พระอนุรุทธะ เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าอมิโตทนะ ผู้เป็นพระเจ้าอาของพระบรมศาสดา มีพระเชษฐา (พี่ชาย) พระนามว่า เจ้าชายมหานามะ มีพระกนิษฐภคินี (น้องสาว) พระนามว่า พระนางโรหิณี รวมมีพี่น้อง ๓ พระองค์ด้วยกัน
ครั้นเมื่อพระพุทธองค์ เสด็จจาริกไปสู่มหาชนบท ประทับอยู่ที่อนุปิยอัมพวัน แขวงเมืองพาราณสี ครั้งนั้น เข้าศากยพระนามว่าเจ้าชายมหานามะ ผู้เป็นพระเชษฐา ได้ปรึกษากับเจ้าชายอนุรุทธะพระอนุชาว่า
“ในตระกูลของเรานี้ ยังไม่มีผู้ใดออกบวชตามเสด็จพระบรมศาสดาเลย เราสองคนพี่น้องนี้ ควรที่คนใดคนหนึ่งน่าจะออกบวช น้องจะบวชเองหรือจะให้พี่บวช ขอให้น้องเป็นผู้เลือกตามความชอบใจ ถ้าไม่มีใครบวชเลย ก็ดูเป็นการไม่สมควรอย่างยิ่ง”
อนุรุทธกุมารนั้น เป็นพระโอรสองค์เล็กของพระเจ้าอมิโตทนะ พระบิดาและพระมารดามีความรักทะนุถนอมเป็นอย่างมาก เป็นยุวกษัตริย์สุขุมมาลชาติ มีพระวรกายงดงาม ผิวพรรณผ่องใส แสดงถึงความมีบุญมาก หมู่พระประยูรญาติทั้งหลายต่างก็โปรดปรานเอาอกเอาใจตั้งแต่แรกประสูติจนเจริญวัยสู่วัยหนุ่ม
เมื่อได้ฟังเจ้าพี่มหานามะตรัสถึงเรื่องการบรรพชาอย่างนั้น จึงกราบทูลถามว่า
“เสด็จพี่ ที่เรียกว่าบรรพชานั้น คืออะไร”
“ที่เรียกบรรพชาก็คือการปลงพระเกศาและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสต์ บรรทมเหนือพื้นดิน และบิณฑบาตเลี้ยงชีพตามกิจของสมณะ”
“เสด็จพี่ หม่อมฉันไม่เคยทุกข์ยากลำบากอย่างนั้น ขอให้เสร็จพี่บวชเองเถิด”
เจ้าชายมหานามะพระเชษฐาจึงทรงตรัสกับพระอนุชาว่า
“อนุรุทธะ ถ้าอย่างนั้น เจ้าก็ต้องศึกษาเรื่องการงาน และการครองเรือนให้เข้าใจเป็นอย่างดี”
เมื่อเจ้าพี่มหานามะ บอกให้ศึกษาเรื่องการงานการครองเรือน เจ้าชายอนุรุทธะ จึงทูลถามเจ้าพี่ว่า
“การงานที่ว่านั้น คืออะไร ?"
เจ้าชายมหานามะ ได้สดับคำถามของพระอนุชาดังนั้น จึงได้ยกเอาเรื่องการทำนาขึ้นมาสอน เริ่มด้วยการไถ การหว่าน การดูแลรักษา ตลอดจนการเก็บเกี่ยว การนวด และการนำเข้าเก็บในยุ้งฉาง อย่างนี้แหละ เรียกว่า “การงาน”
“เสด็จพี่ การงานนี้จะสิ้นสุดเมื่อไร ?”
“ไม่มีวันสิ้นสุด เมื่อถึงฤดูกาลก็ต้องทำอย่างนี้ตลอดไป วนเวียนหาที่สุดมิได้
เจ้าชายอนุรุทธะ นั้นจะรู้เรื่องการทำนาได้อย่างไร ในเมื่อครั้งหนึ่งเคยนั่งสนทนากับพระสหายและตั้งปัญหาถามกันว่า
“ภัตตาหารที่เราเสวยกันทุกวันนี้ เกิดที่ไหน ?”
“เกิดในฉาง” เจ้าชายกิมพิละตอบ เพราะเคยเห็นคนนำข้าวออกจากฉาง
“เกิดในหม้อ” เจ้าชายภัททิยะตอบ เพราะเคยเห็นคดข้าวออกจากหม้อ
“เกิดในชาม” เจ้าชายอนุรุทธะตอบ เพราะทุกครั้งจะเสวยภัตตาหาร ก็จะเห็นข้าวอยู่ในชามเสร็จเรียบร้อยแล้วจึงเข้าใจอย่างนั้น
แต่พอมาได้ฟังเจ้าพี่มหานามะ สอนถึงเรื่องการงาน ดังนี้แล้ว จึงเกิดการท้อแท้ขึ้นมา ด้วยเพราะการงานนั้นก็ไม่มีที่สิ้นสุด จึงกราบทูลเจ้าพี่มหานามะว่า
“ถ้าเช่นนั้นขอให้เสด็จพี่อยู่ครองเรือนเถิด หม่อมฉันจักบวชเอง ถึงแม้การบวชจะลำบากกว่าการเป็นอยู่ในฆราวาสนี้ ก็ยังมีภาระที่น้อยกว่า และมีวันสิ้นสุด”
เมื่อจำเป็นต้องเลือก จึงทรงเลือกที่จะบรรพชา ทั้งที่ตลอดเวลาที่ผ่านมา ทรงมีชีวิตอยู่สุขสบาย สมบูรณ์ ไม่มีสิ่งใดที่มุ่งหวังแล้วไม่ได้ เช่นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นผ่านมาว่า
ครั้งหนึ่ง เจ้าชายอนุรุทธะ พร้อมด้วยพระสหายชวนกันไปเล่นตีคลี โดยมีการตกลงกันว่า “ถ้าใครเล่นแพ้ต้องนำขนมมาเลี้ยงเพื่อน” ในการเล่นนั้นเจ้าชายอนุรุทธะ แพ้ถึง ๓ ครั้ง ในแต่ละครั้งให้คนรับใช้ไปนำขนมจากเสด็จแม่มาเลี้ยงเพื่อนตามที่ตกลงกัน
ในครั้งที่ ๔เจ้าชายอนุรุทธะ ก็เล่นแพ้อีก และก็ใช้ให้คนไปนำขนมมาจากพระมารดาอีก พระมารดาตรัสสั่งคนรับใช้มาบอกว่า “ขนมไม่มี” เจ้าชายอนุรุทธะ ไม่รู้ความหมายของคำว่า “ไม่มี” เข้าใจไปว่าคำนั้นเป็นชื่อของขนมชนิดหนึ่ง จึงส่งคนรับใช้ให้ไปกราบทูลแก่เสด็จแม่ว่า “ขนมไม่มีก็เอามาเถอะ”
พระมารดา เข้าพระทัยทันทีว่า พระโอรสของพระองค์นั้นไม่เคยได้ยินค่ำว่า “ไม่มี” ดังนั้น จึงดำริที่จะให้โอรสของตนทราบความหมายของคำว่า “ไม่มี” นั้นว่าเป็นอย่างไร จึงนำถาดเปล่ามาทำความสะอาดแล้วปิดฝาด้วยถาดอีกใบหนึ่ง ส่งให้คนรับใช้นำไปให้พระโอรส ในระหว่างทางที่คนรับใช้ถือถาดเปล่าเดินไปนั้น
เทวดาที่สิงสถิตอยู่ที่ซุ้มประตูคิดว่า “เจ้าชายอนุรุทธะพระองค์นี้ ได้สร้างบุญบารมีมาแต่ชาติปางก่อน เมื่อครั้งที่เกิดเป็นอันนภารบุรุษ ได้ถวายอาหารที่ตนกำลังจะบริโภคแก่พระปัจเจกพุทธเจ้าพระนามว่าอริฏฐะ แล้วได้ตั้งความปรารถนาว่า “ถ้าได้เกิดใหม่ ขออย่าให้ได้ยินคำว่า “ไม่มี” กับทั้งสถานที่เกิดของอาหาร ก็ขออย่าได้พานพบเลย”
ดังนั้น ถ้าเจ้าชายอนุรุทธะได้รู้จักคำว่า ไม่มี แล้วเราต้องถูกเทพยาดาผู้มีอำนาจเหนือกว่าลงโทษแน่” จึงเนรมิตขนมทิพย์จนเต็มถาด เจ้าอนุรุทธะและพระสหายได้เสวยขนมทิพย์มีรสโอชายิ่งนัก ซึ่งพวกไม่เคยได้เสวยมาก่อน จึงกลับไปต่อว่าพระมารดาว่า
“ข้าแต่เสด็จแม่ ทำไมเสด็จแม่เพิ่งจะมารักลูกวันนี้เอง วันอื่น ๆ ไม่เห็นเสด็จแม่ทำขนมไม่มีให้ลูกเสวยเลย ตั้งแต่นี้ไป ลูกขอเสวยแต่ขนมไม่มีเพียงอย่างเดียว ขนมชนิดอื่นไม่ต้องทำให้อีก”
นับแต่นั้นเวลาเจ้าชายอนุรุทธะ ขอเสวยขนม
พระมารดาก็จะนำถาดเปล่ามาทำความสะอาดแล้วปิดฝาด้วยถาดอีกใบหนึ่งส่งให้นางทาสนำไปให้
เทวดาผู้เฝ้าประตูพระราชนิเวศก็จักบันดาลให้ขนมทิพย์ปรากฎเต็มถาดเสมอทุกครั้งไป
เจ้าชายอนุรุทธะ ทรงสุขสบาย สมบูรณ์ เห็นปานนี้ จึงมาคิดว่า หากเราจักอยู่เป็นฆราวาสแล้วครองเรือน เราคงจักต้องหลีกหนีจากภาระหน้าที่การงานของผู้ครองเรือนไปไม่ได้
ทั้งยังต้องทำการงานไปจนวันตาย
เช่นนี้ก็จักหลีออกบรรพชาเสียดีกว่า
จึงเข้าไปเฝ้าพระมารดา กราบทูลให้ทรงทราบว่า ตนจักออกบวชตามเสด็จพระบรมศาสดา แล้วให้เสด็จพี่มหานามะอยู่ครองเรือน ทำเทือกสวนไร่นาการงานต่อไป
พระมารดาพอได้ฟังก็ตกพระทัย ทรงตรัสห้ามไว้ถึง ๓ ครั้ง พร้อมวิงวอนว่า ลูกเอ๋ย...พ่อแม่ทำสิ่งใดให้เจ้าต้องลำบากกายใจกระนั้นหรือ เจ้าถึงได้คิดอยากหนีพ่อแม่ไปบวชเล่า
หากพ่อแม่กระทำสิ่งใดให้เจ้าไม่สบายกายใจ ก็จงบอกมา พ่อแม่จักแก้ไขปรับปรุงเพื่อบรรเทาความทุกข์ยากที่เจ้ามี เจ้าจักได้ไม่ต้องหนีจากพ่อแม่ไปบวช
 
จบแค่นี้ก่อนนะจ๊ะ
 
พุทธะอิสระ