วัดอ้อน้อย (ธรรมอิสระ) ต.ห้วยขวาง อ. กำแพงเสน จ.นครปฐม

ถามมา ตอบไป - ๒๕ เมษายน ๒๕๖๕

เห็นท่านยกพุทธศาสนสุภาษิต เรื่องความประมาท มาอธิบายความประมาทในรูปประมาทในเสียง ประมาทในธรรมนั้นพอจะเข้าใจตามได้

แต่ความประมาทในความคร่ำครึ คร่ำเคร่ง ในความเศร้าหมอง ทรุดโทรมนั้นจะทำความเข้าใจเช่นไร

 

ตอบ :

คุณแก้วตา ที่คุณบอกมาว่า พอจะเข้าใจนั้น ฉันสงสัยเหมือนกันว่า คุณเข้าใจและทำได้มั้ย ?

หากยึดแต่เพียงเข้าใจ แล้วยังทำไม่ได้ เช่นนั้น ท่านเรียกว่า ผู้ประมาทในธรรมแล้วหละ

ส่วนที่คุณถามฉันมาว่า ความประมาทในความคร่ำครึ คร่ำเคร่งในความเสื่อม เศร้าหมองนั้น มองได้ ๒ อย่าง

           ๑. อย่างแรกทำตัวเศร้าหมอง เครื่องนุ่งห่มเศร้าหมอง เครื่องใช้ไม้สอยเศร้าหมองมากเกินไป

จนกลายเป็นความยึดมั่นถือมั่น มีตัวกูเข้าไปเป็นผู้เศร้าหมอง เช่นนี้ชื่อว่า ประมาทในความคร่ำครึ เศร้าหมอง

แม้ที่สุด ทำตัวเศร้าหมอง เพียงเพื่อเรียกร้องความศรัทธา

           ๒. เป็นผู้เห็นความเศร้าหมองเป็นสรณะ เป็นที่พึ่งจนยึดติดว่า เพราะความคร่ำครึ คร่ำเคร่งในความเศร้าหมองนี้เท่านั้น

จะเป็นหนทางแห่งความดับทุกข์ เช่นนี้เรียกว่า ประมาทในความเศร้าหมอง ทั้งที่แท้จริงแล้วเป็นแค่เพียงสภาวะของตัณหาที่ไม่อยากก็เท่านั้น

ทุกข์จะดับได้นั้น ไม่ใช่เพราะความเศร้าหมองแต่ต้องอาศัยสติปัญญารู้ชัดตามความเป็นจริงเท่านั้น

เช่นนี้ชื่อว่า ผู้เห็นธรรม เห็นทุกข์ เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

ส่วนตัวอย่างแห่งความมัวเมาประมาทในความคร่ำครึ เศร้างหมอง ได้แก่ชฎิลที่นุ่งห่มผ้าน้อยชิ้น หรือไม่นุ่งไม่ห่มอะไรเลย เป็นต้น

หวังว่า การอธิบายความครั้งนี้ คงจะทำให้คุณผู้ถามพอจะเข้าใจได้บ้างนะจ๊ะ และจะดีมากๆ หากคุณทำได้ด้วย

เช่นนี้ถือว่าคุณตั้งตนอยู่ในความไม่ประมาทแล้วหละ

 

พุทธะอิสระ

 

 

24 | 6 กันยายน 2024, 15:49
บทความอื่นๆ