การที่พวกเราทั้งหลายปลูกผักถากหญ้าคงจะไม่ได้คิดว่า มันมีความวิเศษอะไรกับการที่ได้ลงมือปลูกผักปลูกหญ้าด้วยมือตนเอง เพราะเพียงแค่เอามากินเท่านั้นแต่จริงๆ แล้ว มันมีความหมายมากกว่านั้น ตอนที่หลวงปู่ปลูกมะม่วงก็ดี ปลูกกล้วยก็ดี ปลูกต้นไม้ก็ดี หลวงปู่ไม่ได้คิดว่าปลูกเอาไว้กิน แต่หลวงปู่คิดว่าปลูกไว้เพื่อจะเป็นร่มเงาต่อโลก ปลูกไว้เพื่อจะเป็นทานแก่สรรพสัตว์ ปลูกไว้เพื่อจะให้ นกกาอาศัย และก็ปลูกไว้เพื่ออนุเคราะห์เกื้อกูลต่อผู้คนที่สัญจรไปมารวมถึงการปลูกไว้ เพื่อจะเกื้อกูล อนุเคราะห์ต่อผู้ที่จะอยู่ร่วมกัน เมื่อหลวงปู่คิดอย่างนี้ หลวงปู่ก็ลงมือปลูกต้นไม้ เมื่อใดที่ผลมันออกมาทำให้เรารู้สึกภาคภูมิ และยินดีที่สัตว์ทั้งหลายได้มีโอกาสพึ่งพิงอาศัยในสิ่งที่เรากระทำมันขึ้นมา พึ่งพิงอาศัยในสิ่งที่เราปลูกมันขึ้นมา และก็พึ่งพิงอาศัยในสิ่งที่เราผลิตมันขึ้นมา
ถ้าจะว่ากันว่ามันเป็นผลสำเร็จของชีวิตก้าวหนึ่งที่จะนำไปสู่ความโดด เด่นความสำเร็จ ความภาคภูมิ ความอาจหาญ และก็ความสันโดษ ได้หรือไม่ ความเสียสละได้หรือเปล่า ก็ต้องบอกว่ามันต้องได้ทีเดียว เพราะการที่เราลงมือทำอะไรๆเพื่อคนอื่น เพื่อผู้อื่นนั้น มันเป็นความ วิเศษสุดที่คนทั้งหลายยากที่จะทำมันได้ทำมันถึง
การที่เราลงมือเสียสละประโยชน์สุขส่วนตนเพื่อจะหวังเกื้อกูลและเอื้อ อำนวยประโยชน์สุขส่วนรวมให้เกิด อย่างที่หลวงปู่บอกว่า การที่เราจะนั่งเรียนในโรงเรียนร้อยชั่วโมง กับการที่เราจะเอื้อมมือไปดึง ต้นหญ้าซักต้นด้วยใจที่เอื้ออาทรต่อสรรพสัตว์ที่ผ่านไปมา สำหรับหลวงปู่และพระพุทธเจ้าก็ถือว่าการเอื้อมมือลงไปดึงหญ้าต้นหนึ่งด้วยใจ เอื้ออาทรต่อสรรพสัตว์ มีค่ากว่าเรียนในโรงเรียนร้อยชั่วโมง ก็เพราะ กิริยาที่กระทำอย่างนั้น เป็นกิริยากระทำของผู้ที่มีใจเอื้ออาทรเสียสละ และก็มีความการุญภาพต่อสรรพสัตว์และพลโลก
ความเอื้ออาทรอย่างนั้น เป็นชีวิตวิญญาณของเหล่าพระโพธิสัตว์ ความเมตตาการุณย์อย่างนั้นเป็นความสำเร็จทางวิญญาณอย่างยิ่งที่จะได้มัน ซึ่งได้จากการที่เราเสียสละอดทนต่อสู้และก็เอื้ออาทรต่อสรรพสัตว์ เพียงแค่เราดึงต้นหญ้าต้นหนึ่งด้วยใจปรารถนาดี ด้วยไมตรีต่อสัตว์ที่ผ่าน ไปมาเพื่อจะเดินได้สะดวกมันมีค่ากว่าการนั่งเรียนในโรงเรียนและในตำรา ก็เพราะว่าการนั่งเรียนในโรง-เรียนหรือในตำรับตำรานั้น จุดมุ่งหมาย ก็เพียงเพื่อจะให้ประโยชน์ตน ส่วนจะเป็นประโยชน์ส่วนอื่นหรือว่าส่วนรวมนั้น มันได้โดยทางอ้อมไม่ใช่ได้โดยตรง แต่การที่เราเอื้อมมือลงไป ดึงหญ้าต้นหนึ่งมันได้ประโยชน์ส่วนรวมโดยตรงมุ่งหมายแก่คนอื่นโดยตรง มีใจเอื้ออาทรต่อผู้อื่นโดยตรง ปรารภผู้อื่นเป็นเกณฑ์
พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนให้บรรดาสานุศิษย์ของพระองค์แผ่เมตตา เมตตาโดยหาประมาณมิได้ นั่นคือเมตตาต่อสรรพสัตว์ ไม่มีที่สุด ไม่มีประมาณ เพื่อจะให้เกิดอานุภาพแห่งความปรารถนาดีซึมสิงไปทุกอณูของบรรยากาศเพราะความ เอื้ออาทรอย่างนี้ และการกระทำงานอย่างเสียสละอย่างนี้แหละ มันจึงทำให้โลกและสังคมอยู่ได้โดยสันติสุขและร่มเย็น
ฉะนั้น พวกเราจะคิดกันบ้างหรือเปล่าว่าการทำงานของพวกเราในอิริยาบถต่างๆไม่ว่าจะ เป็นการถางหญ้า รดน้ำ พรวนดิน ปลูกต้นไม้ หรือว่าทำงานอะไรๆ ก็แล้วแต่ มันเป็นการทำงานเพื่อพัฒนาอบรมตน มันเป็นการทำงานเพื่อการพัฒนาอบรมนิสัย จิตใจ หล่อหลอมอุปนิสัย และจิตใจให้รวมกันเป็นเอกภาพของจักรวาล
หลวงปู่ถือว่าการทำงานเป็นการหล่อหลอม วิญญาณ ชีวิต ความ รู้สึกนึกคิด รวมกับร่างกาย ให้เป็นหนึ่งเดียวกับจักรวาล ในการรับรู้ และการสัมผัสในอิริยาบถที่เรากระทำงานนั้นๆ โดยความปรารถนาเพื่ออำนวยประโยชน์สุขต่อชาวโลกและสังคม หลวงปู่ถือว่ามันเป็นประสบการณ์ทางวิญญาณที่เยี่ยมยอด เพราะหาได้ยากกับการที่บุคคล จะเสียสละให้ความจริงจังและจริงใจต่อสรรพสัตว์และพลโลก หาได้ยาก ต่อบุคคลทั้งหลายจะพากันเอื้ออาทรต่อชีวิตวิญญาณของคนในโลกและสรรพสัตว์ เพื่อจะปลดเปลื้องสรรพสัตว์ให้พ้นจากอำนาจของภัยพิบัติที่เกิดจากความโง่ เขลา ความเกียจคร้าน ความโหดร้าย หรือความชั่วเลวเหลวแหลกอะไรต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น สิ่งเหล่านี้เป็นความทุกข์อย่างยิ่งขอเพียงเรามีโอกาสทำมันเป็นพื้นฐาน แม้แต่การเอื้อมมือลงไปเด็ดหญ้าด้วยใจเอื้ออาทร ต่อโลกและสังคมรวมทั้งสรรพสัตว์ หลวงปู่ก็ถือว่านั่นเป็นการทำงานของพระโพธิสัตว์องค์หนึ่งในจักรวาลเหมือน กัน เพราะมันสามารถทำประโยชน์สุขให้เกิดขึ้นในโลกและสังคมได้ แม้แต่หญ้าต้นเดียว หลวงปู่ก็ถือว่าเป็นความยิ่งใหญ่ของจิตใจที่เต็มเปี่ยมไปด้วยการเสียสละ มันมีค่ายิ่งกว่าทองคำหนึ่งพันตำลึง มันมีค่าจนหาที่สุด ประมาณมิได้ กับน้ำใจที่ให้ต่อความเอื้ออาทรอย่างนั้น
ซึ่งตรงกันข้ามกับการที่เราใช้เวลาให้มันสูญเสียไป กับการที่ไม่ได้ประโยชน์ต่อโลกและสังคม แต่พยายามหาความสุขปรนเปรอตัวเอง หาความสบายใส่ตัวเองหลวงปู่ถือว่านั่นเป็นพลโลกที่น่ารังเกียจเหยียดหยาม หรือเป็นพลโลกที่เห็นแก่ตัวอย่างยิ่ง เพราะพลโลกอย่างนี้มีมากมันจึงทำให้เกิดกลียุคเกิดความเดือดร้อนร้าวฉานไปใน สังคมต่างๆ
ยุค ๒,๐๐๐ กว่าปีก่อนที่ศาสดาจะอุบัติขึ้นในโลก ผู้คนทั้งหลาย ในยุคนั้น เขาถือกันว่า การนั่งหลับตาทำสมาธิ การบำเพ็ญตบะ และ การทรมานตน การฝึกจิตมันเป็นวิถีทางให้พวกเขาเหล่านั้นหลุดพ้นจากบ่วงแห่งมาร และวัฏสงสารได้
ต่อมาเมื่ออุบัติศาสดาแห่งศาสนาพุทธขึ้น ผู้ที่เป็นผู้นำแห่งพุทธะทั้งปวง พระองค์ทรงค้นพบวิธีการว่า การนั่งหลับตาเฉยๆ มันหาได้พา ตัวเองพ้นจากวัฏฏะไม่มันต้องควบคู่ไปกับอิริยาบถที่เต็มเปี่ยมไปด้วย ความสะอาด หรือต้องควบคู่ไปกับกรรมที่เป็นปฏิปักษ์ต่อความชั่วช้า กรรมอันใดที่เป็นปฏิปักษ์ต่อความชั่วช้า
กรรมอันใดที่จะทำให้เกิดความชั่วช้า เราต้องละเว้น งดต่อกรรม นั้นๆ
กรรมอันใดที่จะนำมาซึ่งความเศร้าหมอง เราต้องล้มเลิก และหยุดกรรมนั้นๆ
กรรมอันใดที่จะนำมาซึ่งความเจริญ ทำลายความเสื่อม เราต้องทำให้กรรมนั้นๆ
เกิดขึ้นเป็นนิจศีล
ในขณะเดียวกัน นอกจากการฝึกปรืออบรมกายทวาร วจีทวารแล้ว ก็ต้องฝึกปรืออบรมใจไปด้วยในตัวเสร็จ พระพุทธองค์ทรงค้นคว้า ด้วยวิธีแห่งการนั่งทรมานตนอยู่ถึง ๖ ปี แต่ก็ไม่ทำให้พระองค์ถึงหนทางแห่งความหลุดพ้น ต่อมาเมื่อพระองค์ทรงมาเปลี่ยนวิธีการที่พระองค์ ทรงคิดค้นขึ้น นั่นคือวิธีการในการเลิกทำกรรมชั่วหันมาเพียรพยายาม ทำกรรมดี ในขณะเดียวกันก็พยายามฝึกปรืออบรมจิตของตน กรรมดี ที่พระองค์ทรงเลือกทำประเด็นแรกก็คือ ไม่เบียดเบียนสัตว์ ไม่ทำให้สัตว์เดือดร้อน ไม่ทำลายสิ่งต่างๆ ที่เป็นทรัพยากรและธรรมชาติ นอกจาก ไม่เบียดเบียนสัตว์ ไม่ทำสัตว์ให้เดือดร้อน ไม่ทำลายสิ่งต่างๆ ที่เป็นทรัพยากรของธรรมชาติแล้ว ยังเกื้อกูลอนุเคราะห์ช่วยเหลือต่อสรรพสัตว์ ในทุกอิริยาบถที่เป็น โดยความเสียสละ โดยความแบ่งปันโดยความอาทร
พร้อมกันนั้นพระองค์ก็ทรงฝึกปรืออบรมพลังแห่งจิต ทำให้จิตมีอำนาจมีพลัง ด้วยอิริยาบถทั้ง ๒ ชนิดก็คือ กุศลแห่งจิต คือจิตที่เป็น กุศลคือความฉลาด และการกระทำที่เป็นกุศลนั่นคือกรรม การกระทำ ที่ชาญฉลาด รวมความแล้วจิตที่ฉลาด การกระทำที่ฉลาด๒ ชนิดนี้เท่านั้น จึงจะทำให้พระองค์เข้าถึงความหลุดพ้นจากอำนาจของการเกิด แก่ เจ็บ และตาย และเมื่อพระองค์ทรงค้นพบอย่างนี้แล้ว ก็เป็นวิถีทาง อย่างยิ่งที่ชาวพุทธเราทั้งหลายจะต้องดำเนินรอยตามวิธีการนั้นๆ และวิธีที่จะทำให้เข้าถึงกุศลกรรม คือกรรมที่เป็นกุศล กรรมที่เป็นกุศลคือกรรมที่กระทำด้วยความฉลาด พระองค์ก็ทรงเรียกวิธีนั้นว่า มัชฌิมาปฏิปทา
ในมัชฌิมาปฏิปทานั้นก็บรรจุการฝึกปรือทั้งกายและก็ฝึกปรือใจใส่ลงไป ด้วยมีกรรมส่วนที่เป็นอารมณ์ กับมีกรรมส่วนที่เป็นทางกายคือการกระทำ ส่วนที่เป็นนามธรรมคือความรู้สึกนึกคิด ส่วนที่เป็นรูปธรรม ก็คือการกระทำของกายและวาจา เช่น ในข้อคำว่ามรรคาปฏิปทา หรือมัชฌิมาปฏิปทา หรือมรรคมีองค์ ๘ ถ้าจะแยกออกเป็นส่วนทางกายก็ได้แก่ความเพียรชอบการงานชอบ การเลี้ยงชีพชอบ สิ่งเหล่านี้ เป็นส่วนของทางกาย แต่ส่วนที่เป็นทางใจก็คือ สติชอบ ระลึกชอบ ตั้งใจชอบ ดำริชอบ ส่วนนี้เป็นส่วนของทางใจ เพราะฉะนั้นเราจะเห็นว่ามรรคมีองค์ ๘ ประการ หรือมัชฌิมาปฏิปทา หนทางที่จะนำเราให้เข้าไป สู่ความหลุดพ้น หรือแม้แต่อำนาจบ่วงแห่งมารที่ไม่อาจจะมารัดรึงเราได้นั้น มันต้องบวกไปกับการกระทำ ๓ ชนิดในเวลาเดียวกัน การกระทำ ๓ ชนิดเช่นนั้นถ้าจะสรุปลงมาได้ก็คือ การกระทำทางกายวาจาและใจเป็นสัมมาปฏิบัติ ไม่ใช่มิจฉาปฏิบัติ เป็นสัมมาสติสัมมาสมาธิ มิใช่มิจฉาสติ มิจฉาสมาธิ เป็นสัมมาวาจา มิใช่มิจฉาวาจา
อะไรบ้างที่เป็นสัมมาปฏิบัติในการกระทำทางกายและวาจา ก็คือ การพูดในสิ่งที่มีแต่ประโยชน์พูดแต่สิ่งที่ทำให้เกิดความรื่นเริงในธรรม ยินดีในธรรม พูดในสิ่งที่ทำให้เกิดความเจริญรุ่งเรืองต่อโลกสังคม และ ทำลายความเสื่อม พูดเพื่อที่จะปลดปล่อยตนและสรรพสัตว์ ให้พ้นจากทุกข์โทษภัยจากการเกิด แก่ เจ็บ ตาย ทั้งปวง เหล่านี้ถือว่าคำพูดเป็นสัมมา ปฏิบัติส่วนความบำเพ็ญเพียรทางกาย ซึ่งไม่เกี่ยวกับวาจา นั้นก็คือ การกระทำสิ่งต่างๆด้วยอิริยาบถที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความรู้เนื้อรู้ตัว เต็มเปี่ยมไปด้วยความเอื้ออาทร การุญภาพต่อสรรพสัตว์ให้ความ อนุเคราะห์เมตตาการุณย์และเสียสละอย่างยิ่งต่อสรรพสัตว์ ด้วยความ คิดว่าอยากจะเกื้อกูลเขาเหล่านั้นให้เป็นสุข จัดเป็นอริยาบถสะอาด นั่นถือว่าเป็นการกระทำทางกายที่เป็นสัมมาปฏิบัติ
ในส่วนของจิตใจแล้ว ก็ต้องสอดแทรกซึมสิงอารมณ์และจิตใจเข้าไปสู่อิริยาบถต่างๆและคำพูดต่างๆ ที่เรากระทำทั้งทางกายและวาจา นั่นคือเอาใจหรือเอาอารมณ์ซึมสิงเข้าไป คือความรู้เนื้อรู้ตัว แม้กระทั่งการพูด การยืน การเดิน การนั่งและการนอน นี่คือส่วนของจิตใจที่เราใช้มันซึมสิงเข้าไปในทุกอิริยาบถ แม้กระทั่งการถางหญ้า รดน้ำพรวนดิน ก็ใช้จิตหรือใช้ใจซึมสิงเข้าไปให้รับรู้อิริยาบถนั้นๆ ไม่ให้ขาดตกบกพร่อง โดยที่ไม่ต้องนั่งหลับตาเราก็สามารถที่จะฝึกปรือได้ เป็นสัมมา ปฏิบัติ เป็นสัมมาทิฐิ เป็นสัมมาสติ เป็นสัมมาสมาธิ เป็นสัมมากัมมันตะ เป็นสัมมาอาชีวะ และเป็นสัมมาวายามะ
เพราะฉะนั้นการฝึกปรืออย่างนี้แหละ จึงจะหมายถึง กายกับใจ ต้องรวมกันเป็นหนึ่งเพื่อจะให้ใจที่เป็นหนึ่ง และกายที่ได้มาเป็นหนึ่งรวมกันได้แล้วนั้น ไปทำงานต่างๆ นอกจากเราจะได้ผลงานทางกายแล้ว มันจะทำให้เกิดผลงานทางใจ จะทำให้ใจเราอาจหาญ รื่นเริงและกล้าแข็งไม่จำเป็นต้องมีชั่วโมงสมาธิ เราสามารถจะมีสมาธิได้ทุกอิริยาบถ
ตัวอย่างเช่น มีอาจารย์ผู้มีชื่อเสียงเรื่องมหาสติในประเทศญี่ปุ่น สั่งสอนชาวบ้านให้รู้จักสติ ต่อมาอาจารย์ผู้นั้นได้เข้าไปหาท่านอาจารย์ผู้หนึ่ง ซึ่งเป็นผู้ไม่มีเกียรติยศอะไรนักด้วยความอยากจะสนทนาธรรมด้วย ในที่พักของอาจารย์ผู้ไร้เกียรตินั้น ในขณะที่เข้าไปสนทนา ท่านอาจารย์ผู้ไร้เกียรติก็ถามท่านอาจารย์ผู้มีเกียรติว่า เมื่อครู่นี้ท่านถอดรองเท้าไว้ข้างไหน ฝั่งไหนของประตู และวางร่มไว้ฝั่งขวาหรือฝั่งซ้าย ท่านอาจารย์ผู้มากไปด้วยเกียรติยศและมหาสติ ที่มีคำสอนเยอะแยะนั้น ก็นั่งนึกอยู่ตั้งนาน แต่จนแล้วจนรอดเขาก็ไม่สามารถจะตอบได้ว่า เขาได้วางร่มกันฝนเอาไว้ฝั่งไหนของประตูคือขวาหรือซ้ายก็ไม่รู้ นึกไม่ออก แถมยังไม่รู้อีกว่าเขาถอดรองเท้าไว้ทางข้างไหนของประตู หรือประตูบานที่เท่าไหร่ของบ้าน สุดท้ายอาจารย์ผู้มากไปด้วยเกียรติยศ ก็ต้องยอมรับตัวเองว่า ตัวเองยังมีสติที่ไม่สมบูรณ์ นั่นแสดงว่า การกระทำของเขาในเรื่องของกายยังไม่เป็นสัมมาปฏิบัติ แถมยังไม่มีจิตระลึกรู้ตัวทั่วพร้อมทุกอารมณ์หรือการกระทำของกายด้วย จึงทำให้บกพร่อง แม้แต่อิริยาบถเพียงแค่การถอดรองเท้าและวางร่ม ก็เป็นเหตุผลที่ทำให้เกิดความบกพร่องผิดพลาดได้
ฉะนั้น วิถีทางของพุทธะ หรือวิถีทางของพระบริสุทธิธรรมนั้น ก็คือการทำอิริยาบถต่างๆให้เต็มเปี่ยมไปด้วยความรู้เนื้อรู้ตัว ปลุกความ ตื่นให้เกิดขึ้นทุกอิริยาบถ เราจะต้องรับรู้โดยไม่มีคำว่าลืม พ่วงท้ายมา ถ้ายังมีคำว่าลืม แสดงว่ายังเป็นผู้ที่มีสติไม่ได้ เช่น ลืมว่าของชนิดนี้เอาไว้ตรงไหน ลืมว่าอะไรอยู่ที่ตรงนั้นทั้งๆที่เราก็จะผ่ามมาเมื่อครู่นี้ หรือแม้แต่กระทั่งลืมว่า ของที่เราเคยใช้ทุกวันเช่น ยาสีฟัน แปรงสีฟัน เมื่อเช้าเราวางตรงนี้ เอ...เที่ยวนี้มันไปไว้ที่ไหน อะไรประเภทนี้ เป็นต้น หรือแม้แต่บางทีบางขณะบางครั้ง นอกจากการระลึกรู้ในอิริยาบถต่างๆ แล้วก็ต้องรวมไปถึงการระลึกรู้ถึงความเอื้ออาทร ความละเอียดอ่อนของอารมณ์ เช่น เดินไปเจอหญ้ารกดึงขึ้นมาหนึ่งต้น ไปเจอขี้หมาเกะกะ เก็บกวาดทำความสะอาดซะ เจอเศษกระดาษรกสกปรกก้มลง ไปเก็บด้วยใจเอื้ออารี
สิ่งเหล่านี้ มันเป็นความละเอียดอ่อนทางวิญญาณ ที่เป็นประสบการณ์อย่างยิ่ง ต่อคำว่า สัมมาปฏิปทา มันเป็นผลอย่างวิเศษที่ไม่ได้เรียนรู้จากครูที่ไหน หรือไม่มีโรงเรียนใดจะสอนเราได้นอกจาก การเพียรพยายามฝึกปรือของพวกเราทั้งหลายพร้อมทั้งกายใจรวมกัน เพราะฉะนั้น หลวงปู่จึงอยากจะฝากพวกเราเอาไว้ว่า
ประตูของธรรมชาติจักรวาลและนิพพานจะเปิดขึ้นมาได้ มันต้อง หมายถึงว่ากายกับใจของเราต้องเป็นหนึ่ง เป็นเอกภาพซึ่งกันและกันในการทำงานทุกอิริยาบถ ทุกเรื่องราวและทุกขั้นตอน ท้ายที่สุดแม้กระทั่งวาระสุดท้ายของความตาย มันก็ต้องเป็นเอกภาพซึ่งกันและกัน โดยที่เราจะไม่สะทกสะท้าน ไม่หวาดสะดุ้งกลัว ไม่หวาดเสียว ไม่ขนพอง ไม่ขนลุก ไม่ตกใจต่อพญามัจจุราชที่มาเข้าใกล้หรือกล้ำกรายย่ำยี บีฑาเรา เราจะมีแต่ความอาจหาญรื่นเริง และก็ยิ้มรับต่อสถานการณ์ นั้นๆ แม้แต่สิ่งที่เป็นมฤตยูและมัจจุราช ก็ไม่สามารถที่จะทำให้เราสะดุ้งผวาได้ เพราะอิริยาบถที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความรู้เนื้อรู้ตัว ความรู้จักอะไรๆ ต่อความเป็นอะไรของตัวเรา
เพราะฉะนั้น การฝึกปรือเพื่อให้เข้าถึงความหลุดพ้น หรือการฝึกปรือตัวเอง เพื่อจะทำให้อารมณ์ของตัวเองเป็นหนึ่งเดียวเป็นเอกภาพ ของธรรมชาติและจักรวาล มันต้องเป็นหนึ่งเดียวกับกายเราด้วยในทุก อิริยาบถ อารมณ์อันนั้นมันต้องเป็นหนึ่งเดียวกับกายเราด้วยไม่ใช่เป็น หนึ่งเดียวกับอะไรต่ออะไร ที่เป็นหนึ่งเดียวกับพระพุทธเจ้า เป็นหนึ่งเดียวกับพระธรรมเป็นหนึ่งเดียวกับพระสงฆ์ เป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ เป็นหนึ่งเดียวกับโลก เป็นหนึ่งเดียวกับพลัง เป็นหนึ่งเดียวกับจักรวาล แต่เป็นปฏิปักษ์ต่อกายเรานั่นละใช้ไม่ได้ ความเป็นหนึ่งเดียวต่อสิ่งทั้ง หลายต้องเกิดขึ้นมาได้จากความเป็นหนึ่งเดียวของกาย ใจต้องเป็นหนึ่ง เดียวต่อกายในอิริยาบถต่างๆ
นอกจากการฝึกกายแล้ว เรายังได้ประโยชน์ทางใจ จิตใจเราจะ อาจหาญเต็มเปี่ยมไปด้วยความกล้าแข็ง มีความรื่นเริง อดทนและก็เป็นผู้ยิ่งใหญ่ในหัวใจเราเอง เด็ดเดี่ยว มั่นคง และก็เฉียบขาดต่อการตัดสินและแก้ปัญหา แล้วก็เป็นผู้ที่กล้าหาญ ต่อสู้และฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ ได้โดยที่ไม่ย่นย่อและไม่ท้อถอย ไม่มีอะไรที่จะทำให้เราสะดุ้งผวา และหวาดกลัว นี่คือประโยชน์ของการเป็นหนึ่งเดียวระหว่างกายกับใจ ในอิริยาบถต่างๆ
นอกจากเราจะได้ประโยชน์จากการกระทำทางกาย ได้พลังกายใน การออกกำลัง ได้ความเข้มแข็ง ได้ความเฉียบขาด รวดเร็วในอิริยาบถ ต่างๆ แล้ว เรายังได้อิริยาบถที่ละเมียดละไม สุขุมจากอารมณ์ที่ละเอียดอ่อนและความรู้สึกทางใจที่มากด้วยความตั้งมั่นเป็น ตัวของตัว เองด้วย นอกจากอารมณ์และความรู้สึกทางใจแล้ว สมองและประสาท ต่างๆ ในกาย ก็จะตื่นตัวอยู่ตลอดเวลาในขณะที่เราต้องการให้มันตื่น หลวงปู่ไม่เคยทำตัวให้เป็นคนเฉื่อยชา เฉื่อยแฉะ ไม่ว่าจะเป็นอิริยาบถที่อยู่ในขณะฝนตกฟ้าร้อง น้ำท่วมฟ้าผ่า หนาวร้อน กลางวันเย็น กลางคืนมืดดึกดื่นแค่ไหน ปวดหัวตัวร้อนเป็นไข้ไม่สบาย อิริยาบถทั้งหลายของหลวงปู่มีแต่ความเป็นตัวของตัวเอง ไม่เคยปล่อยให้อารมณ์เหล่านั้นมาดึงและปรุงตัวเองให้เป็นคนที่เชื่องช้าลง สิ่งเหล่านี้หลวงปู่ก็ได้ มาจากการฝึกปรือในกรรม ๒ ชนิด คือกรรมที่เกิดจากกาย และกรรมที่เกิดจากใจให้เป็นกุศลกรรม กุศลกรรมตัวนี้แปลว่า กรรมที่ทำไปด้วยความชาญฉลาดมันจะฉลาดได้ก็ต่อเมื่อ เรามีความรู้เนื้อรู้ตัวต่อการกระทำนั้นๆ เมื่อการกระทำนั้นๆ มันรู้เนื้อรู้ตัว มันก็ทำให้ไม่บกพร่องไม่ผิดพลาด คนที่เขารู้เขาก็จะมองเราว่าเป็นการกระทำของคนชาญฉลาด พระพุทธเจ้าจึงเรียกกรรมเหล่านี้ว่า เป็นกุศลกรรม เป็นกรรมที่อยู่ในสัมมาปฏิบัติ สัมมาปฏิปทา สัมมาทิฐิ สัมมาอาชีวะสัมมาสติ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาสมาธิมันจะเป็นสัมมาโดยไม่เป็นมิจฉานั้นก็ต้องบวกไปด้วยความรู้เนื้อ รู้ตัวหรือที่หลวงปู่เรียกว่า อิริยาบถสะอาด
ก็ด้วยเหตุผลที่พระพุทธเจ้า เป็นหนึ่งเดียวในจักรวาลยุค ๒,๐๐๐ กว่าปีให้หลังมานี้พระองค์ทรงเป็นบุคคลคนแรกของโลกในยุคนั้น ที่ปฏิวัติความเชื่อเก่าๆ ที่ต้องมานั่งเบียดเบียนร่างกายให้ได้รับความทรมานที่เรียกว่า การบำเพ็ญตบะ ทุกรกิริยา ทรมานตนให้ลำบาก นั่งหลับหูหลับตาทำสมาธิ โดยไม่ใส่ใจต่อหน้าที่ที่มีในกายตน ไม่ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมรอบกายและภายในอารมณ์ตนเองไม่เกื้อกูลต่อโลกและสังคม คนเหล่านี้ไม่พบความสำเร็จในเรื่องของความหลุดพ้น นอกจากจะไม่พบความสำเร็จแล้ว ยังพบความฉิบหายของมรรคผล ไม่ได้แก่นสารสาระของมรรคผล พระพุทธเจ้าจึงมาค้นคว้า และก็ค้นพบวิถีทางที่จะทำให้ถึงมรรคผล แล้วพระองค์ก็ทรงค้นพบได้จริงๆ วิธีของพระองค์ก็คือ มัชฌิมาปฏิปทา
ดังนั้น พวกเราก็ต้องพยายามฝึกปรือ ไม่ว่าจะเป็นการกระทำทางกายก็ดี วาจาก็ดี ต้องใส่อารมณ์ ถ้าพูดเป็นภาษาชาวบ้านก็บอกว่า ต้องใส่อารมณ์ไปกับการกระทำนั้นๆ ใส่อารมณ์ตัวนี้ไม่ใช่อารมณ์แห่งความรู้สึกทะยานอยาก อารมณ์แห่งความโกรธ อารมณ์แห่งความอาฆาตพยาบาทหรืออารมณ์แห่งความอิจฉาริษยา อารมณ์แห่งความละโมบ หลง ฉุนเฉียว แต่เป็นอารมณ์แห่งความรู้เนื้อรู้ตัว เป็นอารมณ์ ที่ไม่มีอะไร เป็นอารมณ์ล้วนๆ ที่ไม่มีอะไร ถ้ายังมีอะไรอยู่ในอารมณ์นั้นๆ มันก็ไม่เป็นอารมณ์ล้วนๆ ของการงานนั้นๆ ใส่อารมณ์ลงไปในการกระทำ คือมีความเพลิดเพลินในการทำงาน มีความสนุกสนานใน การรดน้ำต้นไม้ ตัดหญ้า พรวนดิน ทำกิจกรรมพิเศษ มีความสนุกในการอ่านตำรับตำรา เขียนตำราอ่านหนังสือ มีความสนุกสดชื่นรื่นเริงกระปรี้กระเปร่า มีวิญญาณแห่งความเป็นผู้นำ มีแววตาแห่งความ สดใส มีเสรีภาพในการกระทำ มีอิสระของวิญญาณแห่งตัวเอง ไม่ขึ้นตรงต่ออารมณ์ของความผูกมัดแห่งความโกรธ อาฆาตพยาบาท หลง โง่งมงาย และฉุนเฉียว
เมื่อเราไม่ขึ้นตรงต่อความเป็นทาสของอารมณ์เหล่านี้ เราก็มีเสรีภาพ คนที่มีชีวิตเป็นเสรีภาพ จะสังเกตได้จากแววตา แววตาของคนคนนั้นจะแจ่มใส มีพลัง ส่องประกายของความอิสระ มีความสุข สมบูรณ์ มีสันติอยู่ในตัว แถมยังมีความร่มเย็นเป็นเสน่ห์ และมีอำนาจอยู่ในตัว ตรงข้ามกับแววตาที่ขุ่นมัว แววตาที่สับสน แววตาที่เศร้าหมอง แววตาที่มากไปด้วยปัญหา เป็นแววตาของคนที่มากไปด้วยอารมณ์ อารมณ์ที่โง่เขลา อารมณ์ที่ขาดเขลา อารมณ์ที่เบาปัญญา อารมณ์ที่อิจฉาริษยา อารมณ์ที่โกรธ อารมณ์ที่โลภหรืออารมณ์ที่หลง
เปรียบได้กับดอกไม้ ๒ ชนิด ดอกไม้ที่มีกลิ่นหอมถึงจะเป็นดอก เล็กๆ แต่มันก็มีวิญญาณเวลาลมโชยมามันก็เริงระบำ เริงร่า ส่งกลิ่นกระจายฟุ้งขจรออกไป แล้วมันก็มีความสดชื่นรื่นเริง ถึงมันจะเป็นดอกหญ้าเล็กๆ แต่มันก็มีเสรีภาพในการมีชีวิตของตัวเอง แต่ดอกไม้ที่เป็นดอกไม้ประดิษฐ์ เป็นดอกไม้กระดาษ ถึงจะบานใหญ่ ถึงจะปรุงแต่งให้มันมีกลิ่นหอม แต่เมื่อลมพัดผ่านมา ถึงมันจะเริงระบำ มันก็เป็นการเริงระบำอย่างชนิดที่ไม่มีวิญญาณ ไม่มีเสรีภาพ ไม่มีอำนาจ ซึ่งต่างกับดอกหญ้าที่เริงระบำอย่างมีอำนาจ มีวิญญาณ และมีเสรีภาพ
และถ้าเราจะเป็นดอกหญ้า ก็จงเป็นดอกหญ้าที่มีวิญญาณ มีเสรีภาพของตัวเราเอง อย่าเป็นดอกไม้ใหญ่ที่อยู่ในแจกันแต่กลายเป็นดอกไม้กระดาษ การทำงานที่ขาดชีวิตจิตวิญญาณการใส่ใจ แต่มากไป ด้วยความอยาก ตะกละ ต้องการ ก็ไม่ต่างอะไรกับดอกไม้กระดาษ ที่กล่าวมา
ก็ต้องฝากพวกเราเอาไว้ว่า ชั่วชีวิตหลวงปู่นั้นน่ะ ฝึกตัวเองมาจากธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไม่มีครูบาอาจารย์คนใดอบรมสั่งสอน ตัวเราเป็นผู้ขวนขวายหาความรู้ด้วยตัวเราเอง โดยที่ไม่มีข้อแม้กับอะไรในการเรียนรู้ ไม่มีขีดจำกัดกับอะไรต่อการพิสูจน์ทราบ เพราะฉะนั้น หลวงปู่ก็ปรารถนาจะให้พวกเราได้เรียนรู้สิ่งเหล่านี้ด้วยตัวของพวกเราเอง จากการพยายามสังเกต ศึกษาสิ่งรอบข้าง ซึมสิงซึมซาบสร้างสัมพันธภาพอันดี ต่อการสืบทอดชีวิตวิญญาณ ที่ครูผู้ใจอารีเพียร พยายามจะปลูกฝังให้พวกเรามีความรู้ ความเจริญรุ่งเรืองให้เกิดขึ้น
การมีชีวิตเช่นนี้ ไม่จำเป็นต้องเป็นนักบวช ถึงจะเป็นคฤหัสถ์บรรพชิตหรือฆราวาสอะไรก็แล้วแต่ มันก็จะเจริญรุ่งเรืองไปตลอดกาล แต่มันจะแตกต่างกันระหว่างผู้ที่มีความรู้คับแคบ กับผู้ที่รู้อย่างโดน บีบคั้น ไอ้ตัวคับแคบกับบีบคั้นนี่แหละ มันเป็นตัวกำหนดว่า เราควรจะมีเสถียรภาพในเพศใดดี
ต้องฝากเอาไว้ว่า ไม่ว่าเราจะทำอะไรนั้น จงอย่าทำเพียงแค่ซาก หรืออย่าทำด้วยความรู้สึกแบบตุ๊กตาไขลาน ทำด้วยอารมณ์เซ็ง เบื่อ รำคาญ โดนบังคับหงุดหงิด น่าเบื่อหน่าย ถ้าทำอย่างนั้นนอกจากไม่ได้ประโยชน์แล้ว ยังเป็นโทษต่ออารมณ์ ยังปลูกฝังความเกียจคร้าน ความท้อถอย ความระโหยโรยแรง ความเมื่อยล้าอ่อนเพลียของกาย และความฉิบหายของอารมณ์ดีๆ ให้มันหมดไปกับสิ่งที่ไม่เต็มใจ ไม่ ตั้งใจทำ ไม่อยากจะทำ ไม่ต้องการทำ สิ่งเหล่านี้มันทำให้เกิดปัญหาและก็สุขภาพที่ไม่ดีจะตามมา เช่น ท้องผูก ร้อนใน กระหายน้ำ ไข้ขึ้น นอนสะดุ้ง ฝันร้าย เบื่ออาหาร ปวดหัวแบบไม่มีสาเหตุ เหล่านี้เกิดมาจากอารมณ์ที่แปรปรวนทั้งนั้น แปรปรวนจากการที่จำใจทำ ไม่ตั้งใจทำ โดนไขลานให้กระทำ โดนบังคับให้กระทำ ทั้งๆ ที่สิ่งเหล่านั้น เรารู้ตัวว่าเราต้องทำ
สำหรับหลวงปู่แล้ว หลวงปู่จะเอาประโยชน์จากการกระทำนั่นคือ ตั้งใจทำทำด้วยความรู้สึกสนุกต่อการกระทำ ในขณะที่ทำก็อย่าทำด้วยความอยาก ตะกละ ต้องการ หลง โง่งมอยู่เต็มหัวใจ แล้วก็เฝ้าแต่คำนึงคิดถึงผลของงาน ทั้งที่ยังไม่ได้ลงมือกระทำ แต่จงเอาอารมณ์และความนึกคิดผูกกับตัวเราเอง แล้วเอาอำนาจจากการผูกคือ กายกับใจรวมกันนั้นไปกระทำงาน เราจะรู้สึกเพลิดเพลินมีความสนุกสนานในการทำ นอกจากอิริยาบถของเราจะเคลื่อนไหวได้พลังแล้ว จิตใจของเราก็ยังกล้าแข็ง เมื่อผลงานสำเร็จความอาจหาญรื่นเริงก็ปรากฏ ความแช่มชื่นเบิกบานภาคภูมิใจยินดีในสิ่งที่ตัวเองกระทำก็มีขึ้น ฝึกปรือ อย่างนี้บ่อยๆ เรื่อยๆ ต่อไปๆ น้ำหยดลงตุ่มทีละหยด...ทีละหยด สุดท้ายมันก็เต็มตุ่ม
ถามว่าสิ่งเหล่านี้เป็นการฝึกสมาธิได้ไหม หลวงปู่ต้องตอบว่าอย่างน้อยๆก็ไม่ทำให้ใจเราแตกแยกไปที่ไหน อารมณ์ของเราก็สงบเยือกเย็น เมื่อใดที่เกิดปัญหาเราก็สามารถหยุดและก็สงบมันได้ในพริบตา โดยไม่ปล่อยให้สิ่งเหล่านั้นมามีอำนาจชักจูงฉุดกระฉากตัวเราให้เป็นทาสของ อะไรต่อไป ฉะนั้น ถ้าเรามีโอกาส ถ้าคิดจะทำอะไรหรือถ้าให้ทำอะไร หรือต้องทำอะไรแล้ว จงอย่าทำด้วยความรู้สึกต้องเค้นให้ทำโดยเสียไม่ได้ หรืออย่าทำเพียงแค่ซาก จงทำมันด้วยกายกับใจ วิญญาณกับร่างรวมกันแล้วตั้งใจทำ นอกจากเราจะได้ผลงานอันดีเยี่ยมแล้ว กำลังกายของเราก็จะเจริญรุ่งเรืองต่อไปจิตใจของเราก็จะมีอำนาจมีพลังมีสันติ สุขและมีความสงบ
จริงๆแล้ว ชั่วชีวิตหลวงปู่ไม่มีเวลาที่จะมาฝึกปรือสมาธิ ไม่มีเวลา จะมานั่งสมาธิวันหนึ่งเป็นหลายสิบชั่วโมงอย่างที่ใครๆ คิดว่าควรจะเป็น แต่หลวงปู่ก็ได้อำนาจได้พลังมาจากการฝึกปรือในอิริยาบถแห่งการ ทำงาน แล้วมันเป็นอำนาจเป็นพลังที่เป็นสากล มันเป็นอำนาจเป็นพลังที่มีชีวิต มีวิญญาณ เคลื่อนไหวโยกคลอนได้ ไม่หยุดนิ่งตายตัว ไม่ต้องกลัวว่าอยู่ในที่ไม่สงบ แล้วจะเสียพลัง เสื่อมพลังในขณะทำพูด คิด มันเป็นอำนาจพลังที่มันเข้าได้ทุกอิริยาบถแห่งโลกและสังคม ซึ่งมันต่างจากอำนาจและพลังที่ได้มาจากการต้องนั่งหลับตา เพราะมันไม่เป็นสากล เมื่อใดที่ไม่หลับตาก็ไม่มีพลังไม่มีอำนาจ เมื่อใดที่ไม่นั่งก็ ไม่เกิดสมาธิ ฉะนั้นหลวงปู่ก็จะใช้วิธีการฝึกปรือสมาธิจากอิริยาบถต่างๆ ที่สอดคล้องไปทั้งกายกับใจในการทำงานนั้นๆ มันก็เลยเป็นอำนาจพลังที่เป็นสากล มีพลังอยู่ทุกย่างก้าว มีอำนาจอยู่ทุกอิริยาบถ มีสันติสุขและความสะอาดอยู่ทุกๆ อณูของร่างกายของสถานที่ที่อยู่ แล้วปัญหาต่างๆ มันก็จะไม่รบเร้า ไม่เร่งรีบ ไม่ขยำขยี้ ไม่บีบคั้น ไม่บั่นทอนไม่ทำให้เราต้องทุรนทุรายต่อปัญหาเหล่านั้น ต้องให้พวกเราหัดฝึกตัวเอง และก็เอาไปวิเคราะห์พิจารณาดูว่าเป็นจริงดังที่กล่าวมานี้หรือไม่ ควรจะทำการพิสูจน์และทดลองดู
นักปฏิบัติที่มีข้อแม้ ทำตัวเหมือนกับสาวที่รักสวยรักงาม แล้วเกิด อยู่ในกองดอกไม้ และก็พยายามจะทำให้ดอกไม้ดอกที่ตัวเองเกิดนั้น สดชื่นมีชีวิตชีวาอยู่ตลอด มีกลิ่นหอมมีสีสันไม่ยอมให้มันเหี่ยวเฉา แล้วในขณะเดียวกันเมื่อดอกไม้ดอกนั้น มันตกไปอยู่ในถังส้วมบ้าง ไปอยู่ในกองขยะบ้าง ไปอยู่กลางทางบ้าง ก็ทำตัวขยะแขยงต่อถังส้วม ต่อกองขยะ ต่อหนทางที่ผ่านไปมา นักปฏิบัติประเภทนี้ลำบาก เหมือนกับ สาวน้อยที่ทำตัวลำบากกับการมีชีวิตอยู่กับสิ่งแวดล้อม ที่เป็นสังคมที่เรา ปฏิเสธมันไม่ได้ มันก็คงไม่ต่างอะไรกับ ความรู้สึกที่มีตัวมีตน ความคิด ที่ตัวเองจะต้องดี คนอื่นไม่ดี หรือตัวเองเลว คนอื่นดี มันเป็นความ ถือตัวถือตนที่ยังมีความแบ่งแยกกันอยู่
นักปฏิบัติประเภทที่ จะต้องทำสิ่งที่ตัวเองชอบทำเท่านั้น นอกเหนือสิ่งนั้นถือว่าเป็นเรื่องผิด ซึ่งจริงๆ แล้วพระพุทธเจ้าทรงบัญญัติ ศาสนธรรมนี้ เพื่อให้มนุษย์ได้มีโอกาสหรือสรรพสัตว์ในจักรวาลได้มีโอกาสเป็นอยู่ด้วยกัน ด้วยความสามัคคี และฉันพี่ฉันน้อง โดยการ รับเหตุและผล รวมไปถึงการยอมรับกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ รู้จักใช้ธรรมชาติ ให้ประโยชน์ในสิ่งที่เป็นเรื่องของธรรมชาติ ในขณะเดียวกัน ก็จะปฏิเสธธรรมชาติไม่ได้ ถ้าพูดกันอีกเรื่องหนึ่ง อีกอย่างหนึ่ง หรืออีกรูปแบบหนึ่ง ก็ต้องบอกว่า พระพุทธเจ้าเกิดหรืออุบัติขึ้นมาเพียงเพื่อจะให้พวกเรารู้จักใช้ธรรมชาติให้ เป็นประโยชน์ และท้ายที่สุดอย่ายึดติดในธรรมชาตินั้น
พระองค์ทรงเล็งเห็นว่า สรรพสิ่งในจักรวาลและธรรมชาติพึ่งพิง อิงแอบอาศัยกันตลอดเวลา ตัวอย่างเช่น ต้นไม้ก็ต้องอาศัยดิน ดินก็ต้องอาศัยน้ำ น้ำก็ต้องอาศัยบรรยากาศและความชื้นและต้นไม้ ในขณะเดียวกันเมื่อน้ำมีอยู่แล้ว มันก็จะให้ประโยชน์ความชุ่มชื้นต่อต้นไม้เมื่อต้นไม้ได้รับความชุ่มชื้นจาก น้ำ ก็ให้ประโยชน์ต่อบรรยากาศและ สิ่งแวดล้อม ลำพังต้นไม้ต้นเดียวก็สามารถให้ประโยชน์ต่อธรรมชาติ จักรวาล และสิ่งแวดล้อมก็คืออากาศที่บริสุทธิ์ ร่มเงาที่สุขสบาย ผล และดอกที่เกื้อกูลอนุเคราะห์ต่อสัตว์และโลก ใบและลำต้น รวมทั้งรากก็ให้ความชื้นต่อแผ่นดิน และปุ๋ยอินทรีย์รวมทั้งแร่ธาตุต่างๆ เราจะเห็น ว่าธรรมชาติได้เกื้อกูลอาศัยซึ่งกันและกันตลอด
มีคนคนหนึ่งในสโมสรโรตารี่ เขาบอกว่า...ถ้าประเทศไทยรู้จักที่ จะกำจัดสัตว์สองชนิดออกไปเสียได้ งบประมาณก็จะไม่สิ้นเปลืองเลย สัตว์สองชนิดนั้นก็คือ ยุงกับแมลงวัน และเขาก็บอกว่าสัตว์สองชนิดนี้ ตัวอย่างเช่นยุง ไม่มีประโยชน์อะไรต่อคน เพราะยุงทำให้งบประมาณ ของชาติสิ้นเปลืองไป เช่น ต้องซื้อยากันยุง ปีหนึ่งต้องเสียงบประมาณ กับการที่ต้องไปจุดไอระเหยกันยุง หรือต้องทำมุ้งลวดเพื่อป้องกันยุงกัด ทั่วประเทศแล้วเป็นพันล้าน ถ้าสามารถกำจัดยุงออกไปเสียได้ ทุกอย่าง มันคงจะดี งบประมาณชาติคงไม่สิ้นเปลือง
หลวงปู่ก็เลยบอกว่านั่นมันเป็นเรื่องมองเหตุผลด้านเดียว เป็น การมองของคนโง่หรือเป็นการมองของคนที่เห็นสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ว่าเป็นของ ผิด พูดง่ายๆ ก็คือมองว่าสิ่งนั้นไม่ถูกใจเรา เราจึงถือว่ามันไม่ถูก แต่เมื่อใดที่เราต้องการและใช้มัน มันจึงถูกใจเรา เราจึงถือว่ามันถูก แล้วหลวงปู่ก็วิเคราะห์ให้เขาฟังว่า ไม่ใช่ว่ายุงจะไม่มีประโยชน์ อย่างน้อยๆ มันก็เป็นอาหารของคางคก จิ้งจกและตุ๊กแก แล้วรู้ไหมว่า คางคก จิ้งจก และตุ๊กแก มีผลต่อระบบนิเวศวิทยาของโลกและจักรวาลแค่ไหน เพราะมีคางคก จิ้งจก ตุ๊กแก มันจึงช่วยลดมลภาวะที่เกิดจากแมลงที่เป็นพิษ ต่อพืชพรรณธัญญาหารที่เรากินได้ ในขณะเดียวกันขณะที่ยุงฟักเป็นไข่อยู่ในน้ำ มันกลายเป็นลูกน้ำ มันก็สามารถเลี้ยงปลาที่อยู่ในน้ำ มันเป็นสิ่งที่ดีงามได้ เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดประโยชน์ได้ อย่างน้อยๆ ก็ให้ประโยชน์ต่อสัตว์ เมื่อปลาได้รับอาหารคือ ลูกน้ำ มันก็เกื้อกูลอำนวยประโยชน์ต่อมนุษย์ และสัตว์อื่นๆ ได้อีกเหมือนกัน
เพราะฉะนั้นระบบนิเวศวิทยารวมทั้งระบบธรรมชาติ ทุกอย่างเกื้อกูลซึ่งกันและกันไม่มีอะไรเป็นปฏิปักษ์ต่อกันและกันเลย แต่สำหรับความเป็นมนุษย์ หรือความเป็นคนนั้น มันมักจะเกิดขึ้นมาเพื่อปฏิเสธและทำลาย หรือไม่ก็ยอมรับจนกลายเป็นความผูกพัน หรือไม่ก็ปฏิเสธจนต้องทำลายมัน เพราะมันไม่ถูกกับเรา แต่ถ้าไม่ปฏิเสธก็จะยอมรับจนกลายเป็นความโง่หลง งมงาย ยึดติด จนกลายเป็นทาสของมันไป นี่แหละจึงเป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นมาเพื่อจะมาสอนให้ เรารู้จักใช้ชีวิต และใช้สรรพสิ่งที่เป็นของธรรมชาตินั้นให้มันเป็น โดยที่ไม่ทำลายมันเมื่อเราไม่ชอบใจ และไม่ตกเป็นทาสของมันเมื่อเราชอบใจ
นักปฏิบัติสำหรับศาสนธรรมพุทธะ เขาจะไม่ทำลายอะไร และก็จะไม่ปฏิเสธอะไรรวมทั้งจะไม่ตกเป็นทาสของอะไร แล้วก็จะไม่มี อิริยาบถใดๆ ผูกไว้กับสิ่งใดๆเลยแต่นักปฎิบัติที่ยังมีความรู้สึกว่าสิ่งนี้ ถูกของเรา สิ่งนั้นไม่ถูกกับเรา สิ่งนี้ควรต่อเรา เราชอบใจสิ่งนั้นไม่ควร ต่อเรา เราไม่ชอบใจ เหมือนกับทีฆนขอัคคิเวสนโคตร คือน้าชายของ พระสารีบุตรมาทูลถามพระศาสดา แล้วมาแจ้งทิฐิของตนให้พระพุทธเจ้า ฟังว่า
ภันเต ภะคะวา ข้าแต่องค์สมเด็จพระศาสดาผู้เจริญ ข้าพเจ้าชอบใจในสิ่งที่ข้าพเจ้าชอบใจเท่านั้น สิ่งใดควรต่อข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจึงชอบใจ สิ่งใดไม่ควรต่อข้าพเจ้าข้าพเจ้าก็ไม่ชอบใจ ทั้งสิ่งที่ควรและ ไม่ควรบางทีบางครั้งก็ทำให้ข้าพเจ้าไม่ชอบใจเหมือนกัน นี่คือความเห็น ของข้าพเจ้า
พระพุทธเจ้าท่านเลยบอกว่า ถ้าอย่างนั้นสิ่งที่ชอบและไม่ชอบก็เป็น สิ่งที่ไม่ถูกเหมือนกัน ความชอบและความชังที่ท่านเกิดขึ้น ท่านแน่ใจแล้วหรือว่ามันถูกต้องหมด แล้วพระพุทธเจ้าก็แสดงธรรมให้แก่ ทีฆนขอัคคิเวสนโคตรให้ได้ฟังว่า
อัคคิเวสนโคตรเอย เธอควรวางมันทั้งหมดทั้งชอบและชัง ยอมรับและปฏิเสธ เมื่อนั้นแหละเธอก็จะหมดทิฐิ
ทั้งสิ่งที่ควรและไม่ควร ไม่มีอะไรคงที่ ไม่มีอะไรแน่นอน ตลอด กาลตลอดสมัยและถ้าเรารู้จักเรียนรู้และใช้ประโยชน์จากมัน ในวันนี้สิ่งที่ไม่ชอบ พรุ่งนี้มันอาจจะชอบขึ้นมาก็ได้ ตัวอย่างเช่น คนเกลียดยุง แต่เผอิญวันนั้นต้องการเลี้ยงปลา มันก็ต้องอาศัยไข่ของยุง เห็นไหมว่าสิ่งที่เราเคยเกลียดมัน แต่ก็เคยใช้ประโยชน์จากมันได้เหมือนกัน
ฉะนั้น พระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นมาเพื่อจะสอนให้พวกเรา ใช้สิ่งที่มีอยู่ในโลกให้เป็นประโยชน์ในสังคมโลกและจักรวาลและธรรมชาติ สรรพสิ่งในจักรวาลพึ่งพิงอิงแอบอาศัยกันมาตลอด มนุษย์ก็ควรจะมีการพึ่งพิงอิงแอบอาศัยซึ่งกันและกันในอิริยาบถทั้งหลาย แต่ถ้าเผอิญเมื่อใดมนุษย์มาทำความรู้สึกว่า สิ่งที่ชอบเราจึงยอมรับ สิ่งที่ชังจึงปฏิเสธ วิธีการอย่างนี้แหละ พระพุทธเจ้าจึงบอกว่า...เป็นตัวทำลายระบบนิเวศวิทยา และเป็นตัวทำลายธรรมชาติและจักรวาลที่พึ่งพิงอิง แอบอาศัยกันเป็นปกติ ให้มันสูญ-เสียดุลของธรรมชาติและจักรวาลลงไป เพราะความรู้สึกที่ชอบและชังในสิ่งที่ตนเองปฏิเสธละก็ มันก็จะเป็น การทำลายแล้ว
ทีนี้กลับเข้ามาถึงนักปฏิบัติ ถ้าคิดจะเป็นนักปฏิบัติ แล้วยังผูกอารมณ์ผูกความรู้สึกเอาไว้กับอิริยาบถใดอิริยาบถหนึ่ง ชั่วชีวิตจะไม่สามารถบรรลุผลแห่งการปฏิบัติได้เลย ตัวอย่างเช่น ผมเป็นนักปฏิบัติทำอะไรไม่ได้นอกจากการนั่งหลับ เป็นต้นผมเป็นนักปฏิบัตินั่งหลับไม่ได้ นอกจากการนอนเท่านั้น เป็นต้น ผมเป็นนักปฏิบัตินอนไม่ได้นอกจากการยืนหรือเดินเท่านั้น เป็นต้น
คำว่า นัก ตัวนี้แปลว่าบ่อยๆ ทำอิริยาบถใดๆ ที่มันเป็นการปฏิบัติบ่อยๆ มันไม่จำเป็นจะต้องผูกอิริยาบถไว้กับการนั่งอย่างเดียว นอนอย่าง เดียว ยืนอย่างเดียว เดินอย่างเดียว หรือกินอย่างเดียว เหมือนในพรรษา มีคนเขามาบอกกับหลวงปู่ว่า พระเณรที่บวชเข้ามาไม่ควรจะทำอะไรมาก ไปกว่าการศึกษา หลวงปู่ก็เลยบอกว่า ถ้าอย่างนั้นก็อย่ากินข้าวซิ นั่งศึกษาไปซิเพราะมีหน้าที่แค่นี้นี่ หน้าที่ที่จะศึกษาเวลาจะไปสวดมนต์ฉันเพลก็อย่าไป ศึกษาอย่างเดียว แล้วเวลาเป็นพ่อเป็นแม่ ที่หลังไปเจอ พ่อเจอแม่ พ่อแม่ทำกับข้าวหาเลี้ยงลูก ก็ต้องบอกพ่อบอกแม่ว่าอย่าทำ เพราะหน้าที่ของพ่อแม่คือผลิตลูกอย่างเดียว ไม่มีหน้าที่ที่จะมานั่งเลี้ยงลูก และความเป็นลูกก็มีหน้าที่ที่จะกินและนอนอย่างเดียว ไม่ควรจะมีหน้าที่อะไรเกินเลยไปกว่านี้ ถ้าเราพูดถึงแต่เรื่องหน้าที่
แต่จริงๆ แล้วมนุษย์ไม่ได้พึ่งพิงอิงแอบในอิริยาบถใดจนตาย มันต้องเปลี่ยนอิริยาบถทุกอิริยาบถ และมีอิริยาบถทุกขณะจิต เมื่อมี อิริยาบถทุกขณะจิต ก็ควรจะพัฒนาอิริยาบถนั้นๆ ให้มันสะอาดบริสุทธิ์ทุกขณะจิต อย่างนั้นจึงเรียกว่าเป็นนักปฏิบัติที่สมบูรณ์
เพราะฉะนั้น ถ้าจะมาอ้างว่า สำหรับนักปฏิบัติแล้วไม่ควรจะทำอะไรเลยมันก็จะเป็นเหมือนกับหลวงปู่ที่เขียน เอาไว้ในคัมภีร์ ๑๒ ราศีว่า
ลูกรัก... ถ้าศาสนานี้จ้องแต่จะสอนให้เจ้านั่งหลับตา สำหรับพ่อแล้ว พ่อถือว่านั่นเป็นความโง่เขลา ถ้าคนทุกคนในจักรวาลมัวแต่มา นั่งหลับตาอย่างเดียวชาตินี้ทั้งชาติคงไม่มีอะไรกินแน่
นี่คือเรื่องจริง ถ้าจะไปสอนชาวนาให้นั่งหลับตาบอก โยมไม่ต้อง ทำนามานั่งหลับตากันดีกว่า เมื่อไหร่จะมีข้าวกิน ถ้าหลวงปู่มัวแต่นั่งหลับตา พวกเธอคงไม่มีกุฏิซุกหัวนอนแน่ แล้วถ้าหลวงปู่มัวแต่นั่งหลับตา พวกเธอคงไม่มีวัดอยู่เป็นแน่ แล้วถ้าทุกคนคิดอย่างนี้ด้วยพากันนั่งหลับตาอย่างเดียว อะไรมันจะเกิดขึ้น
พระพุทธเจ้าก็ไม่เคยสอนให้ใครนั่งหลับตา คำสุดท้ายที่พระองค์ จะปรินิพพานก็คือ ภิกษุทั้งหลาย เธอจงยังประโยชน์ตน และประโยชน์ท่านให้ถึงพร้อมเถิด
มันจะเป็นประโยชน์ตนได้อย่างไร ถ้าหากว่าเรายังนั่งหลับตาอยู่ เฉยๆ แล้วจะเกิดประโยชน์ต่อท่านหรือคนอื่นได้อย่างไร ถ้าเรามัวแต่ มานั่งหลับตา ถ้าทุกคนมานั่งหลับตามันจะเกิดประโยชน์อะไรมากมายนักหนา เพราะฉะนั้นเราต้องแปลความหมายของสัจธรรมและศาสนธรรมของพระพุทธเจ้าให้ถูก ต้อง
หลวงปู่ถือว่าการจะบำเพ็ญประโยชน์ผู้อื่นได้นั้นก็คือ การเกื้อกูลอนุเคราะห์ต่อประโยชน์ตน ตัวอย่างเช่น เราเอื้ออำนวยสุขให้แก่คนอื่น เช่น เอาของที่เราเหลือใช้ หรือแบ่งข้าวปลาธัญญาหารให้แก่คนอื่นในยามที่เขาหิวและเจ็บป่วย เช่นยารักษาโรค หลังจากที่เขาหายหิวและหายจากเจ็บป่วยแล้ว จะถามว่านี่คือประโยชน์ คนอื่นอย่างเดียวไม่เห็นมีประโยชน์อะไรแก่ตน แล้วลองมานั่งวิเคราะห์ตัวเราเองบ้าง ถ้าเราสามารถจะช่วยอะไรใครได้ แล้วเขาคนนั้นมีความสุขเพิ่มขึ้น เราจะรู้สึก ทันทีว่า ความอิ่มเอิบใจมันจะเกิดขึ้นแก่ตัวเรา ที่พระพุทธเจ้าเรียกว่า บุญ แปลว่าความอิ่มใจสบายใจ มันได้มาจากการบำเพ็ญประโยชน์คนอื่น แล้วสิ่งนั้นก็จะเกิดขึ้นแก่ตัวเรา คือผลของคุณงามความดี ใจที่ อิ่มหนำสำราญ ใจที่เบิกบานแช่มชื่น ใจที่ภาคภูมิและใจที่รื่นเริงอาจหาญ เกิดขึ้นแก่ตัวเรา นี่คือลักษณะการบำเพ็ญประโยชน์คนอื่น จนกลายมา เป็นประโยชน์ตัวเอง เหมือนอย่างที่เราจูงคนตาบอดข้ามถนน เมื่อใดที่เราสามารถพาเขาข้ามถนนไปได้แล้วเรากลับมายืนดู เราจะรู้สึกภาคภูมิ ยินดี วันทั้งวันถ้าเรากลับบ้าน กลับวัด เราจะรู้สึกว่าเราสบายใจ เพราะวันนี้เราได้ช่วยคนข้ามถนนไม่ให้ถูกรถชนได้ มันสบายใจ อีกสักตัวอย่าง เช่นวันนี้เราช่วยทำอาหารคาวหวาน ไปเลี้ยงเด็กนักเรียนในโรงเรียน เมื่อเด็กๆ ได้รับอาหาร ก็จะไม่หิว เมื่อท้องไม่หิวก็มีใจจะเรียนไม่ไปลักขโมย ตำรวจไม่ต้องจับ รัฐไม่ต้องเสียงบประมาณ จ้างตำรวจ และสร้างห้องขังเพิ่ม เงินภาษีรัฐบาลก็ไม่ต้องเรียกเก็บเพิ่ม ปัญหาสังคมก็น้อยลง คนในสังคมก็อยู่เย็นเป็นสุข เพราะเด็กในสังคมมีการศึกษา ไม่สร้างปัญหา เราเป็นผู้อยู่ร่วมในสังคมก็พลอยเป็นสุขเย็นใจ มิต้องนอนสะดุ้งผวา นี่แหละประโยชน์ท่านและกลับมาเป็นประโยชน์ตน
ลักษณะเช่นนี้ที่พระพุทธเจ้าสอนเอาไว้ก่อนตาย ไม่ใช่มานั่งหลับตาแล้วก็เพื่อที่จะทำให้เกิดประโยชน์ คนทุกคนในโลกถ้ามัวแต่มานั่งหลับ ตาแล้วอะไรมันจะเกิดแล้วเราจะเป็นพุทธะ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานได้อย่างไร พุทธะแปลว่าผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานถ้ามัวแต่มานั่งหลับตาแล้ว มันจะตื่นได้อย่างไร สำหรับนักปฏิบัติแล้ว เขาไม่มีความรู้สึกหรอกว่า ที่นี่เหมาะสำหรับเรา ที่นั่นไม่เหมาะสำหรับเรา การเป็นนักปฏิบัตินั้นต้อง เรียนได้ทุกที่ และต้องรู้ได้ทุกอิริยาบถ มันก็คล้ายกับนักรบ มันต้องเชี่ยวชาญเก่งกาจทั้งชั้นเชิง อาวุธ กลศึก แล้วก็เล่ห์เหลี่ยมเพทุบายของข้าศึก ถ้ามัวแต่ฝึกปรือเฉพาะชั้นเชิงของอาวุธ อย่านึกว่าไม่ตายนะ ถึงเก่งกาจในชั้นเชิงของอาวุธ แต่ก็ตายได้ เพราะความโง่ก็เยอะ
ฉะนั้น นักรบที่เก่งกล้า ก็คงไม่ใช่นักล้มง่ายๆ ก็คือล้มตัวเอง อยู่ตลอดเวลา นั่นคงไม่ใช่นักรบที่เก่งกล้า มันต้องเป็นทั้งบุ๋นและก็บู๊ นั่นหมายถึงเชิงรบเชิงรุกและก็เชิงวางแผน เขาถือว่าคนคนนั้นเป็นบรมครูของนักรบ เช่นเดียวกัน นักปฏิบัติก็เหมือนกัน ไม่ใช่เอาเฉพาะ เก่งตอนนั่งหลับตา แล้วอีตอนลืมตา หรือเดินลืมตาอยู่ทำอะไรไม่ได้ แล้วลองมานึกกันบ้างไหมว่า ชั่วชีวิตเรามีเวลานั่งหลับตากันกี่นาที เอาง่ายๆเราต้องกิน ต้องขี้ ต้องเยี่ยว ไอ้กิน ขี้ เยี่ยวนี่ มันก็เป็นเวลาที่เราไม่ได้หลับตา แสดงว่าช่วงที่กินขี้เยี่ยวเราชั่ว อีตอนนั่งหลับตาเราดี อิริยาบถที่ควรจะดีทุกอิริยาบถมันก็เลยหายไป กลายเป็นว่า มันดีเฉพาะแค่ช่วงเวลานั่งหลับตาเฉยๆ เท่านั้น มันบริสุทธิ์มันสะอาด มันเป็นสมาธิแค่ตอนนั่งหลับตา แล้วชั่วชีวิตของคนหนึ่งคนมีเวลานั่งหลับตาซักวันละกี่นาที
เพราะฉะนั้น ธรรมะของพระพุทธเจ้านี่น่ะ คนเรียนไม่ใช่คนรู้นะ ทำความเข้าใจเสียใหม่ ธรรมะของพระพุทธเจ้าคนเรียนไม่ใช่คน รู้ คนที่เขารู้ก็มิใช่ได้มาจากการเรียนเสมอไป ไม่ได้มาจากการเขียนและอ่าน แต่มันได้มาจากการฝึกปรือ ฝึกหัด และปฏิบัติพัฒนาตนใน อิริยาบถต่างๆ จึงต้องร้องออกมาว่ารู้ละ เหมือนอย่างที่พระพุทธเจ้าพระองค์ทรงบอกว่า
"รู้ละ ต่อไปนี้เรารู้แล้ว ชาติ ชราเราสิ้นแล้ว มรณะและภัยพิบัติ ที่เกิดจากกามตัณหา และกิเลสทั้งปวงเราดับได้แล้ว" เพราะพระองค์ ทรงรู้มิใช่เรียน พระองค์ทรงลงมือกระทำ ฝึกปรือตัวเองจนกระทั่งได้กลายเป็นผู้รู้ เพราะฉะนั้นอย่าคิดว่าธรรมะของพระพุทธเจ้าได้มาจากการเรียนแล้วรู้ เขียนอ่าน ท่องจำแล้วรู้ แต่มันได้มาจากการทำฝึกหัด และก็ปฏิบัติตนแล้วจึงร้องว่ารู้ละ
เรียนแล้วรู้นั้นมันรู้ด้วยสัญญาเรียกว่ารู้จำ ไม่ใช่รู้จริง เหมือนอย่างที่ หลวงปู่พูดเอาไว้ว่า
รู้จริง ไม่ต้องจำ ทำได้มีประโยชน์
รู้ไม่จริง ถึงจำ ทำไม่ได้มีแต่โทษ
สำหรับธรรมะของพระพุทธเจ้า ไม่ได้อยู่ในอิริยาบถนั่งอย่างเดียวไม่ได้อยู่ในอิริยาบถใดอิริยาบถหนึ่ง แต่มันอยู่ในทุกอิริยาบถของทุกคนที่รู้เนื้อรู้ตัวคงจะเข้าใจนะว่าหลวงปู่ พูดว่าธรรมะของพระพุทธเจ้าเกิดขึ้นทุกอิริยาบถที่รู้เนื้อรู้ตัว