ปุจฉา อยากไปนิพพานต้องไม่มีกูเป็นผู้ภาวนา ๘ พ.ค. ๒๕๖๕
ปุจฉา ๑ : คำว่า ภาวนา ในเฟซบุ๊กที่หลวงปู่เขียนเรื่อง หากชีวิตมีปัญหา หันมาทางนี้ ๗ พฤษภาคม ๒๕๖๕ มีความหมายเหมือนกันหมดทุกหัวข้อหรือไม่
วิสัชนา : อธิบายในข้อสุดท้าย "อยากไปนิพพาน ต้องไม่มีตัวกูเป็นผู้ภาวนา" เข้าใจมั้ย?
ภาวนา ในที่นี้หมายถึง การทำให้เจริญ ทำให้รุ่งเรือง เฟื่องฟู ทำให้สว่าง กระจ่างชัด แจ่มแจ้ง ทำให้สมบูรณ์ นี่คือ บริบทความหมายของคำว่า ภาวนา ขึ้นอยู่กับว่า จะไปใช้กับอะไร ถ้าเราจะเอาไปใช้กับการจะทำให้ชีวิตเราเจริญ รุ่งเรื่อง ต้องเริ่มต้นจากการไปดูบริบทของการมีชีวิต ทางไหนที่เป็นเหตุแห่งความฉิบหาย เราจะไม่ทำ ลักษณะอย่างนี้ เขาเรียกว่า ภาวนา ทางไหนเป็นหนทางแห่งความเจริญ เราจะพึงกระทำ ลักษณะเช่นนี้เขาเรียก ภาวนา ภาวนา ไม่ได้หมายถึงเพียงแค่นั่งหลับตา และก็ท่องบ่นทรงจำ.. ไม่ใช่
#ภาวนา หมายถึงการบริหาร จัดการ พัฒนาทั้งกาย วาจา และใจ
✨ ให้ไปสู่ความสมบูรณ์แห่งความเป็นมนุษย์
✨ รุ่งเรืองเจริญให้เหนือมนุษย์ เรียกว่า เทวบุตร เทวสตรี ก็ได้ หรือมนุษย์ดุจเทพ มนุษย์ดั่งเทวดา เรียกว่า มนุสสเทโว ก็ได้
คือ ภาวนาจากมนุษย์ธรรมดาๆ พัฒนาขึ้นกลายเป็นมนุษย์ดุจเทพก็ได้
แต่ถ้าผู้ที่ไม่มีภาวนา มนุษย์สามัญธรรมดาๆก็กลายเป็นสุนัขตัวหนึ่ง เป็นมนุสสติรัจฉาโน เรียกว่า มนุษย์เหมือนดั่งสัตว์เดรัจฉาน อย่างนี้เขาเรียกว่า ชีวิตไม่มีภาวนา
ทีนี้ ข้อสุดท้าย อธิบายว่า "ต้องไม่มีตัวกูเป็นผู้ภาวนา" คือ ทำทุกอย่าง แต่
✨ อย่ามีตัวกูเข้าไปทำ
✨ อย่ามีตัวกูเข้าไปรับผลแห่งการกระทำ
ถามว่า ทำอย่างไรไม่มีตัวกูเข้าไปทำ แล้วใครจะเป็นคนกระทำ?
ทำตามหน้าที่ของสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งที่อยู่บนโลกใบนี้ ตามวิถีแห่งสมมติบัญญัติ
ต้องสำนึก ตระหนักอยู่อย่างนี้ว่า นี่คือ หน้าที่ตามวิถีแห่งสมมติสัจจะ ความจริงในสมมติ ไม่ได้มีตัวกูอยู่ในสมมุติ
แต่ถ้าเมื่อใดที่เรามีตัวกูอยู่ในสมมติ แล้วไปภาวนา สุดท้ายก็วนเวียนอยู่ในวัฏฏะแห่งสมมติบัญญัตินั้น ไม่สามารถมาหลุดออกมาจากวัฏฏะแห่งสมมติบัญญัติ
จำไว้ว่า คำว่า วัฏฏะ ใช้อยู่เฉพาะโลกซีกเดียว นั่นคือ ซีกสมมติบัญญัติ ไม่ใช่โลกแห่งปรมัตถสัจจะ..วัฏฏะใช้ไม่ได้ เข้าใจมั้ย
เพราะฉะนั้น ภาวนาโดยไม่มีตัวกูเป็นผู้ภาวนา คือ ทำทุกเรื่อง แต่อย่าให้มีตัวกูปรากฏ ล่ะกัน จบ (สาธุ)
เทศน์ธรรมประจำเดือน ๘ พ.ค. ๒๕๖๕