ภิกษุผู้ใฝ่ธรรม วันที่ 20 กันยายน 2556
20 ก.ย.2556 ภิกษุผู้ใฝ่ธรรม 6.41 นาที
เจริญธรรม เจริญสุข ท่านสาธุชนคนไอทีที่รักทุกท่าน
วันนี้ ฝนฟ้าตกตลอดทั้งวันทั้งคืน เมื่อเช้าเลยไม่ได้ออกบิณฑบาตร เพราะว่า ให้คนไปดูแล้ว คือ
ผู้คนก็อาจจะมายาก มาใส่บาตรลำบาก ก็เลยบอกว่า เอาไว้ให้ฝนหยุด หรือไม่ก็วันที่ฝนไม่ตกค่อยมา
ไม่งั้น ก็จะลำบากกับผู้ที่มาใส่บาตร มีเวลาที่ไม่ได้ไปบิณฑบาตร ก็มาทบทวนถึงบทบาทและพฤติกรรมของตนว่า
วันต่อ ๆ ไปจะทำอะไร หรือวันนี้กำลังจะต้องทำอะไรต่อไป เลยหยิบปฏิทินขึ้นมาดูเพื่อจะดูวันว่า
เราจะไปปลูกป่าได้เมื่อไหร่ ด้วยเหตุผลว่า นี่ยังเป็นช่วงฤดูฝน แม้จะอยู่ปลาย ๆ ใกล้ ๆ จะออกพรรษาก็ตามทีเถอะ
แต่ก็สามารถที่จะปลูกต้นไม้ได้ ในขณะที่หยิบปฏิทินขึ้นมามันก็เกิดปิ๊งขึ้นมา
นึกถึงสิ่งที่เป็นทำนองคลองธรรม เป็นวิถีธรรม เป็นวิถีศีล สมาธิ ปัญญา
เลยหยิบปากกาขึ้นมาเขียนสิ่งที่เตือนใจตัวเองเอาไว้
ก็ถือโอกาสมาอ่านให้พวกท่านทั้งหลายได้รับฟัง รับทราบว่า....
ภิกษุผู้ปฏิบัติในศีล จำเป็นจะต้องสำรวมสังวรณ์ระวัง
เพียรพยายามอย่างยิ่ง คือ ไม่มองในรูป หรือ อย่ามองในรูป
อย่าฟังเสียง อย่าดมกลิ่น อย่าลิ้มรส อย่าสัมผัส
อย่ามีอารมณ์ จิตจะได้ไม่อยู่ในอำนาจของอะไร ๆ และใคร ๆ ได้เลย
ที่พูดอย่างนี้ ไม่ใช่หมายถึง ให้พวกเราผู้รักษาศีลไม่ต้องกิน ไม่ต้องดื่ม
ไม่ต้องยืน ไม่ต้องนอน หรือ ไม่ต้องทำกิจกรรมใด ๆ ไม่ว่าคุณจะดู จะดม
จะคลำ จะกิน จะดื่ม หรือจะเกิดอารมณ์ใด ๆ จะต้องสำรวมสังวรณ์
ระวังจิต อย่าให้ตกเป็นทาสในสิ่งนั้น ๆ ก็แล้วกัน
แต่ดีที่สุดที่คนโบราณเค้าทำ พระปิดทวาร หรือ ปิดหู
ปิดตา ไว้เพื่อต้องการสอนให้เราสำรวมสังวรณ์ระวัง
ในศีล เพราะเมื่อใดที่ตาเห็นรูป มันก็เกิดจักษุปสาทะแล้วเกิดวิญญาณ
ประสาทรับรู้อารมณ์ แล้วก็มาปรุงแต่ง อาจจะทำให้เสียศีล ผิดศีลได้
เหมือนอย่างตัวอย่างในความผิดพลาดที่เกิดขึ้นอยู่เนือง ๆ
แล้วก็เขียนต่อมาว่า ภิกษุใดปรารถนาสมาธิ จะต้องปฏิบัติตนให้พ้นจากการครอบงำ
ของสิ่งที่เข้ามาทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายและใจ แล้วตั้งมั่นอยู่
ในอารมณ์ของกรรมฐานที่ตนทำอยู่ อย่างนี้จึงจะถือว่าเป็นผู้เข้าถึงองค์คุณสมาธิได้
อีกเรื่องหนึ่งก็เขียนต่อมาว่า ภิกษุหรือ ผู้ต้องการปรารถนาปัญญา ต้องเพียรพยายามรับรู้ทุกสรรพสิ่ง
ที่เข้ามาทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น กายและใจ อย่างแจ่มชัดและเท่าทันตามความเป็นจริง
อย่างเป็นผู้อยู่เหนือสิ่งที่ถูกรู้ โดยไม่ตกเป็นทาส ไม่อยู่ในอำนาจของอารมณ์อะไร ๆ
มีอิสระอยู่เหนือสิ่งอื่นใด ดุจดั่งหยดน้ำที่ไม่ติดอยู่บนใบบัว นี่คือ ผู้ที่ปรารถนาทางปัญญา
สรุปรวมก็คือ ผู้รักษาศีล ต้องสำรวมสังวรณ์ระวัง ตาเห็นรูป หูฟังเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นรับรส กายถูกต้องสัมผัส
ผู้ต้องการสมาธิ ต้องสลัดตนให้หลุดจากเครื่องครอบงำ
ทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แล้วก็รักษาอารมณ์ให้เป็นหนึ่งเดียวอยู่กับกรรมฐานที่ตนกำลังกระทำหรือเจริญ
ผู้ต้องการปัญญา ต้องเรียนรู้ทุกอย่างที่เข้ามาทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย แล้วก็จิตใจ อย่างเป็น
ผู้อยู่เหนือการเรียนรู้นั้น เหมือนประดุจดั่งหยดน้ำที่ไม่ติดอยู่ในใบบัว ต้องมีอิสระในการเรียนรู้ เรียกว่า
รู้ทุกเรื่องอย่างแจ่มชัดตามความเป็นจริง จึงจะทำให้เรามีอิสระในการเรียนรู้
แต่ถ้าเมื่อใดที่เรารู้ไม่แจ่มชัดไม่ตรงต่อความเป็นจริง เมื่อนั้นเราก็จะกลายเป็นผู้ตกเป็นทาส และอยู่ในการครอบงำได้
เหมือนดั่งวลีของพระมหาเถระรูปหนึ่งที่กล่าวว่า ชั่วชีวิตของการบวชแห่งเรา 60 พรรษา
ไม่เคยรู้เลยว่า ผู้หญิงสวยอย่างไร ผู้ชายหล่อเช่นใด
หญิงกับชายมีค่าเท่าเทียมกัน นั่นก็คือ มีเกิดขึ้นในเบื้องต้น ตั้งอยู่และแปรปรวนในท่ามกลาง
สุดท้ายก็แตกสลายในที่สุด แล้วท่านพระมหาเถระรูปนี้ก็เป็นพระอรหันต์ในที่สุด
เจริญธรรม