตา และพฤติกรรม กาย และวาจา ใจของตน
ซึ่งมันอยู่ในใจอยู่แล้ว ที่เค้าเรียกกันอีกอย่างในภาษาโบราณว่า  ธรรมกาย
แต่ไม่ใช่สำนักอยู่แถวรังสิต คนละอย่างกัน
ธรรมกายของพระพุทธเจ้า คือ กายกรรมฐาน
กรรมฐานที่อยู่ในกายจนกระทั่งถึงธรรมสูงสุด เรียกว่า วิเสตะจิต หรือ ประณีตแห่งจิต
หรือ จิตที่ประณีต  คราวนี้ เราเพียงแค่เรียนท่ากรรมฐานของกาย
แต่ละคนจะมีอารมณ์กรรมฐานแตกต่างกัน  แล้วแต่บุญกรรม ทำแต่ง อดีต และก็ปัจจุบัน
จะมีอารมณ์กรรมฐานไม่เหมือนกัน
แต่เห็นๆได้ว่า ทุกคนมีกายกรรมฐาน  ก็จะมีความแตกต่างกันที่อารมณ์เท่านั้น
ซึ่งของใครของมัน ตามแต่กรรมของตน
อันนี้เป็นขั้นที่จำแนกกรรมของมนุษย์ได้ 
แจกแจงอดีตกรรม ปัจจุบันกรรม และส่งผลไปถึงอนาคตก็ได้
แต่สำคัญว่าต้องทำจนเข้าถึงอารมณ์กรรมฐานแห่งกายกรรมฐานนี้ให้ได้

ขั้นที่ 6 เว้น 2 จังหวะ ถ่ายน้ำหนักให้หมด ก่อนที่จะชักเท้าก้าวไปข้างหน้า
เท้าที่ชักไปข้างหน้า ต้องสะอาด คือไม่มีแรงโน้มถ่วงใดๆ น้ำหนักต้องอยู่เท้าอีกข้าง
ขาอีกข้าง  เดินให้มีวิญญาณหน่อย อย่าเลื่อนลอย
ขั้นที่ 6 ยังไม่ประกอบลมหายใจ ให้แค่ก้าว แล้วก็ถ่ายน้ำหนัก

วิชาปราณโอสถ ทำได้ขั้นหนึ่ง ก็ได้ประโยชน์ขั้นหนึ่ง
ทำได้ 2 ขั้น ก็ได้ประโยชน์ 2 ขั้น  ทำได้ขั้นที่ 3 ก็ได้ประโยชน์ขั้นที่ 3
มันจะมีพัฒนาการของมันแต่ละขั้น  สำคัญว่าทำด้วยวิญญาณ
นี่เราเข้าถึงขั้นที่ 6  การชำระไขกระดูก
และวิญญาณเราน่าจะสงบระงับ เห็นชัดตามความเป็นจริงได้บ้างแล้ว
ยังไม่ต้องพูดถึงขั้นที่ 7 กับขั้นที่ 8
หวังว่าพรรษานี้คงจะเข้าสู่ห้องแห่งปราณได้บ้าง เพราะอาจจะ จะ มานานแล้ว
มันไม่ไปเสียที เพราะพอให้ทำใหม่ ก็ก้าวผิด  ต้องสอนกันอยู่ทุกครั้งๆ
คิดว่าเข้าพรรษา คงมีโอกาสได้เข้าไปห้องแห่งปราณ
ทีนี้เมื่อเข้าสู่ห้องแห่งปราณ ก็ต้องมีการเคลื่อนปราณไปสู่จุดต่างๆในร่างกาย
จะเนียนกว่านี้อีก  จะยากกว่านี้อีก  สำหรับคนที่มีสติไม่แข็งแรง
คนที่มีสัมปชัญญะไม่มั่นคง

ขยับขึ้นขั้นที่ 6  ไม่ต้องควบลมหายใจ เพ่งจิตไปในกาย ถ่ายน้ำหนักให้หมดก่อนก้าว ก้าวให้ถูกจังหวะ อย่าฟุ้งออกนอกกาย  น้ำหนักที่ถ่ายคือ ปราณที่ควบคุม ขั้นนี้เป็นการฝึกควบคุมปราณภายในกาย จากเท้าขวามาเท้าซ้าย จากซ้ายไปขวา ขาที่ยกและก้าวไปข้างหน้าต้องเบา ขั้นนี้จิตจะปราณีตมากขึ้น สติสัมปชัญญะจะตื่นตัวได้เยอะขึ้น ความสงบของจิตจะมีมากขึ้น พลังปราณและสมดุลย์ภายในกายก็จะคงที่ได้ดีขึ้น
 
เลื่อนถึงขั้นที่ 6  ประคองจิตให้อยู่กับการถ่ายน้ำหนักและการก้าวให้ชัดเจน ถ่ายน้ำหนักให้หมด และให้ตรงต่อจังหวะที่ก้าว ไม่ช้าไป ไม่เร็วไป ให้เหมาะสมพอดี เท้าที่ก้าวไปข้างหน้าต้องเบา น้ำหนักต้องไม่เหลือ ส่งจิตเข้าไปในกาย ไม่งั้น กิจกรรมครั้งนี้จะไม่สำเร็จประโยชน์ เพราะน้ำหนักจะถ่ายไม่หมด มันจะเป็นผลไปถึงสืบเนื่องเรื่องการควบคุมปราณ ถ้าไม่สามารถถ่ายน้ำหนักจนหมด รับรู้ไม่ได้ หรือไม่รับรู้การถ่ายน้ำหนัก ต่อไปก็จะไม่สามารถคุมปราณในกายที่จะใช้ประโยชน์ได้เลย  ประคองจิตให้อยู่กับการถ่ายน้ำหนัก อย่าให้เคลื่อน

ขยับขึ้นขั้นที่ 6  อย่าลืมถ่ายน้ำหนัก ขาที่ก้าวไปข้างหน้าต้องไร้น้ำหนัก

 

 

 

 

 

 

 

 

 


เตรียมขยับขึ้นขั้นที่ 7  จิตหนึ่งรู้การก้าว จิตหนึ่งรู้การเว้น จิตหนึ่งรู้จังหวะ จิตต่อมารู้การก้าวพร้อมลมหายใจ สรุปแล้วทุกกระบวนการต้องไม่ให้เคลื่อน ไม่เลื่อนหล่น ไม่ให้พลาด ต้องทำให้ได้ ลมหายใจก็รู้ จังหวะก็รู้ ก้าวก็ต้องรู้ แม้มันยากก็ต้องทำให้ได้ ต้องให้รู้จังหวะ รู้ก้าว รู้ถ่ายน้ำหนัก รู้ลม รวมเป็นหนึ่ง รู้ให้ได้ คือตัวเรารู้

ขั้นที่ 7 กระตือรือร้นหน่อย กระตือรือร้นทั้งลมหายใจ กระตือรือร้นทั้งการกำหนดรู้จังหวะ  กระตือรือร้นทั้งการก้าวเดิน อย่าเซื่องซึม อ้อยสร้อย เฉื่อยชา ใส่วิญญาณมันลงไปด้วย อย่าเดินแต่ซาก หมดวิญญาณอีกแล้ว ให้มีชีวิตชีวาหน่อย ลูก  เอาชนะความเกียจคร้าน ความสันหลังยาวให้ได้  จิตกำหนดรู้ให้ชัดทุกขั้นตอน อย่าให้เคลื่อน รู้ลมก็ชัด
รู้จังหวะก็ชัด รู้การก้าวก็ชัด

ขยับขึ้นขั้นที่ 7 ประคองลมหายใจ พร้อมการก้าว รู้จังหวะ

 

 

 

 

 

 

 


ขั้นที่ 8 ส่งจิตไปในกาย ดูการเคลื่อนไหวและถ่ายเทน้ำหนักภายในกาย เรียกว่า ดูกายในกาย ขาที่ยกขึ้นต้องเบา ไม่มีน้ำหนัก เดินจนกระทั่งรู้สึกว่า ขาลอยจากพื้น ฝ่าเท้าลอยจากพื้น จิตหนึ่งรู้จังหวะ จิตหนึ่งรู้ก้าว จิตหนึ่งรู้ถ่ายน้ำหนัก ส่งความรู้สึกไปในกาย กายในกาย จิตหนึ่งรู้จังหวะ จิตหนึ่งรู้ถ่ายน้ำหนัก จิตหนึ่งรู้การก้าว จิตทุกดวงต้องมีงานทำอย่างสมบูรณ์ อย่าขาดตกบกพร่อง อย่าขาดทุน ถ้าอยากให้ชีวิตมีกำไร ต้องให้จิตทุกดวงได้คุณประโยชน์ ได้กำไร อย่าพลาด กำหนดรู้จังหวะให้ชัดเจน อย่ารู้แบบผิวเผิน กำหนดรู้ถ่ายน้ำหนักให้ชัดเจน

ขยับขึ้นขั้นที่ 8  ระวังอย่าหลงจังหวะ เค้าเว้นกี่จังหวะ จึงจะก้าว ถ่ายน้ำหนักให้หมด ขั้นนี้ มันต้องเกิดสุขุมจิตแล้ว  ไม่ใช่จิตเหรอะแหรอะแบบนี้ ถึงขั้นที่ 8 แล้ว ไม่ได้จิตสุขุม จะขยับขึ้นขั้นที่ 9 ได้อย่างไร จิตมันต้องปราณีตแล้ว จิตตามรู้การถ่ายน้ำหนัก จิตรู้จังหวะ รู้การก้าว รู้ถ่ายน้ำหนัก รู้ทั้งภายในและรู้ทั้งภายนอก มัวแต่สัดส่ายอยู่นั่นแหละ
ถ้าเดินเลื่อนลอยแบบนี้ มันจะขึ้นขั้นที่ 9 ไม่ได้ ขั้นนี้ต้องถึงสุขุมจิตแล้ว สติต้องเกิดทั่วพร้อมทั้งกายและใจแล้ว สติมีอยู่เต็มเปี่ยมแล้ว พร้อมที่จะก้าวไปสู่ขั้นสูงแล้ว ตัวรู้ต้องชัดแจ้งแล้ว ไม่พลาด ไม่เคลื่อน ไม่เลื่อนแล้วไม่ผิดเลย ถ้ามันยังผิด ยังพลาด ยังเคลื่อน ยังเลื่อนอยู่ มันไม่สามารถเลื่อนเข้าขั้นที่ 9 ได้ เพราะงั้น เอาใหม่ ทำให้ดี ให้จิตครองอยู่ในกาย กายกับจิตรวมกันเป็นหนึ่ง
รู้งานภายในก็คือ รู้กาย รู้งานภายนอกคือ รู้จังหวะ 3 จังหวะจึงก้าว ไม่เคลื่อน ไม่คลาด ไม่เลื่อน ไม่มีผิด มันต้องเป็นมหาสติอย่างยิ่งแล้วขั้นนี้

เริ่มในขั้นที่ 8  เคล็ดในขั้นนี้คือ ส่งความรู้สึกไปในกาย แล้วถ่ายน้ำหนักลงทุกจังหวะจนครบ 3 จังหวะแล้วจึงก้าว

 

 


เตรียมขึ้นขั้นที่ 9 เพิ่มลมหายใจเข้าไปทุกก้าว ทุกครั้งที่ก้าว ต้องประกอบลมหายใจ 
3 ป๊อก จึงก้าว พร้อมลมหายใจ แล้วอย่าลืมถ่ายน้ำหนัก

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 


ในขั้นที่ 1 เพียงแค่จิตกรรมฐาน เพราะงั้น ต้องเอาจิตตั้งไว้ในกาย เอาใหม่ ลองดูซิให้จิตตั้งอยู่ในกาย แล้วก้าวเดิน 

ตั้งไว้ในเสียงก็ไม่ได้ ตั้งในความรู้สึกก็ไม่ได้ แม้ตั้งอยู่ที่เท้าก็ไม่ได้ แต่ต้องตั้งไว้ในกาย
คำว่า ในกายยังสงสัยอีกว่า ตรงไหน ก็โครงสร้างหลักของกาย  ลองดูซิ จิตตั้งไปในโครงสร้างหลักของกาย แล้วก้าวเดินตามจังหวะ
ดีขึ้นไม๊ ทีนี้ขยับจิตขึ้นมาอยู่ที่หน้าอก จิตตั้งอยู่ที่หน้าอก ทรงจิตไว้ ประคองจิตไว้ที่หน้าอก อย่าให้เคลื่อน
ทีนี้ขยับจิตขึ้นมาอยู่ที่หน้าอก จิตตั้งอยู่ที่หน้าอก ทรงจิตไว้ ประคองจิตไว้ที่หน้าอก อย่าให้เคลื่อน

เลื่อนจิตลงมาอยู่ที่ช่องท้อง จิตตั้งไว้ที่ช่องท้อง ทรงอยู่ที่ช่องท้อง ตั้งอยู่ที่ช่องท้อง จังหวะและการก้าวเป็นความรู้ที่ผิวเผิน ที่รู้ที่มากที่สุด คือ ช่องท้อง

เดี๋ยวซิ หยุด หลายคนมันไม่รู้สึกที่ช่องท้อง มันเลยเดินเบ่งท้อง ทำเป็นพุงป่อง เพื่อให้รู้สึกว่าจิตอยู่ที่ท้อง คำว่าจิตอยู่ที่ท้อง ไม่ใช่ต้องทำให้ท้องพอง จิตตั้งอยู่ที่ช่องท้อง
ความรู้สึกอยู่ที่ช่องท้อง แต่ไม่ใช่ต้องไปเบ่งท้องให้ลมป่องอยู่กับท้อง
รู้ไม๊ว่า กูกำลังจะสอนมึงขั้นไหนเนี่ย ขั้นนี้ ขั้นที่ 10 แล้ว เพราะงั้นทำให้ได้  จิตตั้งอยู่ที่ช่องท้อง  พร้อม

เคลื่อนจิตขึ้นมาอยู่ที่กลางกระหม่อมซิ จิตตั้งอยู่ที่กลางกระหม่อม

ลดลงมาเดินในขั้นที่ 2 ผ่อนคลาย
หยุดยืนอยู่กับที่ ยากไม๊
สำหรับคนที่ทำไม่ได้ จะยากมาก หน้าที่ของจิต มีอะไรบ้าง 1จำ  2 รับ  3รู้  4คิด  ถูกไม๊ เพราะงั้น ไม่ว่ามันจะตั้งอยู่ในที่ใด มันก็จะทำหน้าที่ของมันให้สมบูรณ์ เพราะงั้น การทำอย่างนี้ คือการทำให้จิตได้พัฒนา รับ จำ คิด รู้ให้สมบูรณ์ ไม่ใช่อยู่กับจังหวะไม่ใช่อยู่กับการก้าว แต่อยู่กับตัว อยู่กับจุดใดจุดหนึ่งที่เราต้องการให้มันอยู่ แต่เปล่งอำนาจของจิตออกไปรับรู้ เปล่งอำนาจแห่งการรับ เปล่งอำนาจแห่งการจำ เปล่งอำนาจแห่งความคิด เปล่งอำนาจแห่งการรู้ออกไปรับรู้การก้าว และจังหวะที่ปรากฏ นี่คือ ขั้นที่ 10
มันจะต้องตั้งอยู่ทุกจุดภายในกายให้ได้ แล้วความเป็นจริง เมื่อจิตหนึ่งเกิดรู้ จิตนั้นก็จะดับ จิตต่อมาก็จะรับ จิตรับก็จะดับ จิตต่อมาคิดเกิด จิตที่รับก็จะดับต่อไปอีก คือมันดับก่อนแล้วจึงจะเกิดจิตใหม่ เพราะงั้นกระบวนการของจิตกับที่ตั้งของจิตต้องชัดเจน
แรกๆ หาที่ตั้งให้ได้ แล้วจับมันตั้งอยู่ในจุดนั้นให้มั่นคง ส่วนการก้าว และการรู้จังหวะ เป็นการรับรู้อย่างผิวเผิน ไม่ต้องจริงจัง เอาใหม่ ฝึกในขั้นนี้ใหม่

จิตตั้งอยู่กลางกระหม่อม

เลื่อนจิตมาตั้งอยู่ที่ต้นคอด้านหลัง จากกลางกระหม่อมลงไปสู่ต้นคอด้านหลัง จะรู้สึกมันร้อนผ่าวอยู่ที่ต้นคอด้านหลัง นั่นน่ะใช่

เป็นไงบ้าง เวลาที่เอาจิตจับอยู่ที่กลางกระหม่อม กระโหลกศรีษะ ร้อนไม๊ รู้สึกได้ไม๊ว่ามีไอร้อนพุ่งขึ้น เวลาจิตจับอยู่ที่คอ รู้สึกหรือไม่ว่า มีกระดูกลั่น หรือ เอ็นเคลื่อน ถ้ายังไม่รู้สึก แสดงว่า ยังใช้ไม่ได้ ต้องจับจนกระทั่งรู้สึกได้ว่า กระดูกต้นคอลั่นดังกรอบแกรบ หรือไม่ก็เอ็นเคลื่อน จึงจะเรียกว่า ใช้ได้ ไม่งั้นก็จะไม่เรียกว่า วิชาปราณโอสถ

ขั้นที่ 10 นี่ต้องถือว่า เคลื่อนปราณภายในกายได้แล้ว ที่จริงวันนี้ กูอารมณ์ดี เลยแอบสอนให้ เออ ถ้าอารมณ์ไม่ดี ก็อาจจะไม่สอน

สำหรับคนมาใหม่ ดูจะงงหน่อย เพราะว่า ทำถึงขั้นที่ 10 อยู่ดีๆ ฟลุ๊กหรือไม่ฟลุ๊ก ก็ไม่รู้ แต่ก็ต้องฝึกให้ได้ ทำลำบากไม๊ ขั้นนี้ทำยากไม๊ ต้องเคลื่อนจิตไปตามจุดต่างๆ ให้ได้


ทบทวนโอวาท 4 และกรรมฐาน (วิชา 3) วันไหว้ครู
โอวาท 4   
1 อ่อนน้อม ถ่อมตน
2 ขยันหมั่นเพียร
3 ซื่อตรงต่อตนเอง และคนรอบข้าง
4 มีน้ำใจต่อตนเอง และผู้อื่น

วิชา 3 / กรรมฐาน

 เรียนรู้ตัวเอง  ศึกษาวิชา ลุถึงปัญญา นำพาชีวิต

คนที่จะเข้าห้องแห่งปราณ ต้องตอบคำถามพวกนี้ให้ได้