๑
ปัจจุบันนี้ การศึกษาของชาติล้มเหลว ผลิตคนเก่งเพื่อจะออกมาเบียดเบียนชาวบ้าน เพราะที่ผ่านมาเราสนับสนุนให้คนมีแต่ไอคิว โดยพยายามจะสอนกันให้เป็นคนเก่ง แล้วเอาความเก่งออกไปเบียดเบียนผู้อื่น ฉลาดที่จะเอาเปรียบคนอื่น แต่ไม่เคยฉลาดที่จะช่วยเหลือคนอื่น ไม่เคยฉลาดที่จะแก้ไขปัญหาให้คนอื่น ไม่เคยคิดที่จะแบ่งปัน อาทร หรือการุณย์ แบ่งปันความสุขของเราให้แก่คนอื่น สำนึกของความเป็นมนุษย์ของเขามันหายไปไหน เราไม่เคยสอนกันอย่างนี้มาเลย ส่วนใหญ่ก็มีแต่สอนให้เก่งๆ แล้วก็แข่งกัน เอาเปรียบกัน ชนะได้เป็นดี แพ้ไม่ได้ อยากถามกลับไปว่า คนไทยชนะคนไทย ประเทศไทยได้อะไร
แล้วพ่อแม่อยู่ในบ้านก็จะสอนลูกว่า นั่นลูกบ้านนั้นเขายังสอบได้ที่ ๑ ลูกก็ต้องแข่งกับเขาให้ได้ เป็นต้น สอนกันแบบนี้ แล้วพวกนี้พอไปอยู่ในสังคมก็จะไปเอาเปรียบกัน สังคมก็จะไม่มีความอาทรต่อกัน ไม่มีความรักต่อกัน ไม่มีความเมตตาต่อกัน ทุกคนเป็นศัตรูกัน แล้วจะอยู่ร่วมกันได้อย่างไร เพราะมีแต่คนเอารัดเอาเปรียบ เห็นแก่ตัว ละโมบโลภมาก อิจฉา-ริษยา และคับแคบ สิ่งเหล่านี้มาจากอะไร มาจากความไม่รู้จริง ไม่เข้าใจเรื่องจริง ไร้สำนึกในความเป็นมนุษย์จริงๆ เหตุผลมาจากการขาดสติ ไม่มีความยั้งคิด ไม่ละอายชั่ว กลัวบาป
ที่เราเรียนท่องจำกันอยู่ทุกวันนี้ มันไม่ใช่ปัญญา แต่มันเป็นสัญญา สัญญาคือการสะสม กักเก็บข้อมูล แล้วมันสามารถจะพัฒนาไปสู่ตัวปัญญาได้ ถ้าเรามีสติ แต่ถ้าเราไม่มีสติ ก็ไม่มีสิทธิ์ ปัญญาคือสิ่งที่เราไม่รู้ ได้รู้ สิ่งที่ไม่เคยปรากฏ ได้ปรากฏ หรือที่ไม่เคยเห็น ได้เห็น ตัวอย่างเช่น เขาบอกว่าหนึ่งบวกหนึ่ง เราไม่รู้ว่าหนึ่งบวกหนึ่งเป็นอะไร แต่ถ้าเรามาบวกกันเข้าแล้วมันออกผลมาว่าเป็นสอง อย่างนี้เรียกว่าปัญญา แต่โจทย์หนึ่งบวกหนึ่งนี่มันเป็นสัญญา นี่คือตัวอย่างง่ายๆ
ฉะนั้น ความหมายของปัญญาที่ว่าหนึ่งบวกหนึ่ง ถ้าเราไม่มีสติ เราบวกได้มั้ย คือไม่รู้จักอะไรมันเลย ไม่เข้าใจมัน และไม่รู้ว่าวิธีการมันจะทำอย่างไร อย่างนี้มันจะเป็นสองได้มั้ย แต่ที่เราทำได้ถูก เพราะเรารู้เนื้อรู้ตัว รู้จักวิธีการ ความรู้เหล่านี่แหละคือตัวสติ
๒
สติ คือ ความรู้ตัว ทำหน้าที่ปลุกจิตของเราให้เป็นผู้ตื่น ผู้รู้ รู้ชัด รู้แจ้ง รู้ทันสภาวะที่เกิดขึ้นกับตัวเอง และก็เตรียมตัว เตรียมพร้อมที่จะเผชิญกับทุกสถานการณ์ที่ปรากฏขึ้นเฉพาะหน้า ความรู้ตัวก็คือรู้ว่าปัจจุบันนี้ทำอะไรอยู่ แล้วตัวรู้ตัวตัวนี้แหละมันเป็นเครื่องกำกับอิริยาบถ กาย วาจา ใจ ให้ทำ พูด คิด ไม่ผิด ตัวรู้ตัวตัวนี้แหละ เป็นตัวกระตุ้นความทรงจำคือสัญญาให้มีประสิทธิภาพเก็บข้อมูลได้มากมาย ดังนั้น ผู้มีสติ จึงเป็นผู้ที่ทำ พูด คิด ไม่ผิดพลาด คนมีสตินั้นสามารถหาคำตอบจาก หนึ่งบวกหนึ่งออกมาเป็นสอง ได้อย่างไม่ผิดพลาด เรียกว่า ทำก็ไม่ผิด พูดก็ไม่ผิด คิดก็ไม่ผิด อย่างนี้เรียกว่าเป็นการทำงานของสติบวกสมาธิ เกิดปัญญา
คือผลของสติจะเป็นสมาธิ ผลของสมาธิเป็นปัญญา เพราะฉะนั้นฝึกสติ เกิดสมาธิ เป็นปัญญา ปัญญาจะมีที่ตั้งได้ต่อเมื่อที่ตั้งนั้นมั่นคง สมาธิแปลว่าที่ตั้งแห่งความมั่นคงหรือฐานที่ตั้งแห่งความมั่นคง ฐานที่ตั้งแห่งความมั่นคงมันจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อมีสติเป็นเครื่องรองรับ
กระบวนการของสมาธิท่านให้มีไว้ใช้พิจารณาตามหลักของไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา คือพิจารณาให้เห็นความเป็นจริงของโลก เห็นตามความเป็นจริงของสังขาร รู้เห็นตามความเป็นจริงด้วยปัญญา ปัญญาในที่นี้เรียกว่าอริยปัญญา ปัญญาแห่งความรู้จริง รู้ยิ่ง ไม่ใช่รู้จำ เมื่อรู้จริง รู้ยิ่ง เป็นปัญญาล้วนๆที่ไม่มีอะไรทำลายให้เสียหายลงไปได้ ไม่มีใครทำร้ายทำลายปัญญาชนิดนี้ให้เสียหายลงไปได้ เราตายไปอีกกี่ชาติปัญญาชนิดนี้ก็จะตามเราไป แต่ปัญญาที่ได้มาจากการท่องจำ ตายชาตินี้ก็จบชาตินี้ มันไม่มีโอกาสจะตามไป แต่ปัญญาที่ตายกี่ชาติๆก็จะตามเราไปก็คือปัญญาที่รู้เห็นตามความเป็นจริง เป็นปัญญาที่โจรปล้นไม่ได้ น้ำท่วมไม่หาย ไฟไหม้ไม่หมด เป็นอริยทรัพย์ อริยปัญญา ปัญญาเป็นทรัพย์ที่ยิ่งกว่าทรัพย์ทั้งปวง
เพราะฉะนั้นกระบวนการของปัญญาจำเป็นต่อชีวิต ถ้าชีวิตนี้ขาดปัญญา ก็เป็นคนที่ไม่ใช่คน เป็นคนที่โดนเขาจับมาคน ซึ่งแปลว่ากวนให้ทั่ว ไม่มีสิทธิ์จะสอนคน และก็ไม่ควรจะอยู่ในสังคมแห่งความเป็นคน เพราะเราจะต้องโดนเขาเอาเปรียบ คนไม่มีปัญญาคือคนโง่ คนโง่คือคนที่โดนหลอกง่าย คนที่โดนหลอกง่ายคือ คนที่ทำผิด พูดผิด คิดผิด คนที่ทำผิด พูดผิด คิดผิด คือคนที่ต่ำทรามในสายตาสังคม คนใช้การไม่ได้ คนหมดสมรรถนะ และคนไร้สภาพ คนใช้ไม่ได้ คนหมดสมรรถนะ คนไร้สภาพคือคนไม่ใช่คน คือคนอ่อนแอ คนง่อยเปลี้ยเสียขา หรือคือคนที่ไม่มีสำนึกของความเป็นคน
กระบวนการแห่งปัญญา เรียกว่า เป็นผลแห่งการสันดาปของสติ เกิดสมาธิ แล้วปรากฏปัญญา ถ้าเข้าใจตามนี้ สิ่งที่ควรจะขวนขวายอันดับแรก จึงไม่ใช่ปัญญา ไม่ใช่สมาธิ แต่มันคือสติ
๓
สติมี ๒ ประเภท คือ สัมมาสติ กับ มิจฉาสติ
โจรที่ปล้นเขาสำเร็จมีสติมั้ย...มี แต่เป็นมิจฉาสติ คือสติที่ยังให้เกิดโทษ ไม่เกิดประโยชน์ เป็นสติชั้นต่ำ ไม่ใช่สติชั้นสูง สุดท้ายก็ต้องพ่ายแพ้ตัวเอง เพราะความชั่วนั้นมันหมักหมม โสโครก กัดกินจนกระทั่ง ต้องติดคุกติดตาราง หรือรับโทษทัณฑ์ทางใจ กินไม่ได้นอนไม่หลับ และชีวิตไม่เป็นสุข
ส่วนสติที่เป็นสัมมาสติ คือ สติที่ทำให้เราเข้าใจสิ่งตามเป็นจริง รู้เห็นตามความเป็นจริง เข้าใจสิ่งที่เป็นเรื่องจริง และเป็นความถูกตรง ถูกต้องต่อความเป็นจริง สัมมาสตินี้ไม่ว่าต่อหน้าลับหลัง อยู่ได้ นอนหลับเป็นสุขจนวันตาย วันสุดท้ายแห่งความตายก็ยังเป็นสุข เพราะมันเป็นสัมมาสติ ที่มีอุปการะไปถึงชาติโน้น ชาติไหน ชาติใดๆได้ด้วย ส่วนมิจฉาสติ ก็อุปการะเหมือนกัน แต่อุปการะสัตว์ในฐานะที่เหยียบให้ตกต่ำ คือทำให้ต่ำลง แต่สัมมาสติ พยุงสัตว์ให้สูงขึ้น ทำสัตว์ให้ปลดปล่อย หลุดลอย แล้วก็มีเสรีภาพ อิสระ คนที่มีสัมมาสติคือคนที่ยืนอยู่ได้มั่นคง องอาจ สง่างาม แล้วสัมมาสติที่ถูกตรง ก็คือสติที่มีเอาไว้กำกับดู กาย เวทนา จิต และธรรม ทั้งภายในและภายนอก
ทั้งมิจฉาสติและสัมมาสติมันเกิดขึ้นในจิตทุกดวง เราไม่มีอะไรที่จะไปแยกมันได้ เราต้องปล่อยให้มันเกิดขึ้น แล้วเราก็ต้องตามมันไป เต้นตามมันไป วิ่งตามมันไป สุดท้ายเราก็จะตายเพราะมัน ทุกข์ทรมานเพราะมัน เดือดร้อนเพราะมัน เศร้าโศกเพราะมัน เสียใจเพราะมัน ลำบากเพราะมัน และอะไรคือมัน มันก็คือสิ่งที่เข้ามาแฝงอยู่ ครอบงำจิตวิญญาณและกายนี้ให้เศร้าหมองลง ทำให้หยาบ ตะกละ ต้องการ ละเมอเพ้อพก หลง โกรธ โลภ สิ่งเหล่านี้คือตัวมัน ตัวมันที่ไม่ใช่ตัวเรา ตัวมันที่เข้ามาอยู่กับเรา เพราะเราไม่มีสัมมาสติคอยกั้นกางมัน และตัวมันเหล่านั้นก็คืออวิชา กิเลส ตัณหา อุปาทาน
๔
ถ้าเราทำอะไรโดยไม่เต็มใจ ไม่ตั้งใจ ไม่พร้อมใจ ไม่สมัครใจ เหมือนเป็นหุ่นยนต์ เราไม่มีสมรรถภาพ ไม่มีสมรรถนะของตัวเราเอง ไม่มีประสิทธิผลของตัวเอง ไม่เป็นตัวของตัวเอง แล้วความเป็นมนุษย์มันอยู่ตรงไหน ถ้าทำอะไรโดนบังคับไปตลอด ต้องตกเป็นทาสของใคร อะไร ที่เราไม่รู้จัก รู้แต่ว่าต้องทำตามคำสั่ง
ดังนั้น พระพุทธเจ้าจึงสอนให้เราทำอะไรด้วยความสมัครใจ โดยมิต้องตกเป็นทาสของอะไรๆ แล้วทำทุกอย่างด้วยหัวใจ และพระองค์ก็ทรงแนะหลักการกระทำให้สำเร็จประโยชน์ทุกอย่าง มีอยู่ ๔ ข้อ คือ อิทธิบาท ๔ - ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา
ฉันทะ คือ ความพอใจรักใคร่ สร้างความรักเหมือนอย่างที่พวกเรามานั่งอยู่ที่นี่ อย่าทำด้วยความรู้สึกแกนๆ เซ็ง เบื่อ มานั่งฟังอะไรก็ไม่รู้ อย่างนี้ไม่ได้อะไร หมดเวลาไปวันๆ แล้วมานั่งเผาอากาศทิ้ง หายใจออกเฉยๆ ไม่ได้สาระอะไร แล้วชีวิตนี้จะมีความหมายอะไร มันไม่ตื่นเต้น ไม่กระตือรือร้น ไม่สดชื่น ไม่กระชุ่มกระชวย กระฉับกระเฉง มีชีวิตเหมือนผีตายซาก เหมือนต้นไม้ที่ยืนต้นตาย เหมือนหุ่นยนต์ที่โดนไขลาน ชีวิตอย่างนี้ควรจะเป็นเจ้าของชีวิตหรือ ชีวิตอย่างนี้ควรจะเป็นผู้ที่เรียกว่าเราคือสิ่งมีชีวิตหรือ หลวงปู่อยากจะบอกว่านั่นก็คือก้อนหิน หรือต้นไม้ที่ยืนต้นตายเท่านั้น
ชีวิตที่เป็นชีวิต คือชีวิตที่เป็นเจ้าของชีวิต คือชีวิตที่มีชีวา มีความสดชื่น แจ่มใส มีความกระตือรือร้น กระฉับกระเฉง มีความกระชุ่มกระชวยที่จะทำกิจการงาน และจัดสรรภาระ ธุระ ชีวิตตนและคนอื่น ให้เกิดประโยชน์สูง ประหยัดสุด และมีสาระ นั่นคือสิ่งมีชีวิต เราไม่ใช่สิ่งมีชีวิตที่ใกล้จะหมดชีวิต
การที่เราปลุกปลอบจิตวิญญาณของเราให้มีฉันทะ-ความพอใจรักใคร่ ในสิ่งที่เราทำ คำที่เราพูด สูตรที่เราคิด เรื่องทั้งหมดของเราจะเป็นชีวิต วิญญาณ สดชื่น มีเสรีภาพ มีอิสระ มีความสง่างาม งดงามอยู่ในที ไม่ว่าจะยืน เดิน นั่ง นอน พูด คิด มันสวยงาม สง่า มันเป็นธรรมชาติ แต่ถ้าทำอะไรแบบไร้ชีวิตสิ้นหวัง ขาดจิตวิญญาณ ความรู้สึก เหมือนกับหุ่นยนต์ แล้วมันจะมีประโยชน์อะไรกับชีวิตนี้ ทำไปแกนๆให้มันหมดไปวันๆ อย่างนี้ไม่ถือว่าเป็นสิ่งมีชีวิต
ที่จะเป็นชีวิตได้ สดชื่นรื่นเริงได้ กระฉับกระเฉงกระชุ่มชวยได้ ถูกต้อง ไม่บกพร่อง ถูกขั้นตอน ถูกกาล ถูกสมัย ถูกที่ ถูกบุคคลได้ ก็เพราะเรามีสติกระตุ้นเตือนบอกตัวเองว่า เวลานี้เรากำลังทำอะไร เราควรจะทำตัวอย่างไรกับสิ่งที่กำลังจะทำ ควรจะใช้วาจาอย่างไรกับสิ่งที่กำลังจะสอน ควรจะคิดอะไร พูดอะไร แสดงอะไร เหล่านี้เป็นกระบวนการทำงานของสติทั้งนั้น
นอกจากมีฉันทะ คือ ความพอใจรักใคร่แล้ว ต้องมีวิริยะ คือ ความเพียร เช่น หนุ่มรักสาว ต้องใช้ความความรักให้เป็น เอาความรักอันนั้นมาพัฒนาให้เป็นศักยภาพของชีวิต โดยรักที่จะทำ รักที่จะแก้ไขปัญหา รักที่จะเรียนรู้ รักที่จะแบ่งปัน รักที่จะอาทร รักที่จะ การุณย์ รักที่จะสร้างสรรค์ รักที่จะส่งเสริม รักที่จะชี้นำ รักที่จะเทอดทูน รักที่จะยอมรับ เมื่อเรามีความเพียรในความรักแบบนี้ และรักที่จะทำมันตลอดกาล ถือว่ามีความรักด้วยความเพียร มีความเพียรสนับสนุนความรัก ทำให้ความรักนั้นยิ่งใหญ่ และสมหวังตามความปรารถนา
เมื่อมีฉันทะ มีวิริยะ ก็ต้องเอาจิตตะ คือ จิตจับจ่อ จดจ้อง จริงจัง ตั้งใจ อย่างชนิดที่ใครๆ ก็สู้เราไม่ได้ ใครๆก็ไม่อาจคิดแทนเราได้ นอกจากตัวเราเอง
ข้อสุดท้าย วิมังสา คือ ใช้ปัญญาใคร่ครวญพิจารณา ทุกขั้นตอน ก่อนทำ พูด คิด ซึ่งมันก็เป็นผลเกิดจากสติ
ทั้ง ๔ ประการนี้ คือ อิทธิบาท ๔ คุณเครื่องยังให้สำเร็จประโยชน์ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา มันจะเกิดขึ้นได้ เราต้องมีสติ เราจะรักใครก็ต้องมีสติ เราจะมีความเพียรทำอะไรเราก็ต้องมีสติ เราจะเอาใจจดจ่อ จับจ้อง จริงจัง มันอย่างไร นั่นก็คือ กระบวนการของสติ คือตัวการสติ
๕
ที่หลวงปู่บวช เพราะคิดว่าเราเป็นคนโง่ ไม่ค่อยมีสติ ปัญญาไม่ค่อยดี แล้วก็เป็นคนเชื่ออะไรง่าย หลงอะไรง่าย ใครมาทำให้เราโกรธ เราก็จะโกรธ ใครมาทำให้เรารัก เราก็จะรัก ใครมาทำให้เราเกลียด เราก็จะเกลียด เห็นอะไรที่สวยก็อยากได้ มีความโลภ
ตอนบวชใหม่ๆ ไม่มีคนดูแล ไม่มีโยมอุปฐาก เพราะไปบวชคนเดียว บวชใหม่ก็นอนป่วยอยู่ในห้อง จนนอนหมดสติอยู่ ๓ วัน แล้วไม่ได้ฉันข้าว หมดแรง กินแต่น้ำ กำลังจะหมดความรู้สึกว่า เราคงตายแน่แล้ว เลยหมดกำลังใจ หันไปมองพระพุทธรูปเล็กๆที่อยู่ในกุฏิ ไม่รู้ว่าหลวงปู่หูฝาดไปหรือเปล่า ได้ยินพระพุทธรูปพูดว่า "อัตตาหิ อัตตาโนนาโถ" แปลว่า "ตนเป็นที่พึ่งของตน" ทำให้หลวงปู่มีสติ มีกำลังออกไปบิณฑบาตได้
เพราะฉะนั้น สติมีอยู่ในตัวแล้ว นับตั้งแต่ออกจากท้องแม่ เมื่อเราขี้แล้วดิ้นหนีจากขี้ เราเยี่ยวแล้วดิ้นหนีขยับร้องเรียกแม่ให้มาเปลี่ยนผ้าอ้อม เราใส่เสื้อเป็นเสื้อ ใส่กางเกงเป็นกางเกง ทั้งหลายทั้งปวงนี้เป็นการใช้สติ เพราะถ้าไม่มีสติเราต้องใส่เสื้อเป็นกางเกง ใส่กางเกงเป็นเสื้อ ถ้าไม่มีสติคงต้องเอากางเกงในไว้ข้างนอก เอากางเกงนอกไว้ข้างใน ถ้าไม่มีสติก็ไม่รู้ว่าผมจะหวีอย่างไร ถ้าไม่มีสติพอเห็นใบไม้ลอยมาแล้วก็นั่ง อุ๊ย...ตกแล้ว...ตกแล้ว แล้วก็ตีมือชอบใจ อะไรอย่างนี้
เมื่อสติมีอยู่แล้ว ไม่ต้องไปหาที่อื่น เราจึงจำเป็นต้องมาจัดการ พัฒนา บริหารสติ ให้ทรงไว้ซึ่งสมรรถนะ และสร้างให้เกิดประสิทธิผลขึ้นในการ ทำ พูด คิด เราจะไม่ผิดพลาด บกพร่อง มีแต่เรื่องถูกต้อง
สติไม่มีกาลเวลา สติที่มีกาลเวลาคือสติของผีห่า ซาตาน มาร และความอยาก คืออยากถึงทำ ไม่อยากก็เลิกทำ อะไรอย่างนั้น นี่ไม่ใช่สติของพระพุทธเจ้า สติของพระพุทธเจ้าต้องมีอยู่ตลอดเวลา เพียงแต่ว่าเราไปทำความรู้จักมัน เข้าใจมัน แล้วก็ทำให้มันเกิดกับเรา อยู่กับเรา โตขึ้น เจริญขึ้น และอุปการะชีวิตเรา ตระหนัก สำนึกในหน้าที่ของเรา
ดังนั้น สติจึงเป็นเครื่องอุปการะแก่สัตว์ แก่จิตนี้ แก่กายนี้ แก่ชีวิตนี้ แก่ใจนี้ แก่อนาคตของเรานี้
๖
การฝึกสติไม่ใช่เป็นการมาสร้างขึ้นมาใหม่ ความหมายของการฝึกสติก็คือฝึกสิ่งที่มีอยู่แล้ว ให้มันกล้าแข็งและแกร่งขึ้น เพื่อจะอุปการะกายนี้ วาจานี้ จิตนี้ ให้เป็นผู้ที่มีสมรรถนะให้ดีขึ้น สูงขึ้น เยี่ยมยอดขึ้น ยิ่งใหญ่ขึ้น มีอำนาจครอบคลุมพฤติกรรมให้ไปสู่เป้าหมายและวิถีทางของผู้เจริญ
การฝึกสติเป็นการจัดระเบียบของกายจนเป็นระบบของความคิด ทำกายนี้ให้มีระเบียบต่อการซึมซับ ซึมสิง พิสูจน์ทราบ สัมผัสทราบต่อความหมายของการปฏิบัติตน ให้เป็นคนมีระเบียบวินัย ซื่อตรง ถูกต้อง ทำเรื่องทั้งหลายในชีวิตไม่บกพร่อง เหล่านี้เป็นการฝึกสติทั้งนั้น
วิถีทางในการฝึกที่พระพุทธะผู้ประเสริฐ ได้ทรงถ่ายทอดและสั่งสอนกันมา ก็คือ การเจริญสติ หรือการทำให้เกิดความรู้เนื้อรู้ตัว
เริ่มจากการทำอะไรต้องทำด้วยกาย วาจา ใจ ต้องให้ทุกอย่างรวมอยู่ในการกระทำนั้น และทำมันด้วยความจดจ่อ จริงจัง ตั้งใจ และจับจ้อง แต่ไม่จำเป็นจะต้องทำให้ถึงกับเครียด เมื่อปรากฏการณ์ของสติเกิดขึ้น เราก็จะรับรู้ได้ว่า ความหมายของสติมันจะทำให้เราทำไม่ผิด คิดไม่ผิด และพูดไม่ผิด ในกิจกรรมที่ทำนั้นๆ
เมื่อเราสามารถใส่ใจ เต็มใจ จริงใจ และตั้งใจ ต่อการกระทำ พูด คิด ของตน ได้อย่างสมบูรณ์แล้ว เราก็จะสามารถสัมผัส สำเหนียก และพิสูจน์ทราบได้ถึงความหมายของผู้มีสติได้อย่างชัดเจนขึ้นมากขึ้นว่า สติเป็นเครื่องพยุง เครื่องประคับประคอง เครื่องอุปการะต่อพฤติกรรม คำที่พูด และสูตรที่คิดอย่างจริงๆ อย่างชนิดที่ไม่มีการคุยโม้โอ้อวดกัน
แต่ถ้าจะฝึกให้มันเข้มงวด เข้มแข็งมากขึ้น และเป็นการฝึกที่เป็นเรื่องเป็นราวมากขึ้น ก็ขยับบทบาทของตนในการฝึกสติให้เข้มแข็ง ดูเหมือนมีพลัง และตั้งใจได้มากขึ้น เช่น สมมติว่า ตอนเช้าพอนาฬิกาปลุก เราก็ยังนอนเฉย แล้วกดให้มันหยุดปลุก แล้วนอนต่อไปอีก แทนที่จะรีบลุกขึ้นมา ถ้าอย่างนี้แสดงว่าเรายังไม่มีสติ เรากำลังมีสติที่เพลี่ยงพล้ำ มีสติที่อ่อนแอ เพราะผู้มีสตินั้น เมื่อถึงเวลาลุกจะมีพลังต่อต้านภัย ต่อต้านความครอบงำของอาการห่วงเหงาหาวนอน ผู้มีสติย่อมมีพลังพร้อมที่จะต่อต้านสภาวะที่จะทำให้เกิดความไม่เจริญได้ทุก ขณะจิต สภาวะที่ทำให้เกิดความไม่เจริญ คือ ความเกียจคร้าน สันหลังยาว ง่วง งี่เง่า เศร้าหมอง ขุ่นมัว ฟุ้งซ่าน รำคาญ อึดอัด หรือขัดเคือง
ผู้มีสติย่อมมีพลังพร้อม และพอที่จะสามารถแก้ไข และทำร้าย ทำลาย สิ่งที่เป็นสภาวะที่ทำให้เกิดความไม่เจริญได้อย่างฉับพลัน เหตุเพราะเวลาที่เราหลับอย่างมีสตินั้น จะทำให้เราเป็นผู้ซื่อตรงต่อตัวเอง รู้จักกำหนดให้อาณัติสัญญาณต่อสัญญาที่มีอยู่ทุกขณะจิตแก่ตนเองว่า เราจะตื่นเวลาใด และมันจะเป็นความตื่น...ตื่น...และตื่น ด้วยกาย วาจา ใจ
๗
เมื่อสร้างความรู้เนื้อรู้ตัวให้เกิดขึ้นทุกขณะ ทุกย่างก้าว ทุกกระบวนการ ทุกลมหายใจเข้าออก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่เราทำ คำที่เราพูด สูตรที่เราคิด มันต้องเต็มเปี่ยมไปด้วยความรู้เนื้อรู้ตัว เข้าใจ และแจ่มแจ้งต่อมัน แล้ว จนกลายเป็นนิสัยอยู่ในหัวใจเรา มันก็จะกลายเป็นระบบของความคิด เราก็จะรู้ว่าอะไรควรคิดก่อน อะไรควรคิดหลัง
กระบวนการต่อไปคือ จะต้องซึมสิง ซึมทราบ พิสูจน์ จนเข้าใจกระจ่างชัดว่า ไม่ว่าอิริยาบถใดๆ ทุกขณะจิต ทุกลมหายใจ เราต้องรับรู้ ไม่ต้องรู้เรื่องอื่น รู้เฉพาะตัวเรา พอรู้ตัวเราแล้วก็จะทำให้รู้เรื่องอื่นไปด้วยในตัว รู้ตัวเราอย่างไร ก็คือมีความรู้สึกในอิริยาบถ ที่จะเดิน ยืน นั่ง นอน ขับถ่าย อย่าส่งความรู้สึกออกไปนอกตัว ถ้าเมื่อไหร่ที่ส่งความรู้สึกออกไปนอกตัว ท่าทางต่างๆของเราก็จะไม่ถูกต้อง เช่น การยืนแบบรู้เนื้อรู้ตัวก็คือ เรารู้ว่าเราทิ้งน้ำหนักไปที่ขาขวาหรือขาซ้าย รู้ว่าขาข้างไหนกำลังรับน้ำหนักตัวของเราอยู่ รู้ว่ายืนตรง ยืนเอียง ยืนตะแคงอย่างไร การรับรู้สภาพรูปยืนของตนอย่างนี้ถือว่าเป็นการฝึกสติให้ตั้งมั่นอยู่ในกาย นี้
ขั้นต่อมา ต้องเริ่มต้นจากการให้เวลาสัก ๕-๑๐ นาที หรือเท่าที่เราต้องการ ควรจะมีเวลาให้มันในวิธีนี้อย่างยิ่งยวด เพื่อความชัดเจนกล้าแข็งของสติภายในกายตน และเวลาที่ให้กับมันนั้น เราต้องตัดสินใจอย่างเด็ดเดี่ยว มั่นคง และเด็ดขาดอย่างแท้จริงว่า เรากับสติต้องเป็นหนึ่งเดียวกันให้ได้ในเวลาที่กำหนด เรากับสติต้องไม่พลัดพรากจากกันแม้แต่พริบตาเดียว เรากับสติต้องรวมกันทั้งกาย วาจา ใจ อย่างชนิดที่ไม่แยกจากกัน อาจจะเริ่มจากการรวมใจให้ผนึกแนบแน่นกับใจ ให้รับรู้ถึงสภาวะแห่งความเป็นจริงในปัจจุบันนั้นๆว่า เริ่มต้นจากการรู้จักรูปของตนว่าเราจะฝึกในท่าไหน ท่ายืน ท่าเดิน ท่านอน หรือท่านั่ง ให้รู้รูปยืน รู้รูปเดิน รู้รูปนอน รู้รูปนั่ง นั้น อย่างชัดเจนในมโนนึก มโนภาพของตน เมื่อรู้ตามกระบวนการอย่างชัดเจนแล้ว ก็รู้ต่อไปถึงกระบวนการของหนังและเนื้อภายในกาย จากนั้นก็ถลกหนังและเนื้อออก ให้เหลือไว้แต่โครงกระดูกภายใน ค่อยๆสำรวจ ตรวจดูกระดูกภายในกายตน อาจจะเริ่มโดยการใช้มือคลำ คลำให้ทะลุหนัง ทะลุเนื้อ เข้าไปถึงกะโหลกศีรษะ หน้าผาก โหนกคิ้ว เบ้าตาทั้งสองข้าง คลำไปเรื่อยๆอย่างนี้ การฝึกสติขั้นนี้ค่อนข้างจะละเอียด ชัดเจน เข้มแข็ง และแน่นอน ไม่ต้องมีคำภาวนาใดๆ การฝึกสติประเภทนี้ จะทำให้สติเราตั้งมั่นและกล้าแข็ง อาจหาญ และกล้าที่จะเผชิญกับทุกสถานการณ์ได้อย่างไม่หวาดหวั่น ไม่พรั่นพรึง และมีวิถีชีวิตอย่างสง่างาม
๘
แล้วในขณะที่รับรู้โครงสร้างภายในกาย คือ โครงกระดูก ขณะนั้นจะต้องไม่ปรากฏความรู้สึกนึกคิดใดๆ หรือไม่มีกระบวนการแบ่งแยกทางจิต จะรู้ได้เพียงกระดูกกับกระดูกเท่านั้น เหตุผลก็เพราะ เมื่อใดที่ปรากฏความรู้สึกนึกคิดออกไปนอกกระดูก แม้แต่กระทั่งขยับไปที่เนื้อ หนัง มันก็กลายเป็นเรื่องของคนละเรื่องที่เราจะกำหนดรู้ แสดงว่าเรากำลังจะเพลี่ยงพล้ำ กำลังจะพลั้งเผลอ และการตั้งมั่นของสติจะเลอะเลือนไปในที่สุด
ดังนั้น เจตนาในการรู้กระดูก ก็ต้องรู้กระดูกให้แจ่มชัด เจตนาในการรู้ผิวหนังและเนื้อก็ต้องรู้ให้แจ่มชัด ไม่ใช่ต้องการจะรู้ผิวหนังแต่กระโดดไปรู้กระดูก รู้กระดูกก็กระโดดไปรู้ผิวหนังอะไรอย่างนี้ แต่ควรให้รู้เป็นเรื่องๆและรู้อย่างเข้มแข็ง เข้มข้น แจ่มชัดมากที่สุด เมื่อเรารู้อย่างแจ่มชัด กระบวนการทางความคิดไม่แตกแยก จิตวิญญาณของเราไม่สับสนวุ่น-วาย สงบนิ่งอยู่กับการรับรู้นั้นแล้ว และก็รู้อย่างค่อยเป็นค่อยไป อย่างถนัดถนี่แล้ว ค่อยๆ พัฒนาการรับรู้นั้น ให้เข้มข้นมากขึ้น เข้มแข็งมากขึ้น จนกระทั่งสามารถรู้ให้ได้ไปทั้งโครงสร้างของกาย แรกๆก็ฝึกรู้เป็นจุด ต่อไปก็ฝึกรู้เป็นท่อน รู้เป็นตำแหน่ง และสุดท้ายรู้ไปได้ทั้งโครงสร้าง พอหลับตาหรือลืมตา ใช้มโนนึก นึกถึงโครงกระดูกให้เห็นปรากฏชัดตรงหน้าทันที เมื่อรู้ได้อย่างนี้ในขณะที่มีสติ เมื่อสติปรากฏในจิตทุกดวง ความปรุง ฟุ้งซ่าน หงุดหงิด รำคาญ สับสน วุ่นวาย รัก โลภ โกรธ หลง มันก็จะไม่ปรากฏ จิตเรา ก็จะละเอียด หมดจดจากเครื่องผูกพัน ร้อยรัดทั้งปวง
การฝึกสติมันเป็นเรื่องยิ่งใหญ่ที่มีอุปการะทุกขณะจิต การฝึกสติทำได้ตลอดเวลาไม่ใช่จะต้องมาทำในเวลานี้ เดี๋ยวนี้ ตรงนี้ และไม่ใช่ว่ามีเฉพาะเวลานั่งหลับตา หรือสวดมนต์แล้วจะมีสติ...ไม่ใช่ แต่มันต้องมีทุกขณะ ทุกลมหายใจเข้า-ออก
ถ้าเราไม่ฝึกสติ หากไปเจอคนที่ยั่วยวนอารมณ์ของเรา แล้วเราไม่รู้จักระงับสติของตัวเอง เราก็ต้องกลายเป็นอาชญากรรมหรือผู้ต้องหา คนที่ไม่ได้ฝึกการอบรมจิต ยากที่จะเผชิญต่อสถานการณ์ใดๆที่บีบคั้นแล้วจะทนได้ ยืนหยัดอยู่ได้ ตั้งมั่นได้ อย่างไม่โยกโคน ไม่สั่นคลอน ไม่ง่อนแง่น การฝึกสติทำให้เราตั้งมั่นในทุกกาลทุกสมัย
๙
การที่เรามีหัวใจที่จะให้อภัยด้วยการเอื้ออาทร การุณย์ และยอมรับสิ่งดีมีประโยชน์ไปใช้ การจะให้อภัยก็ตาม เอื้ออาทรก็ตาม รับสิ่งดีมีประโยชน์ก็ตาม มันจะไม่สำเร็จ ไม่ได้ขึ้นมาเลย ไม่เกิดเลย ถ้าเราไม่มีสติ
ใครก็ตามที่บอกว่าฉันไม่มีสติ ฉันไม่ต้องการสติ และปฏิเสธสติ และฉันไม่รู้จักแม้กระทั่งคำว่าสติ นั่นคือคนที่ไม่ใช่คน เพราะฉะนั้นคนที่ไม่มีสติคือคนที่ไม่ใช่คน คือคนบ้า คนประสาท คนบ้า คนประสาทก็คือคนที่ทำอะไรตามอารมณ์ เพราะไม่รู้ว่าตัวเองกำลังทำอะไรอยู่ หรือพวกไม่มีสติคือคนเมา เสพยาเสพติด หลงระเริงไปตามกระบวนการฉุด-กระชากลากถู และคนที่ตกเป็นทาสของอารมณ์
ผู้ขาดสติ คือ คนที่ทำความรู้สึกของตัวเองให้เกิดสาระไม่ได้ ทำชีวิตนี้ให้มีสาระไม่ได้ ทำสาระให้เกิดขึ้นในชีวิตนี้ไม่ได้ ทั้งที่เรายังมีชีวิตอยู่ ทั้งๆที่เรายังมีลมหายใจอยู่ แต่ไร้สาระในการดำรงชีวิต คนอย่างนี้เขาเรียกว่าขาดสติ ส่วนคนมีสติก็คือคนมีสาระ อย่างที่หลวงปู่เขียนบทโศลกไว้บทหนึ่งว่า ลูกรัก...
มีลมหายใจ มีชีวิต ได้พลัง ใช้พลัง สร้างสรรค์สาระ
นี่คือกระบวนการของสติในพุทธศาสนา แต่ถ้ามีลมหายใจ มีชีวิต ได้พลัง ไม่ใช้พลังให้เกิดสาระในทางดำรงชีวิต อย่างนี้เขาเรียกว่าขาดสติ
คนมีสติย่อมรักษากายตน รักษาจิตตน ให้พ้นจากไฟทั้งสาม คือโทสะ โมหะ และราคะ ได้อย่างอยู่รอดปลอดภัย ไม่เสียความเป็นไท
คนมีสติจะมีวิถีคิด วิถีทำ วิถีพูด วิถีชีวิต วิถีจิต ที่ไม่ผิดพลาด ไม่บกพร่อง มีแต่เรื่องถูกต้อง
คนมีสติจะตั้งมั่นได้ด้วยตัวเอง ไม่มีใครจะมาทำให้เราต้องโยกโคนสั่นคลอนไปตามกระบวนการใดๆที่จะมาฉุดกระชากลากถูไป
คนมีสติจะตั้งมั่นได้ทุกถิ่นทุกฐาน ตั้งมั่นได้ทุกกาลทุกสมัย จะมีชีวิต จิตวิญญาณที่ไม่กระดกบนฟองน้ำลายที่อยู่บนปลายลิ้นชาวบ้าน ไม่ว่าใครจะด่าเรา จะชมเรา จะติเรา หลวงปู่เขียนบทโศลกสอนลูกหลานไว้บทหนึ่งว่า
ลูกรัก...
คนจริงไม่ไหวติงต่อคำชม
ไม่เยินยอนิยมต่อคำนินทาสรรเสริญ
เพราะฉะนั้น คนจริงคือคนมีสติตั้งมั่น เป็นผู้ยิ่งใหญ่ในหัวใจของเรา แล้วเราก็จะยิ่ง-ใหญ่ในสายตาของชาวบ้านเอง
แต่ถ้าใจเรายังไม่ใหญ่ ยังมีอะไรมาใหญ่แทนตัวเราแท้ๆ อะไรตัวนั้นก็คือโลภ รัก โกรธ หลง ตะกละ ต้องการ ทะเยอทะยานอยาก มันมาใหญ่แทนใจเราซะแล้ว มันมาใหญ่แทนสติเราซะแล้ว เราก็ต้องมีชีวิตอยู่บนฟองน้ำลายของชาวบ้าน คือกลัวเขาจะว่า กลัวเขาจะตำหนิ กลัวเขาจะชม กลัวเขาจะนิยม กลัวเขาจะยกย่อง กลัวไปหมด สุดท้ายชีวิตนี้มีอะไร ชีวิตนี้เป็นชีวิตได้อย่างไร ถ้าเป็นชีวิตมีชีวิต เราต้องควบคุมมันได้ เป็นนายมันสนิท เป็นเจ้าของมันถูก การที่เราจะทำอย่างนี้ได้ เราต้องมีสติ สติทำให้เราเป็นเจ้าของชีวิตนี้ สติทำให้เรามีอำนาจเหนือชีวิตนี้
คนมีสติคือคนที่อยู่ในโลกใบนี้อย่างมีสมรรถนะ สร้างสรรค์ประสิทธิภาพ ทำให้เกิดประสิทธิผล ในขณะที่เรามีชีวิตทุกย่างก้าว ทุกลมหายใจเข้าออก
คนมีสติจะเป็นเอกภาพของตัวเอง มีเอกลักษณ์ของตัวเอง เป็นเอกบุรุษถ้าเป็นผู้ชาย ถ้าเป็นผู้หญิงก็เป็นเอกสตรี
คนมีสติคือคนมีศิลปะ คนมีศิลปะคือคนมีธรรมะ คนมีธรรมะคือคนมีปัญญา คนมีปัญญาก็คือคนมีสมาธิ คนมีสมาธิคือคนมีสติ คนมีสติก็คือคนมีศิลปะ คนมีศิลปะก็คือคนที่มีชีวิตสวยงาม งดงาม สง่างาม และอาจหาญ
๑๐
เพราะฉะนั้นความหมายของสติมันคือทุกอย่างของชีวิตนี้ มันคือความสดชื่น สมหวัง กระฉับกระเฉง สง่างาม คือความชาญฉลาด คือความพร้อมมูล และคือความครบองค์ประกอบของชีวิต สติจึงเป็นความจำเป็น เป็นอุปการคุณแก่สรรพสัตว์ เป็นอุปการคุณอันยิ่งใหญ่
พระพุทธเจ้าเคยถามพระมหาเถระรูปหนึ่งที่จะไปอยู่ ณ เมืองอารวี ที่เมืองนี้เป็นเมืองที่มีคนโหดร้าย ขี้โมโห ขี้โกรธ พระพุทธเจ้าถามว่า ที่ท่านจะไปอยู่น่ะ ไม่กลัวเขาด่าว่า ทำร้ายทุบตีหรือ
ท่านเถระรูปนั้นกล่าวว่า
"ถ้าเขาด่ากระหม่อมฉัน ก็ดีกว่าเขาอาฆาตพยาบาท
ถ้าเขาอาฆาตพยาบาท ก็ดีกว่าเขาทำให้บาดเจ็บ
ถ้าเขาทำให้บาดเจ็บ ก็ดีกว่าเขาฆ่าให้ตาย
ถ้าเขาฆ่าให้ตาย ก็ยังดีกว่าเขาทำให้เสียสติ"
เห็นมั้ยว่า พระเถระรูปนี้แม้แต่เสียชีวิตก็ไม่เป็นไร แต่ขอรักษาสติเอาไว้
เพราะฉะนั้นสติจึงเป็นเรื่องยิ่งใหญ่ที่เราจะต้องนำมาใช้ให้เกิดใน ชีวิตปัจจุบันทันที เดี๋ยวนี้ ขณะนี้ วันนี้ เวลานี้ และนาทีต่อๆไป เราต้องรักษาสติ เจริญในสติ เพื่อให้เป็นผู้มีสติทุกลมหายใจเข้า-ออก และเมื่อเรามีสติทุกขณะจิต ทุกลมหายใจเข้า-ออก เราก็จะเป็นผู้ที่พร้อม และสามารถที่จะตรวจตราความสามารถทั้งภายนอกและภายในกายตนนี้ ให้อยู่รอดปลอดภัย เราจะเป็นคนที่สะอาด มีความสง่างาม องอาจ เป็นตัวของตัวเอง และก็มีชีวิตอย่างอิสระและมีเสรีภาพ มีความสุขสมบูรณ์ เป็นไท ไม่มีชีวิตที่ตกอยู่บนฟองน้ำลายที่กระดกบนปลายลิ้นใคร แล้วเราก็จะกลายเป็นผู้ชนะในโลกในที่สุด
ห้องสมุดธรรมอิสระ
สติ
- Details
- Written by Admin03
- Hits: 5631