ความเดิมตอนที่แล้ว
จบลงตรงที่พระกุมารกัสสปะได้ฟังพระพุทธดำรัสตรัสตอบปัญหา ๑๕ ข้อ ที่ท้าวพรหมมาสุทธาวาส ได้มาผูกขึ้นเพื่อให้พระกุมารกัสสปะไปทูลถามปัญหา
จนทำให้พระกุมารกัสสปะ ได้บรรลุอรหันต์ พร้อมปฏิสัมภิทาญาณ เช่นนี้เรียกว่า ได้ดีเพราะเพื่อนให้ การมีเพื่อนดีมีมิตรดี เรียกว่า มิตรแนะนำประโยชน์ มิตรร่วมทุกข์ร่วมสุข ซึ่งมีอยู่ในการคบมิตร ๔ ลักษณะ ที่องค์พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแยกแยะเอาไว้ อันได้แก่
1. มิตรมีอุปการะมากมี 4 ลักษณะ คือ
– ปกป้องเพื่อนมิให้ตั้งอยู่ในความมัวเมาประมาท
– ปกป้องทรัพย์ของเพื่อนมิให้เสียหาย
– สามารถเป็นที่พึ่งพาอาศัยได้เมื่อยามเพื่อนมีทุกข์ภัย
– ช่วยแบ่งเบาภาระและกิจธุระของเพื่อนสุดความสามารถ
2. มิตรร่วมทุกข์ร่วมสุข มีลักษณะ 4 ประการ คือ
– บอกสิ่งที่ควรรู้แก่เพื่อน
– เก็บรักษาความลับของเพื่อนได้
– ไม่ละทิ้งเพื่อนในยามทุกข์ยาก
– สามารถสละประโยชน์และความสุขส่วนตนให้แก่เพื่อนได้
3. มิตรแนะประโยชน์มีลักษณะ 4 ประการ คือ
– ห้ามเพื่อนมิให้ประพฤติชั่ว
– แนะนำให้เพื่อนประพฤติอยู่ในความดี
– ให้รู้ในสิ่งที่เพื่อนยังไม่เคยรู้ และช่วยอธิบายให้เข้าใจ
– บอกทางสวรรค์ให้เพื่อน ด้วยการแนะนำ และอธิบายให้เพื่อนเข้าใจถึงสิ่งที่ควรทำ และสิ่งมิควรทำ จักได้ไปบังเกิดในสุคติภพ
4. มิตรมีความรักใคร่มีลักษณะ 4 คือ
– ไม่ยินดีกับความเสื่อมของเพื่อน โดยเฉพาะเสื่อมทางปัญญา
– ยินดีในความเจริญของเพื่อน โดยเฉพาะเจริญปัญญา
– ห้ามปรามคนที่นินทาหรือติเตียนเพื่อน หรือช่วยแก้ต่างให้
– ยินดี และส่งเสริมผู้ที่สรรเสริญเพื่อน
พรหมสุทธาวาสนับว่าเป็นเพื่อนแท้ เพื่อนแนะนำประโยชน์ เพื่อนร่วมทุกข์ร่วมสุขโดยแท้ จึงทำคุณูประการให้สำเร็จประโยชน์สูงสุด แก่พระกุมารกัสสปะได้ ดังที่ปรากฎ
เช่นนี้แหละจึงเป็นที่มาของการสวดคาถาเทพรัญจวนให้ได้ทุกวันๆ ละ ๒ เวลา เป็นอย่างน้อย
จึงได้ชื่อว่า เป็นผู้สร้างมิตรดี คบมิตรดี มีเพื่อนดี และเพื่อนดีเช่นนั้น ก็จักแนะนำประโยชน์ให้ในที่สุด
พระกุมารกัสสปะสำเร็จพระอรหันต์แล้วจึงช่วยรับภาระในกิจการคณะสงฆ์ในเรื่อง จัดอาสนะ ตระเตรียมน้ำใช้ น้ำฉัน ให้การอนุเคราะห์ สงเคราะห์แก่ภิกษุชราและอาพาธ ทั้งยังช่วยอธิบายขยายธรรม ชี้นำหมู่ภิกษุใหม่ ให้ได้เข้าใจถึงความหมายแห่งธรรมอันลุ่มลึกให้เข้าใจง่าย และเสนาะไพเราะระรื่นหู
เราท่านทั้งหลายจะเห็นได้ว่า การไม่มีตัวกูนี่แม้จะยิ่งใหญ่ มีคุณธรรมวิเศษขนาดไหน ก็มิได้ทำให้ตัวกูยิ่งใหญ่ตามไปด้วยได้เลย ทั้งยังทำคุณประโยชน์ได้มากกว่าพวกที่ตัวกูใหญ่
ทีนี้มากล่าวฝ่ายนางภิกษุณีกุลธิดามารดาของพระกุมารกัสสปะเถระกันบ้าง
นับแต่วันที่พระเจ้าปเสนทิโกศลรับเอาพระกุมารกัสสปะไปเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรม นางก็เอาแต่ซึมเศร้า พร่ำเพ้อ หวนคำนึง ระลึกถึงลูกชายของนางอยู่ทุกวี่วัน ด้วยความคิดถึงบุตรชาย นางต้องนอนร้องไห้ทุกค่ำคืน เกิดความทุกข์ท่วมอกอยู่ถึง ๑๒ ปี
แต่พอนางเห็นลูกชายได้มาบวชอยู่ใกล้ๆ ความทุกข์ท่วมท้นอกก็พลันอันตรธานหายไป
ต่อมาเมื่อพระกุมารกัสสปะได้อุปสมบทเป็นพระแล้ว ได้เรียนกรรมฐานจากองค์พระบรมศาสดา แล้วปลีกหลีกลี้ไปอยู่ในป่าอันสงัด เพื่อบำเพ็ญสมณธรรมอยู่หลายเดือน
ทำให้นางภิกษุณีกุลธิดา ผู้มารดาห่วงใยในพระลูกชาย เป็นยิ่งนัก
เมื่อพระกุมารกัสสปะได้บรรลุธรรมาภิสมัยเป็นอรหันต์ หมดกิเลสแล้ว
วันหนึ่งท่านได้ออกบิณฑบาต บังเอิญวันนั้นนางกุลธิดาก็ได้ออกบิณฑบาตเช่นกัน เผอิญเดินสวนกันมาแต่ไกล
นางกุลธิดาภิกษุณีพอได้เห็นพระกุมารกัสสปะเถระ เดินบิณฑบาตกำลังจะสวนทางมา ด้วยความดีใจนางจึงกระวีกระวาดรีบเดินเข้าไปหาพระลูกชาย พร้อมส่งเสียงร้องเรียกพระกุมารกัสสปะว่า
ลูกเอ๋ย ลูกจ้า แม่อยู่นี่
แล้วนางก็รีบเดินเข้าไปหา แต่ด้วยความเร่งรีบ นางจึงสะดุดขาตนเองหกล้มลง
ข้างพระกุมารกัสสปะ ได้เห็นเช่นนั้นจึงดำริขึ้นว่า
หากว่าเราจะรีบเดินเข้าไปพยุงมารดาและพูดคุยด้วย ก็จะยิ่งตอกย้ำความผูกพัน ที่แม่มีต่อลูกให้แนบแน่นมากยิ่งขึ้น ยิ่งทำให้แม่ต้องตกอยู่ในความเสื่อมจากมรรคผลนิพพาน
พระกุมารกัสสปะเถระดำริดังนั้นแล้ว จึงหยุดยืนดูอยู่ห่างๆ แล้ววางเฉย
นางภิกษุณีกุลธิดา เมื่อสะดุดขาตนเองล้มหน้าคะมำลงพร้อมทั้งบาตร ที่นางถือมา พอได้เห็นกิริยายืนสงบนิ่งของพระกุมารกัสสปะบุตรชายเช่นนั้น
จึงรู้สึกเสียใจ น้อยใจ ร้องไห้คร่ำครวญ พยุงกายลุกขึ้นพร้อมตัดพ้อว่า
ลูกเอ๋ย แม่คิดถึงเจ้าเหลือเกิน แม่ต้องร้องไห้ทุกวัน ด้วยความรักและห่วงใยเจ้า ทำไมเจ้าถึงได้ไม่ห่วงใยแม่บ้าง ด้วยเพราะความรักและคิดถึง เมื่อแม่เห็นเจ้า จึงดีใจรีบเดินมาหาเพื่อจะให้ทันเจ้า จึงสะดุดขาตนเองล้มลง แต่เจ้ากลับไม่ใยดีมาช่วยพยุงแม่ลุกขึ้นเลย
ลูกเอ๋ย ทำไมลูกถึงได้เย็นชากับแม่นัก หรือเจ้าโกรธที่แม่ทอดทิ้งเจ้า
พระกุมารกัสสปะ เพื่อจะให้แม่ของท่านได้หลุดจากบ่วงแห่งความอาลัย ที่มีอยู่ในตัวท่าน จึงได้กล่าวขึ้นว่า
“ท่านมัวทำอะไรอยู่ จึงตัดไม่ได้ แม้กระทั่งบ่วงแห่งความรักความห่วงใย เสียแรงที่บวชมานาน”
ด้วยกิริยาเย็นชา ประกอบกับถ้อยคำที่ดุดัน ตำหนิ ยิ่งทำให้นางภิกษุณีกุลธิดา รู้สึกเสียใจมากขึ้น
นางจึงถือบาตรเดินร้องไห้กลับไปยังที่พักพร้อมทั้งครุ่นคิดว่า ดูหรือดูลูกเราช่างใจร้ายใจดำกับแม่ยิ่งนัก เราสู้อุตส่าห์ร้องไห้เสียใจด้วยความรักและคิดถึงเขามาถึง ๑๒ ปี พอเขาเข้ามาบวชแล้ว ก็คลายความคิดถึงไปได้บ้าง แต่พอเขาบวชเป็นภิกษุแล้ว ก็หายหน้าไปเสียหลายเดือน โดยมิได้กล่าวลา
ทำให้เรายิ่งห่วง ยิ่งกังวล มาเจอกันอีกทีเราก็ดีใจที่ได้พบหน้า อยากจะพูดคุยกับบุตรของเรา แต่เขากลับแสดงกิริยาเย็นชา ทั้งยังต่อว่าเราด้วยน้ำเสียงดุดัน เขาช่างไม่มีอาลัยในแม่คนนี้เลย
ขณะที่นางฟูมฟายครุ่นคิดด้วยความน้องใจอยู่ดังนั้น ก็เดินมาถึงกุฎิที่พักแล้วคิดว่า ประโยชน์อันใดที่เราจะมาเสียใจ เสียน้ำตา เสียเวลาให้แก่บุตรที่ไม่รักเรา นางจึงจัดแจงล้างเนื้อล้างตัว แต่งกายแล้วเข้ากุฎิไปบำเพ็ญกรรมฐาน อยู่ภายในกุฎิ โดยมิได้ฉันข้าวฉันน้ำ จิตของนางก็ตั้งมั่นอยู่ในกรรมฐานที่เจริญ ด้วยเพราะตัดอาลัยในตัวบุตรชายได้แล้ว
เมื่อนางตัดทิ้งเสียซึ่งความรักความห่วงใย มุ่งมั่นอยู่ในกรรมฐานที่กำลังเจริญ จิตก็เข้าถึงวิเวก ความสงบระงับ มีจิตที่เป็นกลาง พิจารณาในธรรมชาติแห่งความจริงของสังขารทั้งปวงจนบรรลุธรรมาภิสมัย สำเร็จเป็นพระอรหันต์ ได้ในยามสุดท้ายของราตรีนั้น
เราท่านทั้งหลายจะเห็นว่า พระกุมารกัสสปะก่อนจะบรรลุธรรมก็มีเพื่อนพรหมสุทธาวาส มาช่วยผูกปัญหา ๑๕ ข้อ เพื่อให้ไปทูลถามพระบรมศาสดา
เมื่อพระบรมศาสดาทรงตอบปัญหาทั้ง ๑๕ ข้อ จบลง พระกุมารกัสสปะ ได้ตั้งจิตสดับพระธรรมวิสัชนานั้น ก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ พร้อมปฏิสัมภิทาญาณ
เช่นนี้เรียกว่า เมื่ออินทรีย์ยังไม่แก่กล้า แข็งแรง ก็ต้องอาศัยผู้อื่นช่วยเหลือในระดับหนึ่ง
พอมาถึงนางกุลธิดาภิกษุณีบ้าง ก็ได้พระกุมารกัสสปะบุตรชาย ช่วยเตือนสติให้ได้รู้ตัวว่า อย่ามามัวเสียเวลาอยู่กับบ่วงแห่งความรักความห่วงใยอยู่ทำไม
ด้วยกุศลกรรมที่นางทำมาแล้วด้วยดีในอดีต นางจึงได้สติคิดวางบ่วงแห่งพญามารเหล่านั้นเสีย แล้วตั้งจิตเพ่งบำเพ็ญเพียรจนสามารถบรรลุพระอรหันต์ได้ภายในคือวันนั้น ด้วยเพราะจิตของนางหมดอาลัยในอารมณ์ทั้งปวงแล้ว
นี่ก็คืออีกตัวอย่างหนึ่งของการพึ่งพิงอิงแอบอาศัยกัลยาณมิตรที่ดีจนประสบความสำเร็จ
แต่ถ้าเป็นพวกที่มีอินทรีย์อันแก่กล้าเข้มแข็งเช่นนั้นก็พึ่งตนเองเป็นที่ตั้ง
ดังพุทธวาจาที่ทรงตรัสว่า
อัตตาหิ อัตตโน นาโถ
ตนแลเป็นที่พึ่งแห่งตน
พุทธะอิสระ