ดิน
       ลักษณะผู้ที่มีธาตุดินมาก
       จะมีสภาพร่างกาย แข็งแรงบึกบึน กล้ามเนื้อ และกระดูกต่างๆ จะแข็งแรง ผิวหนังจะค่อนข้างหยาบกระด้าง
       
       พฤติกรรม
       ชอบความโดดเด่น เป็นตัวของตัวเอง ค่อนข้างทระนง ถือตัว ชอบขันอาสารับภาระแก่ผู้อื่น ชอบทำตนเป็นผู้นำ
       
       อารมณ์และนิสัย
       มีความอดทน มั่นคง มีน้ำใจกว้างขวาง รู้จักวางตน ไม่ค่อยอ่อนไหวต่ออารมณ์ต่างๆ นัก มีความความกล้าหาญ
       
       โรคที่มักจะเป็น
       โรคท้องผูก ระบบย่อยอาหารไม่ค่อยปกติ ท้องอืดท้องเฟ้อ ความดันต่ำ ไขมันอุดตัน หินปูนเกาะกระดูก ปวดตามข้อ เส้นเลือดตีบ โรคหัวใจ ไต ชักกระตุก
       
       อาหารที่ควรรับประทาน
       - อาหารรสฝาด เชน กะหล่ำปลี ชะอม ถั่วพู ใบบัวบก ผักกวางตุ้ง ยอดกระถิน ยอดมะม่วงหิมพานต์ รากบัว สะตอ หัวปลี อาหารเหล่านี้รับประทานได้ทุกวัน
       
       - อาหารรสมัน เช่น กะทิ ถั่วเขียว ถั่วเหลือง นม เนย เผือก ฟักทอง มัน แห้ว อาหารเหล่านี้ควรรับประทานพอประมาณ สัปดาห์ละ ๑-๒ ครั้ง อย่าให้มากกว่านั้น จะเป็นโทษ
       
       - อาหารรสหวาน เช่น กล้วยน้ำว้า กล้วยหักมุก เงาะ แตงโม ฝรั่ง มังคุด มะม่วงสุก มะละกอ และน้ำผึ้ง นอกจากนี้รับประทานได้แต่นิดหน่อย
       
       อาหารที่บำรุงธาตุได้ดี คือ น้ำนมข้าวผสมน้ำผึ้ง ใส่เกลือนิดหน่อย หรือไม่ก็น้ำข้าวกล้องข้นๆ ผสมน้ำผึ้งพอหวาน ใส่เกลือลงไปพอปะแล่มๆ รับประทานทุกเช้าตอนท้องว่าง แล้วจึงออกกำลังกาย สุดแต่สังขารอำนวย
       
       ดูอย่างไรว่าตนมีธาตุดิน
       - ดูจากปีเกิด ลักษณะรูปร่าง อารมณ์ และนิสัย
       
       - คนเกิดปีจอ (หมา) และปีฉลู (วัว)
       ถ้าจะดูตามวันเกิด ส่วนใหญ่จะเป็นวันพฤหัสบดี และ วันศุกร์
       
       - ลักษณะรูปร่าง กล่าวแล้วแต่ต้น
       
       - อารมณ์ และอุปนิสัย กล่าวแล้วแต่ต้น
       
       ธาตุดินเป็นมิตรกับธาตุใด
       ผู้ที่มีธาตุดินอยู่มาก จะเข้าได้กับทุกๆ ธาตุ แต่ถ้าจะดีที่สุดก็คือธาตุน้ำ
       
       สีที่เหมาะกับธาตุดิน
       สีม่วง หรือสีเท่า จะแก่ หรืออ่อนก็ได้ สีแดง สีชมพู
       
       สรรพคุณของอาหารประจำธาตุดิน
       กระถิน
       - สรรพคุณ ช่วยขับลมในกระเพาะ บำรุงโลหิต เสริมสร้างกระดูกและฟันให้แข็งแรง
       
       กระหล่ำปลี
       - สรรพคุณ ช่วยลดความเครียด โรคหัวใจ และมีสารต้านทานมะเร็งในลำไส้
       
       กล้วย
       - สรรพคุณ ช่วยให้ร่างกายขับถ่ายได้คล่อง
       
       ชะอม
       - สรรพคุณ ขับสารที่ก่อมะเร็งต่างๆ ภายในกาย ป้องกันโรคหัวใจ ขาดเลือด แต่จะทำให้น้ำนมมารดาแห้ง
       
       แตงโม
       - สรรพคุณ ดับพิษร้อนภายในกาย เป็นยาระบายอ่อนๆ น้ำแตงโมปั่นช่วยล้างลำไส้และกระเพาะอาหารได้ดี
       
       ถั่วพู
       - สรรพคุณ ในการเสริมวิตามินให้แก่ร่างกาย ซึ่งในถั่วพูอ่อน มีสารประกอบไปด้วย วิตามินเอ วิตามินบี1 วิตามินซี วิตามินอี ฟอสฟอรัส และโปรตีน อีกทั้งยังมีกากใยอาหารมากด้วย
       
       ถั่วเขียว
       - สรรพคุณ แก้ร้อนในกระหายน้ำ ลดอาการอักเสบในช่องปาก ป้องกันโรคหัวใจ ขับลมในลำไส้
       
       นม
       - สรรพคุณ ให้โปรตีน แคลเซียม วิตามินบี เหล็ก และสังกะสี ผู้ที่มีวัยกลางคนแล้วไม่ควรดื่ม จะทำให้ท้องอืด ย่อยยาก ควรดื่มนมเปรี้ยวแทน
       
       น้ำผึ้ง
       - สรรพคุณ เป็นยาบำรุงกำลัง เป็นยาระบายอ่อนๆ เป็นยาฆ่าเชื้อโรคบางชนิด เป็นยาสมานแผล คนสูงอายุไม่ควรกินน้ำตาลควรกินน้ำผึ้งแทน เพราะร่างกายดูดซึม และย่อยสลายได้ง่าย
       
       ใบบัวบก
       - สรรพคุณ ช่วยลดความเครียด แก้ร้อนใน ช่วยละลายลิ่มเลือดภายใน ทำให้ความจำดี เอามาตำสดๆ พอกแผลหายเร็ว
       
       ฝรั่ง
       - สรรพคุณ ระงับกลิ่นปาก แก้อาการท้องเสีย บำรุงโลหิต
       
       ฟักทอง
       - สรรพคุณ ป้องกันมะเร็งในปอด ป้องกันเบาหวาน ป้องการโรคทางเดินหายใจ บำรุงสายตา คุมน้ำตาลในเลือด
       
       มังคุด
       - สรรพคุณ ช่วยลดความร้อนภายใน แก้กระหายน้ำ ช่วยเพิ่มเมือกภายในลำไส้ และกระเพาะ ทำให้ถ่ายคล่อง เปลือกนำมาฝนผสมน้ำทาแผลพุพองเป็นยาฆ่าเชื้อ
       
       มันเทศ
       - สรรพคุณ แก้โรคกระดูกพรุน กระดูกเปราะ ช่วยสร้างภูมิคุ้มกัน บำรุงสายตา
       
       มะละกอ
       - สรรพคุณ ช่วยย่อยอาหาร ช่วยลดอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ เป็นยาระบาย บำรุงผิว
       
       มะม่วงสุก
       - สรรพคุณ ช่วยทำให้ระบายของเสียภายในได้ดี น้ำมะม่วงสุก เป็นยาบำรุงกำลัง แก้อ่อนเพลีย
       
       รากบัวหลวง
       - สรรพคุณ เป็นยาเย็น แก้ร้อนใน ดับพิษไข้ บำรุงธาตุ ขับปัสสาวะ
       
       หัวปลีกล้วย
       - สรรพคุณ ช่วยเพิ่มน้ำนมมารดา ลดไข้ระดู ทำให้เลือดสมบูรณ์ บำรุงผิวพรรณให้เปล่งปลั่ง มีกากใยอาหารมากทำให้ถ่ายสะดวก
       
       แห้ว
       - สรรพคุณ เป็นยาดับพิษร้อนในร่างกาย ขับพยาธิ ขับลมในลำไส้
       
       สะตอ
       - สรรพคุณ ทำให้เจริญอาหาร ขับลมในกระเพาะ บำรุงสายตา

 น้ำ
       ลักษณะผู้ที่มีธาตุน้ำมาก
       จะมีรูปร่างท้วมสมส่วน ผิวพรรณผ่องใส เส้นผมและขนจะมันเป็นเงาโดยธรรมชาติ ฟันและเล็บมือเล็บเท้าจะขาวอมชมพูเป็นเงางาม ริมฝีปากจะมีสีสดตลอดเวลา แววตาจะดูแวววาว น้ำเสียงจะก้องกังวาน เนื้อตัวจะเย็น ที่มีคำพูดว่าพ่อเนื้อเย็นแม่เนื้อเย็น
       
       พฤติกรรม
       เป็นคนเยือกเย็น มีเหตุมีผล นิยมชมชอบคบค้าสมาคมแก่คนทั้งหลาย มีอัธยาศัยชอบวางตัว เป็นผู้ใหญ่เกินวัย มีผู้คนนับหน้าถือตา ขยันขันแข็ง
       
       อารมณ์และนิสัย
       รักสวยรักงาม รักหน้าตา มีจิตเมตตา โอบอ้อมอารี มีปกติ มักติดในอารมณ์ใดๆ ได้ง่าย เป็นประเภทพวกรักง่ายหน่ายเร็ว ฉลาดเอาตัวรอดได้ ชื่นชอบธรรมชาติ และดอกไม้
       
       โรคที่มักจะเป็น
       โรคภูมิแพ้ โรคหวัด โรคติดเชื้อต่างๆ แผลพุพองที่เรียกว่าน้ำเหลืองเสีย น้ำหนองไหล ปอดชื้น น้ำท่วมปอด โรคไตวายฉับพลัน โลหิตจาง เลือดออกตามไรฟัน และโรคอ้วน
       
       อาหารที่ควรรับประทาน
       - อาหารรสเปรี้ยว ได้แก่ กระท้อน กระเทียมดอง ขี้เหล็ก ดอกแค มะกอก มะเขือเทศ มะดัน มะนาว มะปราง มะม่วง ยอดมะขามอ่อน สับปะรด ส้มทุกชนิด และผักใบเขียวทุกชนิด อาหารรสเปรี้ยว แม้จะถูกกับผู้ที่มีธาตุน้ำมาก แต่ถ้ารับประทานมากไปก็จะทำให้ท้องอืด ถ้าเป็นแผลก็จะหายยาก อาจทำให้เกิดแผลในปาก และร้อนในได้
       
       - ลำดับของอาหารที่ควรรับประทาน เปรี้ยว เผ็ด หวาน เค็ม มัน พยายามหลีกเลี้ยงอาหารมันๆ
       
       อาหารที่บำรุงธาตุได้ดี
       เช้าๆ ควรดื่มน้ำผักผลไม้รวม หรือน้ำข้าวกล้องผสมน้ำผึ้งก่อนออกกำลังกาย จะทำให้สุขภาพดี อาหารที่กล่าวมาแล้ว ควรรับประทานทุกมื้อ รับประทานแต่พอดี
       
       ดูอย่างไรว่าตนมีธาตุน้ำ
       - ดูจากปีเกิด ลักษณะรูปร่าง อารมณ์ และนิสัย
       
       - คนเกิดปีชวด (หนู) และปีกุน (หมู)
       
       ถ้าจะดูตามวันเกิด ผู้ที่เกิดในวันพุธ ส่วนใหญ่จะเป็นธาตุน้ำ
       
       - ลักษณะตามรูปร่าง กล่าวแล้วแต่ต้น
       
       - อารมณ์ และอุปนิสัย กล่าวแล้วแต่ต้น
       
       ธาตุน้ำเป็นมิตรกับธาตุใด
       - ผู้ที่มีธาตุน้ำอยู่มาก จะเข้าได้ดีกับธาตุดิน รองลงมาก็ธาตุลม
       - เป็นศัตรูกับธาตุไฟ
       
       สีที่เหมาะกับธาตุน้ำ
       สีเหลือง สีเขียว หรือสีที่เข้าได้ดีกับธรรมชาติรอบตัว
       
       สรรพคุณของอาหารประจำธาตุน้ำ
       กระเทียม
       - สรรพคุณ ช่วยลดความดัน รักษาโรคปอด โรคหอบหืด ไขข้ออักเสบ โรคเกาต์ และกำจัดพยาธิ ไม่มีผลข้างเคียงกับผู้ที่กินเป็นประจำ
       
       กระหล่ำดอก
       - สรรพคุณ ช่วยสำหรับผู้มีบุตรยากทั้งหญิงและชาย ช่วยป้องกันโรคเลือดออกตามไรฟัน ช่วยป้องกันโรคมะเร็งเต้านม บำรุงภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง
       
       ขี้เหล็ก
       - สรรพคุณ แก้นิ่วในไต แก้ท้องผูก บำรุงสายตา ทำลายเชื้อมะเร็ง เป็นยานอนหลับ
       
       ขึ้นฉ่าย
       - สรรพคุณ ช่วยให้เจริญอาหาร เพิ่มภูมิคุ้มกันให้แก่ร่างกาย สามารถกำจัดเชื้อมะเร็งได้เกือบทุกชนิด บำรุงไตให้แข็งแรง นำมาปั่นกับแครอทผสมน้ำส้มดื่มทุกเช้า จะช่วยให้สุขภาพดี
       
       คะน้าและผักใบเขียวทุกชนิด
       - สรรพคุณโดยรวม คือ ทำให้ผิวพรรณชุ่มชื้น ทำให้ร่างกายสามารถดูดซึมสารอาหารต่างๆ ได้ดี มีกากใยมาก ทำให้ขับถ่ายคล่อง ลดอาการมะเร็งในลำไส้และปอด รวมทั้งต่อมลูกหมากได้ดี
       
       แค
       - สรรพคุณ รักษาโรคหวัดคัดจมูก บำรุงสายตา ป้องกันโรคเลือดออกตามไรฟัน
       
       มะเขือเทศ
       - สรรพคุณ บำรุงโลหิต ช่วยทำให้ผิวพรรณดี แก้อาการสิวฝ้า ป้องกันมะเร็งในต่อมลูกหมาก
       
       มะนาว
       - สรรพคุณ รักษาโรคหวัด เจ็บคอด้วยวิธีนำน้ำมะนาวมาผสมน้ำผึ้งเกลือเล็กน้อยผสมน้ำอุ่นแล้วดื่มทีละน้อยทุกเวลาที่รู้สึกกระหายน้ำ ห้ามคนที่ปวดตามข้อดื่ม
       
       สับปะรด
       - สรรพคุณ เป็นยาแก้ไข้ ขับเสมหะ ช่วยย่อยอาหารประเภทเนื้อสัตว์ให้แก่ร่างกายได้ดี แก้โรคคอหอยพอก ขับพยาธิ และเป็นยาระบายอ่อนๆ น้ำสับปะรดใช้กลั้วปาก ช่วยลดอาการเหงือกบวม และดับกลิ่นปาก แกนสับปะรดช่วยขับปัสสาวะ ละลายนิ่ว

 

ลม
       ลักษณะผู้ที่มีธาตุลมมาก
       จะมีรูปร่างสูงโปร่ง ไม่อ้วน ผมและขนตามตัวจะแห้งกรอบ ผิวหนังแห้ง กระด้าง เล็บกระดูกฟันเปราะกรอบ สีจะขาวซีด ดวงตาจะพร่ามัวเพราะมีลมออกจากกระบอกตามาก
       
       พฤติกรรม
       ทำอะไรหุนหัน เรียกว่าโกรธง่ายแต่หายเร็ว ทะเยอทะยาน มีความหยิ่งทระนงที่ถนัดคือยุ่งกับเรื่องของชาวบ้านตั้งวงนินทา เป็นคนช่างประจบเลยทำให้ดูเหมือนมีสังคมกว้างเข้ากับคนอื่นได้ง่ายแต่ก็โดนคนอื่นทิ้งได้ง่าย เป็นคนทำอะไรรวดเร็ว แต่ไม่ค่อยเรียบร้อย
       
       อารมณ์และนิสัย
       เป็นคนเจ้าอารมณ์ ชอบเพ้อฝัน มีนิสัยค่อนข้างอิจฉาริษยา บางขณะก็มีน้ำใจจนท่วมท้น ทำให้คนอยู่ใกล้อึดอัด บางขณะก็ดูหฤโหด โกรธรุนแรง มีความหลงต่ออารมณ์ต่างๆ ได้ง่าย จนถูกหลอกเป็นประจำ ถึงกระนั้นก็ยังพอจะมีปฏิภาณเอาตัวรอดได้ เป็นผู้มีความคิดที่ใครๆ ก็จะคาดเดาลำบาก
       
       โรคที่มักจะเป็น
       โรคกระดูกเปราะ โรคน้ำตาแห้ง โรคตาต่างๆ โรคลมจุกเสียด โรคลมดันหัวใจ โรคนอนกรน โรคผอมแห้งแรงน้อย โรคปวดหัววิงเวียนศีรษะ โรคท้องอืดท้องเฟ้อ โรคอ่อนเพลีย
       
       อาหารที่ควรรับประทาน
       - อาหารที่รับประทานแล้วทำให้เกิดความร้อนในร่างกาย เช่น
       
       - อาหารรสเผ็ด ได้แก่ กระชาย กระเทียม ขิง ขึ้นฉ่าย ขมิ้นขาว ตะไคร้ ถั่วต่างๆ ใบกะเพรา ใบชะพลู ใบแมงลัก ใบโหระพา ใบสะระแหน่ ผักชีฝรั่ง พริก ฟักทอง ยี่หร่า และพืชผักใบเขียวต่างๆ เช่นผักบุ้ง
       
       - ผลไม้ ก็มี ชมพู่ แตงไทย แตงโม พุทรา เม็ดบัว เม็ดแมงลัก อาหารดังกล่าวมานี้ ควรเป็นส่วนประกอบของอาหารแต่ละมื้อ และรับประทานพอประมาณ
       
       - ลำดับของอาหารที่ควรรับประทาน เผ็ดร้อน เค็ม หวาน เปรี้ยว ควรหลีกเลี่ยง อย่างปรุงให้รสใดรสหนึ่งจัดเกินไปจะเป็นโทษ
       
       อาหารบำรุงธาตุได้ดี
       น้ำกระชายหมัก น้ำขิง น้ำตะไคร้ น้ำลูกเดือย หรือเม็ดแมงลักกับน้ำผึ้ง หรืองาดำคั่วแล้วบดนำมาผสมน้ำผึ้งและน้ำอุ่น ดื่มวันละแก้วตอนเช้าก่อนออกกำลังกาย จะช่วยรักษาสมดุลของธาตุภายในได้ดี
       
       ดูอย่างไรว่าตนมีธาตุลม
       - ดูจากปีเกิด ลักษณะรูปร่าง อารมณ์ และนิสัย
       
       - คนเกิดปีเถาะ (กระต่าย) ปีมะเมีย (ม้า) ปีมะแม (แพะ) ปีวอก (ลิง)
       
       ถ้าจะดูตามวันเกิด ส่วนใหญ่จะเป็นคนเกิดวันศุกร์ และวันพุธ
       
       - ลักษณะรูปร่าง กล่าวแล้วแต่ต้น
       
       - อารมณ์ และอุปนิสัย กล่าวแล้วแต่ต้น
       
       ธาตุลมเป็นมิตรกับธาตุใด
       ผู้ที่มีธาตุลมอยู่มาก จะคบหาสมาคมกับผู้อื่นก็ดูจะฉาบฉวยผิวเผิน อาจจะเป็นเพราะเป็นราชาธาตุก็ได้ เลยมิชอบเอาใจใคร
       
       สีที่เหมาะสมกับธาตุลม
       สีขาว สีฟ้า สีเหลืองอ่อน สีครีม สีสว่างๆ เหมาะสำหรับธาตุลม
       
       สรรพคุณของอาหารประจำธาตุลม
       กระชาย
       - สรรพคุณ แก้โรคปากเปื่อย ปากเป็นแผล แก้โรคลมจุกเสียด รักษาโรคบิด ขับระดูขาว ขับปัสสาวะ เหง้ากระชายนำมาตำครั้นน้ำมาทารักษากลากเกลื้อน และงูสวัด
       
       กะเพรา
       - สรรพคุณ ขับน้ำดี ช่วยย่อยไขมัน ขับลมในกระเพาะ แก้อาการท้องอืดท้องเฟ้อ จุกเสียด ช่วยบำรุงกระดูกทำให้เจริญอาหาร และดับกลิ่นคาว
       
       ขมิ้น
       - สรรพคุณ ช่วยในการย่อยอาหาร แก้โรคท้องอืด จุดเสียด รักษาแผลในกระเพาะอาหารได้ แต่ต้องกินแต่พอดี นำขมิ้นมาฝนเอาน้ำทารักษาโรคผิวหนัง และช่วยลดอาการเสียน้ำของผิวหนังได้ ทำให้ผิวหนักชุ่มชื้น ใช้รักษาแผล น้ำกัดเท้า เล็บขบได้ดี
       
       ขมิ้นอ้อย
       - สรรพคุณ รักษาโรคท้องร่วง อาเจียน แก้ไข้ สมานแผล
       
       ขิง
       - สรรพคุณ ช่วยป้องกันอาหารเมารถเมาเรือได้ดี ด้วยการดื่มน้ำขิงแก่ก่อนจะขึ้นรถ ลงเรือ ช่วยขับลมในลำไส้ แก้ไอ ขับเสมหะ และขับเหงื่อ แก้อาการเกร็งท้อง ท้องเป็นตะคริว
       
       ตะไคร้
       - สรรพคุณ เป็นยาขับลม ขับปัสสาวะ แก้ท้องอืดแน่นเฟ้อ
       
       แตงโม
       - สรรพคุณ ช่วยดับพิษร้อนภายใน ลดอาการทุรนทุรายจากพิษไข้ ขับปัสสาวะ น้ำแตงโมช่วยล้างไต ล้างลำไส้และกระเพาะอาหาร เปลือกแตงโมแกงส้มช่วยรักษาอาการไข้หวัด
       
       ถั่วฝักยาว
       - สรรพคุณ เป็นยาบำรุงไต และม้าม แก้ร้อนใน และแก้อาการตกขาว
       
       ใบโหระพา
       - สรรพคุณ เป็นยาแก้ท้องอืด ขับลมในลำไส้ ป้องกันโรคหัวใจขาดเลือด มีฤทธิ์ต้านมะเร็ง ช่วยให้เจริญอาหาร เมล็ดเป็นยาระบาย
       
       ผักชีฝรั่ง
       - สรรพคุณ สร้างภูมิคุ้มกัน บำรุงสายตา รักษาสมดุลของธาตุภายในกาย ดับกลิ่นคาว
       
       พริก
       - สรรพคุณ แก้อาการผอมแห้งแรงน้อย ซูบซีดพุงโรก้นปอด ขับเสมหะ ขับเหงื่อ ช่วยระบบย่อยอาหาร และทำให้ดูดซึมอาหารได้ดี ละลายลิ่มเลือด ป้องกันมะเร็ง
       
       พุทรา
       - สรรพคุณ เป็นยาแก้อาการไอ แก้อาการร้อนใน กระหายน้ำ เมล็ดใช้เผาไฟแล้วบดหรือตำ นำมาไว้ใกล้ๆ เด็กอ่อนช่วยรักษาอาการเป็นหวัดคัดจมูก หรือไม่ก็ใช้ผงที่บดละเอียดแล้วมาผสมน้ำเล็กน้อย แล้วกวาดลิ้นเด็ก แก้อาการเป็นซางลิ้นขาว
       
       แมงลัก
       - สรรพคุณ แก้ไข้หวัด แก้หลอดลมอักเสบ แก้ท้องร่วง ใบนำมาตำเอาน้ำมาทาแก้โรคผิวหนัง เมล็ดนำมาแช่น้ำผสมน้ำผึ้งทานเป็นยาระบาย แก้โรคกระเพาะ ลดความอ้วน เพราะมีสรรพคุณในการดูดซึมน้ำตาลในเส้นเลือด ทำให้ขับถ่ายสะดวก
       
       รากบัว
       - สรรพคุณ เป็นยาคุมธาตุภายใน ช่วยรักษาอาการท้องร่วง เป็นยาแก้ร้อนในกระหายน้ำ เหง้า และเมล็ด เป็นยาบำรุงกำลัง บำรุงน้ำดี แก้อาการน้ำเหลืองเสีย ดีบัวที่อยู่ใจกลางเมล็ดมีรสขมเป็นขาขยายหลอดเลือดหัวใจ
       
       สะระแหน่
       - สรรพคุณ ช่วยขับลมในลำไส้และกระเพาะ แก้อาการปวดท้อง ท้องอืด ขยี้ทาขมับ แก้อาการปวดหัว ดมแก้ลม ทาแก้อาการช้ำ

 ไฟ
       ลักษณะผู้ที่มีธาตุไฟมาก
       จะมีรูปร่างผอมคล้ำ ผิวหนักตกกระ ไฝฝ้าจะขึ้นกระจายไปทั่ว ผมและขนจะแห้งแตกปลายและจะเบาบาง ตามลำตัวจะมีไอร้อนมากกว่าธาตุอื่นๆ สีหน้า และแววตาจะหมองคล้ำ เล็บและฟันจะไม่เป็นเงางาม กล้ามเนื้อจะไม่ค่อยแข็งแรง เซลล์ในกระดูกจะเกาะตัวกันอย่างหลวมๆ กลิ่นตัวรุนแรง
       
       พฤติกรรม
       เป็นคนซื่อตรง พูดจาโผงผางตรงไปตรงมา ส่วนใหญ่จะเสียเพราะคำพูด ทำอะไรชอบทำให้ดูใหญ่โต เรียกว่าฉิบหายไม่ว่า ต้องการชื่อเสียง เป็นเจ้าบุญทุ่มพอสมควร แต่มิค่อยมีคนชอบ ชอบอวดดีทั้งที่ไม่มีดีให้อวด
       
       อารมณ์และนิสัย
       เป็นคนอารมณ์รุนแรง โกรธรุนแรง หงุดหงิดง่าย เวลาทำอะไรมิค่อยคิด มีนิสัยชอบผูกพยาบาท ชอบคิดอยู่เสมอว่าเราเคยมีบุญคุณกับคนอื่น คนอื่นก็ต้องตอบแทนเรา
       
       โรคที่มักจะเป็น
       ท้องผูก ริดสีดวง ความดันสูง เส้นโลหิตเปราะบาง ปวดศีรษะ โรคไต โรคกระษัย ปัสสาวะกะปริบกะปรอย วิตกกังวล เบื่ออาหาร โรคหัวใจ โรคไทรอยด์ ร้อนใน โรคกระเพาะ กระดูกเสื่อมเร็วก่อนวัย หงุดหงิดง่าย ใจสั่น แผลพุพอง น้ำเหลืองเสีย เลือดเป็นพิษ โรคเลือดลักปิดลักเปิด
       
       อาหารที่ควรรับประทาน
       - อาหารที่เหมาะสำหรับธาตุไฟ มีรสขม รสจืด รสเย็น
       
       - รสขม ได้แก่ ใบปอ ใบยอ ผักขมจีนและไทย มะระขี้นก มะระจีน
       
       - รสจืด ได้แก่ กระเจี๊ยบขาว ดอกกะหล่ำปลี ดอกสลิด ดอกโสน ถั่วพู ถั่วฝักยาว บวบงู บวบอ่อน ใบทองหลาง ผักกาดขาว ผักกระเฉด ผักกูลป่า ผักชีฝรั่ง ผักบุ้งจีน มะเขือยาว ยอดผักปลัง สายบัว
       
       - รสเย็น ได้แก่ เก๊กฮวย เฉาก๊วย แตงกวา แตงไทย แตงล้าน แตงโม น้ำใบเตย ใบตำลึง ใบบัวบก ฟักเขียว มะตูม มะละกอ รากบัวหลวง ลูกตำลึงอ่อน สายบัว หัวไชเท้า
       
       อาหารที่บำรุงธาตุไฟได้ดี คือ มะระจีนตุ๋น กับเห็ดหอม น้ำใบบัวบก
       
       ดูอย่างไรว่าตนมีธาตุไฟ
       - ดูจากปีเกิด ลักษณะรูปร่าง อารมณ์ และนิสัย
       
       - คนเกิดปีขาล (เสือ) ปีมะโรง (งูใหญ่) ปีมะเส็ง (งูเล็ก) ปีระกา (ไก่)
       
       ถ้าจะดูตามวันเกิด ผู้ที่เกิดในวันอาทิตย์ วันอังคาร วันเสาร์ ส่วนใหญ่จะเป็นธาตุไฟ
       
       - ลักษณะตามรูปร่าง กล่าวแล้วแต่ต้น
       
       - อารมณ์ และอุปนิสัย กล่าวแล้วแต่ต้น
       
       ธาตุไฟเป็นมิตรกับธาตุใด
       - ผู้ที่มีธาตุไฟอยู่มาก มักจะชมชอบคบหาสมาคมกับคนธาตุลม และธาตุดิน แต่จะเป็นศัตรูกับธาตุน้ำ
       
       สีที่เหมาะกับธาตุไฟ
       สีแดง สีดำ สีชมพู สีคราม สีฟ้าแก่
       
       สรรพคุณของอาหารประจำธาตุไฟ
       กระเจี๊ยบมอญ
       - สรรพคุณ เป็นยาบำรุงสมอง ลดความดันโลหิต รักษาโรคกระเพาะ ช่วยเสริมสร้างเนื้อเยื่อที่เสียหาย เป็นยาระบาย
       
       เฉาก๊วย
       - สรรพคุณ แก้ร้อนในกระหายน้ำ แก้อาการปากเปื่อย
       
       ดอกสลิด
       - สรรพคุณ เป็นยาบำรุงหัวใจ แก้ร้อนใน ลดอาการปอดบวม ทำให้เจริญอาหาร
       
       ตำลึง
       - สรรพคุณ เป็นยาดับพิษร้อนภายในร่างกาย ลดอาการไข้ เป็นยาระบายอ่อนๆ ผลดิบนำมาปรุงเป็นอาหารช่วยลดอาการเบาหวาน ใบสดๆ นำมาขยี้ให้ละเอียดเอาน้ำมาทาแก้อาการคัน ช่วยถอนพิษจากหนอนกัด และพิษจากหมามุ่ย ใช้หยอดตาแก้อาการตาแดง ตาเจ็บ
       
       เตย
       - สรรพคุณ บำรุงหัวใจ ทำให้หัวใจชุ่มชื้น แก้กระษัย ขับปัสสาวะ แก้เบาหวาน
       
       บวบ
       - สรรพคุณ ทำให้ชุ่มคอ ช่วยขับปัสสาวะ ขับน้ำนม ทำให้ถ่ายสะดวก
       
       ปอ
       - สรรพคุณ บำรุงธาตุ ทำให้เจริญอาหาร ช่วยขับลม เป็นยาระบาย เป็นยากระตุ้นหัวใจ
       
       ผักกาดขาว
       - สรรพคุณ ช่วยย่อยอาหาร แก้ไข้ ขับเสมหะ แก้พิษสุราเรื้อรัง แก้อาการท้องผูก ช่วยเร่งการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์
       
       ผักปลัง
       - สรรพคุณ รักษาอาการท้องผูก แก้อาการไส้ติ่งอักเสบ เป็นยาระบาย ขับปัสสาวะ แก้บิด
       
       ผักบุ้ง
       - สรรพคุณ บำรุงกระดูก และฟัน บำรุงเลือด ลดไข้ แก้เบาหวาน แก้ร้อนใน บำรุงสายตา
       
       ผักโขมหรือผักขม
       - สรรพคุณ บำรุงโลหิต ช่วยลดเชื้อมะเร็ง ทำให้สายตาดี แก้โรคท้องผูก แก้อาการตกขาวในสตรี สตรีมีครรภ์ หรือกำลังมีประจำเดือนห้ามทาน
       
       ฟักเขียว
       - สรรพคุณ เป็นยาเย็นดับพิษร้อนภายใน แก้ร้อนใน กระหายน้ำ ขับเสมหะ แก้ไอ ลดอาการบวมน้ำ แก้อาการหลอดลมอักเสบ บรรเทาอาการริดสีดวงทวาร แก้หนองใน
       
       มะเขือยาว
       - สรรพคุณ แก้อาการตกเลือดในกระเพาะ ลำไส้ แก้อาการปวดเมื่อย
       
       มะระขี้นก
       - สรรพคุณ บำรุงน้ำดี เป็นยาเจริญอาหาร ขับพยาธิ แก้โรคตับอักเสบ แก้โรคเบาหวาน
       
       มะตูม
       - สรรพคุณ บำรุงธาตุ เจริญอาหาร แก้บิด แก้ร้อนใน ขับลม แก้โรคลำไส้
       
       ยอ
       - สรรพคุณ แก้อาการไข้วิงเวียนคลื่นเหียนอาเจียน แก้กระษัย แก้อาการปวดตามข้อ แก้อาการเป็นวัณโรค
       
       หัวไชเท้า
       - สรรพคุณ ล้างพิษภายใน เป็นยาเย็นดับพิษร้อน บำรุงไต ขับปัสสาวะ ละลายนิ่ว
       
       สายบัว
       - สรรพคุณ ลดอาการเกร็งของลำไส้ และกระเพาะ ลดความเครียดทางสมอง บรรเทาอาการท้องผูก ขับปัสสาวะ ดับพิษร้อนในกาย
       
       บทสรุป
       ธาตุทั้ง ๔ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ มีอยู่ในตัวของทุกคน ซึ่งก็ขึ้นอยู่ว่าคนนั้น เกิดปีใด วันใด ธาตุหนึ่งธาตุใดก็จะเป็นใหญ่ ในวัน และปีนั้นๆ
       
       ธาตุทั้ง ๔ ทางสุขภาพ และอนามัย จะไม่ค่อยตรงกับหลักการดูธาตุของตำราดูชะตาราศีนัก ฉะนั้นอย่าถือเอาตำราเป็นประมาณ ให้สังเกตดูตัวเองว่า มีลักษณะพฤติกรรม อารมณ์นิสัย และโรคตรงแก่ตนหรือไม่ แม้ผู้ที่ยังไม่เป็นโรคใดๆ ก็ควรเลือกบริโภคอาหารที่เหมาะสมตรงต่อธาตุของตน
       
       อาหารประจำธาตุที่ยกมาให้ เป็นแต่เพียงตัวอย่างเล็กๆ น้อยๆ เราอาจจะสรรหาอาหารที่เหมาะแก่ธาตุของตนได้มากกว่าที่ยกมา แต่อยากจะเตือนไว้ว่าเราจะบริโภคอาหารอะไร มีหลักให้พิจารณาอยู่ว่ามันมีประโยชน์ หรือเป็นโทษต่อธาตุของเราหรือไม่
       
       การบริโภคอาหารมิอาจจะทำให้สุขภาพร่างกายแข็งแรงได้ทั้งหมด เราต้องรู้จักบริหารร่างกาย เช่นออกกำลังกายสม่ำเสมอทุกวัน ขณะเดียวกันก็ต้องรู้จักบริหารใจ และอารมณ์ให้ผ่อนคลาย โปร่งเบาสบาย และสงบด้วย จึงจะถือว่าเป็นผู้มีสุขภาพจิตดี สุขภาพกายแข็งแรง ชีวิตเป็นสุข
       
       อาหารที่ควรระวัง และบริโภคให้น้อยที่สุด
       ไขมัน
       เนื้อสัตว์ที่ย่อยยาก เช่น เนื้อวัว เนื้อหมู เนื้อไก่
       น้ำตาลทรายขาว
       กาแฟ และน้ำอัดลม
       อาหารที่ใส่สีผสม และผงชูรส
       เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
       
       อาหารที่รับประทานได้ไม่จำกัด
       ปลาน้ำจืด และปลาน้ำเค็ม
       ข้าวซ้อมมือ ข้าวกล้อง ข้าวเหนียวดำ ลูกเดือย
       และพืชผักต่างๆ
       
       ส่วนเรื่องธาตุใดเป็นมิตรแก่ธาตุใด ยกขึ้นมากล่าวไว้ มิใช่หมายให้ใช้ดูกับคนอย่างเดียว ให้เอาไว้ใช้ดูอากาศ สถานที่ อาหารด้วย ตัวอย่างเช่น คนมีธาตุไฟมิถูกกับอากาศร้อน และก็มิถูกกับน้ำ แต่ถูกกับลม เพราะถ้าร้อนแล้วลงน้ำเลยอาจจะทำให้ธาตุไฟในธาตุกายแตกซ่านเสียก็เป็นได้ จึงจำเป็นต้องอยู่ในสถานที่ที่มีลมโกรกเย็นสบาย แล้วก็หาอาหารหรือเครื่องดื่ม ระบายความร้อนภายในเพื่อให้ผ่อนคลาย
       
       สีที่ยกมาว่าสีใดเหมาะสำหรับธาตุใด ก็เป็นเครื่องทำให้เราดูดีในสายตาผู้อื่น และบางครั้งสีที่ใช้ เสื้อผ้าที่ใส่ก็เป็นเครื่องช่วยรักษาธาตุภายในกายได้เหมือนกัน
       
       อาหาร และเครื่องดื่มที่รักษาสมดุลของธาตุ ทั้ง ๔
       น้ำผักผลไม้รวม มีส้ม ขึ้นฉ่าย กระชาย งาดำ น้ำผึ้งผสมเกลือเล็กน้อย นำมาปั่นรวมกัน
       
       อัตราส่วน
       ส้ม 3 ส่วน
       ขึ้นฉ่าย 2 ส่วน
       กระชาย 1 ส่วน
       งาดำ 1 ส่วน
       น้ำผึ้ง 1 ส่วน
       เกลือ เล็กน้อย