วัดอ้อน้อย (ธรรมอิสระ) ต.ห้วยขวาง อ. กำแพงเสน จ.นครปฐม

บทที่ ๑ การเกิด-ดับอารมณ์ ดับจิต ดับภพ

วิถีจิต วิถีปัญญา

ชื่อเรื่อง การเกิด-ดับอารมณ์ ดับจิต ดับภพ  

แสดงธรรมวันที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๖๐ วัดอ้อน้อย (ธรรมอิสระ)

สาระสังเขป

จิตมีหน้าที่รับ จำ คิด รู้ จิตจึงมีหน้าที่สะสมอารมณ์ แม้จิตดับไป อารมณ์ก็ยังมีอยู่ในสภาวะธรรมของจิตคือตัวรับ ตัวจำและมีอุปาทานครอบงำจิต แม้จิตดับแล้ว แต่อุปาทานไม่ดับเพราะมีอารมณ์เป็นเครื่องหล่อเลี้ยง บทโศลกที่เขียนว่า อารมณ์ ทำให้เกิดจิต  จิต ทำให้เกิดภพ  ถ้าดับอารมณ์ ดับจิต ก็ดับภพ แต่ถ้าแม้ภพดับแล้ว แต่อารมณ์ยังไม่ดับ จิตก็ยังไม่ดับ แต่จิตจะไปหาภพใหม่ตามกรรมที่กระทำไว้ จิตรับแล้วก็มาจำมาสร้างอุปาทาน

เกิดวงจรปฏิจจสมุปบาท พระอริยเจ้าระดับสุดท้าย ไม่มีอุปาทานไม่มีอารมณ์ จึงดับจิต ดับภพ ดับชาติชรามร

พระอรหันต์มีแค่จิตรู้อยู่  รู้อยู่  รู้อยู่ มันก็เลยกลายเป็น มโนวิญญาณธาตุ หรือ มโนวิญญาณจิต ซึ่งรู้สรรพสิ่ง รู้ทุกเรื่อง เป็นจิตสูงสุดแล้ว เป็นขั้นตอนที่ ๑๐ ของวิถีจิตแล้ว อาการจิต ๑๐  ขั้นที่ ๑๐ สุดท้ายคือ รู้แจ้งในธาตุทั้งปวง อารมณ์ทั้งปวง เรียกว่า มโนวิญญาณธาตุ  ผู้เข้าถึงอารมณ์ของวิญญาณธาตุทั้งปวง รู้แจ้งชัดในอารมณ์วิญญาณธาตุทั้งปวง แล้วมีอุปาทานไหม ไม่มีเลย จิตสร้างภพได้โดยตาหูจมูกลิ้นกายใจรับสิ่งภายนอกมาปรุงเป็นอารมณ์ อารมณ์เป็นตัวกำหนดให้เกิดสุคติ ทุคติ วิถีแห่งการดับอารมณ์ ดับจิต ดับภพ ๓ อย่าง คือ อินทรีย์สังวร

วิเวก ดำรง สติ ตั้งมั่น     

เนื้อหา

๐ เพราะมีอารมณ์จึงทำให้เกิดจิต  ดับอารมณ์ได้ก็คือ ดับจิต 

 

เมื่อช่วงเข้าพรรษาได้พูดถึงบทโศลก หรือข้อปริศนาธรรมเอาไว้ เรื่องวิถีจิต 

เพราะมีอารมณ์ จึงมีจิต  
เพราะมีจิต จึงมีภพ (แดนเกิด)  
ชาติ (การเกิด) แล้วก็ตามมาด้วย ชรา มรณะ พยาธิ ทุกขโทมนัส 

เพราะฉะนั้นถ้าจะดับชาติ ดับทุกข์ ดับชรา ดับมรณะ ดับพยาธิ ก็ต้องดับภพ   

จะดับภพได้ต้องดับจิตก็ยังไม่ใช่ ด้วยเหตุผลว่าแม้จิตนี้ดับไปแล้ว ในสภาวะของจิตที่ดับไปแล้วนั้น หรือกำลังจะเกิดขึ้นใหม่ หรือมีมาแล้วแต่อดีตที่เรียกว่าเป็นอดีตจิตส่งผลให้เกิดปัจจุบันจิต และทำให้เกิดอนาคตจิตก็ประกอบไปด้วยเครื่องหล่อเลี้ยง คืออารมณ์ที่ปรากฏจากการรับของจิต การจำแห่งจิต การคิดในจิต แล้วก็การรู้ 

เมื่อจิตมีหน้าที่ รับ จำ คิด รู้  จิตจึงมีหน้าที่อีกเรื่องหนึ่งก็คือ สะสมอารมณ์ 

จิตนอกจากจะเป็นตัวสร้างภพแล้ว ถ้าเราคิดในมุมย้อนกลับว่าถ้าเราอยากจะดับทุกข์ ดับชรา มรณะ พยาธิ ชาติ ภพ แล้วก็ดับจิตมันก็น่าจะยุติ ถ้าอย่างนั้นคนตายไปก็จะต้องไม่มีภพ ไม่มีชาติ ไม่มีชรา ไม่มีมรณะ ไม่มีพยาธิ ถ้าคิดในมุมนี้ก็แสดงว่าไม่ใช่   

พระผู้มีพระภาคเจ้ามีคำอธิบายเอาไว้ว่า  

ด้วยสภาวะแห่งธรรมชาติของจิตนี้มีหน้าที่ รับอารมณ์ จำอารมณ์ รู้อารมณ์ คิดอารมณ์   
เพราะฉะนั้นแม้จิตดับ อารมณ์มีอยู่ไหม  

(มีอยู่)  ยังมีอารมณ์อยู่ อารมณ์มันตั้งอยู่กับอะไร อารมณ์มันตั้งอยู่กับสภาวธรรมของจิต  
สภาวธรรมของจิตที่ปรากฏก็คือ ความจำ ในตัวจำ ตัวรับ   
ตัวรับ – ตัวจำ นี่แหละมันส่งผลให้ปัจจุบัน และส่งผลไปให้เกิดอนาคต 

แล้วก็มีกระบวนการของอุปาทาน  อุปาทานในจิต อุปาทานในขันธ์ เข้ามาครอบงำจิต แม้จิตนี้ดับไปแล้ว อุปาทานดับด้วยไหม..อุปาทานไม่ได้ดับ  

ทำไมอุปาทานไม่ได้ดับ 

เพราะอุปาทานก็มีเครื่องมือหล่อเลี้ยงก็คืออารมณ์เหมือนกัน ตัวรับเหมือนกัน ตัวจำเหมือนกัน ตัวรับในจิต - ตัวจำในจิต เป็นเครื่องมือหล่อเลี้ยงอุปาทาน อันนี้มันเป็นความละเอียดสุขุมมาก ต้องค่อยๆ ศึกษาทำความเข้าใจ ธรรมะของพระผู้มีพระภาคเจ้า สำคัญที่สุดคือต้องทำความเข้าใจ ศึกษา สงสัย ขวนขวาย แสวงหาแล้วก็ทำความเข้าใจ 

ในบทโศลกที่เขียนว่า  

อารมณ์ ทำให้เกิดจิต  

จิต ทำให้เกิดภพ  

ถ้าดับอารมณ์ ดับจิต ก็ดับภพ 

มันก็จะมีคำถามว่าแล้ว ภพ ทำให้เกิดอะไร  

ภพ ทำให้เกิดชาติ  

ชาติ ทำให้เกิดชรา มรณะ พยาธิ 

ทีนี้ถ้าเราดับ(มรณะ พยาธิ) ก็คือตาย..ชาติก็ดับ แล้วภพดับไหม ..ภพนั้นก็ดับไปแล้ว เพราะการเกิดอันนั้นเราดับไปแล้ว การเกิดนั้นดับไปแล้ว ภพนั้นดับไปแล้ว แล้วจิตนี้ดับอยู่ไหม จิตไม่ดับ พวกเราชอบใช้คำพูดว่า “เออ เขาดับจิตไปแล้ว” ก็คือ เขาตายไปแล้วแต่จริงๆ แล้ว สังขารนี้มันตายร่างกายนี้มันตาย แต่จิตนี้ตายไหม (ไม่ตาย) เมื่อจิตมันไม่ตายก็ถือว่าจิตดับไหม..จิตไม่ดับ 

 

สังขารคือร่างกาย รูปธรรม นามธรรมทั้งหมดทั้งสิ้น มันไม่เที่ยงเป็นทุกข์เกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป  เมื่อจิตนี้มันยังไม่ดับ มันก็ไปหาที่อยู่ใหม่ ที่อยู่ใหม่อะไรพาไป กรรมการกระทำของตนพาไป 

 

๐ กรรม  

อะไรเป็นตัวกระตุ้นสนับสนุนให้กรรมเจริญเติบโต 

ต้องเข้าใจด้วยว่า เครื่องมือในการเลี้ยงดู กรรม ก็คือ อุปาทาน ความยึดถือ อุปาทานความยึดถือมันเป็นกระบวนทัศน์ เป็นเครื่องมือ ในการที่ทำให้กรรมนี้มันเจริญเติบโต แล้วมันทำให้กรรมนี้ให้ผลอย่างเจาะจง ชัดเจน เพราะคำว่ามีอุปาทานความยึดถือ  อุปาทานความยึดถือนี่มันเป็นกระบวนการที่สร้าง ซึ่งมันอยู่ในจิตมันครอบงำจิต มันก็ทำให้จิตนี้ได้สร้างภพ แล้วจิตนี้มันสร้างภพได้ ก็เพราะว่าอารมณ์ที่หล่อเลี้ยงจิต มันเกี่ยวเนื่องสืบเนื่องเกาะเกี่ยวกันเป็นห่วงโซ่   

 

กรรมมีอุปาทานเป็นตัวสนับสนุน  

อุปาทานแฝงอยู่ในสภาวะจิต เขาเรียกว่าสิงอยู่ในจิต เป็นสภาวะอารมณ์หนึ่งที่ปรากฏในจิตและในขณะเดียวกัน เมื่ออุปาทานมีอยู่ในจิต จิตนี้มีอุปาทาน จิตก็จะเป็นตัวกำหนดสร้างภพโดยอำนาจแห่งกรรม กรรมนี่ใครเป็นผู้กระทำ เราเป็นผู้กระทำ.. เราในที่นี้ ก็คือ จิต  

วิถีของธรรม วิถีจิต เราไม่พูดถึงกาย ไม่พูดถึงสังขาร ใช้คำว่า “เรา” ก็เข้าใจได้ว่า คือ จิต 

ใครเป็นคนทำกรรม (จิต) ใครเป็นคนสร้างกรรม (จิต)  จิตก็คือตัวเรานั่นแหละ 

จิตสร้างกรรม มีอุปาทานเป็นตัวหล่อเลี้ยงกรรม 

เมื่อจิตสร้างกรรม แล้วมีอุปาทานเป็นตัวหล่อเลี้ยงกรรม เป็นอารมณ์หนึ่งที่สิงอยู่ในจิต สถิตอยู่ในจิต อุปาทานอยู่ในจิตไหม (อยู่)  อุปาทานอยู่ในจิต หรืออุปาทานอยู่ในกรรม  

อุปาทานอยู่ในจิต ไม่ใช่อยู่ในกรรม 

กรรม เป็นเพียงแค่สภาวธรรมหนึ่งๆ แต่ว่าอุปาทานเป็นอารมณ์  

กรรม เป็นเพียงแค่พฤติกรรม หรือผลแห่งจิต เรียกอย่างหนึ่งว่า วิปากจิต คือวิบากที่เกิดจากจิตก็ได้ 

ทีนี้เมื่ออุปาทานเป็นอารมณ์อย่างหนึ่งของจิต มีอยู่ในจิต แม้ร่างกายสังขารนี้ตายไป อุปาทานดับด้วยไหม (ไม่ดับ)  

จิตดับด้วยไหม (ไม่ดับ) ต้องทำความเข้าใจอย่างนี้  

 

เมื่ออุปาทานในจิตไม่ดับ ทีนี้เมื่อมันยังมีอารมณ์หล่อเลี้ยงจิตอยู่ จิตเมื่อยังมีอาหารกินอยู่ แม้อุปาทานก็เป็นอารมณ์หนึ่งใช่ไหม (ใช่) จิตนี้มันยังมีอาหารกินอยู่ มันก็ยังเจริญเติบโตได้อยู่ แม้สังขารนี้มันดับสูญไปตายไป จิตนี้มันก็จะไปสร้างภพใหม่โดยอำนาจของแห่งอะไร (กรรม) กรรม โดยอำนาจแห่งกรรม 

จิตนี้มันจึงเป็นตัวสร้างภพ โดยมีอารมณ์เป็นเครื่องมือสนับสนุน ซึ่งอารมณ์เหล่านี้ก็รวมไปถึงอุปาทานด้วย  

 

ฉะนั้นถ้ามีคำถามว่า ถ้าดับชรา ดับมรณะ ดับพยาธิ ดับชาติ ดับภพ จิตดับไหม   

ไม่ดับ ที่ต้องพูดให้เข้าใจย้ำไปย้ำมา เพื่อให้เข้าใจให้ชัดว่าคนตาย จิตไม่ดับ ยืนยันชัดเจนว่า คนตาย จิตไม่ดับ  

 

จิตไม่ดับแล้ว ภพดับไหม 

ภพดับสิ ภพหนึ่งๆไง ภพหนึ่งๆ จิตก็จะไปแสวงหาภพใหม่อีกต่อไป 

แล้วอะไรเป็นผู้พาจิตนี้ไปแสวงหาภพใหม่ (กรรม)  

อะไรเป็นตัวหล่อเลี้ยงกรรม (อุปาทาน)  อุปาทานซึ่งมีอยู่ในจิต  

แล้วเป็นอารมณ์ไหม (เป็น) เป็นอารมณ์ 

หลวงปู่จึงบอกว่า  

เพราะมีอารมณ์ จึงทำให้เกิดจิต 

เพราะมีจิต จึงทำให้สร้างภพ 

และอารมณ์ที่อยู่ในจิตนั่นแหละมันเป็นตัวสร้างภพ 

 

โดยมีคำยืนยันของพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยพระบาลีที่ว่า มโน ปุพพังคมา ธัมมา มโน เสฏฐา มโน มยา กรรมทั้งปวงทั้งหลาย มีจิตหรือมีใจเป็นนาย มีใจเป็นใหญ่ มีใจเป็นหัวหน้า กรรมทั้งฝ่ายกุศลก็ดี ทั้งฝ่ายอกุศลก็ดี ทั้งฝ่ายโลกุตตรธรรมก็ดี ทั้งหมดมีจิตเป็นนายเป็นใหญ่ 

 
๐ ปฏิจจสมุปบาท กระบวนการเกิดอารมณ์ในจิต 

ทีนี้กว่าจะเป็นกระบวนการของจิตที่เป็นนายเป็นใหญ่ได้ มันประกอบไปด้วยอะไรบ้าง เราก็ไล่ย้อนกลับไปดู หลักปฏิจจสมุปบาท ที่จิตนี้มันสร้างภพ สร้างกรรม สร้างสารพัดสร้างเยอะแยะมากมาย จิตนี้มันประกอบไปด้วย   

อวิชชา-ความไม่รู้   

สังขาร –การปรุงแต่ง  

วิญญาณ –การรับรู้  

นามรูป  

สฬายตนะ  คืออายตนะภายใน ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กับ อายตนะภายนอก ซึ่งประกอบไปด้วยรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ธรรมารมณ์ที่มีอยู่ในใจ    

ผัสสะ คือสัมผัสที่ตาเห็น หูฟัง จมูกได้ ลิ้นรับ กายสัมผัส ใจรู้อารมณ์ 

แล้วประกอบด้วย เวทนา คือ อารมณ์ที่เกิดจากการผัสสะหรือสัมผัสนั้นอารมณ์เหล่านี้ ถือเป็นอารมณ์ที่เกิดขึ้นโดยอายตนะ  

แต่ก่อนหน้านี้ที่ไม่มีอายตนะ เรามีอารมณ์อยู่ไหม  มีสิ มีอยู่ตั้งแต่เริ่มต้นอวิชชาแล้วก็รับรู้อารมณ์ ใช่ไหม (ใช่) อารมณ์มันมีก่อนที่จะมีตาไหม (มี)  ไม่งั้นคนตาบอดหูหนวกมีอารมณ์ไหม (มี)  

เพราะฉะนั้นอารมณ์มันเกิดขึ้นมาหลังจากอวิชชา –ความไม่รู้ มันก็เกิดอารมณ์แล้ว แต่มันเป็นอารมณ์ที่ยังไม่ปรุงแต่ง พอผ่านกระบวนการปรุงแต่งมา มันก็แปลรูป แปลร่าง แปลธาตุออกมา แล้วก็สร้างจินตนาการหลากหลายเยอะแยะมากมาย จนกลายเป็นร่างกายและจิตใจ แล้วก็สร้างอายตนะ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แล้วก็คอย รับรู้ อารมณ์ที่เกิด จากตา จากหู จากจมูก จากลิ้น จากกาย แล้วก็จากใจ 

เมื่อเกิดผัสสะก็เกิดเวทนาสุขทุกข์ ทีนี้มันเป็นผล สุขทุกข์นี่มันเป็นผลจากสัมผัส  

พอเกิดเวทนา –สุขทุกข์แล้ว ก็เกิดความอยาก ตัณหา –ความทะยานอยาก  มีอุปาทาน-ความยึดถือตามมา 

รวมแล้วกว่าจะมาเป็นอุปาทานของจิต เรียกว่า อุปาทานในจิต มันจะต้องสร้างกระบวนการมาเยอะ ใช่ไหม เริ่มตั้งแต่ โง่ –ไม่รู้ ไล่เรื่อยมา     

เพราะฉะนั้นคนตายไปอุปาทานดับไหม (ไม่ดับ) 
คนตายไปจิตดับไหม (ไม่ดับ)  
คนตายไป กรรมดับไหม (ไม่ดับ)  
คนตายไป ภพดับไหม (ดับ)   
ดับ ต้องบอกว่าภพดับแต่ดับเฉพาะภพหนึ่งๆ เท่านั้น  

ที่ไล่ยาวอย่างนี้ เพื่อให้ท่านทั้งหลายได้ทำความเข้าใจถึงความยั่งยืนแห่งกรรม ความยั่งยืนแห่งภพ ที่มันเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยด้วย หลายคนอาจจะคิดว่า ถ้าอย่างนั้นที่หลวงปู่ให้เขียนบทโศลกว่า อารมณ์ทำให้เกิดจิต จิตทำให้เกิดภพ  ดับอารมณ์ดับจิตก็คือดับภพ นั่นมันแค่ขณะหนึ่งๆ เท่านั้นในภพ แต่จิตไม่ได้ดับ อารมณ์ก็ไม่ได้ดับ  

อารมณ์หนึ่งในจิตนั้นที่เป็นตัวสร้างภพ คืออะไร  

อุปาทาน และอุปาทานนี่แหละ มันเป็นหัวใจสำคัญในการทำให้จิตนี้สร้างภพ  
และอุปาทานนี้ มันเกิดจากหน้าที่ของจิตที่มีหน้าที่ รับ แล้วก็จำ เห็นไหม รับแล้วก็มาจำก็เลยมาสร้างอุปาทาน..รับแล้วจำ 

เพราะงั้น จิตของพระอริยเจ้า ไม่รับ ไม่จำ เหมือนกับมีตุ่มใบหนึ่งแล้วน้ำเต็มตุ่มแล้ว น้ำเต็มแล้ว ปริ่มแล้ว ฝนตกลงมาจะต้องรับต่อไปไหม (ไม่) ไม่รับแล้ว ไม่จำเป็นจะต้องรับ  

จิตของพระอริยเจ้า เป็นจิตที่เต็ม ไม่พร่อง 

จิตของปุถุชน สามัญชน สามัญสัตว์ ผู้ไม่เข้าถึงอริยสัจ เป็นจิตที่พร่องเสมอ  

 

ให้เข้าใจสภาพอย่างนี้ไว้  เขียนไว้ : 

จิตของพระอริยเจ้า เป็นจิตที่เต็มเปี่ยม อิ่ม เต็ม อิ่มแล้วต้องรับไหม ไม่มีเหตุผลที่ต้องรับ 

จิตของสามัญชนสามัญสัตว์ผู้ไม่เข้าถึงอริยสัจ เป็นจิตของผู้พร่อง ผู้ต้องการ ผู้แสวงหา 

จิตของพระอริยเจ้า ไม่พร่อง ไม่ต้องการ ไม่แสวงหา ให้เข้าใจอย่างนี้ 

เพราะฉะนั้นพระอริยเจ้ามีอารมณ์ไหม 

น่าคิดนะ ด้วยคำถามนี้ พระอริยเจ้ามีอารมณ์ไหม  พระอริยเจ้ามีจิตไหม (มี) แล้วพระอริยเจ้ายังมีภพอยู่ไหม ก็ต้องไปดูว่าพระอริยเจ้าระดับไหน อย่าตอบส่งเดช ต้องไปดูว่าพระอริยเจ้าระดับไหน ถ้าพระอริยเจ้าระดับพระโสดาบัน  สกิทาคามี  อนาคามี ยังมีภพอยู่ไหม (มี)  ยังมีภพอยู่  แต่ถ้าเป็นพระอรหันตเจ้า ไม่มีภพแล้ว สิ้นแล้วซึ่งภพชาติ เมื่อสิ้นแล้วซึ่งภพชาติอารมณ์มีไหม อารมณ์ไม่มีแล้ว พระอรหันต์มีอารมณ์ที่ไหน   

พระโสดาบัน มีอารมณ์ไหม (มี) ถ้าไม่มีจะมีลูกเป็นครอกหรือ นางวิสาขามีลูกตั้ง ๘๐ คน พระสกิทาคามี อนาคามี มีอารมณ์ไหม (มี) ยังมีอยู่ แต่เบาบาง  

พระโสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี มีจิตไหม (มี) มีอยู่ มีอารมณ์อยู่ มีจิตอยู่ ยังสามารถสร้างภพ สร้างชาติได้อยู่  แล้วพระอรหันต์ มีอารมณ์ไหม (ไม่มี) ไม่มีแล้ว ไม่มีอารมณ์แล้ว มีจิตอยู่ไหม จิตยังมีอยู่ถ้าพระอรหันต์องค์นั้นยังไม่ได้นิพพาน จิตยังมีอยู่   มีภพไหม ภพ ก็มีภพอยู่ในปัจจุบันที่พระอรหันต์องค์นั้นดำรงอยู่ แต่ถ้านิพพานแล้วภพต่อไปจะมีไหม (ไม่มี) ไม่มีแล้ว ตัดแล้วซึ่งภพชาติ และวาสนา เขาจึงบอกว่าพระอรหันต์ตัดแล้วซึ่งภพชาติและวาสนา 

 
เพราะฉะนั้นอารมณ์ของพระอริยเจ้ามีอยู่ อริยบุคคล ๓ ประเภทแรก ส่วนประเภทสุดท้าย พระอรหันต์มีอารมณ์ไหม (ไม่มี) มีอุปาทานไหม (ไม่มี) 

 

๐ อาการจิต 

ทีนี้มาดูลักษณะของจิต มาดูอาการของจิต  

จิตทั้งหมดโดยทั้งสามัญจิต และอริยชนทั้งหลาย ก็มีลักษณะไม่ต่างกัน คือ ๔ อย่าง รับอารมณ์ รู้อารมณ์ คิดอารมณ์ จำอารมณ์ (รับ จำ คิด รู้)  หรือ (คิด รับ จำ รู้) ๔ อย่างทีนี้เรามาดูกันว่า จิตของพระโสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี รับอยู่ไหม (รับ) จำอยู่ไหม (จำ) รู้อยู่ไหม (รู้) คิดอยู่ไหม (คิด)   

จิตของพระอรหันตเจ้ารับอยู่ไหม (ไม่รับ)  

จิตของพระอรหันต์รับไหม (ไม่รับ)   
รู้ไหม (รู้)  ไม่รู้จะเป็นอรหันต์ได้ยังไงล่ะ พระอรหันต์โง่หรือ ต้องรู้  รับ/ไม่รับ แต่ต้องรู้ 

จำไหม (ไม่จำ) จะจำไปทำไม จะจำไปทำอะไร มีอะไรจะต้องมาจำอีก 

คิดไหม (ไม่คิด) ก็มันไม่เห็นจะต้องคิดอะไร มีอะไรต้องให้คิดหรือ พระอรหันต์มีปัญหาเหรอ (ไม่มี) ถ้าจะมีปัญหา ก็ไอ้อรหอยนั่นแหละมีปัญหา 

เพราะฉะนั้นพระอรหันต์มีแค่จิตรู้อยู่  รู้อยู่  รู้อยู่ มันก็เลยกลายเป็น มโนวิญญาณธาตุ หรือ มโนวิญญาณจิต ซึ่งรู้สรรพสิ่ง รู้ทุกเรื่อง เป็นจิตสูงสุดแล้ว เป็นขั้นตอนที่ ๑๐ ของวิถีจิตแล้ว แล้วที่เหลือนอกนั้นจิตของสามัญชน จิตของพระอริยชนเบื้องต้น ๓ ประเภทแรก ยังเป็นรับ เป็นจำ เป็นคิด  เป็นรู้อยู่  เทียบกับอาการจิต ๑๐ อย่าง :  

อาการจิต ๑๐  

คิด เป็น จิต  

น้อมไปเป็น มโน 

เก็บเอาไว้ ป็น หทัย 

พอใจเป็น มนัส 

ยินดีเป็น บัณฑระ 

สืบต่อเป็น มนายตนะ 

เป็นใหญ่ในอารมณ์นั้นเป็น มนินทรีย์ 

รู้อารมณ์เป็น วิญญาณ 

รู้เป็นเรื่อง เป็นอย่างๆ เป็น วิญญาณขันธ์ 

รู้แจ้งในธาตุทั้งปวง อารมณ์ทั้งปวง เรียกว่า มโนวิญญาณธาตุ  

ผู้เข้าถึงอารมณ์ของวิญญาณธาตุทั้งปวง รู้แจ้งชัดในอารมณ์วิญญาณธาตุทั้งปวง แล้วมีอุปาทานไหม ไม่มีเลย ไม่มีเลย 

จบอาการจิต ๑๐ อย่าง (สาธุ) 

สรุปดับอารมณ์ ดับจิต ดับภพ ใช้กับใคร (พระอรหันต์)  และเพราะหน้าที่จิตมีอยู่ ๔ อย่าง ดับจิตในที่นี้ต้องเข้าใจต่อมาอีกว่าดับอะไร  

หน้าที่จิต ๔ อย่าง มันดับอะไร     
ดับรับ ดับจำ ดับคิด   
รู้ยังอยู่ เพราะรู้ ก็เป็นตัวจิตตัวหนึ่ง  
เพราะฉะนั้น คำว่า ดับอารมณ์ ดับจิต ดับภพ ดับรู้ด้วยไหม  ไม่ดับรู้   

หลวงปู่พยายามจะวิจัยให้กระจ่างเพื่อให้เราได้เข้าใจถึงวิถีจิตให้แจ่มชัด แล้วจะได้รู้ว่าที่ผ่านๆ มา เครื่องอยู่ของเรามันทำให้จิตเราเศร้าหมองตลอด เครื่องอยู่ของเรามันทำให้จิตเราเปลี่ยนแปลง แต่งปรุง ปรับไปเรื่อย จูนไปเรื่อย ใส่สีตีไข่ให้มันเรื่อย 

จิตสร้างภพได้อย่างไร 

ตาเห็นรูป รู้ในอารมณ์ เป็นจิต เมื่อมันเป็นจิตแล้วสร้างภพได้ไหม สร้างได้ทันทีเลย เพราะรูปนั้นมันทำให้เกิดสุขก็เป็นสุคติภพ  รูปนั้นมันทำให้เกิดทุกข์เป็นทุคติภพ 

พระพุทธเจ้าจึงสอนให้เรา อินทรีย์สังวร – สำรวม สังวร ระวัง ตาเห็นรูป หูฟังเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นรับรส กายถูกต้องสัมผัส และใจรับรู้อารมณ์ รู้จักสำรวม สังวร ระวัง  

เพราะไม่สำรวมไม่สังวรระวัง เราเป็นผู้สร้างทุคติภพในขณะที่ตาเห็น หรือสุคติภพในขณะที่ตาเห็น ถ้าสำรวมสังวรระวัง เราก็จะไม่สร้างทุคติภพในขณะที่ตาเห็น หรือหูฟังเสียง หรือจมูกได้กลิ่น ลิ้นรับรส กายถูกต้องสัมผัส อารมณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย แม้รวมทางจิตใจ สร้างให้เกิดภพดั่งนี้สร้างให้เกิดภพอย่างนี้ 

หลายคนอาจจะไม่เข้าใจว่า จิตมันสร้างภพได้อย่างไร ก็มันสร้างภพทางอารมณ์  เช่น หูฟังเสียงด่า เป็นสุขหรือเป็นทุกข์ (ทุกข์) เป็นทุกข์   
- เป็นทุกข์อะไร ทุกข์อะไร (ทุกข์ใจ)  ทุกข์ใจเป็นสุคติภพ หรือทุคติภพในขณะนั้น  

-ในขณะที่ฟังเสียงภพเกิดแล้วไหม (เกิด) เกิดแล้ว  

เรามีสุคติ ทุคติ อยู่ตลอดเวลาไม่ต้องรอตาย  

หมายถึงสุคติจิต และทุคติจิตนะ ไม่ใช่หมายถึงสุคติกาย ทุคติกาย บอกแล้วว่าในที่นี้เราจะไม่พูดเรื่องกายเลย    

-ในขณะที่ตาเห็น - หูฟัง - จมูกได้ - ลิ้นรับ -กายสัมผัส -ใจรู้อารมณ์  หากสิ่งที่สัมผัสนั้นมันเป็นสุข เราก็เกิดสุคติภพ  สุคติภพในกายหรือในใจ ในใจก่อนเลย 

- แล้วถ้าตาเห็น - หูฟัง - จมูกได้ - ลิ้นรับ -กายสัมผัส มันทุรนทุรายเร่าร้อนมันเกิดทุคติภพในใจ ต้องรอตายไหม (ไม่ต้อง) ไม่ต้องรอตาย สุคติ ทุคติ เกิดตลอดเวลา ภพเกิดตลอดเวลา 

เหนื่อยไหมล่ะ (เหนื่อย) เบื่อ เหนื่อย กูจะต้องเผชิญกับความสุขความทุกข์ทั้งวันทั้งคืน ทั้งภพตลอดยันเช้ามืดหามรุ่งหามค่ำ กูจะอยู่ยังไง เดี๋ยวก็ลูกดีเข้ามาเป็นสุขใจ  ลูกชั่วเข้ามา อ้าว เป็นทุกข์ใจ เสียงดีเข้ามาก็พองใจ เสียงชั่วเข้ามาก็แฟบใจ ใจกูผลุบๆ พองๆ โป่งๆ แฟบๆ กูเหนื่อยไปไหม เบื่อไหม  

เห็นไหม ศึกษาวิถีจิตแล้ว มันทำให้เรารู้เท่าทันสภาวธรรมอย่างนี้ จึงทำให้เราเข้าใจอย่างนี้ 

 

วิธีพ้นจากบ่วงแห่งอารมณ์ 

ทีนี้เมื่อเป็นอย่างนี้ พระพุทธเจ้าจึงบอก จึงสอน วิธีพ้นมัน พ้นจากบ่วงแห่งอารมณ์ ก็คือ อะไร 

สำรวม สังวร ระวัง มีสติในกาย  มีสติในเวทนา  มีสติในจิต มีสติในธรรม แล้วก็มีคำว่า อินทรีย์สังวร คือ สำรวม สังวร ระวัง ตาเห็น - หูฟัง - จมูกได้ - ลิ้นรับ -กายสัมผัส -ใจรับรู้อารมณ์ 

ยังไม่พอ พระองค์ยังทรงสอนอีกว่า ถ้ามันไม่ไหว มันสังวรไม่ไหว มันมีสติไม่ได้ อย่างนั้นสุดท้ายก็ วิเวก สิลูก  วิเวกคืออะไร ปลีกตัวออกมาซะ  มึงมาวิเวกหรือเปล่า วิเวกไหม  (วิเวก) เอ้อ อย่างนี้ เขาเรียกมาวิเวก   
 
เครื่องอยู่แห่งจิต  

รวมๆ สรุปแล้วอยากบอกเราท่านทั้งหลายว่า เครื่องอยู่แห่งจิตนี้ไม่ดีเลย ไม่ดีเลย ถ้าเราเอาจิตไปอยู่กับตา ให้จิตไปอยู่กับตา แล้วก็ไปสอดส่าย มองดูรูปนู่นนี่นั่นเยอะแยะมากมาย  อ้าวถ้าพูดอย่างนี้แล้วคนตาบอดล่ะ คนตาบอด มันไม่ได้อยู่กับตาแล้ว มันอยู่กับอะไร..มันอยู่กับหู 

หูหนวกล่ะ มันอยู่กับสัมผัส...สัมผัสทำให้เกิดอารมณ์ได้ไหม (ได้) ทำให้เกิดจิตได้ไหม (ได้) ทำให้เกิดสุข-ทุกข์ได้ไหม (ได้) ทำให้เกิดภพได้ไหม (ได้)  เห็นไหมหูหนวกตาบอดก็ไม่วาย ใครบอกว่าควักลูกตาทิ้ง ตัดประสาทหูทิ้ง 

จมูกดมกลิ่น อ้าว เหลือจมูกไว้ดมกลิ่น กลิ่นดี-ไม่ดี กลิ่นชอบ-ไม่ชอบ เกิดอารมณ์ เกิดสุคติจิต –ทุคติจิต เกิดภพปรากฏทันที  ภพในที่นี้ ไม่ได้มีข้อจำกัดเฉพาะแค่แผ่นดินที่เหยียบยืนนะ ท่านหมายรวมไปถึง การเกิดจิตดวงหนึ่งๆ  จิตดวงหนึ่งๆ ที่ปรากฏขึ้นด้วย ท่านหมายรวมไปถึงการได้รับรู้สัมผัสสภาวะอารมณ์ที่ปรากฏกับจิต แล้วทำให้จิตนั้น เกิด-ดับ เกิด-ดับ  เกิด-ดับ ด้วย  นั่นหมายถึง ภพหนึ่งๆ 

เมื่อใดที่จิตนี้เสวยอารมณ์ มันก็จะตามมาด้วยการสร้างภพทันที 

 

จิตที่ไม่เสวยอารมณ์  

แล้วถ้าจิตนี้ไม่เสวยอารมณ์ มันต้องวิจัย ต้องตั้งคำถาม ก็บอกแล้วว่าผู้ศึกษาวิถีแห่งจิต ต้องตั้งข้อสงสัย ขวนขวาย แสวงหา “ศึกษา - สงสัย - ขวนขวาย - แสวงหา”    

- ถ้าเราท่านทั้งหลายเกิดตาเห็น หูฟัง จมูกได้ ลิ้นรับ กายสัมผัส แล้วไม่เอามาสร้างเป็นอารมณ์ จะเกิดภพไหม ไม่เอามาสร้างเป็นอารมณ์ จะเกิดภพจิตไหม  ภพในจิตไม่มี แต่ภพทางกายยังดำรงอยู่ ใช่ไหม (ใช่) ภพทางกายยังดำรงอยู่ 

- แล้วถ้าไม่สร้างเป็นอารมณ์ ตาเห็น หูฟัง จมูกได้ ลิ้นรับ กายสัมผัสไม่สร้างเป็นอารมณ์ มีแต่ จิตรู้ อย่างเดียว ไปเรื่อยๆ เรื่อยๆ รู้-เฉย  รู้-ละ  รู้-วาง  รู้-ว่าง  รู้-เว้น  รู้-ปล่อย รู้-วาง รู้-ว่าง รู้-เว้น  

ไม่ปรุง ไม่จำ ไม่คิด... ไม่รับ ไม่จำ ไม่คิด...รู้ละ รู้วาง รู้ว่าง รู้เว้น รู้ปล่อย 

-รู้อยู่อย่างนี้เรื่อยๆ จนกระทั่งเรามั่นใจว่า เรารู้ทุกเรื่องแล้ว  เรารู้ เข้าใจ สภาวธรรมที่ปรากฏชัดเจนแล้ว มันพัฒนาเข้าไปสู่กระบวนการที่ใช้คำว่า มโนวิญญาณธาตุ แล้ว เป็นอะไรทีนี้ (พระอรหันต์) 
 

มโนวิญญาณธาตุ ก็คือ จิตรับรู้สภาวะที่ปรากฏอยู่ตามธรรมชาติโดยความเป็นจริง แล้วไม่สร้างอารมณ์ ไม่จำ ไม่คิด ไม่มีอุปาทาน  มีภพไหม ภพจิตไม่มี แต่ภพ (ทางกาย) ยังดำรงอยู่  

ข้าใจหรือยัง ไล่ให้ฟังให้รอบด้าน ตีลังกาไล่ โก้งโค้งไล่ วิ่งไล่ ยืนไล่ เดินไล่ก็เพื่อให้เห็นกระบวนการของจิตว่ามันแยบคาย มันแยบยล มันเป็นไปสารพัดเป็น แล้วมันก็ไม่เป็นไปตามสารพัดที่มันจะไม่อยากเป็นถ้าเราให้โอกาสมันที่จะไม่เป็น เราฝึกปรือมันที่จะไม่เป็น ลองหลับตานึกดู ตั้งข้อสงสัยต่อมา จิตที่มาฝึกปรือ กับจิตที่เสพ มันก็เกิดจากคนๆ เดียวกัน 

จิตที่รู้ กับ จิตที่ไม่รู้ มันก็คือ เกิดจากนาย ก., นาง ก. เหมือนกัน  แล้วทำไมมันแตกต่างกันอย่างนั้นล่ะ  

ก็เมื่อใดที่ จิตมันรู้ รับอารมณ์ มันเกิดจิต มันก็ สร้างภพสุคติ-ทุคติ  

แล้วเมื่อใดที่ จิตมันรู้ แต่มันไม่รับ แล้วมันก็ ไม่สร้างจิต ไม่สร้างภพ  
มันไม่มีอะไร มันไม่ได้อะไร ไม่เหลืออะไร    

 

สติ-ความระลึกได้  สัมปชัญญะ-ความรู้ตัว 

แล้วทำไมมันเกิดข้อแตกต่าง ข้อแตกต่างที่ทำให้จิตของนาย ก.ในเวลาหนึ่งกับของนาย ก. อีกเวลาหนึ่ง มันแตกต่างกันคืออะไร เมื่อวานเป็นควาย วันนี้เป็นคน มันคืออะไร ถ้ายังเป็นควายอยู่นี่ ยังไม่ใช่คน   

สติ สัมปชัญญะไงลูก  

ควายมีสติ สัมปชัญญะไหม ไม่มี  คนมีสติ สัมปชัญญะไหม มี  ต้องมีถ้าไม่มีเป็นควาย เพราะฉะนั้นข้อแตกต่างของจิตนาย ก. เมื่อชั่วโมงที่แล้วกับนาทีนี้ มันแตกต่างกันทั้งที่มันเกิดในคนเดียวกัน เช่น ชั่วโมงที่แล้วมันโง่ งี่เง่า มันเลอะเทอะ มันเยอะแยะ มันยุ่งยาก หยุมหยิม แต่ชั่วโมงนี้ ทำไมมันเรียบร้อย ชาญฉลาด เข้าใจ  

เพราะอะไรทำให้มันเกิดความแตกต่าง 

สติ -ระลึกได้...สัมปชัญญะ - รู้ตัว เท่านั้นแหละ  

พระสารีบุตรจึงต้องยืนยันบอกว่า สติและสัมปชัญญะ เป็นธรรม เครื่องอุปการะต่อธรรมทั้งปวง แม้ต่อจิตทั้งปวงด้วย  เช่นนี้แหละพระพุทธเจ้าจึงสอนให้เราต้อง   

๐ อินทรีย์สังวร ไม่พอ เอาไม่อยู่ อินทรีย์สังวร ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็เอาไม่อยู่   

๐ ออกถือวิเวก กายวิเวก จิตวิเวก ก็เอาไม่อยู่   

๐ ถ้าอย่างนั้น ฝึกศึกษา สั่งสม อบรม สติ-ความระลึกได้  สัมปชัญญะ-ความรู้ตัว 

ระลึกได้ - รู้ตัว  ระลึกได้ - รู้ตัว ขณะตาเห็น หูฟัง จมูกได้ ลิ้นรับ กายสัมผัส  
ระลึกได้ - รู้ตัว ระลึกได้ - รู้ตัว อยู่ตลอดๆ 

มันก็เลยสร้างให้เกิดข้อแตกต่างระหว่าง เราเมื่อวานนี้กับเราวันนี้ เรานาทีที่แล้วกับเรานาทีนี้  เพราะนาทีที่แล้วเราไม่ระลึกได้ เราไม่รู้ตัว แต่นาทีนี้เราระลึกได้ เรารู้ตัว มันจึงเกิดข้อแตกต่าง ข้อแตกต่างทางกาย ข้อแตกต่างทางวาจา และข้อแตกต่างทางจิตใจ  

พระพุทธเจ้าทรงยืนยันว่า ผู้มีสติในกาย กายไม่ ลำบาก  ผู้มีสติในวาจา วาจาไม่ ลำบาก  ผู้มีสติในใจ ใจนี้ก็ไม่ลำบาก เลย นี่คือ สิ่งที่พระพุทธเจ้ายืนยันอย่างชัดเจน 

 
ฉะนั้นคนฝึกศึกษาวิถีจิต ต้องรู้รอบ รู้ทุกเรื่อง ที่จิตนี้ รับ จำ คิด 

 

ถ้าไม่รู้รอบไม่รู้ทุกเรื่องที่จิตนี้มันทำหน้าที่ รับเข้ามา จำเข้ามา คิดเข้ามา แล้วเราบอกว่า เราไม่รู้ ไม่รู้ ไม่รู้ สุดท้าย เราจะกลายเป็นสร้างภพ สร้างชาติ สร้างชรา มรณะ พยาธิ ทุกขโทมนัสวนกันอยู่อย่างนี้ ไม่จบ ไม่สิ้น 

เพราะฉะนั้น ประโยชน์ของการศึกษา เรียนรู้ วิถีจิต คือ การตัดวงจร ของ การสืบเนื่อง ทางอารมณ์ ทางจิต ทางภพ ชาติ ชรา มรณะ พยาธิ ได้อย่างตรงชัด ไม่เยิ่นเย้อยืดยาด ไม่ต้องโอ้โลม ปฏิโลม ไม่ต้องโอ้เอ้ เจอหน้าก็ ชัวะๆๆ ตัดให้ขาดทันที ไม่ต้องอารัมภบทเยอะแยะมากมาย  

 
ให้ทำความเข้าใจเบื้องต้นอย่างนี้  อันนี้เพียงแค่เบื้องต้นนะ ยังมีท่ามกลาง และที่สุดอีก  
 

กว่าจะถึง มโนวิญญาณธาตุ จะต้องโดนรีด โดนขย้ำขยี้ เพื่อสร้างให้เกิดความสิ้นสงสัย 

ความสิ้นสงสัย ต้องปรากฏขึ้นกับคนเรียนรู้วิถีจิต  

ความสงสัยต้องไม่มีสำหรับคนเรียนรู้วิถีจิต ต้องทำให้สิ้นสงสัยให้ได้ 

 
------- 

เอ้าทีนี้ เขียนไว้หัวกระดาษ 

อาการของจิต ๑๐ อย่าง 

รู้อารมณ์ เป็น จิต 

คิด เป็น มโน 

รับ เป็น หทัย 

พอใจ เป็น มนัส 

ยินดี เป็น บัณฑระ 

สืบต่อในอารมณ์นั้น เรียกว่า มนายตนะ 

เป็นใหญ่ในอารมณ์นั้น เรียกว่า มนินทรีย์ 

รับรู้ในอารมณ์ เป็น วิญญาณ 

รับรู้อารมณ์เป็นเรื่องๆ เป็นอย่างๆ เรียกว่า วิญญาณขันธ์ 

รู้แจ้งในสรรพอารมณ์ทั้งปวง เรียกว่า มโนวิญญาณธาตุ  

 

ที่จริงมันก็ฝึกไม่ยากนะลูก แค่ทำตามกระบวนการ  
๑. อินทรีย์สังวร  ๒. วิเวก  ๓. ดำรง สติ ตั้งมั่น   ทำ ๓ อย่างนี้ให้เกิดทุกขณะ สักวันหนึ่งมึงก็อาจจะถึงซึ่งมโนวิญญาณธาตุไปเอง  สักวันหนึ่งในสักชาติหนึ่งหรือจะหลายๆ ชาติก็สุดแท้แต่บุญแต่กรรม  

ทีนี้เราจะมาแจกกันเป็นข้อๆ เป็นเรื่องๆ  

ก่อนจะแจกเข้าสู่กระบวนการอาการของจิต ๑๐ อย่าง ให้ตั้งคำถามก่อน ใครอยากถามอะไร เชิญที่เกริ่นมาทั้งหมดเริ่มต้นมาทั้งหมด มีอะไรสงสัยไม่เข้าใจในวิถีจิต มีไหม ถามเรื่องที่บรรยายผ่านมา ยังไม่ต้องถามอาการจิต ๑๐ อย่าง เพราะอาการจิต ๑๐ อย่าง ยังไม่ได้สอน  

สอนเรื่องอารมณ์สร้างจิต จิตสร้างภพ ภพสร้างชาติ ชาติทำให้เกิด ชรา มรณะ พยาธิ 

พระอริยเจ้ามีอารมณ์ไหม  

สามประเภทแรก ยังเป็นผู้มีอารมณ์ ประเภทสุดท้าย คือพระอรหันตเจ้าไม่มีอารมณ์ 
 

หน้าที่ของจิต รับ จำ คิด รู้  

พระอริยเจ้าประเภทไหนที่ตัดอารมณ์รับ อารมณ์จำ อารมณ์คิด แต่ยังรู้เป็นพระอรหันต์  

พระอรหันต์สามารถตัด รับ จำ คิด  แต่มีตัวรู้ จึงจะเป็นมโนวิญญาณธาตุ -รู้แจ้งในอารมณ์ทั้งปวง 

 
กระบวนการ รู้เป็นจิต มีอยู่ในหน้าที่ของจิต ๔ อย่าง สงสัยกันไหมว่าระหว่าง รู้เป็นจิต มันก็มี ตัวรู้  อยู่ในจิต แล้วทำไมจึงจะมีคำว่า มโนวิญญาณธาตุ ทั้งๆ ที่มันก็จิตดวงเดียวกัน ไม่ใช่หรือ จิตดวงเดียวกันไหม 

มันดวงเดียวกันที่ไหน ถ้าดวงเดียวกัน นาย ก.เมื่อชั่วโมงที่แล้ว มันงี่เง่าเหลือเกิน แล้วทำไมนาย ก. ชั่วโมงนี้ มันถึงได้พัฒนามาจนกระทั่งถึงมีอะไรต่ออะไรเยอะแยะ มันดวงเดียวกันไหม (ไม่) จิตมันคนละดวง  แต่มันเกิด-ดับเฉพาะ มันมีตัวผูกพันธนาการในสายของการเกิด-ดับนี้ คือ อุปาทาน-ความยึดถือ  

 
กระบวนการเกิด-ดับของจิต มันเหมือนกับเส้นทางรถไฟ  

กระบวนการของมัน เหมือนเส้นทางรถไฟที่มันต้องไปตามราง มันจะหลุดออกนอกราง ก็คือตกราง ไม่ได้ มันหลุดออกมาไม่ได้  แล้วเส้นทางรถไฟมีอะไร มันมีไม้หมอนแต่ละขั้น นั่นคืออาการทำงานของจิตแต่ละช่องๆ ในช่องไม้หมอน ก็ไม่รู้จะเปรียบอะไรให้ฟังแล้ว ก็ยกเอาแบบนี้ 

 

แต่ละช่องของจิตที่มันเกิด-ดับ อยู่ในช่องไม้หมอน เช่น ช่องนั้นมันเป็นกุศลจิต มันก็ทำหน้าที่ในส่วนกุศล กระโดดข้ามไปอีกช่องหนึ่งของไม้หมอนรถไฟ เกิดเป็นทุคติจิตมันเกิดในช่องนั้น พอข้ามไปอีกช่อง ทุคติจะตามไปไหม อาจตามก็ได้ อาจไม่ตามก็ได้ เพราะว่ามันยังอยู่ในกรอบของรางรถไฟอยู่ 
  

แต่อะไรเป็นตัวกำหนด สุคติ ทุคติ คืออะไร   
ไม่ต้องนึกถึงอวิชชา ไม่ต้องนึกถึงอะไร เอาแค่อารมณ์ จิต ภพ 

อารมณ์เป็นตัวกำหนดให้เกิดสุคติ ทุคติ   

เพราะฉะนั้นรถไฟที่วิ่งไปตามราง มันมีไม้หมอนรอง นั่นคือกระบวนการจิตยังดำรงอยู่แต่ละไม้ๆแล้วก็ทำให้รถนี้มันวิ่งไปตามราง คือการถือกำเนิดของเรายังไปอยู่ คือบังคับให้ไปสุดแค่นี้นะ จากนี่ไปหัวลำโพงอายุขัยมึงมี ๗๐  ทีนี้ก็จะต้องผ่านช่องแต่ละช่องว่าระหว่าง ๗๐ ปีนี้ มีสุข มีทุกข์ มีกุศล มีอกุศล มีบุญ มีบาป ฯล มันขึ้นอยู่กับช่องว่างระหว่างไม้หมอน มันก็สลับสับเปลี่ยนกันไปเรื่อยๆ เรื่อยๆ ด้วยเหตุผลว่าอุปาทานในอดีต อารมณ์ในอดีต และเหตุปัจจัยในปัจจุบัน มันสร้างให้เป็นเช่นนั้นตามเหตุตามปัจจัย 

 
เพราะฉะนั้น เมื่อใดที่เรายังไม่มีคำว่า ผู้ขับรถไฟที่ชำนาญ หรือไม่มีตัวสติ-สัมปชัญญะควบคุม เราก็จะต้องตกอยู่ในช่องของไม้หมอนแต่ละช่องๆ รถไฟมันวิ่งเรียบที่ไหน มันก็ไปของมัน ขลุกขลักๆ ไปเรื่อยๆ กระบวนการเกิด-ดับๆ ของจิต อายุขัยของจิต ก็คือเทียบเท่ากับช่องของไม้หมอนแต่ละช่อง 
 

กุศลจิตเกิดกุศลจิต ช่องต่อไปก็ดับ อกุศลจิตเกิด ช่องต่อไปก็อกุศลจิตดับ อย่างนี้เป็นต้น มันจะสลับกันอย่างนี้ต่อไปเรื่อยๆ แต่มันเกิดแล้วไม่ใช่ดับอยู่ตรงนั้นเลย มันเกิดแล้วทำกรรม มันจึงได้ที่อยู่ของมันช่องหนึ่ง แล้วกระโดดข้ามไปอีกช่องหนึ่งก็ดับ มันก็มีที่อยู่ของมันอีกช่องหนึ่ง แล้วเกิดใหม่ก็อีกช่องหนึ่ง มันก็ส่งไม้ต่อกันไปเรื่อยๆ เรื่อยๆ อย่างนี้  

นั่นคือ กระบวนการ เกิด- ดับๆ ของจิต 

 
 

เพราะฉะนั้นจิตที่เป็นกุศล  กับจิตที่เป็นอกุศล ดวงเดียวกันไหม  

(ไม่) ก็มันคนละดวง คนละช่อง  แล้วคนละดวงคนละช่อง มันเกิดจากเหตุปัจจัยอะไร ก็ไปดูอารมณ์สิ ทีนี้ว่ามีอารมณ์อะไร 

อารมณ์กุศล มันก็ทำให้จิตนี้เป็นกุศล 

อารมณ์อกุศล มันก็ทำให้จิตนี้เป็นอกุศล 

อารมณ์จึงเป็นตัวสร้างจิต และอารมณ์เป็นตัวทำให้จิตนี้สร้างภพ 

 

๐ อาการจิตข้อที่ ๑ รู้เป็นจิต มันจะเป็นจิตได้อย่างไร  

ทีนี้กลับมาย้อนดู อาการจิตข้อที่ ๑ รู้เป็นจิต มันจะเป็นจิตได้อย่างไร ต้องทดสอบตัวเอง 

จิตรู้-ตัวรู้  
เมื่อตาเห็น- รู้ไหม เป็นจิตเลยไหม ลองสังเกตดู 

-ส่งความรู้สึก ตาเห็น รู้ไหม  รู้ทางตา เรียกว่า จักษุวิญญาณ  รู้ทางหู เรียกว่า โสตวิญญาณ 

ทีนี้จะมีคำว่า วิญญาณ เข้ามา วิญญาณ ก็คือการรับรู้ รับรู้แต่ยังไม่รับอารมณ์นะ แค่รู้เฉยๆ ยังไม่ได้มีการปรุงแต่งจนกลายเป็นอารมณ์ 

-ตาเห็น - รู้  พระอริยเจ้าระดับพระอรหันต์ จึงตาเห็นได้ไหม (ได้)  รู้ไหม (รู้) เป็นอารมณ์ไหม ไม่เป็นอารมณ์  พวกมึงก็เป็นอรหันต์กันบ่อย เคยเห็นไหมแบบประมาณว่ามองแล้วเฉยๆ เคยมองแล้ววางเฉย มีไหม (มี) 

เพราะฉะนั้นคำว่า รู้เป็นจิต มันจึงเชื่อมสัมพันธ์มาสุดท้ายของจิตคือ มโนวิญญาณธาตุ –รู้แจ้งในอารมณ์  

คำว่า รู้แจ้งในอารมณ์ (มโนวิญญาณธาตุ) สุดท้าย กับ รู้เป็นจิต จิตมันแตกต่างกันไหม 

แตกต่างกัน รู้เป็นจิตนี่รู้เฉยๆ ยังไม่ได้ผ่านกระบวนการใช้ปัญญา  แต่มโนวิญญาณธาตุนี่มันผ่านการรู้แจ้งมันใช้ปัญญาใคร่ครวญแล้ว ไม่มีอะไรให้รู้แล้ว สิ้นสงสัย 

แต่รู้เฉยๆ นี่ยังสงสัยอยู่ไหม มันยังไม่สิ้นสงสัย  พวกที่รู้เฉยๆ ไม่ได้สงสัย จะสิ้นสงสัยไหม  ไม่สิ้น ไม่ได้สิ้นสงสัย  

แต่มโนวิญญาณธาตุ รู้แจ้งชัดในอารมณ์ทั้งปวง สงสัยไหม ไม่สงสัยแล้ว  

เหตุที่ไม่สงสัย เพราะรู้แจ้งหมดแล้ว เห็นความแตกต่างกันไหม 

 

แล้วจิตดวงที่ รู้เป็นจิต กับ จิตที่เป็นมโนวิญญาณธาตุ จิตดวงเดียวกันไหม  

(ไม่) คนละดวงเลย แล้วมันเกิดในคนๆ เดียวกันไหม (คนเดียวกัน)  คนๆ เดียวกัน แต่มันเกิดในต่างสภาวะจิตกัน เข้าใจไหม 

มันเกิดต่างสภาวะจิต แต่เกิดในนาย ก.คนเดียวกัน  จากนาย ก. ก็มาเป็นพระอริยเจ้า ก. 

 
รู้แล้วเฉย ไม่มีอารมณ์ ไม่มีปัญญา 

พวกเราเคยมองแล้วเฉยๆไหม  เมื่อใดที่เรามองทางตา-เฉย   หูฟังเสียง-เฉย  จมูกดมกลิ่น-เฉย   ลิ้นรับรส-เฉย  กายสัมผัส-เฉย เมื่อนั้นแสดงว่า ใจเราเป็นจิตแล้ว เป็นการรู้อารมณ์ข้อแรก  รู้เป็นจิต  

ในที่นี้ท่านไม่ได้แจกไว้ว่า เป็นอารมณ์ แต่ทุกเรื่องที่เข้ามา ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ท่านแจกเอาไว้ในหลักอภิธรรมว่า ล้วนเป็นอารมณ์ทั้งหมด เป็นความรู้แล้วทำให้เกิดอารมณ์ได้ทั้งหมด แต่ในที่นี้ข้อแรกมีอารมณ์อยู่ไหม ยังไม่มีอารมณ์ ไม่มีแม้แต่กระทั่งปัญญา ไม่มีแม้กระทั่งคำว่า สงสัย เรียกว่า รู้เฉยๆ  

พวกมึงมีอยู่ไหม (มี) คนบ้า มีไหม..มี คนเอ๋อๆ มองอะไร เอ๋อๆ มีไหม มี เขาถึงบอกว่า จิตบ้ามีอยู่ ทุกคนมีจิตบ้าอยู่ไหม  

ไอ้ที่คนบ้า มันบ้าก็เพราะจิตดวงนี้มันเกิดมาก 

ไอ้ที่คนโง่ มันโง่ก็เพราะจิตดวงนี้มันเกิดมาก 

ไอ้ที่คนไม่รู้จักสงสัย แล้วไม่คิด รู้ไม่จริง รู้ไม่เท่าทัน ก็เพราะจิตดวงนี้มันเกิดขึ้นมาก 

รวมความแล้ว จิตรู้เฉยๆ นี้ดีไหม ไม่ดีเลย จิตดวงนี้ไม่ดี เพราะมันรู้เฉยๆ รู้ทางตาก็เฉยๆ รู้ทางหูก็เฉยๆ  

เพราะฉะนั้น ถ้าใครไปพูดและสอนกรรมฐาน บอกว่า ให้รู้เฉยๆ แสดงว่า สอนให้เราเป็นบ้า สอนให้เราโง่ เอามาเทียบกับคำสอนที่ว่า รู้แล้วเฉยๆ ทำเฉยๆ จะได้วางได้  เทียบกับคำว่า มโนวิญญาณธาตุ มันใช่ไหม มันคนละเรื่อง มันไม่ใช่จิตที่เป็นเหตุปัจจัยให้ตรัสรู้ได้เลย 

 

รู้เฉยๆ นี่มันตรัสรู้ได้ไหม  

(ไม่ได้) ก็โง่ไง ..ว่างแบบคนโง่ ว่างแบบไม่มีสติปัญญา ว่างแบบไม่รู้แจ้ง ว่างแบบไม่เห็นจริง ว่างแบบไม่รู้เหตุเกิดทุกข์ ว่างแบบไม่รู้ทางดับทุกข์นั้นมีอยู่ ว่างแบบไม่รู้ข้อปฏิบัติของความดับทุกข์มันอยู่ตรงไหน 

เพราะฉะนั้นสัญชัยปริพาชก จึงบอกว่าสมณโคดมจงสอนคนฉลาด คนฉลาดในที่นี้ หมายถึงคนที่มีจิตมโนวิญญาณธาตุ ส่วนจิตที่เป็นจิตรู้เฉยๆ เราจะเป็นคนสอนเองเพราะมีมากกว่า   

ที่หลวงปู่เคยสอน หยิบแล้ววาง วางแล้วว่าง ดับแล้วเย็น ไม่ใช่ หยิบแล้ววาง วางแล้วว่าง ดับแล้วเย็นแล้วไม่ใช้ปัญญาพิจารณาเมื่อไหร่  

ถ้าที่นี่เราพูดว่า  “ศึกษา - สงสัย – ขวนขวาย – แสวงหา”   
“เรียนรู้ชีวิต – ศึกษาวิชชา - ลุถึงปัญญา – นำพาชีวิต”   ที่นี่สอนแบบนี้  

ไอ้แบบเฉยๆ เวทนาปวดก็ ปวดหนอ ปวดหนอ เฉยๆ เฉยๆ เจ็บหนอ เจ็บหนอ เฉยๆ เฉยๆ ควาย มันจะขัดกับคำสอนพระพุทธเจ้าทันที มโนวิญญาณธาตุ คือคำว่ารู้แจ้งในอารมณ์ทั้งปวง แล้วถ้าเฉยๆ มันจะแจ้งไหม (ไม่)  

 

พระพุทธศาสนาสอนให้มีปัญญา  

เพราะฉะนั้น พระพุทธศาสนานี้ จึงมีคำสอนที่ไม่เหมือนกับศาสนาอื่น ตรงที่สอนให้มีปัญญา  

เห็นไหม เป็นบทพิสูจน์ว่าศาสนาพุทธสอนให้ทุกคนมีปัญญา ถ้าเมื่อใดที่บอกว่าให้เฉยต่อทุกเรื่องแล้วไม่มีปัญญาเลย เป็นศาสนาพุทธไหม ไม่ใช่ ไม่ใช่คำสอนของพระพุทธเจ้า 
 

การเรียนรู้วิถีจิต อาการจิต พระพุทธเจ้าจึงยืนยันว่า ผู้ฉลาดในจิต คือฉลาดในโลก  

และไอ้ประเภทมีคำสอนบอกว่า ตาเห็น เฉย ...หูฟังเสียง เฉย... จมูกดม เฉย.. เฉยไว้ ขันติ - อดทน ใช่ไหม (ไม่ใช่) มันคนละเรื่องเลย จบ  

เข้าใจหรือยังว่า ทำไมหลวงปู่จึงสอนอาการจิต ๑๐ อย่าง แล้วจึงเน้นเอาข้อที่ ๑๐ ในการเปรียบแต่ละขั้นของจิต เพราะอยากให้รู้ว่า ที่เราเรียนมา ศึกษากันมาหลากหลายสำนักนั้น มันสามารถทำให้จิตของเรานี้ มีมโนวิญญาณธาตุไหม  

ถ้าไม่รู้แจ้งในอารมณ์ทั้งปวง อย่ามาบอกว่านั่นคือวิธีที่ถูกต้อง ไม่ใช่   
ตราบใดที่ยังไม่รู้แจ้งในอารมณ์ทั้งปวง แล้วมันจะดับเหตุแห่งทุกข์ได้ไหม (ไม่ได้)  

ก็ทุกข์มันเกิดจากอารมณ์ ใช่ไหม  เกิดจากจิต  เกิดจากภพ ใช่ไหม 

แล้ว อารมณ์เป็นตัวสร้างจิต  จิตเป็นตัวสร้างภพ  ภพสร้างชาติ ชรา มรณะ พยาธิ 

แล้วถ้าเราดับอารมณ์ ดับจิตไม่ได้ ดับภพไม่ได้ แล้วไม่รู้ชัดตามความเป็นจริงของการเกิดอารมณ์ เกิดจิต เกิดภพ  เรารู้เฉยๆ รู้เฉยๆ รู้เฉยๆ ก็เกิดมาเป็นควายอย่างเดียว ชาติต่อๆ ไปก็ต้องเป็นควายไปเรื่อยๆๆๆๆ ไม่มีอะไรรู้ชัดตามความเป็นจริงเลย ต้องให้เขาสนตะพายจมูกดึงไปตลอดเวลา  

ไม่รู้แจ้งชัดในอารมณ์ทั้งปวง แล้วมันไปชาติไหนถึงจะดับทุกข์ได้ 

เราศึกษาพุทธธรรม เพราะต้องการดับทุกข์ไม่ใช่หรือ หรือศึกษาไปเพื่อให้มันเฉยๆ รู้เฉยๆ  รู้เฉยๆ ก็ไปนั่งหลับตา ใส ปิ๊ง หรือไม่ก็ พุทโธ ธัมโม สังโฆ  อะไรว่าไป ก็จบแล้ว ไม่ต้องทำอะไรมาก อย่างนี้มีอยู่ไหมก่อนพระพุทธเจ้าเกิด (มี) โอ้โห เยอะแยะมากมาย ตั้ง ๖๐๐ กว่าลัทธิ เขาทำได้กันจนถึงสมาบัติ ๘  ทำไมพระพุทธเจ้าถึงไม่เอา ก็เพราะมันไม่พ้นทุกข์  

คนมาเข้านับถือพุทธธรรมของพระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อหวังพ้นทุกข์ ไม่ใช่หวังเฉยๆ เข้าใจเสียใหม่ ถ้าอยากอยู่เฉยๆ ไม่ต้องมานับถือศาสนาพุทธ ศาสนาไหนก็อยู่ได้  

 

ศาสนานี้เฉยไม่ได้ ต้อง เรียนรู้ - สงสัย - ขวนขวาย - แสวงหา จน สิ้นสงสัย  

นั่นคือ ข้อจำกัดของศาสนานี้       

เพราะฉะนั้นการเรียนรู้อาการจิต ๑๐ อย่างและวิถีจิต มันทำให้เราสามารถตีความได้ว่าคำสอนใดถูก คำสอนใดผิด เพราะเอามาเทียบได้กับอาการจิตเหล่านี้ 

วิถีใดที่มันเป็นทางเดินไปแห่งจิตเหมือนกับทางรถไฟ  สุดท้ายมันไปสิ้นสงสัยได้เมื่อปลายอุโมงค์ หรือปลายทาง นั่นถือว่าใช่ศาสนาพุทธ คำสอนพุทธธรรม 

แต่ถ้ามันออกไปแล้วมันตกราง หรือมันจอดอยู่เฉยๆ มันไม่สิ้นสงสัย มันไม่ไปถึงปลายทาง แล้วมันจะอยู่ยังไง มันจะเฉยๆ อย่างนั้นเหรอ ก็กระโดดไปตามช่อง เขาเรียกกระโดดจับกบ กระโดดซุกตามช่องไม้หมอนไปเรื่อยๆๆ เดี๋ยวก็กุศลจิตเกิด เดี๋ยวอกุศลจิตเกิด แล้วกว่าจะเกิดก็ต้องดับอีกช่องหนึ่ง ดับแล้วก็ต้องเกิดใหม่อีกช่องหนึ่ง ไม่รู้ว่าช่องต่อไปที่เกิดจะเป็นกุศล หรืออกุศลอีกอย่างนี้   

 
บอกแล้วว่าเมื่อใดที่ ตาเห็น หูฟัง จมูกได้  ลิ้นรับ กายสัมผัส อารมณ์ที่ปรากฏกับจิต  

นั่นคือ ความไม่แน่นอนในการอาศัยแห่งจิตนี้ เป็นเครื่องอาศัยที่ไม่ใช่มั่นคงเลย  

จิตนี้มีเครื่องอาศัยที่ไม่มั่นคงเลย  

เมื่อมันไม่มั่นคง มันก็ต้องเกิดอารมณ์หลากหลายขึ้นอีก แล้วมันก็ทำให้เกิดจิตซึ่งเป็นสุคติจิต ทุคติจิต แล้วทำให้เกิดสุคติภพ ทุคติภพ หลวงปู่ถึงได้ถามว่า เหนื่อยไหม เหนื่อยไหม เข้าใจหรือยังเสียเวลาไปทำไมตั้งเยอะแยะขนาดนี้ อยู่มาถึงวันนี้แล้วยังเสียเวลาไม่เลิก แล้วจะมีเวลาให้เสียอีกเท่าไหร่ ดูแต่ละคนสิ เหนียงยานกันทั้งนั้น ลองจับ ดึงดูซิ ไม่ต้องไปนั่งตบเหนียงหรอก ตบเหนียง ตบแก้ม ไม่มีประโยชน์ แล้วไปนั่งเสียเวลาอยู่ คลำอะไรก็ไม่รู้ เลอะเทอะ 

พอแค่นี้ก่อน เช้าวันนี้ เข้าใจไหม รู้เรื่องไหม รู้เป้าประสงค์ของพระผู้มีพระภาคเจ้าไหมว่า ต้องการให้เราเป็นอย่างไร ฝึกอะไร ศึกษาอะไร ยกเอาอาการจิตข้อสุดท้าย (มโนวิญญาณธาตุ) ขึ้นตั้ง 

“รู้แจ้งในสรรพอารมณ์ทั้งปวง” เป็นต้นแบบ เพราะอาการจิตข้อสุดท้ายเหมือนกับสถานีสุดท้ายของรถไฟเที่ยวนี้ ไม่ว่าจะมาทางทิศไหนต้องไปสถานีสุดท้ายให้ได้ นานไหม (นาน) ปู๊นนู่นแน่ะ ถ้าเมื่อใดที่ตกรถไฟ ตกเที่ยวก็ไม่เป็นไร รอโบกขึ้นใหม่ แต่ตอนนั้นจะมีแรงโบกไหม   
 
รู้แจ้งในอารมณ์ทั้งปวง แล้วจะรู้เหตุได้ไหม   

มันก็คือต้นเหตุ อารมณ์เป็นต้นเหตุแห่งทุกข์ไหม อารมณ์เป็นต้นเหตุแห่งชาติไหม อารมณ์เป็นต้นเหตุแห่งโทมนัส ความเศร้าโศก เสียใจ ความไม่สบายกาย ไม่สบายใจไหม  

แล้วเมื่อมันรู้แจ้งแล้ว มันก็ถือว่า รู้แจ้งในเหตุแห่งทุกข์ทั้งปวง 
พอรู้แจ้งในเหตุแห่งทุกข์ทั้งปวง เราก็จะดับ   
ธรรมใดเกิดแต่เหตุ พระศาสดาทรงแสดงเหตุและความดับเหตุแห่งธรรมนั้น”  เท่านั้นก็จบหมด  

ไม่มีอะไร ไม่ต้องสงสัยต่อไปแล้ว สิ้นสงสัยเสียแล้ว 

 

เขาอัดเทปไว้หรือเปล่า อัดเทปไว้แล้วถึงเวลา ถอดเป็นซีดี เอาไปฟังกันที่บ้าน จะได้เข้าใจ เวลาใครเขาหลงทาง ก็ให้เขาเปิดฟัง เขาจะได้รู้หรือฟังไม่เข้าใจก็ให้มันไปต้มน้ำดื่ม ดื่มไม่พอ ก็ให้มันเคี้ยวไปเลย จะได้เข้าใจ คือพูดกับคนที่ไม่เข้าใจ ไม่พยายามทำความเข้าใจ จะพูดยังไงก็ไม่เข้าใจ เราก็ต้องยอมรับว่า เขาไม่ใช่มาอย่างนี้ชาติเดียว เขาต้องมาหลายภพหลายชาติมาก บางทีก็ยากกับการอธิบายนะ มันเหมือนกับไปสีซอให้ควายฟัง ประมาณนั้น แต่คนที่เขาพยายามจะเข้าใจ เขาจะรู้ เขาจะขวนขวาย เขาจะแสวงหา เขาจะรู้ว่า นี่เป็นทาง อันไหนที่ไม่ใช่ทาง เขาก็จะแยกแยะได้ 

เรามาทบทวนก่อนเลิก วิถีแห่งการดับอารมณ์ ดับจิต ดับภพ ๓ อย่าง ที่ให้เขียนไว้ อะไรบ้าง  

๑. อินทรีย์สังวร

. วิเวก 

. ดำรง สติ ตั้งมั่น 

ช่วงเช้าของการเรียนศึกษาได้พูดถึงเรื่องทฤษฎี  ช่วงบ่าย จะเน้นเรื่องการปฏิบัติสามอย่างนี้  

(กราบ) 

 

แหล่งข้อมูล

หลวงปู่พุทธะอิสระ. ๒๕๖๐. การเกิด-ดับอารมณ์ ดับจิต ดับภพ  ใน วิถีจิต วิถีปัญญา, (น. ๘๓ - ๑๑๔) . นครปฐม:

         มูลนิธิธรรมอิสระ.

หลวงปู่พุทธะอิสระ แสดงธรรม เช้า ณ ศาลาปฎิบัติธรรม วันเสาร์ที่ 15 กรกฎาคม 2560, สืบค้น ตุลาคม ๒๕๖๗

        จาก https://www.youtube.com/watch?v=_Nm1mUkTEdI&t=0s 

หลวงปู่พุทธะอิสระ แสดงธรรม บ่าย ณ ศาลาปฎิบัติธรรม วันเสาร์ที่ 15 กรกฎาคม 2560 , สืบค้น ตุลาคม ๒๕๖๗                               

        จาก   https://www.youtube.com/watch?v=AAki1vRYsJI

43 | 20 กุมภาพันธ์ 2025, 15:46
บทความอื่นๆ