ความเดิมตอนที่แล้ว จบลงตรงที่นางกุลธิดาว่าที่มารดาของกุมารกัสสปะ ได้รับอนุญาตจากสามีของนางให้บวชได้
นางจึงแสดงกิริยาทำประทักษิณ ๓ รอบเพื่อบูชาคุณของสามี ที่ยินยอมให้นางได้ออกบวช
ซึ่งนางปรารถนาจักออกบวชมาตั้งแต่นางยังไม่ได้แต่งงาน แม้ขณะที่นางแต่งงานมีสามีแล้ว ความปรารถนาของนางก็ยังคงเดิม ที่ต้องการออกบวชให้ได้
มาวันนี้ วันที่ชาวพระนครพาราณสี แต่งตัวอย่างสวยงามเพื่อไปร่วมเฉลิมฉลองในงานวันนักขัตฤกษ์
แต่นางหาได้แต่งกายสวยงามดังที่สามีและญาติสามีต้องการไม่ ด้วยกุศโลบายที่นางได้วางไว้
เมื่อสามีไปถาม นางก็พรรณนาโทษของกายนี้เป็นประดุจดังซากอสุภะ เสียจนสามีเห็นว่า คงไม่มีประโยชน์อันใดที่จักรั้งหญิงผู้นี้เอาไว้เป็นภรรยาแล้ว ด้วยเพราะนางมีจิตใจที่จะสละแล้วซึ่งกามคุณ เช่นนั้นก็ให้นางไปบวชเสียเถิด
ครั้งนางกุลธิดาได้รับอนุญาตจากสามีให้บวช นางจึงได้รีบขวนขวายนำทรัพย์ในส่วนของนาง แจกจ่ายไปให้แก่ ทาส ทาสี ทาสา ภายในเรือน พร้อมทั้งผู้คนอนาถา
ระหว่างที่นางเดินทางไปสู่สำนักของภิกษุณีที่อยู่ในความควบคุมของพระเทวทัต เพื่อขอบวช โดยที่นางมิได้รู้ตัวเลยว่า นางตั้งท้องอ่อนๆ อยู่
เมื่อนางได้บวชแล้ว นางกุลธิดาภิกษุณีได้มีความเพียร มุ่งมั่นปฏิบัติในข้อวัตรที่พระอุปัชฌาย์ทั้งฝ่ายภิกษุและภิกษุณีอบรมสั่งสอนอย่างเคร่งครัด
แต่ครรภ์ของนางก็ใหญ่ขึ้น ใหญ่ขึ้น จนเป็นที่เพ่งเล็งของเพื่อนภิกษุณีทั้งหลาย
จึงพากันซักถามนางกุลธิดาว่า
แม่เอ๋ย..ทำไมท้องแม่ถึงได้ใหญ่โต่เห็นปานนี้ อีกทั้งมือเท้า หน้าตา แม่ก็ดูเอิบอิ่ม อวบ อ้วน เห็นปานนี้ หรือแม่ไปกระทำการละเมิดศีลกาเม มากระนั้นหรือแม่
ภิกษุณีกุลธิดาจึงกล่าวว่า พระคุณเจ้าขา ดิฉันไม่ทราบเลยว่าทำไมร่างกายนี้ถึงได้มีอาการเช่นนี้
แต่ดิฉันขอให้สัจจะวาจาว่า ตั้งแต่บวชเข้ามา ศีลของดิฉันไม่เคยด่างพร้อยเลยพระคุณเจ้าขา
ต่อมาภิกษุณีผู้มีอายุพรรษาทั้งปวง จึงนำตัวนางภิกษุณีกุลธิดาเข้าไปหาพระเทวทัต ผู้ควบคุมสำนัก เพื่อให้พระเทวทัตสอบถาม
ครั้นมาถึงที่พักนำของพระเทวทัต นางภิกษุณีผู้มีอายุจึงได้แจ้งเรื่องให้พระเทวทัตฟังว่า
ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า กุลธิดาภิกษุณีผู้นี้ ขณะยังไม่ได้บวชก็ทำให้สามีโปรดปรานมิได้ ถึงกับไล่ให้นางออกมาบวช
บัดนี้นางกลับตั้งครรภ์ขึ้นโดยไม่รู้ว่าลูกในครรภ์ของนางเป็นลูกของใคร หรือว่า นางอาจจะตั้งครรภ์มาก่อนบวช นับวันครรภ์ของนางก็ยิ่งใหญ่ขึ้นทุกวัน พระคุณเจ้าจักให้พวกดิฉันทำเช่นไรต่อนางภิกษุณีผู้ตั้งครรภ์นี้
ด้วยความไม่รู้เหตุ ไม่มีความใคร่ครวญอย่างอดทน ไร้ความเมตตา ขาดความกรุณาปรารถนาดี และรักประโยชน์ตนเอง พระเทวทัตจึงได้ชี้โทษแก่ภิกษุณีกุลธิดาผู้นั้นว่า
ให้ไล่เธอสึก ลาขาดจากศีลเสีย มิเช่นนั้นจักยังความเสื่อมเสียมายังเราได้
ขยายความว่า
- ไม่รู้เหตุ หมายถึง พระเทวทัตในฐานะเป็นภิกษุผู้ปกครอง เมื่อเกิดอธิกรณ์ (เรื่องราวที่เกี่ยวกับพระธรรมวินัย) เกิดขึ้น แทนที่จะไต่สวน สืบสาวหาเหตุ พระเทวทัตกลับเลือกที่จะไม่ต้องการเข้าไปเกี่ยวข้อง ดูมันเป็นเรื่องยุ่งยาก จึงรวบรัดตัดสิน โดยไม่สาวหาเหตุใดๆ เลย
- ไม่มีความใคร่ครวญ อย่างอดทน หมายถึง พระเทวทัต ไม่มีความละเอียดรอบคอบ ใจเร็วด่วนได้ ใช้แต่อารมณ์ความเห็นของตน โดยไม่พิจารณาในหลักการและเหตุผล
- ไร้ความเมตตา หากอธิกรณ์ใดที่เกิดขึ้นแก่หมู่สงฆ์ ผู้ทำหน้าที่ระงับอธิกรณ์ หรือ ไต่สวนเรื่องราวนั้นๆ หากขาดความเมตตาในการไต่สวน
คำตัดสินที่จะได้มาก็จักรุนแรงเกินกว่าความผิดที่เกิดขึ้น เช่นนี้ชื่อว่า ไร้ความเมตตา
- การลงโทษทั้งที่ยังไม่รู้เหตุแห่งความผิด นั้นชื่อว่า ขาดความกรุณา ปราณี
หรือไม่ก็รู้เหตุแห่งความผิดอยู่แล้ว แต่ไม่มากนัก ครั้งถึงเวลาตัดสินโทษ กลับลงโทษอย่างรุนแรงเกินกว่าความผิดที่ทำ ทั้งยังไม่เป็นประโยชน์แก่ผู้รับโทษอีกด้วย เช่นนี้ชื่อว่า ไร้ความกรุณาปรารถนาดี
- การรีบร้อนที่จะหยุด ยุติเรื่องราว แล้วด่วนตัดสิน ทั้งที่ไม่รู้ที่มาที่ไป โดยกลัวว่า
ตนเองจะต้องเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย
ตนเองจะต้องมาลำบากยุ่งยากด้วย
ตนเองจักต้องมารับปัญหาด้วย
ตนเองจะต้องเสื่อมเสียชื่อเสียง และผลประโยชน์ด้วย
จึงรีบที่จะยุติเรื่องราวนั้นๆ เช่นนี้ชื่อว่า เห็นแก่ตัว เห็นแก่ประโยชน์ตนเอง อีกทั้งยังได้ชื่อว่า เป็นผู้ไม่อาจหาญ ไม่กล้าที่จะเผชิญต่ออุปสรรคและปัญหา
พูดให้เข้าใจง่าย คือ ขี้ขลาด นั้นเอง
 
จบไว้แค่นี้ก่อนนะจ๊ะ
 
พุทธะอิสระ