พระโสณกุฎิกัณณเถระ เป็นบุตรของอุบาสิกาชื่อว่า “กาฬี” ผู้มั่งคั่งอยู่ในเมืองราชคฤห์ เดิมชื่อว่า “โสณะ” แต่เพราะท่านชอบประดับหูของท่านด้วยเครื่องประดับมีมูลค่ามากถึง ๑ โกฎิ พวกชาวบ้านจึงนิยมขนานนามท่านว่า “กุฏิกัณณะ” (แปลว่า ผู้ใช้ต่างหูราคา ๑ โกฎิ) ดังนั้นท่านจึงมีชื่อว่า “โสณกุฏิกัณณะ”
สมัยที่พระมหากัจจายนเถระ พักอาศัยอยู่ที่ภูเขาปวัตตะ แขวงเมืองกุรุรฆระ ในอวันตีทักขิณาปถชนบท มารดาของโสณกุฏิกัณณะ เป็นอุบาสิกาให้การบำรุงอุปัฏฐากท่านพระมหากัจจายนเถระอยู่เป็นประจำ ทุกครั้งที่นางเข้าวัดก็ได้ชักชวน นำพาลูกชายโสณะ ตามเข้าไปฟังธรรมด้วย
เมื่อโสณกุฎิกัณณกุมารเจริญเติบโตขึ้น อีกทั้งยังได้มีโอกาสฟังธรรมจากพระเถระอยู่บ่อย ๆ จนเกิดศรัทธาแสดงตนเป็นอุบาสก ขอถึงพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งที่ระลึก และปวารณาตัวเป็นอุปัฏฐากของท่านตามมารดาไปด้วย
ต่อมาโสณกุฎิกัณณอุบาสก มีศรัทธาปรารถนาจะบวช แต่พระพระมหากัจจายนะ เห็นว่า โสณะมานพเป็นผู้รักสวยรักงาม เป็นผู้ไม่เคยตรากตรำลำบากมาก่อน จึงได้แนะนำให้ โสณะหนุ่มทดลองปฏิบัติตนบำเพ็ญศีล สมาธิ เจริญสติ ในเพศฆราวาสจะสะดวกกว่า เพราะชีวิตพระสงฆ์ต้องประพฤติพรหมจรรย์นั้นเป็นเรื่องยากลำบาก
แต่ โสณกุฏิกัณณะ ก็ยังยืนยันมั่นคงว่า ถึงจะลำบากอย่างไรตนก็ยินดีที่จะปฏิบัติกิจของพระสงฆ์ อย่างดีที่สุด โสณะหนุ่มได้พยายามเฝ้าอ้อนวอนพระเถระอยู่หลายครั้ง ในที่สุดพระเถระก็ให้บวชเป็นสามเณร ไว้ก่อนเนื่องจากอวันตีทักขิณาปถชนบทนั้นหาภิกษุได้ยาก การบวชพระ จะต้องมีภิกษุร่วมประชุมสังฆกรรมให้การอุปสมบทอย่างน้อย ๑๐ รูป เรียกว่า ทสวรรค
ท่านจึงเป็นสามเณรอยู่นานถึง ๓ ปี กว่าที่จะมีภิกษุเดินทางมาครบจำนวนตามที่พระบรมศาสดากำหนดว่าอย่างน้อยต้องมีพระภิกษุ ๑๐ รูป เข้าร่วมเป็นสักขีพยาน และร่วมอนุญาตให้บุคคลทำการอุปสมบทให้ท่านได้
เมื่อท่านได้อุปสมบทแล้ว ได้เรียนพระกรรมฐานจากพระมหากัจจายนะ พระอุปัชฌาย์แล้ว ปลีกตัวหาสถานที่สงบสงัด ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ สิ้นกิเลสาสวะทั้งปวงในพรรษานั้น
ครั้นออกพรรษาแล้ว ท่านมีความประสงค์จะเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค เพราะท่านยังไม่เคยเห็นพระองค์เลย ท่านจึงกราบลาพระมหากัจจายนเถระ ผู้เป็นพระอุปัชฌาย์
พระเถระก็อนุญาตทั้งยังได้ฝากความไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคเพื่อขอแก้ไขพระวินัยอันเป็นพุทธบัญญัติบางประการ ซึ่งไม่สะดวกแก่พระสงฆ์ผู้อยู่ในแดนห่างไกล โดยเฉพาะในเมืองกุรุรฆระ แคว้นอวันตีชนบท ยิ่งหาภิกษุได้ยาก โดยมีเรื่องขอพระพุทธานุญาตทั้งหมด ๕ ประการ ดังนี้
๑. พระพุทธเจ้าข้า จังหวัดอวันตีทักขิณาบถ มีภิกษุน้อยรูป ข้าพระพุทธเจ้าได้จัดหาภิกษุสงฆ์แต่ที่นั้นๆ ให้ครบองค์ประชุมทสวรรคได้ยากลำบาก นับแต่วันข้าพระพุทธเจ้าบรรพชาล่วงไป ๓ ปี จึงได้อุปสมบท ถ้ากระไรเฉพาะในอวันตีทักขิณาบถ พึงทรงอนุญาตอุปสมบทด้วยคณะสงฆ์น้อยรูปกว่านี้ได้ ก็จะเป็นการดีต่อการประกาศพรหมจรรย์ ทั้งยังเป็นการสะดวกในการเพิ่มพูนจำนวนพุทธสาวก แก่ผู้มีศรัทธาปรารถนาจะเข้ามาบวช
๒. พระพุทธเจ้าข้า พื้นดินในอวันตีทักขิณาบถ มีดินเหนียวสีดำมาก ขรุขระดื่นดาดด้วยระแหงรอยตีนโค ที่ชาวบ้านเขานิยมเลี้ยงเอาไว้ใช้งาน ในฤดูแล้งพื้นดินเหล่านั้นจะตะปุ่มตะป่ำแหลมคมทิ่มแทงฝ่าเท้าของภิกษุให้ได้รับบาดเจ็บ
ถ้ากระไร เฉพาะในอวันตีทักขิณาบถ ขอพระผู้มีพระภาคพึงทรงอนุญาตให้พระภิกษุเหล่านั้นได้สวมรองเท้าที่มีพื้นอันหนาพอที่จะป้องกันหนามเหล่านั้นทิ่มแทง
๓. พระพุทธเจ้าข้า คนทั้งหลายในอวันตีทักขิณาบถนิยมการอาบน้ำ เพราะมีอากาศร้อน อบอ้าวอยู่ตลอด ถ้ากระไรเฉพาะในอวันติทักขิณาบถ ขอพระผู้มีพระภาค พึงทรงอนุญาตการอาบน้ำได้เป็นนิตย์.
๔. พระพุทธเจ้าข้า ในอวันตีทักขิณาบถ ชนทั้งหลายประกอบอาชีพปศุสัตว์ จึงมักนิยมใช้หนังสัตว์มาทำเครื่องใช้ และปูรองพื้น เพื่อป้องกันแมลงดิน และหญ้าที่แหลมคม มีหญ้าตีนกา หญ้าหางนกยูง หญ้าหนวดแมว หญ้าหางช้าง หนังแกะ หนังแพะ หนังมฤค ถ้ากระไร เฉพาะในอวันตีทักขิณาบถ ขอพระผู้มีพระภาค พึงทรงอนุญาตหนังเครื่องลาด คือ หนังแกะ หนังแพะ หนังมฤค.
๕. พระพุทธเจ้าข้า เดี๋ยวนี้คนทั้งหลายฝากถวายจีวรเพื่อหมู่ภิกษุผู้อยู่นอกสีมา ด้วยคำว่า ข้าพเจ้าทั้งหลายขอถวายจีวรผืนนี้แก่ท่านผู้มีชื่อนี้ ดังนี้ ภิกษุผู้รับฝากมาบอกว่า อาวุโส คนทั้งหลายมีชื่อนี้ถวายจีวรแก่ท่านแล้ว พวกภิกษุผู้รับคำบอกเล่า รังเกียจไม่ยินดีรับ ด้วยคิดว่า พวกเราไม่ต้องการของที่เก็บเกินกำหนดเวลาพุทธานุญาต เป็นนิสสัคคีย์ ถ้ากระไร ขอพระผู้มีพระภาคพึงตรัสชี้แจงในเรื่องจีวร.
พระโสณกุฏิกัณณะ เดินทางมาถึงพระเชตะวันมหาวิหารแล้ว เข้าเฝ้ากราบถวายบังคมพระบรมศาสนาแล้ว นั่ง ณ ที่สมควรแก่ตนส่วนข้างหนึ่ง เมื่อพระพุทธองค์ทรงปฏิสันถารทักทายกับเธอโดยสมควรแล้ว เธอได้กราบทูลความตามที่พระอุปัชฌาย์สั่งมา
 
โปรดติดตามตอนต่อไปว่าพระบรมศาสดาจักทรงมีพุทธานุญาตอย่างไรหรือไม่
 
พุทธะอิสระ