ความเดินตอนที่แล้ว
จบลงตรงที่องค์อินทราธิราชจอมราชันของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เพื่อให้ชนทั้งหลายพร้อมเทพยดาได้รู้แจ่มชัดถึงความมีชีวิตอย่างถูกต้อง ชอบด้วยธรรมควรจักมีชีวิตอย่างไร
องค์อินทราธิราช จึงได้ตรัสถามปัญหาข้อต่อไปว่า
อย่างไรจึงได้ชื่อว่า เป็นผู้มีสิริ เล่าพระคุณเจ้าข้า
คุรุฤาษีสรภังคะโพธิสัตว์ จึงได้ทูลตอบปัญหาด้วยมธุรสคาถาภาษิตว่า
ดูก่อนผู้มีศรัทธา
ให้ทานด้วยจิตเมตตาอย่างชาญฉลาด
ประพฤติปฏิบัติ รักษาศีลอย่างฉลาด
มีจิตตั้งมั่นในอารมณ์เดียวอย่างฉลาด
ใช้ปัญญาเป็นเครื่องนำพาชีวิต
รู้จักปฏิบัติตนให้อ่อนน้อมถ่อมตน
รู้คุณท่าน และตอบแทนพระคุณอย่างมีสติปัญญา
เช่นนี้ชื่อว่า เป็นผู้มีสิริ คือ การมีชีวิตอยู่อย่างเป็นมงคล เจริญธรรม
สาธุ สาธุ สาธุ ช่างอัศจรรย์เหลือเกิน ช่างรวบรัดชัดเจนเหลือเกิน ช่างแจ่มชัดเหลือเกิน พระคุณเจ้าข้า
โยมขอถามปัญหาแก่พระคุณเจ้าข้อต่อไปว่า
ทาน, ศีล, สมาธิ, คุณธรรมความกตัญญู, ปัญญา อย่าไรชื่อว่าประเสริฐสุด
คุรุฤาษีสรภังคะโพธิสัตว์ จึงได้ทูลวิสัชนาว่า
สัตบุรุษทั้งหลายกล่าวว่า ทาน, ศีล, สมาธิ, คุณธรรมความกตัญญู หาได้ประเสริฐกว่าปัญญาเป็นไม่มี ปัญญาเป็นสิ่งที่ประเสริฐสุด เจริญพร
สาธุ สาธุ สาธุ เทวดา ฤาษี และหมู่มนุษย์ทั้งหลายได้เปล่งสาธุการ ขึ้นพร้อมกัน
องค์อินทราธิราชจึงทรงตรัสถามปัญหาข้อต่อมาว่า
ข้าแด่ท่านคุรุผู้ประเสริฐทำเช่นไรปัญญาจึงจักมีแก่พวกข้าพเจ้าได้เล่าเจ้าข้า
คุรุฤาษีสรภังคะโพธิสัตว์ จึงทูลว่า
บุคคลไม่พึงคบคนพาลอันประกอบไปด้วยเหตุแห่งความอัปมงคล ๔ อย่างได้แก่
1. ชอบคิดชั่ว เห็นผิดจากทำนองคลองธรรม เช่น ละโมบอยากได้ของคนอื่น พยาบาทปองร้ายเขา
2. ชอบพูดชั่ว เช่น พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดเพ้อเจ้อ พูดคำหยาบ
3. ชอบประพฤติชั่ว ได้แก่ ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกามคุณ
4. เห็นผิดจากทำนองคลองธรรม
เมื่อไม่คบคนพาลแล้วควรเลือกคนแต่ผู้เป็นบัณฑิต ผู้เป็นปราชญ์ ผู้รู้ อันมีคุณลักษณะ ๓ ประการ ดังนี้
1. มีความเห็นตรง เห็นถูกต้องตามทำนองคลองธรรม
2. พูดจริง พูดตรง พูดเพื่อจะเกื้อกูลประโยชน์ พูดด้วยจิตเมตตา พูดเพื่อให้ผู้ฟังเกิดปัญญา
3. ไม่เบียดเบียนตนและผู้อื่นด้วยการกระทำ ทั้งยังช่วยกรุณาสงเคราะห์ อนุเคราะห์ทั้งตนและคนอื่น เช่น ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในกามคุณ
เมื่ออยู่ใกล้บัณฑิตผู้มีคุณธรรมดังกล่าวแล้ว บุคคลผู้ปรารถนาให้ปัญญาเจริญต้องประพฤติตนเป็นผู้ว่าง่าย สอนง่ายด้วยการ
๑. แสดงความเคารพ นอบน้อมต่อท่าน
๒. คอยรับใช้ เมื่อท่านมีกิจธุระใช้สอย ไหว้วาน
๓. เชื่อฟังคำสั่งสอนและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด
๔. อ่อนน้อมถ่อมตนอยู่เสมอ
๕. ตั้งใจเรียนศิลปวิทยาโดยเคารพ
เมื่อบุคคลได้พบบัณฑิต พบครูอาจารย์ผู้ทรงธรรม ทรงปัญญา สิ่งที่บุคคลควรต้องปฏิบัติ คือ การปฏิบัติตนให้อยู่ในหลักการทั้ง ๕ ประการอย่างเคร่งครัด
เหล่านี้คือวิถีแห่งปัญญาอันประเสริฐ เจริญพร
สาธุ สาธุ สาธุ ชัดเจนยิ่งนักพระคุณเจ้าข้า
ยัง ยัง ไม่สิ้นกระแสเหตุแห่งวิถีปัญญา
เมื่อบุคคลเพียรพยายามกระทำตามคำอบรมสั่งสอนของครูอาจารย์ จนจบครบถ้วนตามกระบวนการของครูอาจารย์ แล้วเพียรพยายามฝึกฝน อบรมสมาธิ สติปัญญาแล้วพิจารณาถึงหลักแห่งความเป็นจริงในทุกลมหายใจ ด้วยความสำนึกระลึกรู้ถึงสภาพแห่งความจริง ทั้งที่มีอยู่ในตนและคนรอบข้าง
สรรพสิ่งรอบตัวด้วยการวางตัวเป็นกลายอย่างอิสระ เช่นนี้จึงชื่อว่าเป็นผู้มีปัญญาอย่างแท้จริง เจริญธรรม
เมื่อแตกกาย ทำลายขันธ์ลง ก็จักไปบังเกิดอยู่ในพรหมโลก เสวยสุขอย่างอิสระ เจริญธรรม
สาธุ สาธุ สาธุ ช่างไพเราะในเบื้องต้น ได้สาระในท่ามกลาง สำเร็จประโยชน์ในที่สุด พระคุณเจ้าข้า
 
จบแล้วจ้าวันนี้ โปรดติดตามตอนต่อไป
 
พุทธะอิสระ