ความเดิมตอนที่แล้ว
จบลงตรงที่พระมหาโมคคัลลานะและท่านปิณโฑลภารทวาชะ ได้ยินได้ฟังพวกชาวบ้านพระนครราชคฤห์ ได้พากันวิพากษ์วิจารณ์ว่า
โลกนี้ไม่มีพระอรหันต์อยู่จริงดอก หากมีจริงก็คงจะเหาะไปรับเอาบาตรไม้จันทร์แดงที่เศรษฐีได้แขวนไว้บนยอดไม้ไผ่สูง ๑๕ วา ไปแล้ว
พระมหาเถระจึงปรึกษาหารือกันว่า เห็นทีเราทั้งสองคงต้องแสดงให้มหาชนได้เห็นว่า โลกนี้ยังมีพระอรหันต์อยู่จริง
จึงทำให้พระปิณโฑลภารทวาชะ ได้แสดงฤทธิ์เหยียบแผ่นหินแล้วเหาะลอยไปวนรอบพระนครราชคฤห์ครบ ๓ รอบ
จนทำให้มหาชนทั้งหลายได้มองเห็นว่า แผ่นหินปิดบังแสงสุริยาเสียสิ้น
ชนทั้งหลายจึงเกิดความกลัว พร้อมกับร้องขอให้พระมหาเถระได้โปรดอย่าให้หินหล่นลงมาทำร้ายชาวพระนคร
พระปิณโฑลภารทวาชะจึงใช้นิ้วเท้าคีบแผ่นหินนั้นเหวี่ยงให้ลอยกลับไปตกอยู่ในที่เดิม
แล้วพระเถระก็ได้เหาะไปยืนอยู่เหนือเรือนของเศรษฐี เศรษฐีนั้นเห็นท่านแล้ว หมอบลงแล้ว กราบเรียนว่า
“ลงมาเถิด พระผู้เป็นเจ้า ”
เศรษฐีจึงนิมนต์พระเถระให้นั่งแล้ว ให้นำบาตรลงถวายแก่พระเถระ พร้อมประกาศตนเป็นผู้เลื่อมใสในพระธรรมวินัยทั้งครอบครัวและบริวาร พระเถระรับบาตรแล้วกล่าวสัมโมทนียกถา แล้วก็กลับสู่วิหาร
พวกชนหมู่อื่นที่อยู่ในป่าบ้าง อยู่ในบ้านบ้าง ไม่ได้เห็นปาฏิหาริย์ของพระเถระ ก็รวมกันมาวิงวอนพระเถระว่า “ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ขอท่านจงแสดงปาฏิหาริย์ให้พวกพวกผมได้ชมบ้าง ” พระเถระนั้นก็แสดงปาฏิหาริย์แก่ชนเหล่านั้นๆ ในระหว่างทางไปพระวิหาร
พระศาสดาทรงสดับเสียงมหาชนที่ติดตามพระเถระนั้นอื้ออึงอยู่ จึงตรัสถามว่า “อานนท์ นั่นเสียงใคร ?”
ท่านพระอานนท์ทูลว่า “พระเจ้าข้า พระปิณโฑลภารทวาชะเหาะขึ้นไปในอากาศแล้ว ถือเอาบาตรไม้จันทร์ เสียงนั่นมาจากพวกมหาชนตามมาขอให้พระเถระแสดงฤทธิ์ให้พวกเขาได้ดูอีกพระพุทธเจ้าข้า”
พระศาสดาจึงรับสั่งให้เรียกพระปิณโฑลภารทวาชะมา ตรัสถามว่า “ได้ยินว่า เธอแสดงฤทธิ์ให้ชาวบ้านดู ทำอย่างนั้นจริงหรือ ?”
พระเถระกราบทูลว่า “จริง พระเจ้าข้า”
จึงตรัสว่า “ภารทวาชะ ทำไม เธอจึงทำอย่างนั้น ?”
ทรงติเตียนพระเถระ แล้วรับสั่งให้ทำลายบาตรนั้น ให้เป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย พร้อมทรงแล้วรับสั่งให้ประทานแก่ภิกษุทั้งหลาย เพื่อบดผสมยาตา แล้วทรงบัญญัติสิกขาบทว่า
“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่ควรแสดงอุตตริมนุสสธรรมอันเป็น อิทธิปาฏิหาริย์แก่พวกคฤหัสถ์ทั้งหลาย ผู้ใดขืนแสดงต้องอาบัติ ทุกกฎ ” ดังนี้
ท่านปิณโฑลภารทวาชเถระ มักจะบันลือสีหนาทด้วยวาจาอันองอาจว่า
“ยสฺส มคฺเค วา ผเล วา กงฺขา อตฺถิ โส มํ ปุจฺฉตุ
แปลว่า ผู้ใด มีความสงสัยในมรรคหรือในผล ผู้นั้น ก็จงถามเราเถิด”
แม้แต่ในที่เฉพาะพระพักตร์พระบรมศาสดา ท่านก็บันลือสีหนาท
เช่นนั้น ด้วยเหตุนี้ พระภิกษุสงฆ์ทั้งหลายพากันกล่าวขวัญถึงท่านว่าเป็นผู้มีความองอาจประกาศความเป็นพระอรหันต์ของตนในที่เฉพาะพระพักตร์
พระภิกษุสงฆ์เหล่านั้นพากันกล่าวสรรเสริญเกียรติคุณของพระปิณโฑลภารทวาชเถระ แล้วกราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้า
พระพุทธองค์ทรงถือเอาคุณความดีของพระเถระนี้ตรัสสรรเสริญว่า
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ท่านภารทวาชะได้ประกาศความเป็นพระอรหันต์ ของตนเช่นนั้น ก็พราะท่านอบรมอินทรีย์ ๓ ประการ คือ สตินทรีย์ สมาธินทรีย์ และปัญญินทรีย์ ไว้มาก
(อธิบายความว่า พระปิณโฑลภารทวาชะ ท่านได้อบรมสติ สมาธิ และปัญญา เอาไว้มากมายมาหลายภพหลายชาติ จวบจนกระทั่งชาติสุดท้ายของท่าน ท่านก็ยังมุ่งมั่น หมั่นเจริญสติ สมาธิ และปัญญา จนกระทั่งท่านพิจารณาเห็นว่า
สติ สมาธิ ปัญญา ในการรู้แจ้งในมรรคผลของท่านมีมากมายจนล้นหลาม เหลือเฟือ ดุจดังน้ำทิพย์ที่หลั่งไหล พรั่งพรูลงมาสู่ภาชนะ จนล้นหลั่งเนืองนองไปทั่วภูมิภาคแผ่นผืนปฐพี
ท่านปิณโฑลภารทวาชะ จึงเปล่งบันลือสีหนาทดังที่ปรากฏ)
ครั้นตรัสดังนี้แล้ว ทรงประกาศยกย่อง พระปิณโฑลภารทวาชะ ในตำแหน่งเอตทัคคะ เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายในฝ่าย ผู้บันลือสีหนาท
กาลต่อมาวันหนึ่ง พราหมณ์ที่เคยเป็นสหายกันในสมัยเมื่อเป็นคฤหัสถ์ ผู้เป็นมิจฉาทิฏฐิ มีความตระหนี่ เข้าไปหาท่านถึงสำนัก
ท่านจึงต้องการอนุเคราะห์พราหมณ์ผู้เป็นสหายนั้น จึงกล่าวธรรมเทศนาพรรณนาอานิสงส์ของทานแก่สมณะ ชี พราหมณ์ ผู้เจริญไปด้วยศีล สติ สมาธิ และปัญญา ว่าเป็นทานที่จักมีผลอันเลิศ
พราหมณ์นั้นเมื่อได้ฟังจึงขมวดคิ้วนิ่วหน้า คิดในใจว่า
พระเถระนี้กำลังจะทำให้ทรัพย์ของเราพินาศไปเพราะการพูดชักชวนให้เราบริจาคทานเสียแล้ว
พราหมณ์นั้นจึงกล่าวว่า เห็นแก่เราเคยเป็นสหายกัน เราจะถวายภัตรแค่มื้อหนึ่งแก่ท่านก็แล้วกัน
พระเถระได้ยินดังนั้นจึงกล่าวว่า ท่านจงถวายภัตรมื้อหนึ่งนั้นแก่สงฆ์ อย่าถวายเราเลย
พราหมณ์นั้น พอได้ฟังก็คิดว่า ภัตรแค่จานเดียวสามารถถวายแก่หมู่สงฆ์ทั้งกลุ่มได้ก็ดีซิ แต่มันจะได้หรือพระภิกษุสงฆ์ตั้งหลายองค์ ดูถ้าสหายเราคงต้องการให้เราได้รับความอับอาย
เมื่อพราหมณ์แสดงความไม่พอใจอีกด้วยคิดว่า พระเถระนี้ประสงค์จะให้เราถวายทานแก่ภิกษุจำนวนมาก ซึ่งจะทำให้เราสิ้นเปลืองทรัพย์อย่างมากมาย
พระเถระ เพื่อต้องการให้พราหมณ์เกิดเลื่อมใส ด้วยการประกาศถึงความที่แห่งทักษิณาทานถวายในหมู่สงฆ์
โดยมีพระธรรมเสนาบดีสารีบุตรเป็นประธานสงฆ์
แม้หลังจากถวายทานแก่หมู่สงฆ์แล่ว แต่พราหมณ์นั้นก็ยังไม่พึงพอใจ
พระเถระปิณโฑลภารทวาชะ ท่านรู้วาระจิตของสหายพราหมณ์ของท่านว่า ยังไม่พอใจ ไม่เลื่อมใสพระเถระจึงได้กล่าว คาถา ๒ คาถา ความว่า
ชีวิตของเรานี้ ย่อมไม่เป็นไปดังปรารถนา
อาหารสารพัดโอชาก็ไม่ได้ทำจิตให้สงบได้
เราเห็นว่าร่างกายนี้จะดำรงอยู่ได้เพราะอาหาร จึงได้เที่ยวแสวงหาโดยทางที่ชอบ
นักปราชญ์มีพระพุทธเจ้าเป็นต้น ได้กล่าวว่า การไหว้ การบูชา การเซ่นสรวงที่เกิดในตระกูลทั้งหลายว่า หาได้เกิดประโยชน์ไม่
ดุจดังลูกศรเข็มอันละเอียด ถอนขึ้นได้ยาก
สักการะการเซ่นสรวงใดๆ ที่บุคคลผู้หลงละได้ยาก ดังนี้
พราหมณ์นั้นพอได้ฟังคาถานั้นแล้ว จึงมีสติ ระลึกได้ ละเสียซึ่งความตระหนี่ในการให้ทาน จนเกิดความเลื่อมใสอย่างยิ่ง ในพระเถระปิณโฑลภารทวาชะ
แล้วประกาศตนเป็นผู้ถือพระรัตนตรัยเป็นสรณะ เป็นที่พึ่งตลอดชีวิต
พุทธะอิสระ