วิถีแห่งพุทธะ
มีคำกล่าวโบราณ ของท่านอาจารย์ผู้รจนาคัมภีร์วิสุทธิมรรคได้ให้ไว้เป็นหลักในการทำกัมมัฏฐาน ทั่วไปเพื่อเอาไว้พิจารณาแก่นักปฏิบัติว่า คนมีปัญญา ยืนหยัดมั่นคงอยู่บนแผ่น-ดิน ฉวยจับอาวุธที่คมด้วยมือ ลับที่หินแล้วมีความเพียรถางป่าที่รกให้เตียนไปได้ ถ้อยคำโบราณดังกล่าวนี้ ถ้าพิจารณาให้ดี ดูจะเป็นหัวใจสำคัญของผู้ปฏิบัติกัมมัฏฐานทั้งหลาย เราลองมาพิจารณาค้นหาถ้อยคำ ความหมาย ที่ซ่อนเร้นอยู่ในกลบทเหล่านี้ดูกัน ว่าจะมีความสำคัญประการใด
ท่านได้ให้คำอธิบาย คนมีปัญญา ไว้ว่า ปัญญาในที่นี้หมายถึง ปัญญาดั้งเดิมที่ติดตัวตนเองมาแต่อดีตชาติ ที่เรียกว่า สหชาติปัญญา แต่ยังเป็นปัญญาเดิม ที่ยังมิได้รับการพัฒนา ขัดเกลาสร้างเสริมให้งอกงามสมบูรณ์ จึงยังไม่ควรเรียกว่า วิปัสสนาปัญญา รวมความว่าผู้ที่จักทำกัมมัฏฐาน จำเป็นต้องมีสติปัญญาเดิม เป็นพื้นฐานพอสมควร แต่ถ้าเป็นคนโง่ คือคนขาดปัญญา หมดปัญญา ไม่มีปัญญา หรือมีก็มีเฉพาะสติปัญญาที่เอาไว้ใช้หา-กิน หาอยู่ ของอัตภาพตนไปวันๆ และถ้าเผอิญนึกอยากจะปฏิบัติธรรม หรือมีผู้มาชวนให้ปฏิบัติธรรม ก็ทำได้แต่เพียงตามๆ เขาไป หรือถ้าไม่ตามจักแสวงหาด้วยตนเอง ก็เป็นการแสวงหา และปฏิบัติตามแต่ที่ตนเชื่อโดยมิได้พิจารณาว่า การกระทำเช่นนี้ การปฏิบัติอย่างนี้ จะทำให้ตนฉลาด สะอาด สว่างขึ้นมาบ้างหรือไม่ หรือทำเพราะอาศัยอำนาจแห่งความพอใจ ถูกใจ ชอบใจเป็นพอแล้ว
ถึงแม้จักมีปัญญา ติดตามตัวมามากมายปานใดก็ตามที แต่ก็ยังต้อง ยืนหยัดให้มั่นคงบนแผ่นดิน แผ่นดิน ในที่นี้ ท่านอุปมาดัง ศีล ซึ่งเป็นเครื่องรักษา ส่งเสริมปัญญาให้มั่นคง ศีลเป็นรากฐานของชีวิต ศีลทำให้เราอยู่ห่างไกลความเลวร้าย ชั่ว ผิดบาปหยาบช้าทั้งปวง ศีลทำให้เราตั้งมั่น และอาจหาญคงที่ ศีลทำชีวิตให้อยู่ดีมีสุข ท่านจึงเปรียบศีลเป็นดั่งแผ่นดินที่หนักแน่น มั่นคงและพร้อมที่จะก่อเกิด สรรพชีวิต สรรพวัตถุได้มากมาย ทั้งยังสามารถให้สรรพชีวิตทั้งหลาย ได้ยืนหยัดอยู่อาศัย อย่างมิต้องหวาดผวาหรือหวั่น-ไหว ผู้ปฏิบัติกัมมัฏฐาน จะต้องชำระศีลของตนให้บริสุทธิ์สะอาด เหมือนดังบุคคล ชำระแผ่นดินให้หมดจด เหมาะสำหรับที่จะใช้ยืน หรือทำการทั้งปวง
แม้จักมีศีล เป็นเครื่องประคับประคองปัญญาแล้วก็ตาม แต่ยังวางใจไม่ได้ว่า ปัญญาที่มี จะมากพอที่จะพึ่งพิงอิงอาศัย นำพาไปสู่สาระอันยิ่งใหญ่ในชีวิตได้ ท่านจึงกล่าวว่า ฉวยจับ อุปมาดั่งการค้นหาเพิ่มเติมสะสม อาวุธที่คม คือปัญญาภายนอกรอบๆ กายตน ได้แก่ การศึกษาเล่าเรียนสดับตรับฟัง พิจารณา
ด้วยมือ หมายถึง การทดลองทำด้วยตนเอง เพื่อให้แน่ใจว่าสิ่งที่ได้ศึกษา เล่าเรียนรับฟังมานั้น มีผลเป็นประการใด ถึงแม้ว่าจะมีปัญญาที่ได้มาจากการสะสมเพิ่มเติมแล้วก็ตามที แต่ก็ยังแน่ใจวางใจไม่ได้ว่า ปัญญาชนิดนี้จะพาตัวรอด จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องคัดเลือก ชำระล้าง ขัดเกลา พัฒนาปัญญาที่ได้ ซึ่งท่านเรียกว่า โลกียปัญญา ให้อยู่ในสถานะ อันเป็นที่พึ่งอาศัยได้อย่างแท้จริง และด้วยเหตุนี้ จึงจำเป็นที่จะต้องมีเครื่องพัฒนาลับปัญญา เครื่องลับนั้นท่านเรียกว่า หิน หมายถึงการมีสติอย่างจดจ่อ จับจ้อง จริงจัง ตั้งมั่น จนกลายเป็นสมาธิ สองสิ่งนี้ถือได้ว่า มีคุณสมบัติในการขจัดขัดเกลา ชำระล้าง เกาะแกะสรรพกิเลสทั้งปวง สรรพมลทินทั้งหลายที่แอบแฝงอยู่ในโลกียปัญญา ให้กลายเป็นโลกุตรปัญญาในทันทีทันใด ทำเดี๋ยวนี้ เห็นผลเดี๋ยวนี้ ทำเวลานี้ได้ผลทันที ได้ผลขณะที่ลงมือกระทำ จะดีหรือชั่ว ถูกหรือผิด ใช้ได้หรือไม่ได้ วิธีนี้เราจะรับรู้ได้ด้วยตน-เองในทันที วิธีนี้ดูจะเป็นเครื่องหนุนนำให้ผู้ปฏิบัติ เป็นคนหนักแน่นมั่นคงในความรู้ที่ตนได้รับ จากการกระทำแล้วเห็นผลเช่นนี้จึงถือว่าเป็นปัญญารู้จริง มิใช่รู้จำ อีกทั้งยังทำให้ตนพิสูจน์ได้ด้วยตนเองว่า ความรู้ที่มีหรือได้รับนี้ เป็นความรู้ที่ทำให้ตนเข้าถึงประโยชน์สูงสุดของการมีชีวิตหรือไม่เช่นนี้จึง กลายเป็นปาริหาริกปญฺญาคือ ปัญญาที่ทำให้ตนแน่ใจว่า วิธีนี้เป็นวิธีที่ดีที่สุด ถูกต้องที่สุดและได้ประโยชน์สูงสุด สำหรับสัตว์ที่ยังต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏสงสาร
แล้วมีความเพียร หมายถึง การมีความรัก ความพอใจในสิ่งที่ตนกำลังกระทำ ถ้ายังไม่มี แต่คิดที่จะกระทำ จะด้วยความจำเป็นหรือจำยอมก็ตาม จักต้องพยายามสร้างความนัก ความพอใจในกิจกรรมการงานทั้งให้ได้เสียก่อน แล้วลงมือกระทำด้วยความเพียรพยายามอย่างจดจ่อ จริงจัง จับจ้อง ตั้งใจ พร้อมกับใช้วิจารณญาณ ปัญญา ใคร่-ครวญ พิจารณา ด้วยความละเอียดถี่ถ้วนให้ถ่องแท้ เหล่านี้คืออิทธิบาททั้ง 4 อันได้แก่ ฉันทะ (ความพอใจ) วิริยะ (ความเพียร) จิตตะ (ความเอาใจจดจ่อ) วิมังสา (การใช้ปัญญาใคร่ครวญพิจารณา) อันเป็นแม่บทในการกระทำ เป็นหัวใจของความสำเร็จทั้ง-ปวง
ประโยคที่ว่า ถางป่าที่รก ให้เตียนไป หมายถึง สรรพกิเลสทั้งปวง สรรพทุกข์ทั้งปวง สรรพภัยทั้งปวง จะขจัดชำระล้างทำลายลงไปได้ ด้วยอาศัยความเพียรพยายามอย่างยิ่ง ความอดทน อดกลั้นอย่างยิ่ง ความรักตนเองแท้ๆ อย่างยิ่ง และท้ายที่สุด ต้องมีอริยปัญญาอันยิ่ง จึงจะสามารถทำลายสรรพกิเลสทั้งปวง สรรพทุกข์ทั้งปวง สรรพภัยทั้งปวง ที่ติดแน่นนอนเนื่องอยู่ในสันดานมาเนิ่นนานยาวไกลลงได้
สรุป เมื่อเรามีปัญญาติดตัวมาแต่ปางก่อน ควรที่จักทำให้ปัญญานั้น ตั้งมั่นอยู่บนพื้นฐานคือ ศีลอันสมบูรณ์อย่างไม่หวั่นไหวพร้อมทั้งเพิ่มเติม สะสม ปัญญานอกกาย แม้จะเป็นโลกียปัญญาก็ตาม ถ้าผ่านกรรมวิธีในการตรวจสอบ ชำระล้าง ขัดเกลา พัฒนาอย่างละเอียดถี่ถ้วนสมบูรณ์ด้วยสติและสมาธิ (ลับด้วยหิน) โลกียปัญญานั้น ก็จักกลับ-กลายเป็น โลกุตรปัญญาในฉับพลัน แต่ทั้งนี้กรรมทุกชนิด กิจทุกอย่าง ต้องกระทำด้วยความรัก ความพอใจเพียรพยายาม บากบั่น อดทน อดกลั้น ด้วยความจดจ่อ จับจ้อง จริงจังตั้งใจ ด้วยการใช้สติปัญญาใคร่ครวญ พินิจ พิจารณ์ อย่างถ่องแท้และละเอียดถี่-ถ้วน จึงจะประสบผลอันควรแก่การปฏิบัติ
รู้จริง ไม่ต้องจำ ทำได้ มีประโยชน์
รู้ไม่จริง ถึงจำ ทำไม่ได้ มีแต่โทษ
(คล้ายกับคำสอนที่อาวาสธรรมะอิสระที่ท่านสอนว่า หยิบดาบ ชักดาบ ลับดาบ ฆ่าฟันศัตรู)