วัดอ้อน้อย (ธรรมอิสระ) ต.ห้วยขวาง อ. กำแพงเสน จ.นครปฐม

บทที่ ๒๙ สร้างสุจริตธรรม ให้เป็นอาจิณณกรรม

ปราณโอสถ กายรวมใจ กรรมฐานในวิถีมรรคาปฏิปทา

ชื่อเรื่อง สร้างสุจริตธรรม ให้เป็นอาจิณณกรรม 

แสดงธรรม วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๖๖ ณ ศาลาปฏิบัติธรรม 

 

สาระสังเขป 

         กล่าวถึงการทำ พูด คิด อย่างความซื่อตรง จะทำให้จิตมีอานุภาพสามารถควบคุมธาตุในกายได้ จึงต้องทำเป็นอาจิณณกรรม

 

คำสำคัญ

         ความซื่อตรง, อาจิณณกรรม

------------ 

 ๐ ตลอดชีวิตที่ผ่านมา เรามีอาจิณณกรรมที่ไม่สุจริต คือปากพูดอย่าง ใจคิดอย่าง มือทำอีกอย่างหนึ่ง  อย่างนี้เขาเรียกว่า ไม่สุจริตธรรม   

๐ ถ้าสุจริตธรรมแล้ว ปากพูดอย่างไร คิดอย่างไร มือก็ทำอย่างนั้น “พูด ทำ คิด” เรื่องเดียวกัน เวลาปฏิบัติธรรม เจริญธรรม ไม่ว่าจะเป็นสมถะก็ตาม วิปัสสนาก็ตาม มันก็จะทำให้เราซื่อตรง ตั้งมั่น ดำรงอยู่ในธรรมที่เราเจริญ 

๐ มายาขจิต ไม่มีใครมาสร้างให้เรา เพราะพฤติกรรมที่ตัวเองเป็นทุจริตธรรม ไม่ใช่สุจริตธรรม 

ฝึกสร้างอาจิณณกรรม ในฝ่ายกุศล ทำให้ตนเข้าถึงระเบียบ ความคิดเป็นระบบในการมีชีวิต  

๐ สุจริตธรรม หมายถึง “ความซื่อตรง” ต่อสิ่งที่เราทำ  

โดยเฉพาะกระบวนการปฏิบัติธรรม ถ้าไม่ซื่อตรง จะไขว้เขว เราจะเคว้งคว้าง เราจะไม่ชัดเจนไขว้เขว เคว้งคว้าง ไม่ชัดเจน อย่างไร ก็ดูตัวอย่างง่าย ๆ เราจะนั่งสมาธิ ทำสมาธิให้ตั้งมั่น อ้าว..มันไม่ใช่สมาธิแล้ว มันเป็นกะทิไปแล้ว ไอ้นั่นมันก็มา ไอ้นี่มันก็ไป วูบวาบ ไอ้นั่นมันว้าวุ่น ไอ้นั่นมันวุ่นวาย ทุกอย่างประดังประเดเข้ามา  ด้วยเหตุผลที่ว่า..ตลอดชีวิตที่ผ่านมา เรามีอาจิณณกรรมที่ไม่สุจริต คือปากพูดอย่าง ใจคิดอย่าง มือทำอีกอย่างหนึ่ง  

อย่างนี้เขาเรียกว่า ไม่สุจริตธรรม  

 

ถ้าสุจริตธรรมแล้ว ปากพูดอย่างไร คิดอย่างไร มือก็ทำอย่างนั้น “พูด ทำ คิด” เรื่องเดียวกัน หลวงปู่ เคยสอนไหม กูสอนบ่อยๆ ชั่วชีวิต ต้อง “ทำ พูด คิด” เรื่องเดียวกัน นั่นแหละคือ สุจริตธรรม  

เวลาปฏิบัติธรรม เจริญธรรม ไม่ว่าจะเป็นสมถะก็ตาม วิปัสสนาก็ตาม มันก็จะทำให้เราซื่อตรง ตั้งมั่น ดำรงอยู่ในธรรมที่เราเจริญ แต่ถ้าทำอีกอย่างหนึ่ง พูดอีกอย่างหนึ่ง คิดไปอีกเรื่องหนึ่ง มันเป็นอาจิณณกรรม ในการสั่งสมอบรมให้ตนเองฉ้อฉล ซับซ้อน ไม่ถูกตรง มีเป้าประสงค์อันไม่ชัดเจน พอมีเป้าประสงค์อันไม่ชัดเจน สิ่งที่จะตามกลับมาคือ ตัวเราจะกลายเป็นอะไร คือ มันไม่ได้ผลจริง แม้กระทั่งเวลาจะเจริญสติ เจริญสมาธิ เจริญกรรมฐาน นิมิตที่เกิดขึ้นก็กลายเป็นนิมิตจอมปลอม เป็นเรื่องโกหก เป็นมายาขจิต

          เพราะฉะนั้น มายาขจิต ไม่มีใครมาสร้างให้เรา เพราะพฤติกรรมที่ตัวเองเป็นทุจริตธรรม ไม่ใช่สุจริตธรรม พูดอย่างหนึ่ง มือทำอย่างหนึ่ง ใจคิดอีกอย่างหนึ่ง นั่นแหละ คือตัวสร้างมายาขจิต เพราะฉะนั้น หลายคนเวลาปฏิบัติธรรมมีปัญหาอย่างนี้ นั่งสมาธิมันไม่สงบเลย มันว้าวุ่น มันมีนู่นนี่เข้ามาแทรก เวลาเจริญกรรมฐานจะเห็นพระพุทธเจ้า  

เห็นพระธรรม เห็นพระสงฆ์  

เวลาเจริญสติปัญญา ทำไมมันคิดไม่ได้ มองไม่ได้ เห็นไม่ได้ ทำไมมันพิจารณาไม่ชัดเจนถี่ถ้วนอีกทั้งจิตก็ไม่ตั้งมั่น วุ่วอกแวก นวาย มันว้าวุ่นไปหมด ทั้งหมดนี่มันเกิดจากการสั่งสมอบรม #อาจิณณกรรมในทุจริตธรรมไง คือไม่สุจริต ก็อย่างที่บอกล่ะ ปากพูดอย่าง ใจคิดอย่าง มือทำอีกอย่าง ไม่ซื่อตรงต่อตัวเอง  

แต่ถ้าทั้งวันตลอดเวลา มีชีวิตอยู่ต่อเนื่องเนือง ๆ เราซื่อตรงต่อสิ่งที่ทำ คำที่พูด สูตรที่คิด ทำพูดคิดเรื่องเดียวกัน แต่ละเรื่อง ๆ ให้จบสิ้นไป ให้มันจบเบ็ดเสร็จไป เท่านั้นแหละ 

เราก็จะกลายเป็นคนสั่งสม อบรมอาจิณณกรรมในสิ่งที่เป็นสุจริตธรรมในใจ คือความซื่อตรงในใจ 

มึงเคยสังเกตดูไหม เวลาหลวงปู่ทำงานนี่น่ะ จะเขียนหนังสือ จะทำนู่นนี่นั่น  
กูจะไ ม่วอกแวก กูจะทำของกู แล้วใครจะมาชวนกูทำนู่นนี่นั่น เดี๋ยวกูก็ตะหวาด ตะเพิดไล่ เพราะกูกำลังทำให้ตัวเองซื่อตรงต่อการงานที่ทำ ทำให้มันจริง ๆ จัง ๆ จับจ้อง ชัดเจน ตั้งใจ จริงจัง 

อย่าเป็นผู้สั่งสม อบรมความทุจริต วอกแวกว้าวุ่น วุ่นวาย สับสน ทุรนทุราย แล้วมันจะอลหม่านกับการปฏิบัติธรรมเมื่อถึงเวลาที่เราต้องการความสงบ  

 

๐ สั่งสมอาจิณณกรรมในความว้าวุ่น ส่งผลไปถึงธาตุ ๔ ในกาย 

แล้วพวกนี้นอนไม่หลับหรอกนะ เพราะพวกสั่งสมอาจิณณกรรม ในความว้าวุ่น  
ปากพูดอย่าง มือทำอีกอย่างหนึ่ง ใจคิดอีกอย่างหนึ่งนี่นะ เวลานอน นอนก็ยากนะ แล้วก็ธาตุจะพิการ อาหารไม่ย่อย มันเป็นผลกระทบต่อเนื่อง ส่งผลไปถึงธาตุทั้ง ๔ ภายในกาย มันจะว้าวุ่นไปหมดนะ   

ไม่ใช่ว้าวุ่นเฉพาะแค่ว่าชีวิต การดำรง ปฏิบัติธรรม “ทำ พูด คิด” อย่างเดียว  
มันรวมไปถึงกระบวนการทำงานของธาตุทั้ง ๔ ภายในกาย มันจะแปรปรวนไปหมด มันจะสับสนไปหมด มันจะไม่ชัดเจน มันจะไม่ซื่อตรง เพราะเราสั่งสมอบรมอาจิณณกรรมอย่างนั้นมาตลอดเวลา จนกลายเป็นความคุ้นเคยของธาตุทั้ง ๔ ภายในกายก็แปรปรวนไปด้วย  

กินก็อาหารไม่ย่อย ท้องอืด ท้องเฟ้อ เวลานอนก็ดิ้นจนหนังกลับ กระสับกระส่าย เอาไอ้นู่นมาคิด เอาไอ้นี่มาจำ มาใคร่ครวญ วิตกวิจาร พินิจพิจารณา  แต่เวลาถึงเวลาจะคิด ก็คิดไม่ออกอีก ร่างกายซึมเศร้า สมองเมื่อยล้า ตื่นขึ้นมาก็ไม่สดชื่น ไม่กระชุ่มกระชวยไม่กระฉับกระเฉง  

ทั้งหมดนี่มีคนอื่นเขาทำให้เราที่ไหน ตัวเราเองน่ะเป็นคนทำ ไม่ใช่คนอื่นมาทำให้เรา แล้วเราก็เป็นผู้ทำร้ายตัวเราเอง  

เพราะฉะนั้นจึงอยากจะฝากท่านที่รักทั้งหลายเอาไว้ว่า พยายามสั่งสม อบรม 

อาจิณณกรรมในทางสุจริตธรรมอยู่ต่อเนื่อง พูดอย่างไร ทำอย่างนั้น  ทำอย่างไร คิดเช่นนั้น “พูด ทำ คิด” ให้มันกลายเป็นเรื่องเดียวกัน ทุกวี่ทุกวัน ทุกเวลานาทีเดือนปี  ทำมันจนกลายเป็นอาจิณณกรรม  เป็นสันดาน เป็นนิสัย เป็นพฤติกรรมที่ชัดเจน ต่อการทำหน้าที่ของธาตุดิน น้ำ ลม และก็ไฟ แต่ถ้าหากว่าเราทำอาจิณณกรรมในการรวนเร แปรปรวน ไม่คงที่ ไม่ชัดเจน ธาตุทั้ง ๔ มันก็ไม่คงที่ไม่ชัดเจน หน้าที่ของมันก็ไม่คงที่ ไม่ชัดเจน  

ดินก็ทำผิดแผกแตกต่างไป  

น้ำก็ทำผิดแผกแตกต่างไป  

ลมก็ทำผิดแผกแตกต่างไป  

ไฟธาตุก็ทำผิดแผกแตกต่างไป  

พวกท้องอืด ท้องเฟ้อ ธาตุพิการ อาหารไม่ย่อย  

 
          ทบทวนพฤติกรรมตัวเอง แต่ละวันทำอาจิณณกรรมอย่างไร วันนี้มีคนไข้มาก็มีพฤติกรรมอาการอย่างนี้ ผู้มีอาจิณณกรรมอันไม่ซื่อตรง ไม่ประพฤติสุจริตธรรม ธาตุภายในก็แปรปรวน อาหารไม่ย่อย ขับถ่ายไม่สะดวก ธาตุพิการ ร่างกายไม่กระปรี้กระเปร่า นอนก็หลับ ๆ ตื่น ๆ  ตื่นมาแล้วก็ไม่สดชื่นแจ่มใส  ทั้งที่เราก็พยายามนอนนานแล้วนะ แต่นอนก็เหมือนไม่ได้นอน  อย่าไปโทษคนอื่น ต้องโทษตัวเองที่มีอาจิณณกรรมที่ไม่ชัดเจน ต้องโทษตัวเราว่าทำอาจิณณกรรมในปัจจุบันอย่างไร  วัน ๆ เรามีชีวิตอยู่นี่น่ะ ทำเรื่องเดียวกันกับที่เราพูดมั้ย พูดเรื่องเดียวกับสิ่งที่เราทำมั้ย แล้วก็ทำแล้วพูดมาจากความคิดอย่างเดียวกันมั้ย ถ้าทำอย่าง พูดอย่าง คิดอีกอย่างหนึ่ง คือต้นเหตุแห่งความว้าวุ่น ทุรนทุราย ความสับสน แม้กระทั่งการนอนก็แปรปรวน ธาตุทั้ง ๔ ก็แปรปรวน ไม่คงที่ ไม่ทำหน้าที่อย่างซื่อตรง 

 

๐ จิตที่มีจิตตานุภาพ มีอำนาจคุมธาตุทั้ง ๔  
          ธาตุในกายมันเป็นไปตามอำนาจแห่งจิตลูก..จิตมีจิตตานุภาพ มีอำนาจคุมธาตุภายในกายได้ ถ้าเราอยากให้ธาตุในกายมีปรกติ ทำงานอย่างซื่อตรง ธาตุดิน ๒๐ กอง ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม แต่ละธาตุ ๆ ทำหน้าที่ของตนอย่างซื่อตรงด้วย ตามที่อำนาจจิตเราซื่อตรง   

แต่เมื่อใดที่จิตเรา คดในข้อ สับส่าย สับสน กลอกกลิ้ง ทุรนทุราย กระสับกระส่าย ธาตุทั้ง ๔ ภายในกาย มันก็เป็นไปตามอาการของจิต 

ฉะนั้น จึงอยากจะเตือนให้รู้ว่า นับวันคนยิ่งมาตรวจไข้ ตรวจรักษากันเยอะขึ้น ๆ ทำให้เห็นว่า ..อ้อ นี่มันเกิดจากความไม่สุจริต ไม่สุจริตของกาย ไม่สุจริตของวาจา ไม่สุจริตของใจ และก็กลายเป็นความว้าวุ่น วุ่นวาย อยู่ภายในกาย ทำให้ก่อกำเนิดเกิดโรคได้  
ดินเป็นโรค น้ำเป็นโรค  ลมเป็นโรค ไฟเป็นโรค ทีนี้เดือดร้อนล่ะ พาคนอื่นเดือดร้อนไปด้วย... 

 

๐ ผลแห่งทุจริตธรรม ความไม่ซื่อตรง  

ก็เตือนให้รู้ว่า ผลแห่งทุจริตธรรม ความไม่ซื่อตรง เพียงแค่ กาย วาจา ใจของเรา มันก็ส่งผลไปถึงธาตุทั้ง ๔ ภายในกาย ให้แปรปรวน รวนเร และทำงานอย่างผิดหน้าที่ บิดเบี้ยวและผิดรูปแบบได้ และก่อให้เกิดกำเนิดโรคได้สารพัดอย่าง 

แม้ที่สุด เราต้องการปฏิบัติธรรม ธรรมนั้นก็ไม่ได้เจริญ ธรรมนั้นก็บิดเบี้ยว แปรปรวน จะเกิดนิมิตในสมาธิ นิมิตในกสิณ ก็เป็นนิมิตที่บิดเบี้ยว  พวกปฏิบัติกสิณนี่จะรู้ดี พวกที่ทำอาจิณณกรรมที่ปากพูดอย่างหนึ่ง กายทำอีกอย่างหนึ่ง ความคิดอีกอย่างหนึ่ง พอถึงเวลาเจริญกสิณ เห็นนิมิต กำลังเพ่งนิมิตไฟ ดันไปเจอน้ำกับดินซะงี้ กำลังเจริญปฐวีธาตุ ดันไปเจอลมกับไฟซะงี้ มันบิดเบี้ยวไปจนถึงขั้นนั้น เพราะว่าเราฝึกมาเป็นอาจิณแบบนั้น  

ก็ถึงได้เคยบอกไปแล้วว่า อุปฆาตกรรมว่าหนักแล้ว มันก็ยังให้ผลบางครั้งบางขณะ  
แต่อาจิณณกรรมนี่นะ มันให้ผลทุกวัน อะไรที่มึงทำอยู่ตลอดทุกวัน ๆ ที่เรียกว่าอาจิณณกรรม  นั่นแหละ มันต้องให้ผลแก่เราทุกวัน  

และถ้าหากว่าเอามาเทียบกัน น้ำหนักและความสั่งสม เกิดบ่อยครั้งถี่ แม้อาจิณณกรรมจะให้ผลเบาบาง แต่ถ้ามาเทียบน้ำหนักชั่วชีวิตเรารับผลจากอาจิณณกรรมมาชั่วชีวิต แต่อุปฆาตกรรม นาน ๆ เกิดที  

ไอ้ที่มันเกิดบ่อย ๆ แล้วทีละนิด ๆ น่ะมันหนักกว่า แต่นาน ๆ เกิดที แต่เปรี้ยงเลยน๊อคน่ะ กูว่าน๊อคเลยดีกว่า สลบไปเลยดีกว่า ดีกว่าค่อย ๆ ทีละน้อย เขาเรียกว่า เหมือนไฟสุมขอนน่ะ มันจะไหม้หมดมันก็ไม่หมด มันจะดับมันก็ไม่ดับ มันรุมเร้าจนทำให้เราทุกข์ทรมานอยู่อย่างนั้นล่ะ  

เพราะฉะนั้น ผลแห่งอาจิณณกรรม ประดุจดั่งไฟสุมขอน ใครที่ทำพฤติกรรม กาย วาจา ใจ เป็นนิสัยปรกติอย่างชนิดที่เลอะเทอะ เปรอะเปื้อน เป็นทุจริต ไม่ใช่สุจริต  ไม่ใช่มีกายสุจริต ไม่ใช่มีวาจาสุจริต มีใจสุจริต แต่เป็นทุจริตทางกาย วาจา ใจ ทำบ่อย ๆ ทุกวัน ๆ แม้แต่วันละนิด วันละหน่อย  แต่เวลามันส่งผลนี่น่ะ มันเหมือนกับคนปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ตัวร้อน ครั่นเนื้อ ครั่นตัว อาการไม่หนัก แต่เป็นบ่อย ทรมานมั้ย(ทรมาน) ... เอ้อ มันเป็นบ่อย 

เราอาจจะรู้สึกว่า เออ มันเป็นประจำแล้ว มันเคยชินแล้ว มันเป็นอยู่อย่างนี้แล้ว แต่ถ้าเอาความทุกข์แต่ละวัน ๆ แต่ละเวลา เอามาชั่งกิโล มันหนักกว่าอุปฆาตกรรมที่นาน ๆ เกิดทีอีก 

เรามีชีวิตยาวนานเท่าไหร่ อาจิณณกรรมในฝ่ายอกุศลที่มันให้ผล มันก็ให้แบบชนิดไฟสุมขอน อยู่อย่างนั้นน่ะ เป็นไปเรื่อย ๆ รับไปเรื่อย ๆ ทรมานไปเรื่อย ๆ เขาเรียกว่า อยู่ก็ยาก ตายก็ลำบาก  

อยู่ก็อยู่ยาก เวลาจะตายก็ลำบาก ตายแล้วก็ทุกข์ทรมานแสนสาหัส นั่นแหละ คือผลแห่งอาจิณณกรรม ที่ไม่สุจริตธรรม 

  

๐ รู้อย่างนี้แล้วจะแก้อย่างไร 

ก็ฝึกเปลี่ยนตัวเองสิลูก...สร้างอาจิณณกรรม ในฝ่ายกุศลเอาไว้... 

ฝึกสร้างอาจิณณกรรม ในฝ่ายกุศล สร้างอาจิณณกรรม ในฝ่ายกุศลเอาไว้ให้ต่อเนื่อง เนือง ๆ เช้าตื่นขึ้นมาเราทำอะไรที่เป็นคุณต่อร่างกายในธาตุทั้ง ๔  เอ้า.. ดื่มน้ำ ดื่มน้ำเยอะ ๆ ก่อนจะลุกจากที่นอนก็จัดระเบียบของกาย จนเป็นระบบของความคิด ที่หลับที่นอนก็เก็บเข้าที่เข้าทาง หมอนจัดให้ดี ผ้าปูที่นอนดึงให้ตึง ผ้าห่มพับ  

นี่เป็นอาจิณณกรรมในฝ่ายกุศล ฝ่ายดีงาม ฝ่ายเป็นระเบียบเรียบร้อย  

- เสร็จแล้วล้างหน้าล้างตา เรียกว่า ลุกจากที่นอนแล้ว ไม่ต้องย้อนกลับไปทำภาระในที่นอนอีก  

- ผ่านอะไรตรงไหน เห็นท่าไม่ดี เห็นสิ่งไม่ดี เห็นของไม่ดี มันไม่เข้าที่เข้าทาง ก็เก็บเป็นที่เป็นทาง เวลาเดินย้อนกลับมา จะได้ไม่ต้องมาเป็นภาระให้วุ่นวาย ว้าวุ่นไปอีก  

อย่างนี้เขาเรียกว่า อาจิณณกรรม ในฝ่ายกุศล ทำให้ตนเข้าถึงระเบียบ ความคิดเป็นระบบในการมีชีวิต  

- ถึงเวลาเช้าขึ้น ก่อนจะไปคิดเรื่องอื่น ก็ทบทวน ใคร่ครวญ พินิจพิจารณา เอ..  

- กายรวมใจเราหรือเปล่าว้า  ใจเรายังรวมอยู่ในกายมั้ยว้า  

- จิตเราสงบระงับดีอยู่หรือไม่  

- จิตมีราคะ หรือไม่มีราคะ  

- จิตเรามีโทสะ หรือไม่มีโทสะ  

- จิตเรามีโมหะ หรือไม่มีโมหะ 

- จิตมีโลภะ หรือไม่มีโลภะ  

- ลืมตาขึ้นมา ก็ต้องรู้สึก ระลึกรู้อยู่ภายในกาย ก่อนจะไปหยิบน้ำมาเข้าปาก ก่อนจะลุกจากที่นอน ใคร่ครวญ พินิจพิจารณา สำรวจสภาพจิตของเราดู ทำให้มันเป็นอาจิณ ทุกวัน ๆ  

 
          เช้าตื่นขึ้นก็ตั้งจิตไว้ในฝ่ายกุศล มีสติสัมปชัญญะตั้งมั่น รู้ตัวทั่วพร้อมอยู่เนืองๆ ต่อเนื่อง ทีนี้วันทั้งวัน มันก็จะคิดอะไรก็ง่าย อ่านอะไรก็ออก บอกอะไรได้ทุกเรื่อง  เรื่องที่ยากก็กลายเป็นเรื่องง่าย เรื่องที่ง่ายก็กลายเป็นเรื่องสบาย เพราะเรามีจิตพร้อมควร และเหมาะต่อการงานในวันที่เรากำลังจะทำการงานนั้น ๆ ฝึกให้มันเป็นอย่างนี้อยู่ต่อเนื่อง   

เราไม่มีโอกาสจะใส่บาตร ทำบุญ อุทิศส่วนกุศล ไปถวายทานต่อพระ ก็ไม่เห็นยาก ตั้งจิต แผ่เมตตา สำรวจมีสติภายในกาย มีกายกับใจรวมกัน ก็แผ่เมตตาอุทิศผลบุญ ผลกุศล ให้กับผู้มีคุณ บรรพบุรุษ ญาติสนิท มิตรสหาย เพื่อนฝูง เจ้ากรรม นายเวร สรรพสัตว์ทั้งหลาย มิตรทั้งหลาย ศัตรูทั้งหลาย อะไรก็ว่าไป   

แต่ให้มันได้ทำ ให้ทำอยู่อย่างต่อเนื่อง เนืองๆ อยู่ตลอดเวลา ดีกว่าตื่นขึ้นมาแล้วก็ไปว้าวุ่น ไปวุ่นวาย ไปสับสน ไปอลหม่านกับความวุ่นวายกับวิถีโลก วิถีชีวิต ที่มันเข้ามาครอบงำในทางที่สร้างมลภาวะ สร้างแต่ปัญหาให้แก่ชีวิต 

  

๐ เราเลือกได้ลูก มนุษย์ได้เปรียบเทวดาตรงนี้ล่ะ  

เพราะมนุษย์อยู่สุขครึ่งหนึ่ง ทุกข์ครึ่งหนึ่ง บางทีสุขน้อยกว่าทุกข์ แต่เทวดานี่มีแต่สุข ทุกข์น้อย  พอมีสุขมาก ทุกข์น้อย มันก็มัวเมาประมาท เออ กูไม่เห็นมัจจุราช ไม่เห็นความเสื่อม ไม่เห็นความทุกข์ มีแต่สุข ก็คิดว่าความสุขเป็นของจีรังยั่งยืน นี่ความคิดเทวดา เขาคิดกันอย่างนี้ เขาถึงไม่ขวนขวาย  

เว้นเสียแต่ว่าเทวดาตนใดจะมีจิตปฏิพัทธ์ รักใคร่ต่อสัมมาทิฏฐิ จะเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เคยสดับตรับฟังพระธรรมเทศนา เคยสั่งสมอบรมสติ สมาธิ ปัญญา ปฏิบัติศีล จนเป็นอาจิณณกรรม  จิตใจก็คร่ำหวอดถวิลหาแต่ความดีงามงดงามของบุญกุศลอยู่ต่อเนื่องเนือง ๆ พอไปเป็นเทวดาเข้าก็เลยไขว่คว้าชื่นชอบต่อส่วนที่งดงามแห่งศีล สมาธิ ปัญญา ไม่ได้ชื่นชอบรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ที่เป็นกามคุณทั้ง ๕ เทวดาตนนั้นก็โชคดีไป แต่มีพันธุ์นี้เยอะมั้ยล่ะ เทวดาพันธุ์นี้.. มันไม่มีเยอะหรอก มีน้อยมาก มีแต่เทวดาที่มัวเมาประมาทอยู่ในกามคุณ รูป สวย กลิ่นหอม รสสัมผัสนุ่ม ใจชื่นชอบ มีแต่เทวดาพันธุ์เหล่านี้เยอะมาก มัวเมาประมาทอยู่ในกระบวนการครอบงำของกามคุณ 

เพราะฉะนั้นเทวดาพวกนี้ก็จะไม่สนใจที่จะสั่งสมอาจิณณกรรมในฝ่ายกุศลอย่างต่อเนื่อง เนืองๆ พอหมดกุศลคุณงามความดี ที่นี้ก็ตกลงที่ต่ำ เทวดาเกิดเป็นมนุษย์น้อยมาก เทวดาเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานเยอะมาก เทวดาเกิดเป็นสัตว์นรกก็เยอะมาก ๆ  สัตว์นรกไปเกิดเป็นเทวดาก็น้อยมาก สัตว์นรกเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานเยอะมาก 

 

๐ สัตว์เดรัจฉานมาเกิดเป็นมนุษย์ได้ เพราะอำนาจจิตที่เป็นกุศล 

สัตว์เดรัจฉานมาเกิดเป็นมนุษย์..ก็ต้องถามว่า สัตว์เดรัจฉานนั้นมันชอบอัตภาพมนุษย์มั้ย ถ้าสัตว์เดรัจฉานเหล่านั้นมันถวิลหามนุษย์ มันเห็นอัตภาพมนุษย์แล้วมันชื่นชอบ มันอยู่ใกล้ชิดกับมนุษย์ มันรักใคร่อัตภาพมนุษย์ แล้วมันเห็นบุญกุศลที่มนุษย์ทำแล้วมันรู้สึกชื่นชมยินดี 

ที่เขามีภาพว่า หมามานั่งหมอบอยู่ข้าง ๆ เวลานายไปใส่บาตร ยังงี้..เออ อนาคตมันได้เป็นมนุษย์ ดีไม่ดีมันเป็นมนุษย์ดีกว่าคนใส่บาตรอีก คนใส่บาตรอาจมาเป็นลูกน้องมันก็ได้ 

เพราะอะไร ก็เพราะขนาดมันเป็นเดรัจฉานมันยังชื่นชอบขนาดนี้ คิดว่าอำนาจจิตในบุญกุศลมันใฝ่ดี มันต้องมีมากกว่ามนุษย์อยู่แล้ว ปกติหมามันต้องมานอนหมอบอยู่ต่อหน้าพระเวลาขณะที่ให้ศีล ให้พร หรือรับบาตรที่ไหน มันต้องลุกลี้ลุกลน ยิ่งได้กลิ่นอาหารมันต้องกระดิกหาง หูตูบ ดมโน่นดมนี่ ดีไม่ดีเยี่ยวรดขาพระอีก..  

 

๐ ครูมีอยู่รอบตัวเรา ปัญหาอยู่ที่เราจะเรียนรู้ได้แค่ไหน  

(หลวงปู่) เห็นอะไรแปลก ๆ  เวลาไปบิณฑบาต เราจะได้เห็นความโลภ ความตะกละ ความตะกรุมตะกราม ความทะยานอยาก ของเพื่อน(ภิกษุ)..สัตว์ผู้ร่วมเกิดแก่เจ็บตาย แต่ละที่มีให้เห็นเยอะลูก เราจะมองมันหรือเปล่าเท่านั้นล่ะ เราจะมีวิธีมองมันไหม แล้วเราจะมีวิธีมองอย่างไรที่จะทำให้เป็นต้นแบบ เป็นตัวอย่าง ที่เราจะไม่กระทำตาม หรือพึงกระทำตาม 

ครูมันมีอยู่รอบตัวเราล่ะ  ปัญหาอยู่ที่ว่าเราจะเรียนรู้ได้แค่ไหน เราพร้อมจะรู้หรือไม่  

เราพร้อมที่จะสัมพันธ์ สัมผัส ศึกษา เล่าเรียน  สิ่งที่อยู่รอบ ๆ ตัวเราให้กลายเป็นครูที่วิเศษ  

สั่งสอนอบรมให้เราพัฒนาให้ดีขึ้นมากน้อยแค่ไหน 

เห็นเขาทุกข์ มันก็เป็นครูของเรา เห็นเขาสุขมันก็เป็นครูของเรา เห็นเขามัวเมาประมาทมันก็เป็นครูของเรา มันสามารถเรียนรู้ได้ลูก ถือว่าเรายังมีบุญวาสนา เกิดมาตาก็อยู่ครบ ตาสองข้างยังมองเห็น หูก็ยังฟังเสียงได้.. จมูกก็ยังดมกลิ่นได้..ลิ้นก็ยังรับรสได้..กายก็ยังสัมผัสได้ 

อยู่มาปูนนี้แล้วมันยังสามารถรับรู้ขนาดนี้ ก็ถือว่าเรามีวาสนา  
          แต่ใช้วาสนาไม่เป็นนี่ น่าอับเฉา ตามีหน้าที่ดู  หูมีหน้าที่ฟัง  จมูกมีหน้าที่ดม  ลิ้นมีหน้าที่รับรส  กายมีหน้าที่สัมผัส ใจมีหน้าที่รับรู้อารมณ์  

 

๐ ใจไม่ใช่แค่รับรู้อารมณ์อย่างเดียว มันมีหน้าที่รับ จำ คิดและก็รู้ด้วย  

แต่เราใช้ใจไม่เป็น  

ตามันก็เลยไม่มีศักยภาพ หูมันก็เลยไม่สมประกอบ พิการ ลิ้นมันก็รับรสไม่สมบูรณ์ จมูกก็ดมกลิ่นไม่ถูกต้อง กายก็สัมผัสไม่เต็มที่ เพราะโทษฐานแห่งการใช้ใจไม่เป็น 

 

๐ ถ้าใช้ใจเป็นมันก็ต้องทำหน้าที่ครบสมบูรณ์ 

รับ จำ คิด รู้ .. รับ จำ คิด รู้ นี่ รับอย่างเดียว ไม่จำ  จำอย่างเดียว ไม่คิด  คิดอย่างเดียว แต่ไม่รู้  บางคนคิดอยู่นั่นแหละ คิดทั้งวันทั้งคืนจนหนังกลับ แต่ไม่รู้สักที ไม่ถึงที่สุดแห่งความรู้  เรียกว่า คิดไม่เป็น   

บางทีก็ทบทวนไป ทบทวนมา ย้ำทำย้ำคิด กลายเป็นความจำเจซ้ำซาก พวก ส.ว. ทั้งหลายมักจะเป็นโรคนี้น่ะ คิดมันอยู่นั่นล่ะ เรื่องนี้คิดไปแล้วน้า...เอ้อ มันไม่ใช่  ยังไม่ได้คิด..เอาใหม่ ๆ  บางทีบทเทพรัญจวน เอ เทวดาองค์นี้เคยให้ไปแล้วน้า เอ้อ ไม่แน่ใจ เอาอีกรอบละกัน อะไรประมาณนั้น 

สรุปแล้วไม่จบสักที...ว่ากูได้ให้ไปแล้วหรือยัง บางทีบางองค์ใม่ได้ให้ก็ยืนแห้งเหี่ยวไปเลย เพราะจำไม่ได้ ที่เป็นอย่างนี้เพราะอะไร ก็ฝึกใจไม่เป็นไง 

รับมาแต่ไม่จำ  หรือจำแล้วไม่คิด  หรือคิดแล้วไม่ทำให้ถึงที่รู้ ไม่ถึงความรู้ที่แท้จริง มันก็เลยครึ่งๆ กลางๆ เป็นอาจิณณกรรมแบบนี้ เรียกว่ารูป  รู้ไม่จริง  

รู้ไม่จริงในสิ่งที่ทำ รู้ไม่จริงในสิ่งที่พูด  รู้ไม่จริงในสิ่งที่คิด ก็เลยเป็นอาจิณณกรรมในฝ่ายรู้ไม่จริง 

 

๐ จะพูดอะไร จะทำอะไร จะคิดอะไร ต้องรู้ให้จริง สั่งสมไปเรื่อย ๆ  เรื่อย ๆ  

คำว่า พระสัพพัญญู ไม่ใช่ว่าอยู่ดี ๆ ได้อ่าน เห็น เรียนรู้ แล้วได้เป็นพระสัพพัญญู   

มันจะต้อง #ทำความรู้จริงให้ปรากฏทุกขณะจิต จึงจะได้กลายเป็นพระสัพพัญญูในอนาคต  

ความรู้จริงนี่แหละเป็นที่พึ่งพาของพระสัพพัญญู แล้วก็เป็นที่พึ่งพาของหมู่สรรพสัตว์ถ้าพระสัพพัญญูรู้ครึ่ง ๆ กลาง ๆ รู้ไม่จริง รู้ไม่ชัด รู้ไม่เจนจบ ตัวเองก็พึ่งไม่ได้ แล้วจะให้ใครพึ่งได้   

คนทุกคน มนุษย์ทุกตน มีสิทธิ์เป็นพระสัพพัญญูได้หมด พระสัพพัญญูในขณะหนึ่ง ๆ ก็ทำได้ พระสัพพัญญูในอัตภาพหนึ่ง ๆ ก็ทำได้ เรียกว่า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ทำได้หมด ในเรื่องหนึ่ง ๆ ก็ทำได้ แต่ไม่ใช่ทุกเรื่องไม่รับเลย  ไม่รู้เลย ไม่จริงเลย  รับรู้มาอย่างไม่จริงเลยในทุก ๆ เรื่อง อย่างนี้ก็แย่แล้ว ถ้าทำเป็นอาจิณ ก็กลายเป็นความเสื่อม นั่นก็เกิดจากการสั่งสมอาจิณณกรรมอีกเหมือนกัน 

สรุปแล้วรวมความแล้ว ขี้หลงขี้ลืม ได้หน้าลืมหลัง นั่นแหละ มาจากอาจิณณกรรม กรรมที่กระทำแบบหลง ๆ ลืม ๆ แบบขาด ๆ เกิน ๆ ไม่ต่อเนื่อง ไม่ชัดเจน  

 

๐ อะไรที่ฝึกแล้วทำให้ตัวเองเสื่อม อย่าพยายามทำ ถ้าทำแล้วทำให้ตัวเองรุ่งเรือง 

เจริญน่ะ จงทำเถิด 

อารมณ์อะไรที่เสพแล้วจะทำให้เราเสื่อม  

- ดูหนังอยู่  มันบีบคั้นอารมณ์เหลือเกิน ..โอ้ย เปลี่ยน ๆ เปลี่ยน ๆ  

- กินข้าวอยู่ ...อื้ม มันจะไปทำร้ายธาตุทั้ง ๔ ภายในกาย ไม่เอา ๆ คายทิ้ง..  
ไม่ใช่ ไม่เอา ๆ กลืนเอื้อก.. เอ้า เป็นไง กลืนไปแล้วค่ะ ..จบ  
มันต้องบอกตัวเองว่า นี่มันเกินการละ ไม่ได้ ๆ ใช้ไม่ได้  

 

๐ ปฏิเสธเรื่องที่ชอบเสียบ้าง  

คนเราปฏิเสธเรื่องไม่ชอบ เป็นปกติ แต่หาได้ยากมาก คนที่จะปฏิเสธเรื่องที่ชอบ.. 

ยากมั้ย.. อะไรที่ตัวเองชอบ ส่วนใหญ่จะไม่ปฏิเสธ เพราะฉะนั้นถ้ารู้จักปฏิเสธในเรื่องที่ชอบเสียบ้าง..อ๋อ ไม่เอาหรอกค่ะ ทีแรกก็ผลักมือไม่รับอย่างนี้นะ แล้วก็แบมือ.. ค่ะ ๆ ก็ได้ ๆ...อะไรประมาณนี้ อย่างนี้เขาเรียกว่าอะไร พ่ายแพ้ไง พ่ายแพ้ตัณหา พ่ายแพ้ความอยากของตน  
ถ้าจะชนะความอยากของตนก็ต้อง ..อ้อ ขอบคุณครับ ขอบคุณค่ะ คิดว่าคนอื่นจะมีประโยชน์มากกว่า ดิฉัน/ผมเห็นว่ารับมาแล้ว  มันจะไม่ได้ประโยชน์เท่าที่คุณตั้งใจไว้ อะไรก็แล้วแต่... 

เอ้า ถามปัญหาลูก ใครอยากถามอะไรเชิญ... 

............. 

แหล่งข้อมูล

หลวงปู่พุทธะอิสระ.  (๒๕๖๗). สร้างสุจริตธรรม ให้เป็นอาจิณณกรรม  ใน ปราณโอสถ กายรวมใจ  กรรมฐานในฃ

วิถีมรรคาปฏิปทา, (น. ๒๕๐ -๒๖๓).  นครปฐม: มูลนิธิธรรมอิสระ.

หลวงปู่​พุทธะอิสระ แสดงธรรม ช่วงบ่าย ๑ ตุลาคม ๒๔๖๖, สืบค้นวันที่ ๘ ตุลาคม ๒๕๖๗ จาก

https://www.youtube.com/watch?v=bSbwGKEVWbQ

 

 

96 | 8 ธันวาคม 2024, 21:15
บทความอื่นๆ